HomeBrand Move !!สัญญาณไม่ดี? บริการ Food Delivery อาจไม่ใช่ธุรกิจที่ทำกำไร และต้องหาโมเดลธุรกิจใหม่เพื่อให้อยู่รอด

สัญญาณไม่ดี? บริการ Food Delivery อาจไม่ใช่ธุรกิจที่ทำกำไร และต้องหาโมเดลธุรกิจใหม่เพื่อให้อยู่รอด

แชร์ :

ไม่แน่ใจว่าสัญญาณในตลาด Food Delivery บ้านเราเป็นอย่างไรกันบ้าง แต่หากสังเกตได้จะพบว่าในระยะหลังบริการ Food Delivery หลาย ๆ เจ้าเริ่มออกอาการแผ่ว แถมไม่ค่อยมีโปรโมชันสไตล์นักเลงแบบเมื่อต้นปีออกมาให้เห็นกันแล้ว ซึ่งในประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาก็พบสัญญาณเดียวกัน โดยเฉพาะ GrubHub ที่ออกมาเผยผลประกอบการเข้าขั้นแย่เมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานในอดีต

ADFEST 2024

Santos Or Jaune


โดยในการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ผ่านมาของ GrubHub พบว่า บริษัทสามารถทำรายได้สุทธิได้เพียง 1 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า พวกเขาเคยทำได้ถึง 22.7 ล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว ซึ่งเมื่อประกอบกับการยอมรับความจริงของ GrubHub ต่อนักลงทุนว่า มันเป็นธุรกิจที่ไม่สามารถทำกำไรได้ด้วยตัวเอง ก็น่าจะทำให้หลาย ๆ ฝ่ายที่ฝันหวานกับธุรกิจ Food Delivery ว่าจะมายกระดับยอดขายให้กับร้านอาหารคงจะต้องฝันค้าง  และในปี 2020 นี้ หากผู้ประกอบการ Food Delivery สู้ไม่ไหว อาจหมายถึงผลกระทบในวงกว้างที่จะมีต่อธุรกิจอาหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยความจริงจาก GrubHub ก็คือ ผู้ใช้งานรายใหม่มักจะสั่งอาหารน้อยกว่าลูกค้าปัจจุบัน นั่นแสดงให้เห็นว่า ลูกค้ามี Brand loyalty ต่ำ และพร้อมจะเปลี่ยนไปใช้บริการของคู่แข่งหากมีทางเลือก เช่น โปรโมชัน หรือร้านอาหารที่ครอบคลุมกว่า

แต่สถานการณ์นี้ไม่ได้เกิดเฉพาะ GrubHub เพราะในตลาดอเมริกัน ผู้ให้บริการ Food Delivery ที่เป็นที่พึ่งหลักของร้านอาหารทั้ง 4 เจ้า อย่าง GrubHub, DoorDash, Postmates และ UberEats (ทั้ง 4 รายครองส่วนแบ่งตลาดเอาไว้มากถึง 95%) ต่างก็เจอปัญหาเดียวกันทั้งสิ้น

ทางเลือกทางรอดของ Food Delivery

ปัจจุบัน GrubHub อยู่ระหว่างการปรับโมเดลธุรกิจ กับการใช้พื้นที่แพลตฟอร์มของตนเองในการเป็นพื้นที่โฆษณา เพื่อให้ร้านค้ามีตัวตนบนแพลตฟอร์ม และทำเงินเข้าองค์กรอีกทางหนึ่ง ซึ่งต้องบอกว่าเป็นแนวคิดที่ไม่ต่างจาก GrabFood เคยประกาศไว้เมื่อครั้งเปิดตัว Grab Kitchen ในตลาดสามย่านเช่นกัน

ส่วนนักลงทุนที่อยากเปลี่ยนใจจาก GrubHub ไปลงทุนใน DoorDash และ Postmates นั้นน่าจะเจอข่าวร้ายยิ่งกว่า เนื่องจากสองบริษัทนี้ยังไม่เคยทำกำไรเลย แม้ว่าจะมีมูลค่ารวมกันสูงถึง 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐก็ตาม (เป็นการคิดมูลค่าจากยอดเงินที่ระดมทุนได้)

ที่สำคัญ นาทีนี้นักลงทุนไม่มีใครกล้าเสี่ยงกับสตาร์ทอัพที่ทำเงินไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เห็นได้จากกรณีของ WeWork ที่ทำเอา SoftBank เสียหลัก (แถมเสียชื่อ) ไปเลยทีเดียว ดังนั้น สตาร์ทอัพอย่าง DoorDash และ Postmats จึงน่าจะเจอสถานการณ์ที่ยากลำบากมากขึ้น เพราะหากให้เทียบกัน GrubHub ที่มีกำไรก็ยังดีกว่าอีกสองเจ้าที่ยังไม่ IPO มากมายนัก แถมมูลค่าตลาดของ GrubHub ยังอยู่ที่ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่มูลค่าของ DoorDash และ Postmats นั้นสูงกว่ามาก

ส่วน UberEats ก็ต้องบอกว่าสถานการณ์ไม่ได้แตกต่างกันมากเท่าไรนัก เพราะบริษัทแม่อย่าง Uber นั้นหลังจากเข้าตลาดหุ้นก็เจอปัญหาว่ามูลค่าหุ้นหายไปกว่า 30% ทำให้บริษัทดึงดูดนักลงทุนได้น้อยลงมาก

สิ่งที่ต้องตามดูหลังจากนี้จึงอาจเป็นรายงานผลประกอบการของร้านต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะร้านที่มียอดขายมาจากบริการ Food Delivery สูง ๆ ว่ายังสามารถเติบโตต่อไปได้หรือไม่ หรือจะเจอกับสถานการณ์ที่ยากลำบากมากขึ้น และต้องจ่ายเงินเพื่อช่วยซัพพอร์ต Food Delivery มากขึ้น ซึ่งหากภาพอนาคตเป็นเช่นนั้นจริง สัญญาณจากสหรัฐอเมริกาก็น่าจะเป็นเครื่องเตือนใจผู้ประกอบการไทยที่พึ่งพา Food Delivery ได้ดีทีเดียว

Source


แชร์ :

You may also like