HomeBrand Move !!วิสัยทัศน์ Uniqlo เรื่องสิ่งแวดล้อม  ยีนส์ที่ใช้น้ำน้อยลง 99% ในกระบวนการผลิต – เสื้อผ้าจากขวดพลาสติก

วิสัยทัศน์ Uniqlo เรื่องสิ่งแวดล้อม  ยีนส์ที่ใช้น้ำน้อยลง 99% ในกระบวนการผลิต – เสื้อผ้าจากขวดพลาสติก

แชร์ :


เมื่อเดือนกรกฏาคม ที่ผ่านมา Uniqlo ประกาศจะเป็นแบรนด์ที่งดแจกถุงพลาสติกภายในร้าน แล้วเปลี่ยนมาใช้ถุงกระดาษแทน นั่นเป็นกระบวนการปรับตัวที่เชื่อมโยงกับผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งนอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของ
เป้าหมายใหญ่เอาไว้ว่า จะต้องลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งให้ได้ 85% จากทุกสโตร์ ภายในปี 2020 ซึ่งเท่ากับช่วยลดขยะพลาสติกลงได้ถึง 7,800 ตันเลยทีเดียว (อ่านเพิ่มเติมคลิกที่นี่)  ยังเป็นการกระตุ้นสังคมและภาคเอกชนบริษัทอื่นๆ ให้ตระหนักในเรื่องนี้แล้ว สิ่งหนึ่งที่ Uniqlo ทำมาตลอด ก็คือ การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ “กระบวนการผลิต” ซึ่งมีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมในอันดับต้นๆ ในอตุสาหกรรมแฟชั่น

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สิ่งที่ Uniqlo ลงมือทำไปแล้วก็เช่น…พัฒนากระบวนการฟอกยีนส์แบบใหม่ที่ลดการใช้น้ำลงได้สูงสุดถึง 99% หรือถ้าหากว่าคิดโดยเฉลี่ยอยู่ที่มากกว่า 90% ขณะเดียวกันก็จับมือกับ Toray พันธมิตรซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ด้านเทคโนโลยีและวัตถุดิบของยูนิโคล่ที่ทำงานร่วมกันมากว่า 15 ปี เริ่มวิจัยผลิตเสื้อยืดจากขวดพลาสติกใช้แล้ว และนี่คือรายละเอียดที่แบรนด์แฟชั่นระดับโลกแบรนด์นี้เริ่มต้นเพื่อความยั่งยืน

อยากได้ยีนส์ที่สุดของโลก ต้องแอล.เอ

Jeans Innovation Center ของยูนิโคล่ หรือชื่ออย่างเป็นทางการ คือ ศูนย์นวัตกรรมยีนส์ฟาสต์ รีเทลลิ่ง (FR Jeans Innovation Center) เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนายีนส์ของบริษัทในเครือฟาสต์ รีเทลลิ่งทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นยูนิโคล่, เจ แบรนด์, Theory หรือ GU รวมแล้วทั้งหมด 8 แบรนด์ ตั้งอยู่ในเมืองลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย เหตุผลที่ยูนิโคล่เลือกตั้งศูนย์วิจัยที่นี่ ก็เพราะว่า แอล.เอ(แคลิฟอร์เนีย) ขึ้นชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดยีนส์ ดังนั้นถ้าหากว่าต้องการสร้างสรรค์ให้ยีนส์ได้รับการยอมรับก็ต้องมาเริ่มต้นที่แหล่งกำเนิด ซึ่งมีวัฒนธรรม, เทคโนโลยี หลากหลาย

ที่ศูนย์วิจัยแห่งนี้ถูกตั้งขึ้นมาภายใต้แนวคิดเรื่องการคิดค้นโปรดักท์ที่สอดคล้องกับความยั่งยืน รวมทั้งดีไซน์ใหม่ๆ ดังนั้นจึงมีโจทย์ว่าต้องลดการใช้ทรัพยากรให้มากที่สุด และ “ยีนส์” คือหนึ่งในความท้าทายที่สุดของอุตสาหกรรมแฟชั่น ถ้าหากว่าลดการใช้ทรัพยากรน้ำที่ใช้ฟอกยีนส์ได้ สินค้าอื่นๆ ก็ง่ายแล้ว ดังนั้นยีนส์จึงเป็นความท้าทายที่ยูนิโคล่ตั้งเป็นโจทย์สำหรับคำว่า “ความยั่งยืน” (Sustainability) 

ความยั่งยืนเริ่มต้นที่ “แนวคิด”  

แนวทางการทำงานของ Jeans Innovation Center ตั้งอยู่บนพื้นฐาน 4 ด้าน 1. Innovation ต่อให้ยีนส์มี Norm บางอย่างที่ต้องรักษาเอาไว้ แต่สำหรับการทำงานที่นี่ต้องมีนวัตกรรมควบคู่ไปด้วย 2. Enviraonment การทำงานที่ใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม 3. Quality เนื่องจากในความจริงแล้ว ยูนิโคล่มีโรงงานอยู่ทั่วโลก ดังนั้นการคิดค้นจากที่นี่ จะต้องคำนึงถึงขั้นตอนการผลิตจริง ที่โรงงานต่างๆ สามารถทำได้ด้วย โดยอิงกับคุณภาพของสินค้า ตำแหน่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์เนอร์, วิศวกร, และพนักงานที่โรงงานก็ต้องคิดตามหลักการนี้ 4. Creativity คุณมาซาอากิ มัตซึบารา ผู้อำนวยการของศูนย์นวัตกรรมยีนส์ กล่าวว่า “เราไม่เคยประนีประนอมกับความต้องการของลูกค้า และเราจะทำจนกว่าจะได้สิ่งที่ลูกค้าต้องการ” สอดคล้องกับคอนเซ็ปท์ “Life Wear” ซึ่งเป็นแนวทางของยูนิโคล่ ที่ทำให้ผู้บริโภคใส่ได้ทุกคน

จากแนวคิดดังกล่าว นำมาสู่นวัตกรรม ของ Uniqlo ที่ผลิตยีนส์ โดยนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อให้ “ยีนส์” ของยูนิโคล่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า ขณะเดียวกันก็ตอบโจทย์ทางสังคม ในประเด็นสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยการคิดค้นเรื่องผ้าผสานกับเทคโนโลยีต่างๆ จนกลายเป็นคำตอบให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่น

เทคโนโลยีที่เห็นอยู่นี้ เริ่มนำมาผลิตจริงแล้วตั้งแต่ซีซั่น Fall / Winter 2018 ในกางเกงยีนส์ทรงกระบอก (Regular Fit) สำหรับผู้ชาย และซัสเทเนเบิล แคปซูล คอลเลคชั่น (Sustainable Capsule Collection) ของ เจ แบรนด์ (J BRAND) ซึ่งรวมปริมาณยีนส์จากทั้งสองแบรนด์รวมจำนวน 10 ล้านตัว เทียบเท่ากับปริมาณเกือบ 1 ใน 3 ของจำนวนกางเกงยีนส์ที่ ฟาสต์ รีเทลลิ่ง ทั้งบริษัทผลิตขึ้นต่อปี โดยทางเครือทางเครือฟาสต์ รีเทลลิ่งจะใช้นวัตกรรมนี้ผลิตยีนส์ทั้งหมดให้ได้ภายในปี 2020 ซึ่งจะเท่ากับการผลิตยีนส์ 40 ล้านตัว โดยเทียบออกมาเป็นปริมาณน้ำที่ลดลงเมื่อเทียบกับกระบวนการผลิตแบบเดิมได้ถึง 3,000,080 ล้านลิตร ทางยูนิโคล่เขาเทียบออกมาให้เห็นภาพอย่างสนุกๆ ว่าน้ำขนาดนี้มากพอที่จะเติมลงสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานสากลจนเต็มได้ถึง 1,470 สระ

นอกเหนือจากนี้ทาง คุณมาซาอากิ มัตซึบารา ผู้อำนวยการของศูนย์นวัตกรรมยีนส์ เชื่อว่าการสร้างสรรค์อย่างยั่งยืนของยูนิโคล่จะช่วยลดต้นทุนในระยะยาว เพราะนอกเหนือจากนวัตกรรมที่ในวันนี้ช่วยลดการใช้น้ำแล้ว เป้าหมายต่อไปต้องช่วยลด “สารเคมี” อื่นๆ ด้วยในอนาคต

คุณมาซาอากิ มัตซึบารา ผู้อำนวยการ FR Jeans Innovation Center

ทำอย่างไรให้ประหยัดน้ำ

หัวใจที่ทำให้การผลิตยีนส์ของยูนิโคล่ประหยัดน้ำมากขึ้น ส่วนหนึ่งอยู่ที่เครื่องจักร Nano-Buble Technology เจ้าเครื่องฟอกอากาศที่สร้างฟองออกมาขนาดเล็กระดับนาโนเมตร ช่วยทำให้ยีนส์นุ่มและมีสัมผัสะรรมชาติ ซึ่งเดิมกระบวนการนี้ใช้นำ้จำนวนมาก แต่ด้วยเครื่องนี้ก็ทำให้ใช้น้ำน้อยลงจนอาจจะเรียกได้ว่าไม่ใช้เลย นอกจากนี้การทำให้ยีนส์นุ่มลงต้องมีก้อนหิน ซึ่งทางยูนิโคล่เปลี่ยนไปใช้ก้อนหินสังเคราะห์ ที่ใช้งานได้นานขึ้น

เครื่อง Nano-Buble Technology ใช้น้ำน้อยลง

การใช้หินสังเคราะห์และเครื่องจักร ช่วยทำให้หินหนึ่งก้อนใช้งานได้นานขึ้น

วิธีการผลิตยีนส์ของยูนิโคล่ ไม่ใช่แค่ช่วยในเรื่องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ยังทำให้มนุษย์ที่ต้องทำงานกับยีนส์โดยตรงทำงานง่ายขึ้น และได้รับผลกระทบน้อยลง เช่น การฟอกสีหรือการตกแต่งขึ้นริ้วยีนส์ให้มีรอยขาด วิธีการดั้งเดิมในอดีตเคยใช้แรงงานผู้เชี่ยวชาญทำทีละตัว ซึ่งทำให้เขาเหล่านั้นต้องสัมผัสกับความร้อนและสารเคมี รวมทั้งฝุ่นที่เกิดจากการขูดขีดยีนส์ แต่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้เลเซอร์ ทำให้ลดแรงงานคนที่ต้องสัมผัสโดยตรงกับยีนส์ อีกทั้งยังควบคุมคุณภาพสินค้าในปริมาณมากขึ้นได้

กระบวนการขึ้นริ่วแบบดั้งเดิมที่ต้องขูดยีนส์ทีละตัว ทำให้มีฝุ่นออกมาจำนวนมาก ผู้เชี่ยวชาญต้องก้มๆ เงยๆ ใส่หน้ากากป้องกันฝุ่น ลงมือทำทีละตัว

ใช้เลเซอร์ยิงลวดลายในห้องระบบปิด ดีไซน์มาแบบไหน ทำได้เหมือนเป๊ะ แถมไม่ต้องใช้แรงงานคน

T-Shirt จากขวดพลาสติก ความท้าทายใหม่ของ Uniqlo

“โลกเรากำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติ และถ้าปราศจากโลก เราก็ไม่สามารถทำธุรกิจได้” Tadashi Yanai ผู้ก่อตั้งและประธานของยูนิโคล่ กล่าว “เราต้องช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมผ่านเสื้อผ้าของเรา” นี่คือเป้าหมายต่อไปของยูนิโคล่ นอกเหนือจากเรื่องยีนส์

ยูนิโคล่เพิ่งเริ่มต้นกระบวนการรีไซเคิลเสื้อผ้าของตัวเองแล้ว ด้วยการทำกับเสื้อผ้ากลุ่มแจ็กเก็ตโดยใช้วิธีการรีไซเคิลด้วยมือ แต่ด้วยเทคโนโลยีจาก Toray ก็จะทำให้การดัดแปลงสินค้าที่ใช้แล้วมาทำให้เกิดประโยชน์อีกครั้งมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และนั่นทำให้ยูนิโคล่วางแผนว่าจะจำหน่ายสินค้าที่ผ่านการรีไซเคิลมาแล้วในช่วงฤดูใบไม้ร่วง-ฤดูหนาวปี 2020

“คนรุ่นใหม่ให้ความใส่ใจกับประเด็นด้านความยั่งยืนมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริโภคในยุโรป ผมมั่นใจว่าสินค้าใหม่ของเราจะได้รับการยอมรับ” คุณทาดาชิ ยาไนย กล่าวเสริม

สำหรับแนวคิดเรื่องการทำเอาพลาสสติกมารีไซเคิลนั้น จะใช้ขวดพลาสติก ประเภท polyethylene terephthalate  หรือที่เรียกว่า ขวด PET ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในธุรกิจเครื่องดื่ม โดยทาง Toray กับ Uniqlo จะนำเอาพลาสติกเหล่านั้นมาเริ่มทำให้สินค้ากลุ่มเสื้อยืดก่อนแล้วทำให้เสื้อผ้าชนิดอื่นต่อไป


แชร์ :

You may also like