ตลอดหลายปีมานี้ เราได้ยินองค์กรหรือบริษัทขนาดใหญ่พูดถึงการ Transformation หรือการปฎิวัติองค์กรกันบ่อยครั้ง โดยจุดประสงค์หลักส่วนใหญ่จะทำเพื่อให้รอดพ้นจาก Technology Disruption หลายๆ องค์กรจึงเลือกที่จะ Disrupt ตัวเอง ก่อนที่จะถูกคู่แข่งหรือสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลง มาคอยบีบให้ต้องปรับตัวโดยที่ยังไม่ทันได้ตระเตรียมความพร้อมใดๆ ไว้รองรับ
รวมไปถึงประเด็นสำคัญที่ภาคธุรกิจมักจะมองคู่กันไปคือ การเพิ่มศักยภาพให้ธุรกิจสามารถกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่หรือธุรกิจที่อยู่มานานและมักเผชิญปัญหาธุรกิจเริ่มทรงตัว ไม่ค่อยเห็นการเติบโตเหมือนกับช่วงเริ่มต้นธุรกิจใหม่ๆ การทรานส์ฟอร์มองค์กร จึงเป็นหนึ่งโซลูชั่นส์ที่องค์กรต่างๆ นำไปใช้เพื่อทำให้ธุรกิจกลับไปสร้างการเติบโตได้แบบก้าวกระโดดเหมือนช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ได้อีกครั้ง
หมดยุคโตเท่าตัว อย่างน้อยต้อง 10 เท่า
ปัญหาสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งบางองค์กรอาจมีอายุเป็นร้อยปี มี Legacy มี Culture หยั่งรากลึก การขยับหรือปรับเปลี่ยนจึงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนคนในองค์กร เพื่อให้มีความพร้อมและมีศักยภาพในการแข่งขัน เพราะองค์กรใหญ่ส่วนใหญ่จะมีสายบังคับบัญชาที่ค่อนข้างซับซ้อน และหลายลำดับชั้น ทำให้การขับเคลื่อนหรือสั่งการแต่ละครั้งกว่าจะเกิด Action ได้จริง ก็ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรเลยทีเดียว
ต่างจากโมเดลการเติบโตของบรรดาสตาร์ทอัพ ที่มีจุดเด่นในเรื่อง Speed หรือความรวดเร็วในการทำธุรกิจ การตัดสินใจต่างๆ อย่างรวดเร็ว คิดเร็ว ทำเร็ว จึงประสบความสำเร็จได้เร็ว หรือแม้ว่าบางครั้งอาจจะล้มเหลว ก็ล้มเร็ว ลุกเร็ว เรียนรู้ได้เร็ว และพร้อมสำหรับการทดลองสิ่งใหม่ต่อไปโดยเร็วเช่นกัน แต่สิ่งเหล่านี้เป็นข้อจำกัดสำคัญขององค์กรธุรกิจในยุคก่อนหน้า โดยเฉพาะองค์กรใหญ่ ที่มักจะเต็มไปด้วยขั้นตอนและกระบวนการในการตัดสินใจหลายชั้น อาจจะด้วยเหตุผลเพื่อความรอบคอบเพื่อให้แต่ละก้าวเดินขององค์กรเป็นไปอย่างมั่นคงและปลอดภัย
นอกจากเรื่องของ Speed แล้ว ศักยภาพในการสร้างความเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพก็เป็นอีกหนึ่งผลลัพธ์ที่น่าสนใจ ด้วยความสามารถในการขยายสเกลธุรกิจอย่างรวดเร็ว จากอัตราการเติบโตได้ครั้งละหลายๆ เท่าตัว ทำให้ปัจจุบัน ภาคธุรกิจมองข้ามความสามารถในการเติบโตแบบ 1-2 Digit หรือแม้แต่การเติบโตเป็นเท่าตัว มาสู่การหาโซลูชั่นส์เพื่อขับเคลื่อนให้ธุรกิจเติบโตได้แบบ S Curve หรือการเติบโตแบบก้าวกระโดดเป็น 10 เท่า หรือ 10X Solutions ซึ่งเป็นลักษณะการเติบโตในช่วงเริ่มต้นธุรกิจใหม่ๆ นั่นเอง
จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไม่ที่ผ่านมากลุ่มสตาร์ทอัพทั้งหลาย จึงสามารถแย่งซีน และแย่งชิงลูกค้าจากแบรนด์ดัง หรือบรรดายักษ์ใหญ่ในธุรกิจไปได้ รวมทั้งความน่ากลัวของโลกธุรกิจในปัจจุบันซึ่งไม่รู้ว่าคู่แข่งที่กำลังเผชิญอยู่คือใครบ้าง ต่างจากยุคก่อนหน้าที่มักเป็นคนทำธุรกิจประเภทเดียวกัน หรืออย่างน้อยก็อยู่ในวง Supply Chain เดียวกัน แต่ปัจจุบันธุรกิจต้องเผชิญกับคู่แข่งมากหน้าหลายตา เส้นแบ่งการแข่งขันจากกลุ่มธุรกิจหายไป หลายธุรกิจที่ไม่เคยคาดคิดว่าจะต้องมาเกี่ยวข้องกัน ก็เข้ามาอยู่ใน Ecosystem กลายมาเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของ New Landscape ที่เปลี่ยนไปจากเดิม
ทำให้องค์กรใหญ่ต่างรีบออกจาก Comfort Zone และเร่งปรับเปลี่ยนองค์กรให้พร้อมกับการแข่งขัน โดยเฉพาะองค์กรใหญ่ที่เป็นเบอร์หนึ่ง เป็นยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรม สะสมบุญบารมีมายาวนาน ทำให้มีเงินทุน มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการ มีเครือข่ายธุรกิจจำนวนมาก และอาจจะเข้าใจว่ามีความเข้าใจทั้งตลาดและลูกค้าเป็นอย่างดี ซึ่งองค์กรเหล่านี้กว่าจะขยับแต่ละครั้งต้องผ่านขั้นตอน ผ่านกระบวนการต่างๆ ทำให้ต้องใช้ระยะเวลามาก สำหรับการขับเคลื่อนโปรเจ็กต์ใหม่ๆ หรือกว่าจะทำสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นในแต่ละครั้งได้
ที่สำคัญคือ สภาพแวดล้อมของตลาด รวมทั้งความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของผู้บริโภคทุกวันนี้เปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว ผู้บริโภคมีความรู้มากขึ้น มีข้อมูล และไม่ได้ยึดติดขนบเดิมๆ เพราะมีอำนาจเป็นผู้เลือกได้เอง และกล้าที่จะลองของใหม่ วิธีบริโภคใหม่ๆ วิธีสื่อสารใหม่ๆ ดังนั้น ไม่ว่าใครหรืออะไรก็ตามที่สามารถตอบสนองให้ตัวเองได้ดีที่สุดก็จะเป็นสิ่งที่ถูกเลือกจากผู้บริโภค โดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นแบรนด์ที่คุ้นเคย หรือต้องเป็นผู้ให้บริการในกลุ่มเดิมๆ แบบที่เคยเป็นมาในอดีต
ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้จึงเอื้อให้เหล่าสตาร์ทอัพ สามารถมีโอกาสแทรกตัวเข้ามาเป็นช้อยส์ให้กับผู้บริโภค ซึ่งเมื่อผู้บริโภคได้ทดลองใช้แล้วได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ สารถตอบโจทย์ความต้องการได้ไม่ต่างจากสิ่งที่แบรนด์ใหญ่เคยทำได้ ทำให้หลายคนเลือกที่จะมาหาประสบการณ์ใหม่ๆ วิธีใหม่ๆ ที่ได้รับความสะดวกกว่า รวดเร็วกว่า ง่ายกว่า หรืออาจจะถูกกว่าในบางครั้ง และไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องกลับมาเป็นลูกค้าหรือมาใช้บริการกลุ่มผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ทั้งหลายอีกต่อไป
วิถี Agile เพิ่ม Speed สลายขั้วอำนาจในองค์กร
เมื่อต้องเผชิญความท้าทายใหม่ๆ รอบด้าน ระบบบริหารงานที่หลายองค์กรใหญ่เลือกที่จะใช้เพื่อรับมือต่อธุรกิจยุคดิจิทัล คือ การปรับโครงสร้างมาเป็นแบบ Agile Organization ด้วยการตัดสายบังคับบัญชาการทำงานให้สั้นลงและเป็นอิสระต่อกัน เพื่อความคล่องตัวและสามารถขับเคลื่อนกลยุทธ์ต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที หรือ เลือกใช้รูปแบบการทำงานแบบ “กระจาย” ทำให้งานต่างๆ ขับเคลื่อนได้เร็วขึ้น เพราะสามารถสั่งการและตัดสินใจเรื่องต่างๆ ที่รับผิดชอบอยู่ได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการตามระบบโครงสร้างแบบเดิมๆ ที่ไม่สอดคล้องกับการแข่งขันในปัจจุบัน เพราะอาจใช้ระยะเวลาที่ค่อนข้างนานและทำให้พลาดโอกาสสำคัญทางธุรกิจ
รวมไปถึงจุดเด่นในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นในองค์กรจากการ Cross Function เพราะทุกคนในทีมจะไม่มีการแบ่งแยกงานกันอย่างชัดเจน เปลี่ยนระบบการรับผิดชอบเฉพาะในสายงานตัวเองมาเป็นการรับผิดชอบทุกอย่างภายในทีมร่วมกัน ซึ่งศักยภาพของการทำงานแบบ Agile นั้น น่าจะพิสูจน์ได้เป็นอย่างดี จากการประสบความสำเร็จและเติบโตอย่างรวดเร็วของกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพหรือ Tech Company ที่มีอยู่จำนวนมาก ในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีวิธีการทำงานแบบ Agile Organization เป็นหลัก
คุณโจ้ ธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Marketing Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรขนาดใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับการทรานสฟอร์มองค์กร และเลือกใช้ระบบการบริหารงานแบบ Agile Organization ด้วยเช่นกัน ซึ่งคุณโจ้ เคยให้ข้อมูลในช่วงที่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจของ SCB มาเป็นแบบ Agile เพราะในฐานะที่ SCB เป็นธุรกิจธนาคารแห่งแรกของประเทศไทย จึงเป็นทั้งองค์กรใหญ่และเก่าแก่ ลำดับชั้นที่เคยมีในสายงานอย่างน้อยน่าจะไม่ต่ำกว่า 10-15 ขั้น ประกอบกับยังอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่เสี่ยงต่อการถูก Disrupt จากการเติบโตของกลุ่ม FinTech ทำให้ต้องเผชิญกับคู่แข่งใหม่ๆ ทั้งกลุ่มที่ให้บริการทางการเงินด้วยกันเองทั้งกลุ่ม Bank และ Non-bank รวมไปถึงการเติบโตของ Digital Platform ต่างๆ
ซึ่งในระยะเวลาก่อนหน้าของการปรับโครงสร้างนั้น ทาง SCB นำร่องด้วยการซุ่มทดลองตั้งกลุ่มการทำงานที่เรียกว่า Agile Team มาก่อนแล้ว ภายใต้โปรเจ็กต์ 10X โดยเป็นกลุ่มการทำงานที่ตั้งขึ้นใหม่และทำงานอย่างเป็นอิสระ ด้วยวัตถุประสงค์สำคัญในการสร้างการเติบโตใหม่ให้กับองค์กร หรือการเติบโตได้แบบคูณสิบ เพื่อสร้าง New S-curve เพื่อทำให้ธนาคารสามารถกลับไปเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดได้อีกครั้ง ทำให้ระยะที่ผ่านมา จะเห็น Movement ต่างๆ ของ SCB ที่เน้นการทำงานเชิงรุก โดยเฉพาะการหาน่านน้ำใหม่ๆ ในการเติบโต รวมทั้งฉีกวิธีคิดจากกรอบเดิมๆ ที่ธุรกิจธนาคารเคยยึดถือมา
“Agile Team จะตั้งขึ้นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์สำคัญหรือเพื่อ Purpose บางอย่าง ทุกคนในทีมไม่ว่าจะถนัดอะไร หรือก่อนหน้านั้นดูแลอะไรอยู่ จากที่เคยดูเฉพาะงานของตัวเอง หรือทำงานเป็นแท่งๆ ของแต่ละคน หรือแบบเป็นไซโล แต่เมื่อมาอยู่ในทีมนี้ทุกคนจะมีเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งผลงานของทีม 10X ถือว่าบรรลุได้ตามเป้าหมาย เพราะเพียงแค่ 3 เดือนหลังตั้งทีม ก็สามารถลอนช์โปรดักต์ใหม่เพื่อออกมาทดลองตลาดได้ และได้รับผลการตอบรับที่ค่อนข้างดี จากที่ก่อนหน้านี้ การที่ธนาคารจะลอนช์โปรดักต์ใหม่ๆ อะไรออกมาได้แต่ละครั้ง จะใช้เวลาในการ R&D เฉลี่ยเป็นปีๆ โดยเฉพาะในกลุ่ม Strategic Product ที่ส่งผลต่อการเติบโตของค์กร เช่น กลุ่มสินเชื่อ ซึ่งทางทีมจะยังมีการพัฒนาต่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้สินเชื่อ เช่น ทำอย่างไรให้ยอด Reject สินเชื่อลดลงหรือเป็นศูนย์ให้ได้ในอนาคต จากความแม่นยำและความยืดหยุ่นในการปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น ทำให้นำมาซึ่งการเติบโตที่มากขึ้นขององค์กรนั่นเอง”
คุณโจ้ ยังได้ให้ความรู้เกี่ยวกับข้อดีของการนำระบบ Agile Organization มาใช้ว่าจะช่วยเพิ่ม Productivity และ Efficiency ให้องค์กรได้ จากการทลายกำแพงบางอย่าง ที่มักจะพบเห็นได้โดยทั่วไปในองค์กรขนาดใหญ่และเก่าแก่
“พูดถึงองค์กรใหญ่ทั่วๆ ไป ทั่วโลก ที่มักจะมีกลุ่มคนที่เรียกว่า “ฮิปโป” หรือ HiPPO (Highest Paid Person’s Opinion) หรือคนที่อยู่ในองค์กรมานาน ซึ่งพอนานวันไปเงินเดือนและตำแหน่งก็จะสูงขึ้น ทำให้เด็กรุ่นใหม่ๆ ในองค์กรเกรงใจและไม่กล้าขัดเมื่อคนกลุ่มนี้เสนอความคิดเห็นบางอย่าง แม้ว่าบางครั้งอาจจะไม่ถูกซะทั้งหมด เหมือนอย่างผมเองก็เป็นหนึ่งในฮิปโปเหมือนกัน เวลาพูดอะไรน้องๆ ก็เกรงใจ ซึ่งบางครั้ง บางเรื่องเราอาจจะรู้ไม่เท่าน้องๆ ก็มี ดังนั้น การมีโครงสร้างแบบ Agile ที่ไม่ได้มีลำดับขั้นมาก ไม่ต้องมีนายหลายชั้น ทำให้คนที่ทำงานจริงมี Empowering ในการทำงานและตัดสินใจมากขึ้น จึงทำให้ขับเคลื่อนงานต่างๆ ได้รวดเร็วและได้ทำงานในแบบที่ต้องการมากขึ้น”
ที่สำคัญในยุคนี้ เป็นยุคที่คนรุ่นใหม่ใจร้อน ไม่ชอบรออะไรนานๆ การเข้ามาในองค์กรใหญ่ที่สายงานบริหารมีเป็นสิบขั้น กว่าจะโตขึ้นเป็นระดับผู้บริหารได้ก็ต้องใช้เวลา ทำให้หลายๆ คนเลือกที่จะไปทำธุรกิจส่วนตัว หรือเป็น Freelancer กันมาก แต่หากองค์กรที่วางโครงสร้างแบบ Agile Organization ที่มีสายงานเฉลี่ยไม่เกิน 2-3 ชั้น โอกาสจะเติบโตก็เร็วกว่าการเดินตาม Career Path แบบเดิมๆ รวมทั้งยังทำให้องค์กรมีโอกาสได้คนที่เป็นกลุ่ม Talent และ Technologist มาร่วมงานได้มากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นอย่างมากในการเข้ามาช่วยเสริมความแข็งแรงและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันขององค์กรให้สูงมากยิ่งขึ้นในยุคดิจิทัลเช่นนี้
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมหลายองค์กรใหญ่ทั้งของไทยหรือในต่างประเทศ พยายามทรานส์ฟอร์มเพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ๆ รวมถึงเร่งปรับโครงสร้างการทำงานแบบเดิมๆ มาอยู่ในวิถีของ Agile Organization เพิ่มขึ้น เพราะความสำเร็จหรือความยิ่งใหญ่ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ไม่สามารถใช้เป็นหลักประกันใดๆ ได้เลยว่าในอนาคตธุรกิจจะยืนหยัดต่อความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่จะเข้ามาได้อยู่หรือไม่ จึงต้องตรียมความพร้อมด้วยการรีบขับเคลื่อนออกจาก Comfort Zone และเร่งปรับเปลี่ยนองค์กรให้พร้อมกับทุกการแข่งขันในอนาคต ซึ่งไม่ใช่แค่เรือเล็กเท่านั้นที่ต้องออกจากฝั่ง เพราะยุคนี้ “เรือใหญ่” เอง ก็ต้องรีบขับเคลื่อนและเร่งออกจากฝั่งเพื่อไปหาดินแดนใหม่ และโอกาสใหม่สำหรับการเติบโตต่อไปในอนาคตเช่นกัน
Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand