หลังจากปล่อยให้บริการ Ride-Hailing และ Food Delivery วาดลวดลายในตลาดบ้านเรามาสักพัก ในที่สุด เครื่องมือทางการเงินตัวแรกของ Grab ก็ได้ฤกษ์บุกตลาดไทยอย่างเป็นทางการ กับ GrabPay Wallet Powered by KBank ภายใต้การดูแลของ Grab Financial Group กลุ่มธุรกิจด้านการเงินของ Grab
โดย Grab ประเทศไทย เผยว่า เครื่องมือทางการเงินดังกล่าวเป็นการพาร์ทเนอร์กับธนาคารกสิกรไทย และได้เริ่มทดลองใช้ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยพบว่าภายในเวลา 4 เดือนครึ่ง มีการเติบโตด้านจำนวนผู้ใช้งานถึง 3 เท่า (แต่ไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขผู้ใช้งานได้) นอกจากนี้ ยังพบว่าธุรกรรมบนแพลตฟอร์มของ Grab ประเทศไทยย้ายไปอยู่บนช่องทางดังกล่าวแล้วกว่า 40% ของธุรกรรมทั้งหมด (สั่งอาหาร, เรียกรถ, ส่งพัสดุ) และในส่วนของผู้ใช้งาน พบว่า 60% มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้วย
ภาพเดียวกันนี้ยังเกิดขึ้นกับ Grab ในประเทศสิงคโปร์ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน มีเพียงประเทศไทยและสิงคโปร์ที่มีการเปิดให้บริการ GrabPay Wallet เต็มรูปแบบ ส่วนอีก 4 ประเทศอย่างเวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ และคาดว่าจะเปิดตัวตามมาในเร็ว ๆ นี้
ทำไม GrabPay ไม่ใช้เทคโนโลยีของตัวเอง
แต่นอกจากชื่อ GrabPay Wallet แล้ว การมีวลีต่อท้ายอย่าง Powered by KBank อาจทำให้หลายคนสงสัยไม่น้อย ในจุดนี้คุณวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการ GrabPay ประจำประเทศไทย ของ Grab Financiall Group เผยว่า Grab มีการพาร์ทเนอร์กับสถาบันการเงินของประเทศต่าง ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการให้บริการ ซึ่งสำหรับประเทศไทย ก็คือธนาคารกสิกรไทยที่มีความเชี่ยวชาญ และมีวิสัยทัศน์ด้าน FinTech
แต่ไม่เฉพาะธนาคารกสิกรไทย สิ่งที่ Grab Financial Group มองก็คือ การให้บริการดังกล่าวต้องปฏิบัติตามกฎของธนาคารกลางของแต่ละประเทศอย่างเคร่งครัดด้วย ซึ่งภาพนี้จะเกิดขึ้นในทุกประเทศที่ GrabPay Wallet เปิดให้บริการ
เจาะเนื้อใน มีอะไรใน GrabPay Wallet
สำหรับบริการ GrabPay Wallet ในระยะเริ่มต้น สิ่งที่ซ่อนอยู่ข้างใน ประกอบด้วย 4 ฟีเจอร์หลัก ได้แก่
- บริการชำระเงินกับร้านค้า – โดยผู้ใช้ GrabPay Wallet สามารถนำเงินที่มีในวอลเล็ตไปชำระค่าสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ได้ผ่านการสแกน QR Code โดยตรง ซึ่งปัจจุบันมีร้านค้าเข้ามาร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับ Grab แล้วจำนวนหนึ่ง เช่น Major Cineplex, After You, KOI The, Kyo Roll En ฯลฯ โดยใช้โปรโมชั่น “แคชแบ็ก 20%” กับร้านค้าที่ร่วมรายงานมาดึงดูดใจให้เกิดการใช้จ่ายในระยะแรก
- เติมเงินโทรศัพท์มือถือ
- ดีลบุ๊ก (Dealbook) หรือระบบการขายดีลที่ Grab มองว่าคนไทยปัจจุบันคุ้นเคยดีอยู่แล้ว โดยในส่วนนี้จะมีการจับมือกับพาร์ทเนอร์ เช่น Major Cineplex ขายตั๋วหนังพร้อมป๊อบคอร์น หรือขายชานมไข่มุก KOI The ในราคาพิเศษ เป็นต้น
- บริการ Subscription – เป็นการสมัครสมาชิกเพื่อใช้บริการ เช่น GrabPackage Ride Pass, GrabPackage Food Pass ที่ทาง Grab ระบุว่า ผู้สมัครจะได้ส่วนลดมากขึ้น
แต่หากสังเกตให้ดี นัยสำคัญของทั้ง 4 ฟีเจอร์นี้ก็คือ การศึกษาพฤติกรรมของผู้ใช้งาน GrabPay Wallet เพื่อสร้างฐานข้อมูลผู้ใช้งานให้สมบูรณ์ ส่วนจะทำให้สมบูรณ์ไปเพื่ออะไรนั้น คำให้สัมภาษณ์ของ คุณวรฉัตร ลักขณาโรจน์ น่าจะชี้เป้าได้ดีที่สุด เพราะคุณวรฉัตรบอกว่า ในปี 2020 ที่จะถึงนี้ Grab Financial Group จะเปิดตัวบริการทางการเงินอย่างบริการสินเชื่อ (GrabFinance) และประกันภัย (GrabInsure) เต็มรูปแบบ
จากธุรกิจส่งคน – ส่งอาหาร สู่บริการ “ส่งเงิน”
โดยหากอ้างอิงจากคำให้สัมภาษณ์ข้างต้น สามารถมองได้ว่า GrabPay Wallet เป็นทัพหน้าในการเข้าถึงผู้บริโภค และศึกษาพฤติกรรมให้ชัดเจนว่ามีความชื่นชอบในสินค้าและบริการอะไร ก่อนที่ทัพหลังอย่างธุรกิจการให้สินเชื่อ และธุรกิจประกันภัยจะนำบิ๊กดาต้าเหล่านั้นไปใช้ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้อย่างตรงจุด และครบวงจรยิ่งขึ้น
โดยที่ผ่านมา Grab ประเทศไทยได้เริ่มนำร่องให้บริการสินเชื่อไปแล้ว 3 ประเภท ได้แก่ สินเชื่อสำหรับเช่าซื้อยานยนต์ สินเชื่อสำหรับซื้อโทรศัพท์มือถือ และสินเชื่อเงินสด แต่จำกัดวงอยู่ในกลุ่มพาร์ทเนอร์ร่วมขับของแพลตฟอร์ม และจะมีการตัดเงินจากพาร์ทเนอร์ร่วมขับเป็นรายวัน โดย Grab ไม่ได้เปิดเผยจำนวนผู้ใช้บริการ แต่ระบุเพียงแค่ว่า ยอด NPL ต่ำมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในสถาบันการเงินใดมาก่อน
“เรารู้ว่ารายได้ของเขามีเท่าไร การหักเงินทุกวัน ๆ ละ 100 บาทนั้น สำหรับบางคนนั้นแตกต่างจากการหักเงินทุกเดือน ๆ ละ 3,000 บาทค่อนข้างมาก” คุณวรฉัตรกล่าว
ส่วนสาเหตุในการหันมาทำตลาดสินเชื่อ – ประกันภัยนั้น คุณวรฉัตรเผยว่า เพราะเห็นโอกาสว่า คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน และประกันภัยมาโดยตลอด แต่เมื่อ Grab เข้ามา ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูล และทำความเข้าใจพฤติกรรมได้ ขณะที่อีกเหตุผลหนึ่งนั้นน่าจะเป็นเรื่องของโอกาสในการสร้างรายได้ เนื่องจากที่ผ่านมา ธุรกิจด้านการเงินคือหนึ่งในธุรกิจที่ทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง
พร้อมจับมือธนาคารอื่น นอกเหนือ “กสิกรไทย”
อย่างไรก็ดี ในช่วงเริ่มต้นของ GrabPay Wallet ยังเป็นการจำกัดวงเฉพาะผู้มีบัญชีของธนาคารกสิกรไทยอยู่ แต่ในอนาคตอันใกล้ ทาง Grab ก็พร้อมที่จะเปิดให้ผู้มีบัญชีของธนาคารอื่น ๆ เข้าร่วมด้วยได้เช่นกัน
“GrabPay Wallet เป็นจุดเริ่มต้นของกลุ่มบริการทางการเงินทั้งหมด และเราต้องการเร่งการเติบโตของจำนวนผู้ใช้งานให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งปัจจุบัน ฝั่งของพาร์ทเนอร์ร่วมขับและร้านค้าบนแพลตฟอร์มมีการใช้งานอยู่แล้ว เราจึงต้องการขยายการใช้งานในฝั่งผู้บริโภค เพื่อให้ Ecosystem นี้สมบูรณ์”
เมื่อนักลงทุนเลิกโอ๋สตาร์ทอัพ
อย่างไรก็ดี หากมองอีกด้านหนึ่ง เราอาจพบว่า ถึงเวลาแล้วที่สตาร์ทอัพในกลุ่ม Ride-Hailing และ Food Delivery ต้องผันตัวไปสู่บริการทางการเงินเพื่อหารายได้เข้ามาจุนเจือธุรกิจ เห็นได้จากกรณีของ DoorDash- UberEats ในสหรัฐอเมริกาที่อาจเป็นตัวอย่างได้ดีว่า การแข่งขันในสงคราม Food Delivery ที่ร้อนแรงนั้น ไม่สามารถทำรายได้ให้องค์กรอยู่รอดได้อย่างแท้จริง และผู้ใช้บริการก็มี Loyalty ต่ำ พร้อมจะเปลี่ยนใจไปใช้บริการของคู่แข่งได้ทุกเมื่อหากมีโปรโมชันที่ดีกว่า ซึ่งสุดท้ายแล้ว ทำให้ธุรกิจนี้ ต้องแข่งขันกันด้วยโปรโมชันอยู่ร่ำไป เหมือนที่หลายคนเปรียบเปรยว่าเป็นสงครามแห่งการเผาเงิน (แถมไม่รู้ว่าเมื่อไรจะสามารถหาตัวผู้ชนะได้ด้วย)
อย่างไรก็ดี ในอดีต นักลงทุนจำนวนไม่น้อยพร้อมใจที่จะเทเงินสนับสนุนสตาร์ทอัพเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่อง พร้อมหวังว่าเมื่อ IPO แล้วพวกเขาจะสามารถทำกำไรจากมูลค่าหุ้นได้ จนกระทั่งเกิดกรณีของสตาร์ทอัพชื่อดังอย่าง Uber เข้าตลาดหุ้นเมื่อกลางปีที่ผ่านมา และพบว่าไม่สามารถสร้างผลประกอบการที่เติบโตได้อย่างแท้จริงจนทำให้มูลค่าหุ้นจากที่เคยพุ่งขึ้นไปแตะ 46 เหรียญสหรัฐได้ลดลงเรื่อย ๆ จนทุกวันนี้อยู่ที่ราว ๆ 30 เหรียญสหรัฐ (หรือลดลงราว 30%) และยังไม่มีแนวโน้มจะฟื้นกลับขึ้นมาในเร็ววัน
จากสถานการณ์ดังกล่าว ไม่เฉพาะนักลงทุนที่ได้เรียนรู้ แต่อาจเป็น Grab เองที่ต้องเรียนรู้ และหาทางป้องกันไม่ให้ตนเองกลายเป็น Uber2 ด้วยเช่นกัน ซึ่งไม่แน่ว่า บริการทางการเงินอาจเป็นทางออกที่ดีที่สุดในเวลานี้