HomeSponsoredทำงานไร้กังวล SC Asset สร้าง Ecosystem คุณภาพ ส่ง “บ้านคิดส์มิตรฉัน” อาสาดูแลลูกหลานของแรงงานในแคมป์ก่อสร้าง

ทำงานไร้กังวล SC Asset สร้าง Ecosystem คุณภาพ ส่ง “บ้านคิดส์มิตรฉัน” อาสาดูแลลูกหลานของแรงงานในแคมป์ก่อสร้าง

แชร์ :

หมดยุคของสำหรับ CSR  ที่ทำแบบขายผ้าเอาหน้ารอดแล้ว เพราะทุกวันนี้ผู้คนแสวงหาความยั่งยืน และความจริงใจจากภารกิจที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ที่ต้องเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายภาคส่วน  CSR ที่ดีจึงไม่ใช่แค่การทำโครงการเพื่อตีฆ้องร้องป่าวแล้วจบไป โดยไม่เกิดประโยชน์ต่อเนื่อง หรือสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ซึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจและควรค่าแก่หยิบยกมาเป็นกรณีศึกษาก็คือ “บ้านคิดส์มิตรฉัน” (Kids’ Mission) โดยเอสซี แอสเสท (SC Asset) ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย ที่ผุดศูนย์เรียนรู้เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของลูกหลานแรงงาน ณ โครงการนำร่อง Neighbourhood Bangkadi จ.ปทุมธานี

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ตอกย้ำพันธกิจ For Good Mornings เพื่อเช้าวันใหม่ที่ดีสำหรับทุกคน

คุณณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง ที่มาของโครงการบ้านคิดส์มิตรฉันว่า “ทั้งนี้ เอสซี แอสเสท มุ่งมั่นขับเคลื่อนองค์กรเพื่อความสุขของแต่ละก้าวที่เติบโตขึ้น ด้วยพันธกิจ For Good Mornings เพื่อสร้างเช้าวันใหม่ที่ดี โดยไม่ได้ดูแลเพียงลูกบ้าน พนักงาน คู่ค้า และพันธมิตรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนงานก่อสร้างและลูกหลานของพวกเขาที่อาศัยอยู่ในบริเวณแคมป์ก่อสร้างด้วย เพราะในขณะที่ธุรกิจของเราเติบโต เราก็อยากดูแลสังคมและคนรอบข้างให้เติบโตไปด้วยกัน แต่ลำพังเอสซี แอสเสท ไม่อาจทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นและสำเร็จลุล่วงได้  ต้องขอบคุณพันธมิตรและผู้รับเหมาทั้งหมดที่ร่วมมือกัน รวมถึงขอบคุณทางมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (L.P.N) ที่่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องแรงงานต่างด้าว มุ่งสร้างความเสมอภาค ความเท่าเทียม สิทธิมนุษยชน และยกระดับคุณภาพชีวิต ซึ่งนับได้ว่าเป็นพันธกิจที่สอดคล้องกับเอสซี แอสเสท คือการสร้างเช้าวันใหม่ที่ดีให้กับลูกค้าหรือลูกบ้านทุกคน ให้ตื่นมาในบ้านที่ดี มีฟังก์ชั่นที่ดี อยากให้บ้านเป็นที่อยู่อาศัยที่ชาร์จพลังงานชีวิตให้กับลูกค้าเพื่อให้เขาออกไปทำภารกิจต่างๆ ในชีวิตได้อย่างเต็มที่ แต่การที่แรงงานจะได้เช้าวันใหม่ที่ดีตามที่เรามุ่งหวังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้ออาศัยความร่วมมือกันกับพันธมิตรต่างๆ ทั้งด้านเทคโนโลยี และแรงงานที่มาช่วยสร้างบ้าน 1,000 กว่ายูนิต ที่โครงการ Neighbourhood Bangkadi บนพื้นที่กว่า 200 ไร่ แห่งนี้”

เสริมสร้างคุณภาพชีวิตเด็กอย่างยั่งยืน

ด้าน คุณสุดารัตน์ เจริญเกตุมงคล หัวหน้าสายงานบริหารลูกค้าและการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้รายละเอียดเกี่ยวกับโครงการบ้านคิดส์มิตรฉันว่า  เป็นความร่วมมือแบบ Co-Creationระหว่างเอสซี แอสเสท กับผู้รับเหมา และพันธมิตรต่างๆ ได้แก่ ซัพพลายเออร์ (ทีโอเอ, เอสซีจี, สยามไทยสตีล, อาร์ แอนด์ ที เดคอเรท ดีไซน์)  และมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) เพื่อก่อสร้างโครงการภายใต้แนวคิด Zero Waste ที่นำวัสดุเหลือใช้จากงานก่อสร้าง มาสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก เพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุในระหว่างการปฏิบัติงาน ลดข้อกังวลเรื่องลูกของแรงงาน ซึ่งจะนำไปสู่การมีสมาธิและความตั้งใจที่ดีในการทำงาน เพื่อสร้างผลงานที่ดีทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพงานก่อสร้างจนกลายเป็น Quality of Ecosystem

“ซัพพลายเออร์ให้ของหรือสนับสนุนอุปกรณ์ ตามแนวคิดของ Zero Waste  เพราะ 50% ของวัสดุที่นำมาใช้เป็นการ Reuse จากบานประตูเก่า กรอบอะลูมิเนียมเก่า หรือสิ่งที่เราถอดออกมาจากสำนักงานขายเอง หรือจากสำนักงานใหญ่ของ SC Asset ที่อาคารชินวัตร 3 รวมถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ แม้คิดมูลค่าเป็นตัวเงินจะไม่มาก แต่ถือว่าเป็นการทำสิ่งดีๆ ร่วมกัน สร้างสังคมที่ยั่งยืนไปด้วยกัน ส่่วนอีก 50% เป็นวัสดุบางอย่างที่จำเป็นจะต้องซื้อใหม่ เช่น อิฐ หิน ปูน ทราย และเหล็ก เป็นต้น”

สำหรับโครงการ Neighbourhood  Bangkadi  ตั้งอยู่บนพื้นที่ 200 กว่าไร่นี้ คาดว่าจะมีการดำเนินการก่อสร้าง 4-5 ปี โดยบ้านคิดส์มิตรฉันจะทำงานควบคู่ไปกับโครงการนี้  และเติบโตไปพร้อมกัน ปัจจุบันมีผู้รับเหมาทั้งในส่วนสาธารณูปโภคและผู้รับเหมาก่อสร้างบ้านประมาณ 20 กว่าราย มีคนงานเกือบ 700 คน มีลูกหลานตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึง 15 ขวบ กว่า 40 คน โดยช่วงอายุ 3-15 ขวบ มีประมาณ 20 กว่าคน

บ้านคิดส์มิตรฉัน รองรับเด็กได้ราว 40 กว่าคน เปิดรับลูกหลานแรงงานในแคมป์ก่อสร้างทั้งคนไทยและต่างด้าว ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา เมียนมา มอญ และลาว ตั้งแต่อายุ 3-15 ขวบ (หากเล็กกว่า 3 ขวบจะต้องมีผู้ปกครองมาดูแลด้วย) ให้เข้ามาเล่น เลี้ยง และเรียนกันฉันมิตร ในวันจันทร์ถึงวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 8.00 – 16.30 น. โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ โดยเด็กจะได้เรียนรู้กับครูและเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 3 คน แบบทั่วถึง พร้อมบริการอาหารว่าง 2 มื้อ คือช่วงเช้ากับช่วงบ่าย ส่วนช่วงพักกลางวัน พ่อแม่จะมารับเด็กกลับไปกินข้าวเที่ยงที่แคมป์ก่อสร้าง

ด้านการออกแบบบ้านคิดส์มิตรฉัน ออกแบบได้น่ารักและเป็นมิตรกับเด็ก โดยใช้สถาปนิกเดียวกันกับที่ออกแบบบ้านของเอสซี แอสเสท ด้วยการคำนึงถึงทั้งพื้นที่ใช้สอย ความปลอดภัย  รวมถึงการระบายอากาศด้วย ไม่ร้อน เพราะใช้เมทัลชีท และหลังคาที่โปร่งโล่งสบาย รวมถึงพื้นที่สำหรับให้เด็กๆ ได้วิ่งเล่น

ทั้งนี้ บ้านคิดส์มิตรฉัน มีหน้าที่หลัก 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการศึกษา สอนทักษะวิชาคณิตศาสตร์ ขั้นพื้นฐาน ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และทักษะในการใช้ชีวิต ทั้งทางด้านอารมณ์ จิตใจ และสังคม  โดยเด็กๆ จะได้เรียนรู้กิจกรรมสันทนาการเชิงสร้างสรรค์ ด้านสุขภาพอนามัย เสริมสร้างความรู้ด้านการดูแลสุขภาพ รวมไปถึงการปฏิบัติตัวที่ถูกสุขลักษณะ และการดูแลรักษาความสะอาดต่างๆ ด้านสิทธิที่พึงมีพึงได้ ทั้งเด็กและพ่อแม่ที่เป็นแรงงาน จะได้เรียนรู้และรับทราบถึงสิทธิที่พึงมีพึงได้ เช่น สิทธิ์ในการรักษาพยาบาล สิทธิ์ในการศึกษา เพราะหากมีการเตรียมความพร้อมจากศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ เมื่อถึงอายุ 7 ขวบ เด็กก็สามารถเข้าโรงเรียนไทยได้อย่างถูกกฎหมาย

โดยนอกจากจะช่วยหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุในระหว่างการปฏิบัติงาน ลดข้อกังวลเรื่องลูกของแรงงาน และความตั้งใจที่จะทำให้เกิดการสร้างสังคมที่ดีในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านสังคม แล้วยังมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กสามารถเข้ารับการศึกษาต่อในระดับประถมศึกษาได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

“เมื่อเด็กมีความพร้อม ก็จะช่วยลดปัญหาด้านการปรับตัวได้ และทำให้เขาไม่รู้สึกแปลกแยก โดยเฉพาะทักษะภาษาไทย ที่เด็กเหล่านี้มักจะมีปัญหาในการเข้าสังคม เนื่องจากพูดภาษาไทยแทบไม่ได้ บางคนพูดไม่ชัด บางคนไม่เข้าใจวัฒนธรรมไทย ทำให้ไม่สามารถเข้าใจในบทเรียน ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับเพื่อนๆ ในชั้นเรียนได้ หลายๆ คนโดนเพื่อนล้อจนทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน แต่ถ้าเด็กไม่มีความพร้อม คนที่ทุกข์ที่สุดคือเด็ก”

ตีแตก Pain Point ของแรงงาน

ด้วย Pain Point ของคนงานก่อสร้างที่ไม่เคยมีโครงการไหน ของดีเวลลอปเปอร์รายใดแก้ปัญหานี้มาก่อน นั่นก็คือ แรงงานมีความกังวลในความปลอดภัยของลูกหลานที่อยู่ในพื้นที่ก่อสร้าง แต่ก็ไม่รู้จะไปฝากใครเลี้ยง ถ้าจะเลี้ยงเองก็เสียแรงงานแม่ในการดูแล หรือหากจะไปฝากยังสถานรับเลี้ยงเด็ก ก็ติดขัดที่ค่าใช้จ่าย ดังนั้นเอสซี แอสเสท จึงกลั่นไอเดียออกมาเป็น Solution ที่เรียบง่าย ด้วย Execution ที่ชัดเจน และมีประสิทธิภาพ

“เมื่อลูกหลานอยู่อย่างปลอดภัย โดยมีคนดูแลใกล้ชิด แรงงานก็จะมีสมาธิในการทำงานโดยปราศจากความกังวล มีพลังในการทำงานอย่างเต็มที่  นอกจากนี้การขาดงานของพ่อแม่หนึ่งวันเพื่อดูแลลุก คือรายได้ของเขาที่หายไป ดังนั้นพื้นที่ปลอดภัยตรงนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้พ่อแม่หมดห่วงเรื่องการดูแลลูก และลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุสำหรับเด็กที่อยู่ในพื้นที่ก่อสร้างด้วย ขณะเดียวกันถ้าเราดูแลลูกๆให้กับแรงงานแล้ว อัตราการย้ายงานของพวกเขาก็น่าจะลดน้อยลง ทำให้มีความต่อเนื่องในการทำงานมากขึ้น รวมถึงมีโอกาสในการพัฒนาและเพิ่มพูนทักษะฝีมือแรงงานด้วย”

สำหรับแนวทางในการสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมนั้น คุณสุดารัตน์บอกว่า จะเน้นลงพื้นที่ประกบและเชิญชวนว่าพ่อแม่ที่เป็นแรงงานในโครงการ Neighbourhood Bangkadi เพื่อให้ส่งเด็กเข้ามาที่ศูนย์นี้  ส่วนเด็กที่มาแล้วก็จะไปชวนเด็กคนอื่นด้วย เพียงแต่ในตอนแรกอาจจะไม่มั่นใจ เพราะไม่คุ้นชิน แต่หลังจากเปิดได้ไม่นาน แต่ละวันก็จะมีเด็กเพิ่มขึ้น เพราะเขาเห็นว่าเพื่อนสนุก มีขนมกิน

“ส่วนผู้ปกครองก็รับรู้ถึงความจริงใจ และความตั้งใจของเอสซี แอสเสท เพราะเขาเดินผ่านทุกวันตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง อีกทั้งเรายังจัดหาครูที่สื่อสารภาษาเขาได้  เราเห็นแววตาของพ่อแม่มีความสุข เพราะในฐานะพ่อแม่เขาก็อยากให้เด็กมีพัฒนาการ และมีความรู้ติดตัวตามช่วงวัยที่เขาเติบโตขึ้น นอกจากนี้เราอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พ่อ แม่ ลูก ทำกิจกรรมร่วมกัน มีพื้นที่สันทนาการข้างหลัง ทำอาหาร ทำขนมได้”

ด้านผลตอบรับตอนนี้มีเด็กราว 80-90% จากที่อยู่ในแคมป์ก่อสร้างทั้งหมด มาเรียนรู้อยู่ที่ศูนย์นี้ โดยเป้าหมายคือต้องการเด็กทั้งหมด 100% ขณะเดียวกันก็จะมีการประเมินความสำเร็จของโครงการนี้ ในทุกๆ 3 เดือน ทั้งการประเมินผลด้านการศึกษาจากปัจจัยชี้วัดความสำเร็จในด้านพัฒนาการของเด็ก รวมถึงความพึงพอใจของผู้รับเหมาด้วย

สำหรับอนาคตของบ้านคิดส์มิตรฉัน จะถูกต่อยอดและขยายไปยังโครงการอื่นๆ ของเอสซี แอสเสท ซึ่งแต่ละโครงการจะมีระยะเวลาในการเปิดให้บริการที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับพื้นที่และจำนวนผู้รับเหมา โดยจะเน้นการทำงานเชิงรุก และร่วมมือกับ LPN ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม คาดว่าเด็กแต่ละรายจะอยู่ไม่ต่ำกว่า 2 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาเพียงพอที่จะทำให้เห็นพัฒนาการของเด็กได้ ขณะที่ความท้าทายคือ ความต่อเนื่องของการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก เนื่องจากอาจจะมีกลุ่มพ่อแม่ที่จะต้องย้ายโลเกชั่นในการทำงานไปยังโครงการอื่น

นับได้ว่า บ้านคิดส์มิตรฉันโดย SC Asset  เป็นการหยิบยกเรื่องใกล้ตัว หรือเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจมาทำ CSR ที่มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน ไม่ใช่ CSR ที่ฉาบฉวย เพราะมีการวางแผนอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ มีแบบแผนที่ชัดเจน และมีการดำนินการที่จริงจัง จึงมีแนวโน้มที่จะเติบโตควบคู่ไปกับธุรกิจของ SC Asset ในอนาคต

 


แชร์ :

You may also like