สำหรับ แกร็บ ประเทศไทย ปี 2019 นี้ ถือว่าเป็นปีที่ดีและร้อนแรงที่สุดก็ว่าได้ โดยเฉพาะยอดเรียกใช้บริการต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์มที่แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่จบปีดี แต่ตัวเลขล่าสุดพบว่า ยอดการใช้บริการในรอบ 10 เดือนที่ผ่านมานี้ ทะลุกว่า 120 ล้านครั้งไปเรียบร้อยแล้ว
หากย้อนไปดูตัวเลขสะสมการใช้บริการตลอดทั้ง 5 ปี ที่แกร็บให้บริการในประเทศไทยมา จะมีจำนวนรวมกันราว 320 ล้านครั้ง เรียกได้ว่า แค่ยอดบริการ 10 เดือนแรกของปีนี้ ก็ทำสัดส่วนเทียบได้ไม่น้อยกว่า 30-40% ของยอดรวมการให้บริการตลอดทั้ง 5 ปีที่ผ่านมาเลยทีเดียว สะท้อนการเติบโตที่สูงมากของปีนี้ได้เป็นอย่างดี
ส่วนเหตุผลที่ทำให้แกร็บสามารถเติบโตอย่างโดดเด่นจนสร้าง Best Record ในปีนี้ คุณธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า มาจากความพยายามในการเพิ่มบริการต่างๆ เข้ามาในแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง ทั้งการขยายบริการไปสู่กลุ่มธุรกิจใหม่ๆ เช่น กลุ่มโรงแรม หรือซูเปอร์มาร์เก็ต รวมทั้งการขยายพื้นที่ของบริการเดิมให้ครอบคลุมเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ Grab สามารถตอบสนองความต้องการต่างๆ ในฐานะผู้นำในกลุ่ม Super App ที่สามารถตอบโจทย์การให้บริการต่างๆ ใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุม
ขณะที่ตัวเลขยอดการใช้บริการโดยรวมของปีนี้นั้น คุณธรินทร์ มองว่า ตัวเลขน่าจะยังวิ่งไปได้อีกไกล เพราะไตรมาสสุดท้ายถือเป็นไฮซีซั่นของธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศจำนวนไม่น้อย ขณะที่ Grab เอง ก็ถือเป็นแพลตฟอร์มทางเลือกที่นักท่องเที่ยวนิยมใช้บริการอยู่แล้ว โดยเฉพาะในบางช่วงที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากๆ จะมียอดการใช้บริการที่มาจากนักท่องเที่ยวสูงถึง 1ใน 5 ของยอดใช้บริการทั้งหมดเลยทีเดียว
“ปัจจุบันแกร็บ ประเทศไทย ขยายบริการกระจายออกไปใน 18 จังหวัด 20 เมือง ผ่านรูปแบบการให้บริการ ทั้งเรื่องของการเดินทาง การขนส่งพัสดุและสินค้า รวมทั้งความสำเร็จที่โดดเด่นของแกร็บฟู้ดในธุรกิจส่งอาหาร ซึ่งปัจจุบันถือได้ว่าเป็นแพลตฟอร์มส่งอาหารอันดับหนึ่ง ที่ใหญ่ที่สุดและเติบโตได้เร็วที่สุดของประเทศไทย เพราะแค่ช่วงต้นปี เราก็สามารถพิชิตตัวเลข 4 ล้านออเดอร์ ภายในเดือนที่ 4 เทียบจากจำนวนออเดอร์รวมท้ังหมดในปีก่อนหน้าที่ทำได้ราว 3 ล้านกว่าออเดอร์”
แกร็บฟู้ด ธุรกิจดาวเด่น
คุณธรินทร์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แพลตฟอร์มที่แข็งแกร่งและเติบโตได้ร้อนแรงที่สุดของแกร็บ ประเทศไทย ในขณะนี้คือ แกร็บฟู้ด โดยปีนี้สามารถขยายพื้นที่ให้บริการเพิ่มขึ้นได้หลายเท่าตัว จากที่มีแค่ในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ แต่ปัจจุบันแกร็บฟู้ดให้บริการครอบคลุมแล้วใน 14 จังหวัด รวมทั้งในปี 2020 มีแผนขยายพื้นที่ให้บริการแกร็บฟู้ดเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวเป็น 30 จังหวัด
“ทุกๆ ตลาดที่เราขยายเข้าไป เรามั่นใจว่าไม่ต่ำกว่า 80% ของพื้นที่เราคือ Leadership และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี รวมทั้งจากการสำรวจผู้บริโภคเชิงลึกโดยกันตาร์ พบข้อมูลว่ามากกว่าครึ่ง หรือ 54% ลงคะแนนว่าเลือกใช้แกร็บฟู้ดบ่อยที่สุดสำหรับแพล็ตฟอร์มในการสั่งอาหารในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ขณะที่แบรนด์คู่แข่งมีคะแนน 21% ซึ่งการที่แกร็บฟู้ดเติบโตได้อย่างโดดเด่นมาจากปัจจัยสำคัญ ทั้งการมีร้านอาหารที่ผู้บริโภคชื่นชอบอยู่บนแพลตฟอร์ม มีดีลพิเศษและคุ้มค่ามานำเสนอ รวมทั้งความสามารถในการให้บริการได้ย่างรวดเร็ว ซึ่งตามมาตรฐานของแกร็บจะต้องส่งอาหารถึงผู้ส่ังได้ภายใน 30 นาที และการจะทำได้ตามมาตรฐาน จำเป็นต้องมีจำนวนคนขับให้บริการส่งอาหารอย่างเพียงพอ โดยปัจจุบันแกร็บฟู้ดมีเครือข่ายคนขับไม่ต่ำกว่าแสนรายทั่วประเทศ”
หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้แกร็บฟู้ดเติบโตได้ในเวลาอย่างรวดเร็วคือ การทำกลยุทธ์ Partnership ที่แข็งแรง และครอบคลุมตั้งแต่ Food Chain รายใหญ่ระดับประเทศ ไปจนถึงร้านค้า SME หรือแบรนด์ไทยเล็กๆ ที่ต้องการเพิ่มช่องทางใหม่ๆ ในการทำตลาดเพิ่มมากขึ้น เพื่อร่วมมือกันทำตลาด โดยเฉพาะกระตุ้นการใช้บริการผ่านโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อเป็นตัวเร่งให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมมาสั่งอาหารผ่านแกร็บฟู้ด ขณะที่การโปรโมทหรือทำตลาดต่างๆ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การโปรโมทแพลตฟอร์มของแกร็บฟู้ดเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยทำตลาดร่วมกันกับพาร์ทเนอร์ที่เข้ามาร่วมแคมเปญได้อีกช่องทางหนึ่งด้วย
“ปัจจุบันเรากลายเป็นหนึ่ง Key Channel สำคัญของแบรนด์ต่างๆ ในการทำตลาดผ่านออนไลน์ ขณะที่การทำแคมเปญในแต่ละครั้งก็ได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรเพิ่มมากขึ้นในแต่ละครั้ง เช่น แคมเปญแรกที่เริ่มทำในเดือนพฤษภาคม มีแบรนด์เข้าร่วม 200 แบรนด์ พร้อมนำเสนอดีลต่างๆ บนแพลตฟอร์มราว 5 พันดีล แคมเปญต่อมาในเดือนสิงหาคม มีแบรนด์เข้าร่วมเพิ่มเป็น 250 แบรนด์ และจำนวนดีลเพิ่มเป็น 8 พันดีล ขณะที่ครั้งล่าสุดในเดือนกันยายน กับแคมเปญ GrabFood Xclusive มีแบรนด์เข้าร่วมมากกว่า 350 แบรนด์ ขณะที่ดีลเพิ่มมากกว่า 9 พันดีล และที่สำคัญคือ มีเมนูถึง 2 ใน 3 ที่ทางแบรนด์ครีเอทขึ้นมาเป็นพิเศษ เพื่อขายเฉพาะบนแกร็บฟู้ดเท่านั้น ซึ่งแม้แต่ในร้านสาขาของทางแบรนด์เองก็ยังไม่มีจำหน่าย สะท้อนถึงความเชื่อมั่นและความสัมพันธ์อันดีของแกร็บฟู้ดที่มีต่อแบรนด์ต่างๆ อย่างแน่นแฟ้น และความสำเร็จของแคมเปญนี้ก็ทำให้แบรนด์ที่เข้าร่วมแคมเปญมีรายได้เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 2.5 เท่า”
มากกว่าใหญ่ ต้องเป็น Thought Leadership
และในฐานะผู้นำกลุ่ม Super App นอกจากสเกลธุรกิจที่ใหญ่แล้ว หนึ่งสิ่งสำคัญที่ผู้นำต้องมีคือการเป็น Thought Leadership การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ธุรกิจ ด้วยการทำ Grab Kitchen หรือการทำคลาวด์คิทเช่น ที่ตลาดสามย่าน ที่เพิ่งเปิดให้บริการไปเมื่อเดือนตุลาคม ด้วยการรวบรวมแบรนด์ร้านอาหารไว้ที่ครัวกลางเพื่อลดช่องว่างและข้อจำกัดด้านสถานที่หรือสาขาของร้านอาหารต่างๆ และยังมีส่วนช่วยให้พาร์ทเนอร์ในกลุ่มร้านอาหารของแกร็บเติบโตได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนจำนวนมากเพื่อขยายสาขา
“แม้เราจะไม่ใช่คนแรกที่คิดเรื่องคลาวด์คิทเช่น แต่เราสามารถทำให้สำเร็จได้จริง ขณะที่หลายๆ คนมีความพยายามที่จะทำเช่นกัน โดยหลังให้บริการมาราวเดือนกว่าๆ ปัจจุบันมีร้านอยู่ในแกร็บคิทเช่นแล้วกว่า 12 ร้าน ทำให้คลาวด์ คิทเช่น กลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำรายได้ให้กับธุรกิจ SME ของไทยได้อย่างมหาศาล และมีหลายๆ แบรนด์ที่สนใจอยากเข้ามาอยู่ภายใต้แกร็บคิทเช่น ทั้งหมดสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของเราได้เป็นอย่างดี ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของขนาด แต่ยังเป็นผู้นำทั้งในการทำความเข้าใจอินไซต์ผู้บริโภค การคิดแคมเปญต่างๆ รวมทั้งการสร้างความเชื่อมั่นและน่าเชื่อถือ รวมทั้งการเป็นผู้นำในฐานะผู้นำด้านความคิด โดยเฉพาะการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ให้แก่ธุรกิจอยู่เสมอ”
คุณธรินทร์ มองโอกาสในการเติบโตเพิ่มมากขึ้นในปีหน้า นอกจากแพลตฟอร์มแกร็บฟู้ด ที่ยังน่าจะเติบโตได้ต่อเนื่อง ทั้งจากการขยายพื้นที่ให้บริการที่เพิ่มจากเดิมกว่าเท่าตัว ประกอบกับโอกาสที่จะเพิ่มการใช้บริการได้อย่างมหาศาล เพราะหากเทียบแล้ว มูลค่าธุรกิจอาหารบนออนไลน์ ยังมีสัดส่วนน้อยมาก เมื่อเทียบกับออฟไลน์ ดังนั้น โอกาสที่ตลาดจะเติบโตยังมีอีกมาก
“ตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ในไทยถือว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจ เพราะการเติบโตของตลาดนี้ยังอยู่ในช่วงต้นของ S Cusve เท่านั้น ทำให้จะยังคงเห็น Players เดินหน้าทำตลาดรวมท้ังส่วนใหญ่ยังคงใช้โปรโมชั่นมาช่วยเพื่อกระตุ้นให้มีจำนวนคนเข้ามาใช้บริการจำนวนมากและเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมมาซื้ออาหารผ่านออนไลน์มากขึ้น รวมทั้งการพัฒนาระบบเพย์เม้นต์ของตัวเองอย่างแกร็บเพย์ มารองรับจะยิ่งทำให้ผู้บริโภคได้สิทธิ์พิเศษต่างๆ มากขึ้น รวมไปถึงการขยายพื้นที่ใช้จ่ายไปอยู่นอก Grab Ecosyste ได้ในอนาคต จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการสร้างให้แพลตฟอร์มในภาพรวมเติบโตได้มากขึ้น โดยทิศทางต่างๆ เหล่านี้จะเป็นแนวทางเดียวกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซเมื่อช่วง 4-5 ปีก่อน แต่ทุกอย่างน่าจะขับเคลื่อนได้เร็วมากขึ้นกว่าเดิม ขณะที่ผู้เล่นในตลาดน่าจะมีผู้เล่นที่แข็งแกร่งอยู่ในตลาดได้ราว 2-3 รายที่ครองตลาดส่วนใหญ่ไว้ได้”
ขณะที่ในกลุ่ม Transport ก็มีโอกาสเติบโตได้เช่นกัน จากนโยบายโปรโมทธุรกิจท่องเที่ยวที่จะทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะการโปรโมทการท่องเที่ยวเมืองรอง แต่จำนวนรถรับจ้างให้บริการต่างๆ ในพื้นที่เหล่านั้นยังมีอย่างจำกัด เป็นโอกาสที่แกร็บจะสามารถเข้าไปเติมเต็มการให้บริการได้แทบทั้งสิ้น ประกอบกับหากกฏระเบียบต่างๆ ที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจมีความชัดเจน ก็จะทำให้แกร็บสามารถวางทิศทางในการขับเคลื่อนกลยุทธ์เพื่อขยายธุรกิจให้สามารถเติบโตได้เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ แกร็บ ประเทศไทย ยังไม่หยุดพัฒนาบริการใหม่ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิตให้แก่ผู้บริโภค สอดคล้องกับเทรนด์ Lazy Economy รวมทั้ง Gig Economy ที่กำลังเติบโต ขณะที่ในฟากของการดูแลพนักงานนอกจากค่าตอบแทนประจำ Grab ยังให้ความสำคัญกับการดูแลพนักงานขับรถทั้งการยกระดับความรู้ด้านการวางแผนการเงิน การให้สวัสดิการต่างๆ ทั้งประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุต่างๆ รวมทั้งการพยายามหาโมเดลเพื่อให้คนขับมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งโครงสร้างรายได้ของพนักงานขับรถของแกร็บสามารถแข่งขันได้ในตลาด เพื่อเป็นการรักษาให้พนักงานอยู่และเติบโตร่วมไปกับองค์กร เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนอีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน