HomeBrand Move !!เปิด 3 ไอเดีย “อยู่ให้เป็น” เมื่อธุรกิจต้องเล่นเกมแห่งการปรับตัว

เปิด 3 ไอเดีย “อยู่ให้เป็น” เมื่อธุรกิจต้องเล่นเกมแห่งการปรับตัว

แชร์ :

อาจไม่ใช่เรื่องแปลก หากคุณกระทิง – เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป จะกล่าวเอาไว้บนเวทีสัมมนา Thailand 2020 ว่า สำหรับหลาย ๆ ธุรกิจ เรากำลังเข้าสู่ยุคแห่ง The End Game ที่แท้จริงกันแล้ว เนื่องจากพิษของ Digital Disruption ได้ลามไปทุกวงการแล้วเรียบร้อย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แต่ในความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในปี 2020 นี้ อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยหายไปเช่นกันก็คือ “โอกาส” เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้จะเจอ Disruption แต่ความต้องการของมนุษย์ยังคงมีอยู่เหมือนเดิม เรายังจำเป็นต้องใช้ชีวิต เรียน ทำงาน เดินทาง จับจ่ายใช้สอย และบางเวลาก็ต้องการการพักผ่อนหย่อนใจ นั่นจึงทำให้ทุกธุรกิจที่รู้จักปรับตัว และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง อาจได้เจอกับโอกาสใหม่ ๆ อย่างที่หลายคนคาดไม่ถึงก็เป็นได้

3 โอกาสที่ซ่อนอยู่ใน The End Game

โดยหากกล่าวถึงโอกาส เรามีโอกาสได้สัมภาษณ์ คุณซาโตชิ มัตสึชิตะ เจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกลุ่มงานวางแผนกลยุทธ์และการตลาดทั่วโลก บริษัท Mitsubishi Electric ที่คนไทยคุ้นเคยกันดีกับภาพของแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างพัดลม และเครื่องปรับอากาศ

โดยในวันนี้ หนึ่งในโอกาสที่ Mitsubishi มองเห็นและกำลังเกิดขึ้นแล้วก็คือธุรกิจอย่าง Zero Energy Building หรืออาคารที่ใช้พลังงานเป็นศูนย์ เหตุเพราะส่วนประกอบภายในอาคาร เช่น ลิฟต์ บันไดเลื่อน ระบบปรับอากาศ ฯลฯ สามารถประหยัดไฟได้เหนือกว่าเทคโนโลยีในปัจจุบัน

ภาพต้นแบบของอาคารที่ใช้พลังงานเป็นศูนย์ (ขอบคุณภาพจาก Mitsubishi Electric)

โดย Mitsubishi Electric อยู่ระหว่างการพัฒนาอาคารดังกล่าว ในเมืองคามาคุระ จังหวัดคานากาว่า ประเทศญี่ปุ่น และคาดว่าจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน 2020 นี้

จุดเด่นของอาคาร Zero Energy Building คือการติดตั้งเซนเซอร์ IoT เพื่อให้อุปกรณ์ต่าง ๆ สามารถสื่อสารระหว่างกันได้ และส่วนสำคัญที่สุดก็คือการที่อาคารสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เองจากพลังงานทางเลือกต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น มีแผงโซลาร์เซลล์ติดตั้งอยู่บนดาดฟ้าตึก และแปลงเป็นพลังงานสำหรับใช้ภายในอาคารได้ เป็นต้น

แน่นอนว่า อาคารในลักษณะนี้ยังต้องการไฟฟ้าจากแหล่งภายนอกอยู่ แต่แนวคิดของอาคารก็คือ หากในแต่ละวันสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เหลือเฟือ ก็มีเทคโนโลยีด้านพลังงานที่ช่วยให้เจ้าของอาคารสามารถขายไฟฟ้าออกไปให้กับหน่วยงานด้านการไฟฟ้าของเมืองได้อีกต่อ ซึ่งเมื่อหักลบกลบหนี้กับช่วงเวลาที่อาคารใช้ไฟหนัก ๆ แล้ว อาคารหลังนี้อาจเสียค่าไฟศูนย์บาทต่อเดือน หรือไม่ก็เสียค่าไฟน้อยมากเมื่อเทียบกับในอดีต

ตลาดใหม่มูลค่า 11 ล้านล้านเยน

เฉพาะการหันมาพัฒนาอาคารที่ใช้พลังงานเป็นศูนย์เทคโนโลยีเดียว Mitsubishi Electric คาดว่าตลาดญี่ปุ่นจะให้การตอบรับ คิดเป็นมูลค่า 130,000 ล้านเยนภายในปี 2020 และมีโอกาสเติบโตไปเป็น 630,000 ล้านเยน หรือประมาณ 175,000 ล้านบาท ในปี 2030

ส่วนในตลาดโลกนั้น แม้จะเป็นโลกใบเดิมที่เจอความเสี่ยงจาก Digital Disruption แต่ก็มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 มูลค่าของตลาด Zero Energy Building จะเติบโตไปอยู่ที่ 40 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 11 ล้านล้านบาทได้เช่นกัน

หุ่นยนต์จะถูกนำมาใช้ในการผลิตมากขึ้น

ดูแลโรงงานอัจฉริยะได้ ไม่ตกงาน

อีกหนึ่งทางรอดที่น่าสนใจในยุค The End Game ก็คือการที่แรงงานไทยจะพัฒนาตนเองให้สามารถควบคุมดูแลระบบของโรงงานอัจฉริยะได้ เหตุที่กล่าวเช่นนั้น เพราะโลกอุตสาหกรรมต่อจากนี้ไป เป็นการแข่งกันในเรื่องของระบบ Automation มากขึ้น ซึ่งในประเทศไทย การลงทุนในตลาดดังกล่าวตามการเปิดเผยของ Mitsubishi Electric พบว่ามีมูลค่าราว 11,000 – 12,000 ล้านเยนต่อปีเลยทีเดียว (บริษัทมีส่วนแบ่งอยู่ในตลาดนี้ราว 30%)

ทว่า ตัวเลขการลงทุนด้านระบบ Automation ที่สูงมากนั้น เมื่อเทียบกับจำนวนของโรงงานในประเทศไทยแล้ว พบว่าเป็นการลงทุนของโรงงานเพียงหลักสิบราย หรือคิดเป็นประมาณ 10% เท่านั้น ขณะที่ในประเทศอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น หรือจีนนั้น มีโรงงานอัจฉริยะแล้วนับพันแห่ง

ในมุมของ Mitsubishi Electric จึงมองว่า หากแรงงานสามารถพัฒนาตนเองให้มีฝีมือ และสามารถควบคุมโรงงานอัจฉริยะดังกล่าวได้ เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสในการทำงานในยุคต่อไปได้เช่นกัน

นอกจากนี้ยังพบอีกด้วยว่า สงครามการค้าระหว่างจีน – สหรัฐอเมริกา ทำให้ธุรกิจจำนวนหนึ่งที่เดิมเคยมีฐานการผลิตในจีน ได้ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย ซึ่งธุรกิจเหล่านี้เคยผ่านการผลิตด้วยระบบ Automation มาแล้ว และต้องการลงทุนในลักษณะเดียวกันที่ประเทศไทยด้วย จากปัจจัยนี้จึงทำให้แรงงานไทยที่สามารถควบคุมระบบของโรงงานอัจฉริยะดังกล่าวได้จะเป็นที่ต้องการมากขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน

คุณซาโตชิ มัตสึชิตะ เจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกลุ่มงานวางแผนกลยุทธ์และการตลาดทั่วโลก บริษัท Mitsubishi Electric

ต่อยอดจากสิ่งที่มีให้ดีขึ้น

สำหรับใครที่ยังวิเคราะห์ภาพตลาดใหม่ไม่ชัด อีกสิ่งหนึ่งที่คุณมัตสึชิตะมองว่าสามารถทำได้ก็คือ การหันกลับมาพัฒนาสิ่งที่บริษัทเคยมีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น พร้อมยกตัวอย่างเทคโนโลยี Driving-Assistance ที่ Mitsubishi Electric พัฒนาขึ้น กับการติดเซนเซอร์ต่าง ๆ ในห้องโดยสารเพื่อความปลอดภัยในการขับขี่ ซึ่งในท้ายที่สุด เทคโนโลยีเหล่านี้จะกลับไปเสริมแกร่งให้กับธุรกิจรถยนต์ของทางค่ายได้เอง และปัจจุบัน ความสามารถของ Driving-Assiatance ก็ได้ถูกนำมาจัดแสดงผ่านรถยนต์ต้นแบบ EMirai 4 แล้วเป็นที่เรียบร้อย

นอกจากนี้ เพื่อให้ตอบรับกระแสรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเองที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ทาง Mitsubishi ยังมีการพัฒนาระบบ Autopilot ที่เชื่อมต่อกับดาวเทียมของทางค่ายเพื่อการกำหนดพิกัดที่แม่นยำมากขึ้น รวมถึงพัฒนาเซนเซอร์ต่าง ๆ เพื่อติดตั้งรอบตัวรถสำหรับประมวลผลข้อมูลต่าง ๆ และการพัฒนาเทคโนโลยีแผนที่ของตัวเองขึ้นด้วยเช่นกัน

รถยนต์ต้นแบบ EMirai 4

หลายครั้งที่เราได้พบเห็นกิจการที่ปรับตัวไม่ได้ และต้องล้มหายตายจากไปจากเหตุ Digital Disruption ซึ่งแน่นอนว่า ข่าวเหล่านั้นย่อมทำให้หลายคนเกิดความกังวลว่าการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัลจะนำธุรกิจของเราไปสู่จุดใด แต่หากลองฟังกลยุทธ์ของ Mitsubishi Electric แล้ววิเคราะห์ให้ดี จะพบว่า ไม่เฉพาะแต่เบื้องหน้า ในเบื้องหลังของทุกธุรกิจ มีความต้องการอยู่เสมอ และหากมีใครเข้ามาช่วยพัฒนาระบบที่อยู่หลังบ้านเหล่านี้ให้แข็งแรงยิ่งขึ้น แม้จะเป็นยุค The End Game ความต้องการเหล่านี้ก็ยังคงมีอยู่

ดังนั้น วลีอย่าง The End Game ที่คุณกระทิงกล่าวเตือนภาคธุรกิจ จึงอาจไม่ใช่คำเตือนถึงจุดจบเสมอไป เพราะหากมองลึกไปถึงเบื้องหลัง ก็เชื่อว่าธุรกิจไทยจะเห็นโอกาสอีกมากมายได้เช่นกัน


แชร์ :

You may also like