จากที่ก่อนหน้านี้มีผลวิจัยหลายชิ้นระบุว่า การเล่นโซเชียลมีเดียอาจมีผลต่อสภาพจิตใจ และเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคซึมเศร้าในหมู่เด็กวัยรุ่น จนทำให้ Instagram และ Facebook ต้องลองออกมาปรับเปลี่ยนการแสดงยอด Likes อย่างด่วนนั้น
ล่าสุดดูเหมือนว่า ชาวโซเชียลจะเจอความท้าทายใหม่อีกแล้ว เนื่องจากมีคำนิยามการแสดงออกที่ดูเศร้าเกินจริงเพื่อหวังเรียกยอด Likes ยอดแชร์ออกมาในชื่อ “Sadfishing” (บ่อเพาะเลี้ยงความเศร้า) พร้อมมีการยกตัวอย่างการโพสต์ของศิลปินดาราชื่อดังบางคน เช่น Kendall Jenner ว่าเข้าข่าย Sadfishing ด้วยเช่นกัน
โดยกรณีของ Kendall Jenner เป็นเรื่องในอดีตที่เธอออกมาโพสต์เศร้า ๆ เกี่ยวกับปัญหาผิว – สิวบนใบหน้าในวัยเด็กว่าทำให้เธอไม่มั่นใจ ซึ่งในโพสต์นั้นมีคนเข้ามากล่าวร้ายเธอหลายคน และก็ถูกบรรดาแฟนคลับช่วยกันตอบโต้ แต่ในความเป็นจริงคือเธอได้เซ็นสัญญากับบริษัทเลเซอร์รักษาผิวหน้าแห่งหนึ่งไปแล้วเรียบร้อย
https://www.instagram.com/p/BsQx4BgF2GP/
คนดังรับมือไหว แต่เด็กวัยรุ่นไม่แน่
การแกล้งเศร้าเกินเหตุ หากใช้ในเชิงพาณิชย์ ผลก็อาจแค่ถูกมองบน แต่สำหรับเด็ก ๆ และครูในโรงเรียน มีรายงานว่า นิยามใหม่อย่าง Sadfishing กำลังทำให้คนกลุ่มนี้ได้รับการปฏิบัติที่ไม่ค่อยเป็นธรรมมากขึ้น
ผลการสำรวจความคิดเห็นของเด็ก ๆ จำนวน 50,000 คนในอังกฤษโดย Digital Awareness UK พบว่า ในระยะหลังนี้ เมื่อเด็ก ๆ มีการแชร์ความรู้สึกแย่ ๆ ของตัวเองลงไปบนโซเชียลมีเดีย แทนที่จะได้รับความเห็นอกเห็นใจ หรือการซัพพอร์ตต่าง ๆ จากเพื่อน ๆ กลับถูกมองว่าเป็นพฤติกรรม Sadfishing เพื่อเรียกยอด Likes แทน ซึ่งทำให้เด็กกลุ่มนี้รู้สึกแย่มากกว่าเดิม
ขณะที่ในฟากของครู มีการสำรวจครู 250,000 คนใน 48 ประเทศโดย Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) พบว่า 27% ของครูในอังกฤษต้องเผชิญกับปัญหา CyberBully ทุกสัปดาห์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก เพราะค่าเฉลี่ยของทั่วโลกอยู่ที่ 3% เท่านั้น
นิยาม Sadfishing ยังทำให้คนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และใช้โซเชียลมีเดียอาจได้รับการตอบรับที่แตกต่างจากเดิมด้วย รวมถึงทำให้การแยกแยะผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทำได้ยากมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นอันตรายในอนาคตได้หากโพสต์ของคนเหล่านี้ถูกมองว่าเป็น Sadfishing นั่นเอง