HomeBig Featuredรู้จัก “Beyond Metro” กลุ่มคนที่ Google คาดว่าจะเป็นขุนพลใหม่เศรษฐกิจดิจิทัล

รู้จัก “Beyond Metro” กลุ่มคนที่ Google คาดว่าจะเป็นขุนพลใหม่เศรษฐกิจดิจิทัล

แชร์ :

เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) หรือยุคที่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจอิงอยู่บนการเชื่อมต่อออนไลน์ บนแพลตฟอร์ม บนเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ต้องเข้าถึงผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ เพื่อช่วยให้เราสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าหรือบริการได้นั้นกำลังเติบโตขึ้นทุกที

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โดยหากใครคร่ำเคร่งกับการทำงานจนไม่ทันสังเกตพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตนเองว่าเข้าไปมีส่วนร่วมกับการขับเคลื่อน Digital Economy มากเท่าใดแล้ว บางทีแพลตฟอร์มเสิร์ชเอนจินอย่าง Google อาจต้องขอออกมาเป็นผู้บอกให้เรา ๆ ได้ทราบกันแทนก็เป็นได้

เพราะมีการร่วมมือกันของ Google, Tamesek และ Bain & Company เปิดเผยรายงานชื่อ “e-Conomy SEA 2019” ที่พบว่า ในยุค Digital Economy ไม่เฉพาะประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่พวกเราคนไทยเองก็มีการเปลียนแปลงพฤติกรรมครั้งใหญ่ใน 4 เรื่องหลัก ๆ นั่นคือ การท่องเที่ยว, การรับสื่อ, การเรียกรถออนไลน์ และการจับจ่ายใช้สอยผ่านอีคอมเมิร์ซ โดยคาดการณ์กันว่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใน 4 กลุ่มหลักนี้ จะทำให้ Digital Economy ในประเทศไทยจะมีมูลค่าแตะ 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 482,720 ล้านบาทภายในสิ้นปี 2019

เม็ดเงิน 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐมาจากไหน

คำตอบคือมาจากการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ปัจจุบัน ประเทศไทยมีมากกว่า 47 ล้านคน จาก 36 ล้านคนเมื่อปี 2015 และมาจากพฤติกรรมของคนไทยทุกวันนี้ที่ย้ายตัวเองเข้าไปใช้บริการแอปพลิเคชันหรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้แอปกลุ่ม Calendar เช็คนัดหมายหลังตื่นนอน, เรียกรถจาก Grab หรือ  Get, ฟังเพลงจากบริการ Music Streaming อย่าง JOOX หรือ Spotify, สั่งอาหารผ่าน LINE MAN, อ่านข่าวผ่าน Facebook, ซื้อของออนไลน์ในเทศกาลคนโสด, จองทัวร์ผ่าน Klook, ดู Netflix ก่อนนอน สุดท้ายก็สั่งอุปกรณ์ในบ้านให้ปิดตัวเองผ่านมือถือ และหลับฝันดี

คนเมืองใช้จ่ายมากกว่า 4 เท่า

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสังเกตจากรายงานชิ้นนี้ก็คือ การแบ่งคนที่สร้างรายได้ให้กับ Digital Economy ออกเป็น 2 กลุ่ม นั่นคือกลุ่ม Metro กับกลุ่ม Beyond Metro 

โดยกลุ่ม Metro คือกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ใน “กรุงเทพฯ และปริมณฑล” ซึ่งอาจมีจำนวนราว 15% ของประชากรทั้งประเทศ แต่มีส่วนสร้างการเติบโต Digital Economy ของประเทศไทยถึง 52%

ส่วนกลุ่ม Beyond Metro คือกลุ่มคนอีก 85% ของประชากรทั้งประเทศ ที่อาศัยอยู่นอกกรุงเทพฯ และปริมณฑล คนกลุ่มนี้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตแล้ว แต่ยังไม่เข้ามามีส่วนในการใช้จ่ายของ Digital Economy มากนัก เห็นได้จากข้อมูลการจับจ่ายใช้สอยที่พบว่าคนในกลุ่ม Metro มีการใช้จ่ายเฉลี่ย 549 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 16,500 บาท) ต่อคนต่อปี ขณะที่กลุ่ม Beyond Metro นั้นใช้จ่ายเพียง 152 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 4,600 บาท) ต่อคนต่อปีเท่านั้น และนั่นทำให้ Google บอกว่า คนกลุ่ม Beyond Metro นี้เองที่ธุรกิจจะต้องจับตามองให้ดีในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

Beyond Metro ผู้สร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดให้ Digital Economy

คุณเอพริล ศรีวิกรณ์ รักษาการ Country Manager ของ Google Thailand อธิบายว่า เหตุที่ต้องจับตาคนกลุ่ม Beyond Metro เพราะมีการคาดการณ์ว่า ยอดการจับจ่ายใช้สอย (GMV) จากคนกลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่าตัวภายในปี 2025 ขณะที่คนกลุ่ม Metro จะเพิ่มขึ้นราว 2 เท่าเท่านั้น ซึ่งเมื่อบวกกับ “จำนวน” ที่มากกว่า คนกลุ่ม Beyond Metro จึงอาจสร้างรายได้ให้กับ Digital Economy ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำเลยนั่นเอง

ส่วนธุรกิจจะเข้าถึงอย่างไรให้ได้ใจ Beyond Metro นั้น คุณเอพริลเผยว่า ต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่าง Metro กับ Beyond Metro ก่อน ประเด็นแรกคือการให้คุณค่ากับแพลตฟอร์มของทั้งสองกลุ่มนี้ยังต่างกัน นั่นคือ คนกลุ่ม Metro นั้นมีการ Engagement กับแพลตฟอร์มจนคุ้นเคยแล้ว เช่น มีการเรียกรถ มีการสั่งอาหาร และสิ่งที่ชาว Metro ได้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มเป็นการตอบแทนก็คือสะดวกมากขึ้น – มี Productivity มากขึ้น

ขณะที่คนกลุ่ม Beyond Metro นั้น มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจริง มีใช้งานแพลตฟอร์มต่าง ๆ จริง แต่เป็นไปในลักษณะของการใช้บริการ เช่น ฟังเพลง ดูคลิป แชท เป็นหลัก ไม่ได้มีส่วนร่วมชัดเจนในการจับจ่ายใช้สอยเท่าคนเมือง

คุณเอพริล ศรีวิกรณ์ รักษาการ Country Manager ของ Google Thailand

โอกาสระหว่าง Metro vs Beyond Metro 

ในจุดนี้ Google มองว่าสิ่งที่จะดึงดูดให้คนกลุ่ม Metro กับกลุ่ม Beyond Metro เข้ามาใช้จ่ายนั้น “ต่างกัน” โดยในส่วนของกลุ่ม Beyond Metro นั้น เขาเข้ามาเพื่อเข้าถึงสินค้าหรือบริการที่ในอดีตอาจเคยเข้าถึงได้ไม่ง่ายมาก่อน การจะดึงคนกลุ่มนี้ให้เข้ามาใช้จ่ายได้ ประการแรกต้องสร้างประสบการณ์ในการใช้งานที่ “ง่าย” เข้าไว้

“ยกตัวอย่างคนกลุ่ม Beyond Metro ที่เพิ่งเริ่มใช้อินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน เราพบว่า เขาเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมจากเดินทางเข้ามาในตัวเมืองเพื่อซื้อที่ร้านค้า เป็นการสั่งออนไลน์แทน เพียงแต่เขาอาจยังไม่รู้ว่า บนอีคอมเมิร์ซ มีสินค้ามากมายขนาดไหนที่เขาจะหาซื้อได้ หรือบางคนก็เริ่มกดจองที่พักผ่านแอปพลิเคชัน จากที่ต้องเดินทางเข้ามาในเมืองเพื่อจองทัวร์กับตัวแทนท่องเที่ยว ตอนนี้เขารู้แล้วว่า แค่ไม่กี่คลิกก็จองที่พักได้ เป็นต้น” คุณเอพริลกล่าว

ทั้งนี้ รายงานจาก Google – Temasek คาดการณ์ว่า ด้วยอัตราการเติบโตที่เป็นอยู่นี้ เป็นไปได้ที่ Digital Economy ของไทยจะมีมูลค่าแตะ 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท) ในปี 2025 เพียงแต่ความท้าทายก็คือจะมีธุรกิจไทยสักกี่รายที่ได้ประโยชน์จากการเติบโตนี้เท่านั้น

สตาร์ทอัพไทยไม่ดึงดูดเงินนักลงทุน

หนึ่งในปัญหาที่พบก็คือ เงินทุนจาก VC ทั่วโลกนั้นมีมากมาย แต่ว่าไม่ได้ไหลเข้ามาที่ประเทศไทยมากนัก เห็นได้จากรายงานฉบับนี้ที่ชี้ว่า เงินลงทุน 24,000 ล้านเหรียญสหรัฐนั้นไหลไปที่ 11 สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นขึ้นไป ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยกตัวอย่างที่เรารู้จักกันดี เช่น GoJek, Lazada, Razer, SEA, Grab, Tokopedia, Traveloka, Ovo, Bukalapak เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่า ไทยไม่ได้รับประโยชน์จากจุดนี้ เมื่อเจอกับความท้าทายประการที่สองก็คือการขาดแรงงานที่มีทักษะที่จะมาช่วยสร้าง Digital Economy ให้ประเทศ จึงกลายเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง

เพราะอย่าลืมว่า การเป็นประเทศผู้บริโภคอาจเป็นสิ่งที่พอรับได้ในโลกยุค 0.4 ที่กว่าเราจะถอนเงินอาจต้องใช้เวลา 15 – 20 นาทีในธนาคาร หรือจะโอนเงินข้ามประเทศต้องใช้เวลาหลายวัน แต่สำหรับโลกยุค 4.0 เงินถูกสร้างและไหลผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ไวกว่าที่คิด คำศัพท์สวยหรูอย่าง Digital Economy จึงอาจเป็นสัญญาณเตือนที่ดีว่า เงินตอนนี้ไม่ได้ไหลในทิศทางเดิมอีกแล้ว และอาจถึงเวลาที่จะเตรียมการบางอย่างเพื่อให้ “คนไทย” ยังสามารถเข้าถึงแหล่งเงินเหล่านั้นได้อย่างที่ควรจะเป็น

 


แชร์ :

You may also like