HomeBrand Move !!“อิมแพ็ค” ซื้อแฟรนไชส์ The Coffee Academics จากฮ่องกง ขอใช้ “ทางลัด” เรียนรู้สูตรสำเร็จธุรกิจกาแฟ

“อิมแพ็ค” ซื้อแฟรนไชส์ The Coffee Academics จากฮ่องกง ขอใช้ “ทางลัด” เรียนรู้สูตรสำเร็จธุรกิจกาแฟ

แชร์ :

ตั้งแต่กาแฟรถเข็นแก้วละไม่กี่สิบบาท ไปจนถึงร้านกาแฟอิสระ หรือแบรนด์ระดับโลก Starbucks ราคาหลักร้อยบาท ที่กระจายอยู่ทั่วเมืองในเวลานี้ สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมบริโภคกาแฟของชาวไทยที่ขยายตัวในทุกเซ็กเม้นต์ เรียกว่าตลาดยังเปิดกว้างสำหรับรูปแบบใหม่ๆ และแบรนด์ดัง เพราะวันนี้ การดื่มกาแฟกลายเป็น “ไลฟ์สไตล์” ของผู้บริโภค ที่ยอมจ่ายเพื่อประสบการณ์ที่แตกต่าง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ปัจจุบันตลาดกาแฟมีมูลค่า 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็นกาแฟสำเร็จรูป (Instant Coffee) 30,000 ล้านบาท และกาแฟคั่วบด (Roast and Ground Coffee) 20,000 ล้านบาท ในกลุ่มนี้มีร้านกาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) ครองส่วนแบ่ง 10% หรือราว 2,000 ล้านบาท ถือเป็นเทรนด์ที่กำลังเติบโต

ที่ผ่านมาจึงเห็น “ผู้เล่น” เข้าสู่ตลาดนี้ต่อเนื่อง ทั้งแบรนด์จากต่างประเทศและแบรนด์ไทย นับรวมกันไม่น้อยกว่า 10 แบรนด์ อาทิ D’ARK, Rocket Coffee Bar, Red Diamond Cafe, Pacamara Coffee, Casa Lapin

คุณพอลล์ กาญจนพาสน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเมนท์ และคุณเจนนิเฟอร์ ลิว ผู้ก่อตั้ง The Coffee Academics

“อิมแพ็ค”ซื้อแฟรนไชส์แบรนด์ดังฮ่องกง

คุณพอลล์ กาญจนพาสน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเมนท์ กล่าวว่าเทรนด์ Specialty Coffee ซึ่งเป็นพฤติกรรมการดื่มกาแฟที่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ที่แตกต่างและคุณภาพของเมล็ดกาแฟ เป็นตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างน่าสนใจ

เราไม่ได้ดื่มกาแฟเพื่อแก้ง่วงอย่างเดียวแล้ว แต่กลายเป็นไลฟ์สไตล์ หรือบางคนมองการดื่มกาแฟอร่อยเป็นรางวัลชีวิต”

“อิมแพ็ค” จึงลงทุนซื้อแฟรนไชส์แบรนด์ร้านกาแฟดังจากฮ่องกง The Coffee Academics” ในกลุ่ม Specialty Coffee ซึ่งเป็นแบรนด์ที่กำลังได้รับความนิยม เข้ามาเสริมพอร์ตโฟลิโอ ธุรกิจด้านอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) และสร้างโอกาสการเติบโตในธุรกิจร้านกาแฟที่กำลังขยายตัว

โดยเปิด The Coffee Academics” สาขาแรกที่โครงการมิกซ์ยูส “สินธร วิลเลจ” ย่านหลังสวน เป็นทำเลที่มีทั้งที่พักอาศัยและอาคารสำนักงานหลายแห่ง คาดว่าจะมีลูกค้าทั่วไปเข้ามาใช้บริการ 70-80% ส่วนที่เหลืออีก 20-30% จะเป็นลูกค้าชาวไทยและต่างชาติที่รู้จักแบรนด์อยู่แล้ว โดยให้บริการ Specialty Coffee พร้อมขนม และอาหาร ในราคาเริ่มต้น 120 บาท ไปจนถึง 200 บาท

บริษัทมีแผนขยายสาขาเพิ่มอีก 3 สาขา ภายในระยะเวลา 5 ปี ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาเลือกทำเล คาดว่าจะมีการเปิดตัวที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี 1 สาขา และหัวเมืองต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา ใช้งบประมาณลงทุนและสร้างการรับรู้แบรนด์ผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ ภายใต้งบประมาณ 200 ล้านบาท

นำ Know-How ร้านกาแฟต่อยอดธุรกิจ F&B

ปัจจุบัน อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเมนท์ แบ่งธุรกิจ ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ เช่าพื้นที่จัดนิทรรศการหรืองานประชุม มีสัดส่วนรายได้ 60-70%  ส่วนอาหาร เครื่องดื่ม และงานจัดเลี้ยง 10% โรงแรม 10% และกลุ่มบันเทิงและอื่นๆ 10%

การซื้อแฟรนไชส์ร้านกาแฟ The Coffee Academics”  ซึ่งผู้ก่อตั้ง คุณเจนนิเฟอร์ ลิว (Jennifer W.F.Liu)  มีประสบการณ์ในการสร้างแบรนด์มากว่า  7 ปี  จะเป็น “ทางลัด” ที่อิมแพ็คได้เรียนรู้วิชาธุรกิจ เพื่อนำ Know-How ตลอดจนระบบริหารจัดการร้านที่มีประสิทธิภาพ มาปรับใช้เสริมให้ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ให้แข็งแกร่งมากขึ้น

“ทุกคนมีร้านกาแฟได้ แต่ทำไมร้าน The Coffee Academics จึงได้รับรางวัลระดับโลกมากมายและเป็นที่รู้จัก ตรงนี้เราอยากเรียนรู้ทั้งระบบการบริหารจัดการร้าน การทำการตลาด และโซเชียลมีเดีย เพื่อนำมาปรับใช้กับธุรกิจอื่นๆ เชื่อว่าที่นี่จะเป็นโรงเรียนที่ดี”

ปัจจุบันอิมแพ็คมีร้านอาหารกว่า 30 สาขา จากหลากหลายแบรนด์ เช่น Hongkong’s Fisherman, Tsubohachi  การเพิ่ม The Coffee Academics”  เข้ามาในพอร์ต ในอนาคตจะเป็นอีก “ตัวเลือก” ให้ลูกค้าด้านบริการ Food Catering ที่ให้บริการด้านการจัดเลี้ยงของอิมแพ็ค ซึ่งตอนนี้ดูแลทั้งอาหารและเครื่องดื่มให้กับบริษัทต่างๆ โดยการเพิ่มทางเลือกใหม่ๆ เข้ามานี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนที่จะเพิ่มรายได้ในกลุ่มธุรกิจ F&B จาก 1,000 ล้านบาท เป็น 3,000 ล้านบาทภายใน 3 ปี

จากสถาปนิกสาวผู้หลงรักกาแฟ สู่การสร้างแบรนด์ The Coffee Academics

ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของร้าน “The Coffee Academics” เกิดขึ้นจากความหลงใหลและชื่นชอบดื่มกาแฟเป็นพิเศษของ “คุณเจนนิเฟอร์ ลิว”  ผู้ก่อตั้ง The Coffee Academics ทายาทธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และสถาบันการเงินจากฮ่องกง ที่ตัดสินใจทิ้งอาชีพสถาปนิกที่เรียนมา เพื่อมาทำธุรกิจร้านกาแฟอย่างเต็มตัว

คุณเจนนิเฟอร์ เล่าว่าความทรงจำที่ประทับใจเกี่ยวกับกาแฟเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ตอนอายุ 6 ขวบ ครั้งนั้นเธอได้ตามคุณพ่อไปที่โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล ฮ่องกง แม้คุณพ่อจะห้ามดื่มกาแฟเพราะเธอยังเด็ก แต่ในวันนั้นเธอได้มีโอกาสลองชิมกาแฟเป็นครั้งแรก ทำให้ติดใจในรสชาติของกาแฟ และคิดอยู่เสมอว่ากาแฟดีๆ ต้องอยู่ที่โรงแรมเท่านั้น

จนเมื่อเติบโตขึ้น คุณเจนนิเฟอร์ได้มีโอกาสไปศึกษาด้านสถาปัตยกรรม ที่มหาวิทยาลัยคอร์เนล (Cornell University) นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ทำให้ได้พบกับวัฒนธรรมการดื่มกาแฟที่หลากหลายจากเพื่อนต่างชาติ ที่มักสรรหาเมล็ดกาแฟจากหลากหลายแหล่ง รวมถึงเครื่องมือใหม่ๆ เพื่อมาชงดื่มในชั้นเรียนเสมอ

เมื่อกลับมาที่ฮ่องกง คุณเจนนิเฟอร์จึงก่อตั้ง The Coffee Academics ที่สตูดิโอแห่งหนึ่งย่าน Causeway Bay ซึ่งเป็นย่านค้าปลีกสุดคึกคักของฮ่องกง เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้และเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนทางความคิดและประสบการณ์สำหรับคนที่รักกาแฟเหมือนกัน ก่อนที่จะขยายมาสู่การเปิดร้านกาแฟสาขาแรกบนถนน Yiu Wa ในย่านเดียวกันเมื่อปี 2012

The Coffee Academics สาขาแฟล็กชิปที่ย่าน Causeway Bay

โดยที่ The Coffee Academics สาขาแฟล็กชิปในฮ่องกงแห่งนี้ ได้รับการจัดอันดับเป็น 1 ใน 25 ร้านกาแฟในโลกที่ต้องไปเห็นก่อนตาย (25 Coffee Shops Around The World You Have to See Before You Die) จาก BuzzFeed และถูกจัดให้เป็นหนึ่งใน ร้านกาแฟที่ดีที่สุดในโลก” (The World’s Best Coffee Shops) จาก The Telegraph รวมถึงได้รับการแนะนำจากสื่ออื่นๆ อาทิ มิชลิน ไกด์ (Michelin Guide) ในปี 2017 อีกด้วย

ปัจจุบันแบรนด์ The Coffee Academics ได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง จนมี 12 สาขาทั่วฮ่องกง และได้ขยายสาขาในต่างประเทศ โดยมีที่สิงคโปร์ 4 สาขา จีน ในเมืองเซียงไฮ้ และปักกิ่ง 3 สาขา และไทย 1 สาขา ทำให้คุณเจนนิเฟอร์ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารหญิงที่ทรงอิทธิพลจากการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes ในปี 2019 โดยนอกจากธุรกิจกาแฟแล้ว คุณเจนนิเฟอร์ยังเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิช่วยเหลือเด็กและสตรีอีกด้วย

ทั้งนี้ คุณเจนนิเฟอร์ ตั้งเป้าว่าภายในปี 2020 จะมี The Coffee Academics ทั้งหมด 30 สาขาตั้งอยู่ใน 7 เมืองหลักทั่วทวีปเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น จีน มาเก๊า ฟิลิปปินส์ เกาหลี และญี่ปุ่น และคาดว่าจะมีสาขาที่จีนมากกว่า 50 สาขาด้วยกันภายในปี 2025 ภายใต้แผนการขยายสาขาให้ครบ 100 สาขา

5 ความพิเศษในแบบของ The Coffee Academics

ทั้งนี้ คุณเจนนิเฟอร์ ยังได้ให้ความหมายของกาแฟพิเศษในแบบฉบับของ The Coffee Academics ไว้ดังนี้

  1. คัดเฉพาะเมล็ดกาแฟ 5% ของแหล่งกาแฟอาราบิก้าพิเศษคุณภาพดีที่สุด มีเมนูหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกาแฟที่มาจากแหล่งปลูกเดี่ยว หรือกาแฟจากหลายแหล่งปลูก จากแหล่งปลูกในเชียงใหม่ ลาว และ Alta Mogiana จากประเทศบราซิล จนได้รับคะแนนด้านเมล็ดกาแฟ(Coffee Beans) 83+ คะแนนจากสมาคมกาแฟพิเศษ ตลอดจนการเบล็นด์เมล็ดพันธุ์ในท้องถิ่นจนได้กาแฟที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ โดยได้รับคะแนนด้านการเบล็นด์กาแฟ (Coffee Blend) จาก Coffee Review 90+ คะแนน
  2. คั่วและบรรจุเมล็ดกาแฟเอง ภายในโรงคั่วที่ย่าน Causeway Bay ที่ทำการทดสอบ ประกันคุณภาพ และเลือกซื้อเมล็ดกาแฟที่ยังไม่ผ่านการคั่วและบรรจุเมล็ดกาแฟเอง จนได้รับการรับรองตามมาตรฐาน Q-grader และจากผู้คั่วกาแฟมืออาชีพ
  3. สนับสนุนผู้ปลูกกาแฟ (Social Responsibility) โดยซื้อเมล็ดกาแฟจากผู้ปลูกกาแฟโดยตรง จากแหล่งปลูกมากกว่า 30 แหล่งทั่วโลก เช่น บราซิล ฮอนดูรัส จีน เพื่อสนับสนุนการค้าในกลุ่มเกษตรกรและผุ้ปลูกกาแฟ
  4. สร้างประสบการณ์ “Coffee House” ให้กับลูกค้า (Customer Journey) ผ่านการออกแบบและตกแต่งร้านที่เน้นใช้สีดำและทอง มาผสมผสานเข้ากับเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ รวมถึงการจัดวางสินค้า บาร์กาแฟ ตลอดจนการบริการ เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกถึงความพิเศษตั้งแต่ก้าวมาที่ประตู จนกระทั่งได้รับเครื่องดื่ม
  5. ความยั่งยืน (Sustainability) โดยการเข้าไปมีส่วนในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ประเภท Take Away ที่ย่อยสลายได้ 100% และยังรณรงค์ให้ลูกค้านำแก้วและหลอดส่วนตัวมาใช้ด้วย

จุดเด่นที่สำคัญที่ทำให้ The Coffee Academics แตกต่างจากแบรนด์กาแฟรายอื่น การมี “ศูนย์เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์” ขนาด 600 ตร.ม. เป็นพื้นที่เปิดโอกาสให้คนรักกาแฟ ได้ฝึกฝนและเรียนรู้การเป็นบาริสต้า ตั้งแต่คอร์สเริ่มต้นไปจนถึงระดับมืออาชีพ โดยในอนาคตคุณเจนนิเฟอร์ มีแผนที่จะขยายศูนย์เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ไปยังประเทศอื่นๆ ซึ่งมี “ประเทศไทย” เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ได้มองไว้


แชร์ :

You may also like