“คิดงานไม่ออก” จะทำอย่างไร ? ปัญหาโลกแตกของคนทำงานสร้างสรรค์ ที่หลายครั้งการแบกรับความกดดัน และความคาดหวังไว้สูง จากทั้งงานและเงิน ทำให้เครียดจนพาลให้คิดงานไม่ออก
สำหรับคนที่กำลังหาโซลูชั่นแก้ปัญหานี้ ลองมาดู 20 วิธี จาก “คุณประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์” Creative, Founder ชูใจ กะ กัลยาณมิตร ที่แชร์ไว้ในงาน “วันความคิดสร้างสรรค์แห่งชาติ 2019” จัดโดยสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย และทุกคนสามารถนำไปปรับใช้กับงานชิ้นต่อไปได้ไม่ยาก
0 ตั้งสติ – เพราะเมื่อเราอยู่ในอารมณ์หงุดหงิด โกรธ ลนลาน หรือหวาดกลัว ทำให้สมองไม่ได้ถูกใช้ไปกับการคิดงาน ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรก คือ ตั้งสติ !!! เพื่อเตรียมสมองให้พร้อมรับกับปัญหา หรืออาจจะไปทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อปรับอารมณ์ก่อนก็ช่วยได้เช่นกัน
1 หาปัญหา – การนั่งจม หรือเสียเวลาไปกับการคิดงาน เพราะอยากให้งานออกมาแปลกและน่าสนใจ อย่างที่ครีเอทีฟส่วนใหญ่เชื่อว่า ไอเดีย=ปัญหา แต่บางครั้งปัญหากลับตกอยู่ที่ “เราไม่รู้ว่าปัญหาคืออะไร” ดังนั้นอาจจะต้องกลับมาที่จุดตั้งต้นของปัญหาตามหลักคำสอนของศาสนาพุทธ
2 หากคิดไม่ออก ให้หาปัญหาใหม่ = ไอเดียใหม่ อาจทำให้เราค้นพบปัญหาที่ยังไม่มีใครไปถึง
แคมเปญ “พินัยกรรมอวัยวะ” ของศูนย์รับบริจาคอวัยวะ ที่ตั้งต้นปัญหามาจากการชวนให้คนมาบริจาคอวัยวะ มาสู่การแก้ปัญหาใหม่ “ญาติไม่ให้บริจาค” ซึ่งมาจากอินไซด์จริงของคนบริจาคอวัยวะ ที่สุดท้ายไม่ได้ทำตามความตั้งใจตอนมีชีวิตอยู่เพราะความไม่เข้าใจของญาติ
สิ่งที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะทำ คือ ให้ผู้ต้องการบริจาคอวัยวะมาร่วมทำวิดีโอ และเผยแพร่บนเว็บไซต์ บริจาคอวัยวะด้วยการบอกญาติ.com บอกเล่าถึงความตั้งใจที่อยากจะบริจาคอวัยวะ แคมเปญนี้ประสบความสำเร็จ เพราะเข้ามาแก้ปัญหาระหว่าง ผู้บริจาค ญาติผู้บริจาค และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ได้เป็นอย่างดี
3 อย่าคิดหนังโฆษณา บางครั้งการถอยออกมา ไม่เริ่มคิดงานจากโจทย์ของหนังโฆษณา อาจจะช่วยลดความกดดันและหาไอเดียใหม่ได้ง่ายขึ้น
4 อย่าให้ความรู้ แต่ให้ความรู้สึกแทน โดยเฉพาะความรู้ที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว อย่างเรื่อง “ศีล” แทนที่จะให้ข้อมูลเป็นตัวหนังสือ หรือออกมาเผยแพร่คำสอน เปลี่ยนมาเป็นบอกเล่าในมุมมองที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกอินไปกับเรื่องนั้นๆจะดีกว่า
ยกตัวอย่าง การทำจัดนิทรรศการและแจกเงินให้กับผู้ชมงาน ที่ระหว่างทางก็สอดแทรกความรู้ไปแบบเนียนๆ ก่อนจะให้ผู้เข้าชมได้ร่วมทำบุญหยอดเงินที่ปลายทางออก แคมเปญนี้นอกจากจะสร้าง Experience แล้ว ยังทำให้ผู้เข้าร่วมจดจำความรู้สึกได้อีกด้วย
5 เปิดปฏิทิน บางที Timing ก็เป็นสิ่งสำคัญ อย่างงานการกุศลชิ้นหนึ่ง Mom made toys แคมเปญสร้างของเล่นพิเศษสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ที่เริ่มมาจากกลุ่มคุณแม่ที่ต้องการทำของเล่นให้ตรงกับความต้องการของลูกๆ ซึ่งยังไม่มีในท้องตลาด จากของเล่นมากกว่าแสนชิ้นที่ผลิตขึ้นและพร้อมสำหรับแจกจ่าย แต่ต้องมาเกิดปัญหาระหว่างทางว่า ไม่มีเงินสำหรับค่าจัดส่งไปรษณีย์
“โปรเจ็กต์นี้คิดอยู่นานเป็นปีว่าจะส่งของเล่นอย่างไร จนกระทั่งเราคิดได้ว่า งั้นก็ฝากให้คนที่จะไปเที่ยวตามที่ต่างๆเป็นคนไปส่งสิ ต่อยอดมาเป็นแคมเปญ ซานต้าอาสา ที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้ามามีส่วนร่วมกับการส่งมอบตุ๊กตาด้วยตนเอง โดยที่เราจัดทำแผนที่และโพสต์บนเฟซบุ๊กว่า มีสถานที่ไหนบ้างที่เด็กๆรออยู่ เพื่อให้คนที่สะดวกมาร่วมเคมเปญนี้กับเรา สุดท้ายเราไม่ต้องเสียเงินค่าส่ง เด็กได้รับของ ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมกับการให้” คุณประสิทธิ์ กล่าว
6 ทำขึ้นมาก่อน การที่เราพยายามคิดแล้ว แต่คิดเท่าไหร่ก็ยังคิดไม่ออก ลองเขียนสิ่งที่คิดลงกระดาษออกมาหรือลองทำไปก่อน อาจจะช่วยให้เราไปต่อได้ง่ายขึ้น
7 เล่าบรีฟ ไอเดียอีกครั้ง วิธีนี้อาจจะรบกวนให้เพื่อนมาช่วยฟังไอเดียของเราหน่อย เพื่อรีเช็คดูว่ามันเวิร์กหรือยัง เพราะบางครั้งการเล่าซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ จะช่วยให้ความคิดแหลมคมมากขึ้น อะไรที่เกินจะหายไป ส่วนอะไรที่ขาดเราจะจำได้
8 เล่าบรีฟ ไอเดียอีกครั้ง ถ้ายังคิดไม่ออกอีก ให้กลับไปทำซ้ำที่ข้อ 7
9 ให้คิดซะว่า จะทำเซอร์ไพรส์ใครสักคน ลองใช้ความรู้สึกที่อยากทำสิ่งเล็กๆ เพื่อให้คนที่เรารักประหลาดใจเล่น วิธีนี้อาจช่วยให้เกิดไอเดียดีๆได้
10 ให้พูดความจริง จาก Mindset ของคนส่วนใหญ่ที่มองว่า โฆษณาไม่จริง ดังนั้นการพูดความจริง ก็ถือเป็นไอเดียเหมือนกัน
ตัวอย่างหนังโฆษณาของบริษัทประกัน Allianz Ayudhya ที่พบอินไซด์ของคนซื้อประกันว่า พวกเขาไม่ชอบคนขายประกันเอาเสียเลย เพราะรู้สึกว่าบอกไม่หมด งานโฆษณาชิ้นนี้จึงแก้ pain point ของลูกค้า โดยทำให้เห็นว่า การพูดความจริงเป็นสิ่งที่คนโหยหา แม้วิธีนี้อาจใช้ไม่ได้กับทุกสถานการณ์ แต่เป็นทางออกได้
11 ทำสิ่งที่ถูกต้อง บางครั้งเราต้องเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้องมากกว่าสิ่งที่ดี
เช่นเดียวกับแคมเปญของ ส่งความสุขประเทศไทย ที่ทำแคมเปญให้คนที่กำลังเศร้า ส่งความทุกข์เข้ามาชิงโชค แต่ผู้โชคร้ายจะไม่ได้รับรางวัลตอบแทนอย่างการชิงโชคอื่นๆ แต่สิ่งเขาจะได้รับถูกต่อยอดไปเป็นการมอบเงินไปบริจาคต่อไปแทน
อีกตัวอย่างงานที่น่าสนใจจาก วาสลีน ที่กล้าฉีกกฏการทำตอนจบของหนังโฆษณา จากที่พยายามสื่อสารว่า “ผู้หญิงต้องผิวขาวเท่านั้นเพื่อชนะใจผู้ชาย” กลับเลือกที่จะนำเสนอคอนเซปท์ของผิวที่เต็มไปด้วยเรื่องราว ผ่านรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้หญิงในหลายแง่มุม
12 หาความจริงที่ดีมาเล่า การหยิบความจริงที่ดีมาเล่า ซึ่งวิธีนี้อาจทำได้โดยการลงพื้นที่ไปหาคนที่ทำความดีจริงๆ แล้วหยิบเรื่องราวของนี้มาใช้ประกอบในชิ้นงาน
13 หาหนังสือมาอ่าน การอ่านหนังสือจะทำให้เรามีข้อมูลและความรู้ไปต่อยอดมากขึ้น
14 สะสม สะสมของเอาไว้ก่อน เพราะบางไอเดียที่คิดไว้อาจจะยังใช่ไม่ได้ทันที แต่ให้คิดว่า “สิ่งที่เราคิดวันนี้ เรากำลังคิดไอเดียของสิบสี่ปีข้างหน้า”
15 ลาบวช มาถึงตรงนี้หากยังคิดงานไม่ออก การกลับไปอยู่กับลมหายใจอาจช่วยประโยชน์ได้ แต่การลาบวชในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าจะให้ไปลาบวชจริงๆ แต่เป็นการแนะนำให้ลองออกจาก comfort zone เพื่อไปรับประสบการณ์แปลกใหม่ จะช่วยให้ชีวิตเราได้สัมผัสกับเรื่องราวและมุมมองใหม่ที่ไม่พบมาก่อนได้
16 ให้เป็นคนขี้อาย การเป็นคนขี้อายที่จะนำเสนองานที่ไม่ดี จะทำให้งานต่อไปดีขึ้น
17 ยอมรับเถอะ ว่าคิดไม่ออก แล้วใช้ประโยชน์จากขั้นตอนระหว่างกำลังคิดนี้ให้เป็นประโยชน์แทน
18 คิดดี เมื่อผ่านจุดที่ยอมรับแล้วว่า คิดงานไม่ออกจริง แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังจะต้องคิดดี อย่าให้ความคิดร้ายๆมาเกาะกุมจิตใจได้ เพราะเมื่อนั้นจะทำให้เราอยากทำงานแบบแค่ให้มันเสร็จ
19 เราทำไปทำไม ? การตั้งคำถามนี้กับตัวเองอยู่เสมอ จะช่วยให้เราไม่หลงทาง
20 จงอดทนและพยายาม สุดท้ายแล้วหากใครที่ยังคิดไม่ออก ขอให้คิดอยู่เสมอว่า เมื่อเลือกเดินมาทางนี้แล้ว จงอดทนและพยายามคิดต่อไป