HomeBrand Move !!วิถี Greyhound ส่งไม้ต่อทางธุรกิจอย่างไร เมื่อไม่มีทายาท

วิถี Greyhound ส่งไม้ต่อทางธุรกิจอย่างไร เมื่อไม่มีทายาท

แชร์ :

 


ธุรกิจครอบครัวที่เติบโตจากยุคก่อตั้ง วิธีการ “ส่งไม้ต่อ” มักอยู่ในมือของทายาทจากรุ่นต่อรุ่น แต่ในโลกธุรกิจก็มีอีกเช่นกันที่ “ไม่มีทายาท” สืบทอด  การไปต่อจึงต้องเลือก “พาร์ทเนอร์” หรือ “ขายหุ้น” เพื่อทำให้ “แบรนด์” ยังคงเติบโตได้และก้าวไปสู่ระดับตำนาน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เมื่อ 5 ปีก่อนธุรกิจอายุเกือบ 4 ทศวรรษอย่าง  Greyhound แบรนด์แฟชั่นและร้านอาหาร Greyhound Cafe ซึ่งก่อตั้งโดย “คุณภาณุ อิงคะวัต” และกลุ่มเพื่อน เลือกวิธี “ส่งไม้ต่อ” ประกาศควบรวมกิจการ ขายหุ้นทั้งหมดให้กับ บริษัท ทรัพย์ศรีไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท มัดแมน จำกัด ด้วยมูลค่า 1,853 ล้านบาท เรียกว่าเป็นดีล “ซื้อโอกาส” 

เบื้องหลังของดีลนี้ Greyhound ต้องการพาร์ทเนอร์ เข้ามาช่วยต่อยอดธุรกิจให้เติบโต  โดยเฉพาะ “แหล่งเงินทุน” เพื่อขยายตลาดไปต่างประเทศ พาแบรนด์สู่ระดับโกลบอล เพราะธุรกิจที่ไม่มีทายาทสานต่อ การทำเองก็เป็นไปได้ยาก

คุณภาณุ อิงคะวัต ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารกลุ่มบริษัท Greyhoundบอกว่าความคิดส่งต่อธุรกิจมีมาสักพัก ย้อนไปเมื่อ 7 ปีก่อน ในวันเสาร์วันหนึ่ง ซึ่งเป็นวันที่เขาจะนัดเจอกับกลุ่มเพื่อนสนิทและเป็นหุ้นส่วนของ Greyhound ร่วมวงอยู่เป็นประจำ ในวันนั้นบทสนทนาระหว่างมื้ออาหารถูกเปิดด้วยประโยคคำถามจากเพื่อนคนหนึ่งว่า เราจะทำงานกันไปจนถึงเมื่อไหร่ 

ในตอนนั้นคุณภาณุตอบกลับไปว่า ถ้ายังสนุกอยู่ ก็ทำต่อไปเรื่อยๆสิแต่ขณะเดียวกันก็คิดว่า จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อวันที่เขาอายุ 70-80 ปี   Greyhound จะเป็นอย่างไรต่อไป หากไม่สามารถทำงานได้และต้องปิดบริษัท คงจะเป็นเรื่องน่าเศร้า หากแบรนด์ที่เขาและเพื่อนปลุกปั้น และใช้เวลาสั่งสมชื่อเสียงมาเกือบ 40 ปี จะต้องหายไป

คำถามดังกล่าว ยังกระตุกความคิดของคุณภาณุ ให้นึกย้อนไปถึงความแตกต่างของเป็นลูกจ้างและการเป็นเจ้าของธุรกิจ ในช่วงก่อนที่เขาจะมาสร้างอาณาจักร Greyhound เป็นของตนเอง เขาเคยทำงานอยู่ที่ Leo Burnett บริษัทเอเจนซี่โฆษณาระดับโลกมาก่อน 

“ผมผูกพันและรักที่นั่น เพราะเป็นที่ที่ให้ความรู้ผมมาก และทำให้ผมได้สนุกกับการทำงานตลอด 20 กว่าปีที่ได้อยู่ Leo Burnett แต่วันที่ผมตัดสินใจว่าจะลาออก เพื่อมารับผิดชอบ Greyhound เต็มตัว ผมรู้สึกคิดถึงเพื่อนๆ แต่ไม่ค่อยห่วง เพราะเชื่อว่าบริษัทใหญ่ต้องมีวิธีรับมือและหาตัวแทนมาแทนที่ผมจนได้ ซึ่งมันก็เป็นอย่างนั้น เพราะทุกวันนี้ Leo Burnett ยังดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างดี” 

แน่นอนว่าความรู้สึกที่มีกับ Greyhound ย่อมแตกต่างออกไป เพราะนี่เป็นธุรกิจที่เขาสร้างมาเองกับมือ Greyhound จึงเป็นเหมือนสายสัมพันธ์ ที่คนธุรกิจด้วยกันย่อมเข้าใจดีว่า ไม่ว่าบริษัทจะเล็กหรือใหญ่ จะมีอายุ 50 ปี 100 ปี หรือแม้แต่เป็นสตาร์ทอัพที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่กี่ปี หากสร้างธุรกิจมาด้วยใจ ย่อมที่จะรู้สึกผูกพันมาก นอกเสียจากว่าจะทำมันขึ้นมาเพื่อรอวันที่จะขายต่อ ให้ได้เงินมาให้มากที่สุด

เลือกวิธีการส่งมอบธุรกิจ

เมื่อไม่อยากให้ธุรกิจต้องปิดตำนานไปเฉยๆ ดังนั้นจึงเป็นจะต้องหาคนที่จะไว้ใจมารับช่วงต่อธุรกิจ คุณภาณุกำหนดให้การส่งมอบธุรกิจเป็น Vision หรือเป้าหมายในขณะนั้น โดยที่ตัวเขาได้ศึกษาและเรียนรู้ว่า ในโลกธุรกิจมีวิธีการเปลี่ยนมือผู้บริหารอยู่ 3 วิธี 

  1. แต่งงานสร้างทายาท
  2. ขายหุ้นให้คนอื่นเข้ามาร่วมถือหุ้นด้วย 
  3. เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ กลายเป็นบริษัทมหาชน

คุณภาณุโฟกัสที่ทางเลือก 2 และ 3 ซึ่งเป็นหนทางการเพิ่มผู้ถือหุ้นใหม่ เข้ามาสู่บริษัทในรูปแบบที่แตกต่างกัน เพราะถ้าหากเลือกขายหุ้นให้เข้ามาร่วมบริหาร จะต้องให้ความสำคัญกับการแบ่งสัดส่วนถือหุ้น ขณะเดียวกันคนที่จะเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ จะต้องสามารถเติมเต็มในสิ่งที่ธุรกิจขาด หรือสร้างโอกาสใหม่ให้กับธุรกิจได้ แต่ถ้าหากเลือกเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ มองว่า เหนื่อยแน่นอน” 

“การเข้าตลาดหลักทรัพย์คุณจะต้องลด Shape ต้องผ่าตัดเติมหน้าอก เติมคิ้วเติมหน้า เพื่อแต่งตัวของคุณให้สวยหล่อที่สุดในการเข้าตลาดหลักทรัพย์ และเมื่อเข้าไปถึงแล้ว คุณยังจะต้องรักษา Shape ของคุณให้ดีตลอดไป เพื่อที่คุณจะได้สร้างราคา (มูลค่าหุ้น) ในตลาดหลักทรัพย์ต่อไปเรื่อยๆ”

ย้อนกลับมาดู “เรามีสินทรัพย์อะไรอยู่ในมือ”

 

ก่อนที่จะไปสู่ขั้นตอนการส่งมอบธุรกิจ คุณภาณุ แนะนำให้ทุกธุรกิจหันกลับมาสำรวจสินทรัพย์ (Asset) ที่มีกันเสียก่อน ทั้งในส่วนของ Business ไม่ว่าจะเป็นโรงงาน เครื่องมือเครื่องจักร และที่ดินอาคาร และส่วนของ Brand ซึ่งไม่ใช่แค่ชื่อหรือตราสินค้า แต่เป็นมูลค่า (Value) ที่เกิดจากการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) ของผู้บริโภค ยิ่งมีคนรู้จักแบรนด์มากเท่าไหร่ จะยิ่งมีมูลค่าสูงมากเท่านั้น 

มูลค่าของแบรนด์มาจากความรู้สึก เพราะเมื่อพูดถึง Brand จะมีคำว่า Brand Property, Brand Value, Brand Belief, Brand DNA และจิตวิญญาณของแบรนด์ ซึ่งจริงๆแล้ว คำเหล่านี้ล้วนเป็นคำประเภทเดียวกัน โดยมีความหมายถึง หัวใจของแบรนด์ ตัวตน และสิ่งที่ทำให้แบรนด์เดินหน้าต่อ ที่ทั้งหมดนี้จะต้องถูกแปรมูลค่าแบรนด์ออกมาเป็นตัวเลขทางการเงิน

“ถ้าเราเดินไปถามคนทั่วไปว่าแบรนด์คืออะไร คำตอบที่จะได้คือ ฉันไม่ได้สนใจแบรนด์ แต่ถ้าเราเปลี่ยนคำถามว่า ถ้าคุณจะซื้อนาฬิกา รถ หรือรองเท้าวิ่งคู่ต่อไปจะซื้ออะไร คราวนี้ชื่อแบรนด์จะโผล่ออกมา เพราะแบรนด์เป็นพลังเงียบที่ซ่อนอยู่ (Invisible Force) โดยที่เราไม่รู้ตัว แม้เราพูดตลอดว่าเราไม่สนใจเรื่องแบรนด์ แต่จริงๆ คุณเป็นสาวกของแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งแน่นอน”

แสดงตัวตนของแบรนด์ออกมาให้ได้

เมื่อแบรนด์มีมูลค่า คำถามข้อถัดมาคือ เจ้าของธุรกิจจะส่งมอบตัวตนและความเชื่อของแบรนด์ (Brand DNA) จากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งได้อย่างไร 

“ถ้าคุณเป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์ที่ยังมีชีวิตอยู่ นี่ถือเป็นโอกาสที่ดี เพราะไม่มีใครอีกแล้วที่จะรู้จักแบรนด์ดีไปกว่าคุณ ฉะนั้นคุณคือผู้ที่จะส่งมอบตัวตนและความเชื่อของแบรนด์ออกไป โดยเปลี่ยนความเชื่อให้เป็นสิ่งที่จับต้องได้ อย่างการเขียน เป็นส่วนที่ช่วยสร้างความเข้าใจได้เช่นกัน”

แม้ว่าในช่วง 10 ปีแรกของ Greyhound เขาไม่เคยถามตัวเองเลยว่า ทำไปเพื่ออะไร หรือวันหนึ่งจะขายธุรกิจอย่างไร เราแต่เพียงว่าทำไปเพราะชอบ รัก จึงทุ่มเทกับมันอย่างเต็มที่ แต่เมื่อบริษัทเติบโตขึ้นจาก 10 คน เป็น 100 คนมาจนถึง 1,000 คน บริษัทจำเป็นจะต้องหาวิธีการสื่อสารให้ทุกคนในบริษัทเข้าใจความเชื่อของ Greyhound ได้

จากนั้น Brand DNA ของ Greyhound ได้ถูกระบุไว้อย่างชัดเจน Greyhound = ​Basic with a twist ก่อนจะถ่ายทอดและตอกย้ำสิ่งนี้ให้สะท้อนอยู่ในทุกๆย่างก้าวของแบรนด์

“Greyhound เป็นคนง่ายๆ เป็นแฟชั่นที่ไม่ฟู่ฟ่า เราพูดกันเองในออฟฟิศเสมอเลยว่า เราไม่ใช่สาวใส่เสื้อเกาะอกสีแดงที่ยืนอยู่แถวหน้า แต่เราเป็นคนแถวหลัง ที่จะต้องรู้จักกันแล้ว มีความสุขที่จะได้คุยกัน แล้วจึงจะค้นพบซึ่งกันและกัน ฉะนั้น Basic จึงเป็นพื้นฐานในทุกสิ่งของ Greyhound แต่เราทำให้น่าสนใจโดยใส่คำว่า Twist ความคิดสร้างสรรค์เข้าไป (Twist of Creativity) เพื่อให้คำว่า Basic ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ (Simple doesn’t have to be boring)” 

แนวคิดเรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยลูกเล่น ถูกนำไปสอดแทรกอยู่ในทุกๆผลิตภัณฑ์ ทำให้ Greyhound ไม่ได้เป็นเพียงแค่แบรนด์เสื้อผ้าอีกต่อไป แต่กลายเป็น “ผู้นำเสนอไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิต” ที่สะท้อนตัวตนของแบรนด์ได้อย่างชัดเจนและแข็งแรง

เริ่มตั้งแต่ร้าน Greyhound Original สโตร์ที่สะท้อนสไตล์ของแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นการตกแต่งแบบ Industrial Loft บรรยากาศเพลงในร้าน รวมไปถึงเสื้อผ้าของพนักงาน ทุกอย่างได้ผ่านการออกแบบ เพื่อให้ลูกค้าได้สนุกกับการใช้ชีวิต

“ถ้าคุณต้องตื่นเช้าขึ้นมาทุก 8 โมง เพื่อไปทำงาน-กลับบ้าน-นอน ทุกวันคือความจำเจ แต่ถ้าการที่ได้มาใช้สินค้าของ Greyhound ได้มาใช้ชีวิตอยู่ในร้าน Greyhound เป็นสิ่งที่ช่วยทำให้มีความสุขมากขึ้น สนุกมากขึ้น หรือชีวิตมีสีสันมากขึ้น ถือเป็นความสุขที่เราประสบความสำเร็จแล้ว”

ความคิดสร้างสรรค์ยังอยู่ถูกใส่ไว้ในเสื้อผ้าเรียบง่ายทุกชิ้น อย่างเสื้อเชิ้ตสีขาวที่ผลิตในปี 1980 (ปีแรกของการก่อตั้ง Greyhound) เป็นการนำเสื้อเชิ้ตสีขาวตัวเดิม เพิ่มเติม (ซ้อน) ด้วยเสื้อเชิ้ตอีกตัวให้อยู่ในตัวเดียวกัน ซึ่งไอเดียนี้เกิดจากการนำเนื้อผ้า 2 แบบมาต่อกัน การลองทำสาบเสื้อที่ไม่เหมือนกัน ลองกระดุมที่แตกต่างกัน เกิดเป็นลูกเล่นที่ทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกสนุกกับการแต่งตัวมากขึ้น

หรือ สเวตเตอร์หน้าตาเรียบง่าย Greyhound ได้ใส่ลูกเล่นเข้าไป ให้ลูกค้าลองใส่แบบกลับหัว จนเกิดเป็นความสนุกที่แบรนด์สร้างความรู้สึกร่วมในการใช้สินค้ากับลูกค้า 

“เราเคยท้าทายตัวเอง ด้วยการนำกระดาษมาทำเสื้อผ้าแฟชั่น โดยได้แรงบันดาลใจมาจากการปักลายเสื้อ ที่เดิมจะต้องใช้กระดาษลอกลายไปทาบกับเสื้อก่อนแล้วเย็บปัก แต่คราวนี้เราไม่ถอดกระดาษออก แต่ขายเสื้อไปพร้อมกระดาษแบบนั้นเลย สิ่งที่ลูกค้าได้คือทุกครั้งที่นำไปซักกระดาษจะค่อยๆหลุดลอกออกไป เหมือนได้เสื้อใหม่ และนั่นคือความสนุกเล็กๆน้อยที่สอดแทรกไปกับงานออกแบบ”

กระเป๋าผ้ารุ่นใหม่ของ Greyhound ที่ลองพิมลายทับสายกระเป๋า เป็นการออกแบบทื่ฉีกจากกรอบแนวคิดเดิม ที่ส่วนใหญ่ไม่นิยมพิมลายทับสายกระเป๋า

ตัวตนของ Greyhound ยังถูกถ่ายทอดบนรันเวย์ในงานแฟชั่นโชว์ ELLE Fashion Week 2019 A/W 2019 กับคอลเล็กชั่น “BANGKOK POSE” ที่นำคอนเซปท์ Street of Bangkok หยิบภาพเสาไฟฟ้าและสายไฟฟ้าที่พันกันระโยงระยางเต็มกรุงเทพ มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างโชว์ ขณะที่นายแบบและนางแบบเอง เดินออกมาในอินเนอร์ที่สะท้อนคาแรคเตอร์ของคนทั่วไป เช่น เดินเล่นโทรศัพท์ไปด้วย

เมื่อแบรนด์ Greyhound กลายเป็นอาหารก็ได้พัฒนาสูตรและการนำเสนอเต็มที่ ความเรียบ เท่ และมีสไตล์ตามแบบฉบับ Greyhound ถูกนำไปจัดวางบนโต๊ะอาหาร ที่ร้าน Greyhound Café จัดเสริฟอาหารแบบ Food with a Twits ใส่ลูกเล่นให้กับอาหารไทย จนกลายเป็นความสนุกและแปลกใหม่

อย่างเมนู ปูผัดข้าว ที่เปลี่ยนเมนูข้าวผัดปูที่ทุกคนคุ้นเคยให้เกิดเป็นเท็กเจอร์ใหม่ รสชาติใหม่ ด้วยการสลับสัดส่วนระหว่างข้าวและเนื้อปู

ด้วยความเป็นแบรนด์แฟชั่น ยูนิฟอร์มของพนักงาน จึงเป็นอีกสิ่งสะท้อนผ่านความเชื่อของ Greyhound ออกไปด้วยเช่นกัน หากใครเคยไปนั่งทานอาหารที่ Greyhound Café จะเห็นว่าพนักงานที่นี่จะสวมใส่เสื้อผ้าที่มีไดอะล็อก หรือข้อความสนุกๆอยู่บนตัวด้วย

ยังไม่หมดเท่านี้ Greyhound ยังถ่ายทอดจิตวิญญาณและความเชื่อเข้าไปในการทำแคมเปญ

อย่างที่แบรนด์เชื่อมาโดยตลอดว่า “Perfect Imperfection” จึงเข้าไปจับมือกับ โครงการหลวง นำผักที่ถูกคัดออก เพียงรูปร่างหน้าตาไม่ตรงกับความต้องการของตลาด มาปรุงเป็นอาหารและเมนูใหม่ๆ นอกจากไม่เสียคุณค่าเดิมแล้ว ยังสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างสวยงาม

“ผักเหล่านี้มีคุณค่าเท่าเดิม รสชาติเท่าเดิม แต่คนทิ้งปีละ 30-40 ตัน เพียงเพราะหน้าตาไม่ดี ทำให้ชาวนาต้องสูญเสียรายได้ไปจำนวนมาก แต่เราได้พิสูจน์ให้คนอื่นเห็นว่า หน้าตาไม่ใช่เรื่องสำคัญ”

แต่งตัวให้เสร็จแล้ว ค่อยไปหาคนที่ใช่

เมื่อมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านคงพอจะเห็นภาพการเติบโตของธุรกิจ Greyhound มาพอสมควรแล้ว คุณภาณุใช้เวลาอีก 3 ปี นับจากวันที่ตัดสินใจว่าจะส่งมอบลูกรักให้คนอื่นเข้ามาดูแล ไปกับการแต่งตัวลูกรักให้สวยและหล่อ โดยสรุปเป็น 10 ขั้นตอน ดังนี้

  1. แบรนด์แข็งแรง แบรนด์เป็นที่รู้จัก แข็งแกร่ง และเป็นเอกลักษณ์
  2. มีแผนงานชัดเจน ต้องมองเห็นอนาคต และต่อยอดได้ 
  3. อย่าให้บริษัทขึ้นอยู่กับคนหนึ่งคน ถ้าคุณเป็นเถ้าแก่ที่สามารถสั่งการได้ทั้งหมด ต้องถอยตัวคุณเองออกมา และโชว์ให้หุ้นส่วนในอนาคตเห็นว่าบริษัทนี้สามารถอยู่ได้ 
  4. สร้างระบบให้เกิด มอบหมายและวางระบบงานให้ชัดเจน
  5. ทำให้บริษัทสุขภาพแข็งแรง รวมถึงพนักงานมีความสุข พร้อมที่จะเติบโต 
  6. ยอดขายดี พิสูจน์ให้หุ้นส่วนในอนาคตเห็นว่า บริษัทมียอดขายที่เติบโตขึ้นแบบเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการเติบโตที่ดีใน 3 ปีสุดท้าย 
  7. เก็บบ้านให้สะอาด ทำบัญชีให้สวย สต๊อกเป็นระเบียบ 
  8. เลือก Financial Advisors (FA) ที่ดีที่ใช่ 
  9. ตัดสินใจว่าจะขายทั้งหมดหรือขายบางส่วน คุณภาณุย้ำว่า ตรงนี้ถือเป็นการตัดสินใจที่สำคัญมาก เพราะสัดส่วนผู้ถือหุ้น มีผลต่อเสียงทางธุรกิจ แต่ถ้าคิดจะถอยแล้วก็ยอมให้เขาไป
  10. เลือกคู่ พิจารณาอย่างละเอียดว่า 1. คนที่จะเข้ามาเป็นหุ้นส่วนใหม่ เข้ามาซื้อกิจการเพื่ออะไร 2. อะไรคือจุดแข็ง (Strength) ที่เราขาด แล้วเขาสามารถมาเติมเต็มได้ 3. ต้องมีความเชื่อที่เข้ากันได้ 4. อย่ามองด้านบวกเพียงอย่างเดียว นึกถึงสถานการณ์ด้านลบไว้ด้วย และ 5. ถ้ายังต้องช่วยบริษัทต่อ ไม่ว่าจะ 3 ปีหรือ 5 ปี ตามข้อตกลง ต้องมั่นใจว่าจะสามารถสร้างทีม และสร้างคนที่จะมาทำงานต่อได้ เพื่อให้บริษัทอยู่ได้อย่างดี

“ถ้าคุณยังรักแบรนด์ของคุณ อย่าเอาเงินเป็นตัวตั้ง เพราะว่ามีบริษัทที่ต้องการเข้ามาร่วมทุน จากนั้นจับเราแต่งตัว ผลักดันเราให้เติบโตขึ้นเข้าไปในตลาดหลักทรัพย์ แล้วเขาจะขายต่อ ขายต่อ และขายต่อ ซึ่งเมื่อคิดถึงเงินมันจะกลายเป็นรูปแบบนี้ไป”

คนที่ “ใช่” จะทำให้เราเติบโตเป็นคนที่ดีขึ้น

หลังจากตัดสินใจให้บริษัท มัดแมน จำกัด เข้ามาดูแลธุรกิจ ร้านอาหารสุดชิค Greyhound Café ได้ถูกพาข้ามน้ำข้ามทะเลไปไกลถึง ลอนดอน (London) ซึ่งเป็นความตั้งใจของคุณภาณุ ที่ต้องการพาร้านอาหารสัญชาติไทยไปในระดับโลก หลังจากที่ก้าวเท้าไปแล้วทั่วเอเชีย ทั้งประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย จีน

2017

โดยยกเมนูอาหารตั้งแต่ Fine Dining ไปจนเมนู Street Food ที่ถูกพัฒนาและปรับสูตรให้ถูกปากถูกใจคนลอนดอนมากขึ้น ส่วนการแต่งร้านยังคงเอกลักษณ์ Industrial Chic ตามแบบฉบับของ Greyhound Café เอาไว้อย่างชัดเจน

“เราต้องการนำเสนอความเป็น Bangkok Cafe จึงขนวัสดุอุปกรณ์ทั้งหมดที่ใช้ในการตกแต่งร้านจากเมืองไทย เช่น แผ่นสังกะสี ถังน้ำมัน ตลอดจนเมนูอาหาร เรา Twits ระหว่างความเป็นไทยและฝรั่ง เช่น เมนู มวยไทยเบอร์เกอร์ ที่ใส่ความเผ็ดแบบไทยผสมลงไปด้วย”

ในปีนี้ Greyhound ก้าวเข้าสู่ปีที่ 40 แม้ธุรกิจจะถูกเปลี่ยนมือมาสู่ผู้บริหารชุดใหม่ แต่แก่นแท้ หรือตัวตนของแบรนด์ยังคงปรากฏแจ่มชัด

“ผมไม่ได้สร้าง Greyhound มาด้วยเหตุผลของเงินตั้งแต่ต้น ผมสร้างมาเพราะความเชื่อ และเชื่อว่าหลายคนสร้างบริษัทของตัวเองด้วยความรักและความเชื่อเช่นกัน หลายครั้งที่ผมไปมอบธุรกิจให้ Franchisee ที่เปิดตลาดใหม่ในต่างประเทศให้ Greyhound ผมจะพูดกับเขาเสมอว่า ผมฝากลูกด้วยนะ ดูแลลูกผมให้ดี เพราะคุณกำลังจะเอาไปเลี้ยงในที่ต่างถิ่น ซึ่งไกลหูไกลตาและผมอาจจะช่วยไม่ได้อย่างเต็มที่ ฉะนั้นหากคุณคิดจะส่งมอบธุรกิจต้องคิดให้ดี วางแผนให้ดี และเลือกคู่ให้ถูก” คุณภาณุ กล่าวทิ้งท้าย

Source : งานสัมมนาทายาทรุ่นสอง โดย The Cloud


แชร์ :

You may also like