ในวัย 75 ปี ของ คุณผิน คิ้วคชา ตำนานนักสร้าง “แลนด์มาร์ค” แหล่งท่องเที่ยวระดับประเทศ โปรเจ็กต์แรกเมื่อ 30 ปีก่อน กับสวนสัตว์ “ซาฟารีเวิลด์” เนื้อที่ 475 ไร่ ย่านมีนบุรี 20 ปีต่อมาสร้าง “ภูเก็ตแฟนตาซี” ธีมปาร์คด้านวัฒนธรรมไทย ขนาด 150 ไร่ และความท้าทายใหม่ “คาร์นิวัลเมจิก” ธีมปาร์คเมืองไฟ พื้นที่ 100 ไร่ “แม่เหล็ก” ใหม่ บนหาดกมลา ภูเก็ต ที่จะเปิดตัวในต้นปี 2563
“ผมทำอาชีพสร้างแหล่งท่องเที่ยวดึงดูดคนมาประเทศไทย ต้องทำใหญ่ๆ เป็น 100 ไร่ เพราะเล็กๆ ไม่อิมแพ็ค ต้องสร้างแบบที่ดีที่สุด ต้องเป็นหนึ่ง สร้างในสิ่งที่คนอื่นทั่วโลกไม่มี การก๊อปปี้คนอื่นคือความล้มเหลวที่เราไม่ทำ เราสร้าง ซาฟารีเวิลด์ ภูเก็ตแฟนตาซี และคาร์นิวัลเมจิก ล้วนเป็นสิ่งที่คิดขึ้นมาเองทั้งสิ้น คนอื่นก็มาก๊อปปี้เราไปทำ จะบอกว่าแม้มีที่ดินและเงินทุน แต่สิ่งที่ไม่มี คือ ไอเดีย ที่จะพัฒนาให้แตกต่างและ เรายังมีแลนด์แบงก์ มีไอเดียใหม่ๆ ที่จะทำต่อ แบบเหนือชั้น” คุณผิน คิ้วคชา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซาฟารีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) ย้ำตัวตนการเป็นนักสร้างแลนด์มาร์คแหล่งท่องเที่ยวให้กับประเทศไทย
หลังจากเปิดตัว “ภูเก็ตแฟนตาซี” ในปี 2542 หรือ 20 ปีก่อน นักคิดนักสร้างแหล่งท่องเที่ยวอย่าง คุณผิน ก็ไม่ได้หยุดครีเอทเรื่องใหม่ๆ โดยมีทายาทรุ่น 2 คุณกิตติกร คิ้วคชา หัวเรือใหญ่ ภูเก็ตแฟนตาซี ร่วมกันคิดโปรเจ็กต์ “แลนด์มาร์ค” ใหม่ในทันที ซึ่งก็คือ “คาร์นิวัลเมจิก” (Carnival Magic) ที่วางโครงร่างไว้ตั้งแต่ ปี 2545 และมาเริ่มเมื่อ 3 ปีก่อน วันนี้โครงการมูลค่า 5,000 ล้านบาท เนื้อที่ 100 ไร่ บนหาดกมลา ภูเก็ต ติดกับ “ภูเก็ตแฟนตาซี” ก่อสร้างไปแล้ว 80% มีกำหนดเปิดตัวช่วงต้นปี 2563
“คาร์นิวัล” สไตล์ไทยดึงต่างชาติ
คุณผิน เล่าที่มาของความคิดสร้างแลนด์มาร์คใหม่ เพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย อยู่กับแหล่งท่องเที่ยววัด วัง ทะเล ที่เป็นไฮไลต์มานานแล้ว วันนี้อาจดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มซ้ำได้ลำบาก รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวเดิมอย่างภูเก็ตแฟนตาซี ก็มีคนมาเที่ยวแล้วจำนวนมากแล้ว
“สินค้าเก่าคงไม่สามารถขายได้เป็น 100 ปี จึงต้องสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ มาเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว หลังจากเปิดคาร์นิวัลเมจิกแล้ว จะรีโนเวท ภูเก็ตแฟนตาซีใหม่เช่นกัน”
เมื่อเห็นแนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวมาภูเก็ตเพิ่มขึ้น ซึ่งก็เป็นจังหวัดที่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย หลังเปิด ภูเก็ตแฟนตาซี มา 20 ปี มองว่าการสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ “คาร์นิวัลเมจิก” เป็นโอกาสเหมาะที่จะเปิดตัวในจังหวะนี้ ซึ่งถือเป็น คาร์นิวัลสไตล์ไทยที่ไม่ซ้ำแบบใคร และเป็นที่เดียวในโลกที่คนไทยคิดและทำขึ้นเอง
จุดเริ่มต้นจากโจทย์กลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวหลัก คือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น รัสเซีย เป็นกลุ่มต่างชาติตลาดหลักที่มาท่องเที่ยวประเทศไทยและภูเก็ต จึงต้องครีเอทโปรดักท์ใหม่ ขายนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ เชื่อว่า “ความเป็นไทย” เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวหลายชาติชื่นชอบ โปรเจ็กต์ “คาร์นิวัลเมจิก” จึงเกิดขึ้น ถือเป็นโปรดักท์ไทยที่สร้างมาขายต่างชาติ ไม่ใช่นำโปรดักท์ต่างชาติมาขายต่างชาติ “แบบนี้เราคงไม่ทำ”
ก็ต้องยอมรับว่า ธีมปาร์คและสวนสนุกทั่วโลกที่หลายคนรู้จัก ต้องยกให้ ดิสนีย์แลนด์ และ ยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ แต่สวนสนุกแบบนี้ “ไม่เหมาะกับประเทศไทย” แต่เหมาะกับฝั่งยุโรป สหรัฐ ที่เน้นเทคโนโลยี แสง สี เสียง
แต่คาร์นิวัลเมจิก เน้นการนำเสนอวัฒนธรรมของไทย ที่ทั่วโลกชื่นชมมาพัฒนาเป็นโปรดักท์ดึงนักท่องเที่ยว นำการแสดงโชว์แบบไทย อย่าง งานวัด มาทำให้มีความเป็นอินเตอร์ เป็นโปรดักท์ตัวแทนประเทศไทย ก้าวสู่ระดับโลก แบบไม่มีที่อื่น
โครงการ “คาร์นิวัลเมจิก” เป็นแหล่งท่องเที่ยวรูปแบบ “ธีมปาร์ค” เมืองไฟ ไม่ใช่โรงหนัง โรงละคร เป็นการนำวัฒนธรรมไทย มาประยุกต์กับการแสดงไฮเทคโนโลยีแสงไฟ 40 ล้านดวง เรียกว่ามากที่สุดในโลก มีขบวบพาเหรดในโรงละคร เป็นแหล่งท่องเที่ยวกลางคืนแห่งใหม่ของภูเก็ต
เป้าหมายท็อป 3 ธีมปาร์คเอเชีย
ด้วยศักยภาพของจังหวัดภูเก็ต ที่มีทั้งชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยว ทรัพยากรธรรมชาติ โครงสร้างพื้นฐานที่อำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนภูเก็ต ทำให้มีนักท่องเที่ยวมาเยือนภูเก็ตปีละ 12-13 ล้านคน สร้างรายได้ทางเศรษฐกิจราว 4 แสนล้านบาทต่อปี โดยมีนักท่องเที่ยวกว่า 70% เป็นชาวต่างชาติ
หลังเปิดตัว “คาร์นิวัลเมจิก” ในต้นปี 2563 ตั้งเป้าให้เป็นแลนด์มาร์คท่องเที่ยวแห่งใหม่ของเอเชีย คาดว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างชาติได้ มากถึง 1 – 2 ล้านคน ต่อปี และคาดว่ามีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาทต่อปี
“เป้าหมายของเรา คือ สร้างคาร์นิวัลเมจิก ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวติด 1 ใน 3 ของเอเชีย คือมี ดิสนีย์แลนด์ ยูนิเวอร์แซล และคาร์นิวัลเมจิก ที่นักท่องเที่ยวต้องมาเยี่ยมเยือน”
แม้ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ภูเก็ตเจอกับหลายเหตุการณ์ที่กระทบกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทั้งการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ อุบัติเหตุเรือล่ม ปีนี้เจอเรื่องค่าเงินบาทแข็งเข้ามากระทบท่องเที่ยวอย่างหนัก ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปถึง 30% แต่หลังจากนี้น่าจะดีขึ้น เพราะเชื่อว่าอย่างไร “ภูเก็ตก็ขายได้”
ปักหมุด “4 โซน” ธีมปาร์คใหม่
สำหรับโครงการ “คาร์นิวัลเมจิก” ธีมปาร์คใหม่ ประกอบไปด้วย 4 โซนหลัก
โซนที่ 1 คาร์นิวัลฟันแฟร์ (Carnival Fun Fair) ถนนช้อปปิ้ง สินค้าจากทั่วภูมิภาคทั่วไทย ร้านค้าตกแต่งสีสันสดใสสไตล์คาร์นิวัล และเครื่องเล่นสำหรับเด็กๆ เช่น ถ้วยชาหมุน ชิงช้าสวรรค์ ขับรถแข่ง นั่งรถไฟ และม้าหมุนที่เด็ก ๆ ชื่นชอบ
โซนที่ 2 ภัตตาคารเบิร์ดออฟพาราไดซ์ (Bird of Paradise) เป็นภัตตาคารบุฟเฟต์ 3,000 ที่นั่ง บริการอาหารกว่า 100 เมนู แบบตะวันตกและตะวันออก อาหารอินเดีย อาหารมังสวิรัติ และอาหารฮาลาล
นอกจากนี้ยังมีภัตตาคารหรู 3 ชั้น “River of Bliss Luxury Restaurant” ไฮไลต์คือ บริเวณทางเข้าต้องขึ้น “เรือแห่งความสุขสำราญ” (Barge of Happiness) ซึ่งเรือจะลอยขึ้นเหนือจากพื้น 7 เมตร เพื่อเข้าสู่ภายในภัตตาคาร
โซนที่ 3 โรงละครริเวอร์ พาเลซ (River Palace) เป็นโรงละครขนาดใหญ่ พื้นที่กว่า 16,000 ตร.ม. หรือ ประมาณ 10 ไร่ ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็น 1 ในโรงละครที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตัวอาคารยาว 200 เมตร รองรับผู้ชม 2,000 ที่นั่ง เวทีการแสดงที่กว้าง 70 เมตร สูง 22 เมตร
การแสดงบนเวทีในรูปแบบพาเหรดอินดอร์ใหญ่ที่สุดในโลก ในชื่อ “ริเวอร์คาร์นิวัล” (River Carnival) เป็นการแสดงพาเหรดที่ผสมผสานศิลปะไทยกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้าด้วยกัน มีความยาว60 นาที ไฮไลต์อยู่ที่ ขบวนรถพาเหรดที่ยาวที่สุดในโลก มีความยาวถึง 70 เมตร หรือเทียบเท่ากับเครื่องบินจัมโบ้ A380
โซนที่ 4 คิงดอมออฟไลต์ (Kingdom of Lights) เป็นเมืองที่มีไฟประดับกว่า 40 ล้านดวง ไฮไลต์ของโซนนี้ คือ “River of Lights” ที่มีการนำดวงไฟหลายล้านดวงมาประดับบนโครงเหล็กดัด ลวดลายสวยงาม (Luminarie) ที่มีความยาวรวมถึง 50 กิโลเมตร เป็นรูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย แบบพาโนรามารอบทิศทาง
เป้าหมายในชีวิตการทำงานของคุณผิน โฟกัสการสร้างแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นแลนด์มาร์คให้กับประเทศไทย ต้องการสร้าง คาร์นิวัลเมจิก เป็นจุดหมายแปลายทางแห่งใหม่ของการท่องเที่ยว เช่นเดียวกับ ซาฟารีเวิลด์และภูเก็ตแฟนตาซี
การทำงานตลอด 30 ปีของการสร้างแลนด์มาร์ค คุณผิน ทิ้งท้ายว่า “ในชีวิตเขาไม่เคยดีใจและเสียใจ เพราะผ่านโลกมาเยอะแล้ว ในวัย 75 ปี วันนี้เป็นคนที่ใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ และยังคิดอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา”