ในโลกของการศึกษาและงาน ‘อาชีวศึกษา’ มักเป็นตัวเลือกลำดับรองลงมาเมื่อเทียบกับคนที่จบการศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่เกิดจากทัศนคติและค่านิยมที่เป็นกันมาหลายสิบปีกับการให้ค่าใบปริญญามากกว่า ‘ทักษะ’ ทางวิชาชีพ
การปรับมุมมองและสร้างภาพจำในทางบวกให้กับน้องๆ ในสายอาชีวีวะที่มีดีอยู่แล้วในเรื่องความเก่ง และพรสวรรค์ในงานช่าง ให้กลายมาเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญให้กับภาคธุรกิจและประเทศ เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญในโครงการที่ชื่อ DVE หรือ Samsung Dual Vocational Education (Samsung DVE)
จุดประกายโอกาส
Samsung DVE มีไอเดียเริ่มต้นจากบริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กับน้องๆ ที่เรียนในสายอาชีวศึกษาได้แสดงความสามารถและเพิ่มโอกาสในโลกของการทำงาน โดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) พัฒนานักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.) ที่สำเร็จการฝึกทักษะวิชาชีพช่างเทคนิคในสาขา ช่างเทคนิคสาขาระบบเครื่องทำความเย็น ช่างเทคนิคสาขาเครื่องรับโทรทัศน์ระบบดิจิทัล และช่างเทคนิคสาขาโทรศัพท์มือถือ ได้เข้าไปเรียนรู้และสัมผัสกับโลกของการทำงานจริงในศูนย์บริการซัมซุงทั่วประเทศ
‘มืออาชีพ’ สร้างได้
หัวใจของ DVE อยู่ที่การส่งต่อทักษะ ประสบการณ์ และความเป็นมืออาชีพ จาก ‘ซัมซุง’ ที่เชี่ยวชาญด้านธุรกิจและเทคโนโลยีให้กับน้องๆ จากรั้วอาชีวะที่มีดีอยู่แล้วเรื่อง ‘ฝีมือ’ ให้ได้ลับคมความเก่งให้เพิ่มขึ้นจากความรู้ที่จะได้รับและประสบการณ์จริงในการทำงาน
ในความเก่งที่ซัมซุงติวเข้ม เริ่มตั้งแต่ปฐมนิเทศ การทดสอบเกี่ยวกับความรู้ทางเทคนิคขั้นพื้นฐานการอบรมความรู้พื้นฐานทางเทคนิค กิจกรรมเยี่ยมชมศูนย์บริการหรือโรงงาน อบรมนวัตกรรมผลิตภัณฑ์โดยวิศวกรของซัมซุงที่มีประสบการณ์สูง และเป็นผู้เชี่ยวชาญในกลุ่มงานแต่ละด้าน การอัพเดทความรู้ใหม่ๆ การวิเคราะห์ปัญหา และหาทางแก้ไข ไปจนถึงฝึกประสบการณ์ในการแก้ปัญหาที่หลากหลาย โดยมีพี่เลี้ยงวิศวกรคนเก่งของซัมซุงที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญในกลุ่มงานคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด
ไม่ใช่แค่ความรู้และทักษะเท่านั้น ภายใต้โปรแกรม DVE นักศึกษาที่ผ่านการประเมินตามเกณฑ์หลังจากอบรมและฝึกปฏิบัติงานครบ 1 ปีตามแผนงานที่วางไว้ยังมีโอกาสเข้ารับการบรรจุเป็นพนักงานประจำของศูนย์บริการซัมซุงในตําแหน่งช่างเทคนิค เป็นระยะเวลา 1 ปี พร้อมสวัสดิการต่างๆ ได้แก่ ทุนการศึกษา เบี้ยเลี้ยงระหว่างการฝึกอาชีพ เงินสนับสนุนค่าที่พักและค่าเดินทางระหว่างฝึกอาชีพ (ใน 1 ปีแรกของการฝึกอาชีพ) รวมถึงประกันอุบัติเหตุระหว่างการฝึกอาชีพในสถานประกอบการ
‘The Mechanic’ เล่าเรื่องจากเรื่องจริง
มุมมองและแรงบันดาลใจที่ส่งต่อผ่านหนังสั้น ‘The Mechanic’ หนังสั้นความยาว 5.22 วินาที เป็นช่วงเวลาที่พอเหมาะกับการเล่าเรื่องราวของคนอีกกลุ่มในสังคมไทย “เด็กอาชีวะ” ให้กับคนกลุ่มใหญ่ในประเทศนี้ได้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง
หนังสั้นที่ ‘เป็นเอก รัตนเรือง’ กำกับ จี้ไปที่ปัญหาในสังคมไทยที่มักติดกับกรอบความคิดและทัศนคติเดิมๆ ที่มีต่อน้องนักศึกษาที่เลือกเดินในเส้นทางสายอาชีวะกับภาพความรุนแรงจากการก่อเหตุทะเลาะต่อยตี ให้หันกลับมามองในอีกด้านว่ายังทักษะและพรสวรรค์ในฝีมืองานช่างซ่อนอยู่
เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ ความสามารถที่น้องๆ อาชีวะมีนั้นยังไม่ค่อยมีใครหยิบยกมากล่าวถึงกันเท่าใดนัก แรงบันดาลใจจากหนังสั้นเรื่องนี้ถ่ายทอดเอาไว้ครบผ่านเด็กหนุ่มชื่อ ‘อานนท์’ เด็กหนุ่มมากพรสวรรค์ที่ได้รับการขัดเกลาพรสวรรค์จนกลายเป็นช่างฝีมือตัวจริงหลังได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ “Samsung Dual Vocation Education”หรือ DVE ที่ต้องการจะบอกกับสังคมไทยว่า ความเก่งสร้างได้ และเมื่อเก่งแล้วจะก้าวข้ามสู่ความเป็น ‘มืออาชีพ’ ในแต่ละด้าน แต่ละสาขาก็เป็นไปได้เช่นกัน
ผลลัพธ์ยกกำลังสอง
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่า สถานการณ์การจ้างแรงงานทักษะต่ำถึงปานกลางในไทยมีสัดส่วนมากถึง 84% จากนั้นจึงเป็นการจ้างงานในกลุ่มช่างเทคนิค และ แรงงานวิชาชีพ เพียง 16% เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย และประเทศที่พัฒนาแล้วกลับมีสัดส่วนความต้องการใช้แรงงานอยู่ในระดับสูงถึง 60-70%
ขณะที่ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (ปี 2561) พบว่ามีผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีตกงานมากถึง 170,000 คน ส่วนใหญ่มาสาขาที่เรียนจบมาไม่ตรงกับต้องการของตลาดแรงงาน สวนทางกับสายอาชีวะ ซึ่งขาดแคลนแรงงานมากถึงปีละ 15,000 คน นับตั้งแต่ปี 2556 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
การทำงานในโครงการ DVE ตอบโจทย์ได้ตรงจุดถึงทั้งในด้าน ‘ดีมานด์’ และ ‘ซัพพลาย’
เมื่อฝั่งบริษัทเอกชนที่ต้องการมองหาคนเก่งเข้าร่วมทีมพัฒนาโปรดักท์และบริการที่เป็นเลิศ ในขณะที่ สถาบันการศึกษาและเด็กอาชีวะก็มองหาสนามดีๆ ไว้เป็นที่สำหรับโชว์ฝีมือเช่นกัน เมื่อทุกอย่างลงตัวมีส่วนให้โครงการ DVE เดินมาถึงปีที่ 4 โดยมีแนวร่วมจากน้องๆ อาชีวศึกษาที่เข้าเป็นส่วนหนึ่งในโครงการนี้มากถึง 138 คน แบ่งเป็นภาคเหนือ 21คน, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 คน, ภาคตะวันออก 17 คน, ภาคใต้ 28 คน และ ภาคกลางอีก 56 คน
จากการทำงานภายใต้โปรแกรม DVE แล้วค่อยๆ ต่อจิ๊กซอว์จนเป็นภาพที่ใหญ่ขึ้น มีจุดเริ่มต้นจากความเชื่อมั่นจากบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างซัมซุงที่เล็งเห็นถึงความสามารถและพรสวรรค์ของเด็กรุ่นใหม่สายอาชีวะว่ามีขีดความสามารถ และพร้อมก้าวสู่ ‘มืออาชีพ’ ที่มีคุณภาพขับเคลื่อนให้กับระบบเศรษฐกิจและประเทศชาติได้เพียงแค่ขาดโอกาสและการสนับสนุนอย่างจริงจัง
#DoWhatYouCant