HomeBrand Move !!ฟังเบื้องหลัง PHILIPS ธุรกิจเทคโนโลยีวันนี้ที่ไม่เหมือนเดิม กับ ความท้าทายครั้งใหม่ผู้นำธุรกิจ “นวัตกรรมเพื่อสุขภาพ”

ฟังเบื้องหลัง PHILIPS ธุรกิจเทคโนโลยีวันนี้ที่ไม่เหมือนเดิม กับ ความท้าทายครั้งใหม่ผู้นำธุรกิจ “นวัตกรรมเพื่อสุขภาพ”

แชร์ :

ฟิลิปส์ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนทั่วโลก โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลกให้ดีขึ้น ประมาณ 3,000 ล้านคนต่อปี ภายในปีพ.ศ. 2573 ด้วย Cutting-edge Health Technology ซึ่งสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรมที่มีคุณค่า เหนือระดับและล้ำสมัย สมกับเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจสุขภาพ เครื่องมือแพทย์ และความเป็นอยู่ที่ดี ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ และตอบสนองเทรนด์สังคมผู้สูงอายุที่กำลังเติบโตทั่วโลกได้เป็นอย่างดี ตอกย้ำความเป็นผู้นำตลาดด้านเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพที่ใส่ใจนวัตกรรมด้านสุขภาพแบบต่อเนื่องและครบวงจร (Health Continuum)

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

คุณวิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้รายละเอียดถึงวิสัยทัศน์และทิศทางธุรกิจของฟิลิปส์ว่า ฟิลิปส์ไม่ได้ทำธุรกิจให้แสงสว่างจากหลอดไฟมานาน 2-3 ปีเศษแล้ว หลังจากขายกิจการไป รวมถึงโทรทัศน์ และเครื่องเสียง โดยหันมาโฟกัสที่ธุรกิจ Healthcare เป็นหลัก โดยจุดเริ่มต้นเกิดจากวิสัยทัศน์อันเฉียบคมของผู้บริหารฟิลิปส์ในระดับโกลบอล ที่เล็งเห็นถึงทิศทางการเติบโตของธุรกิจ Healthcare ตั้งแต่เมื่อราว 10-20 ปีที่ผ่านมา และในระยะหลังนี้ยิ่งเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น

“คนอายุยืนไม่ใช่เรื่องผิดปกติ และน่าตื่นเต้นอีกต่อไป เราจะเห็นคนอายุ 80,90 ตลอดจน 100 ปี มากขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อคนอายุยืนยาวมากขึ้น ปัญหาที่จะตามมาแน่นอนก็คือ ปัญหาสุขภาพที่เรื้อรัง แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าคนๆ นั้นปฏิบัติต่อตัวเองอย่างไร หากดูแลรักษาสุขภาพด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ ก็น่าจะมีปัญหาน้อยหน่อย แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้มีพฤติกรรมอย่างนั้น ดังนั้นปัญหาสุขภาพจะเป็นเรื่องใหญ่ เราจึงเริ่มโฟกัสด้วยการสร้างนวัตกรรมที่จะมาตอบโจทย์ดังกล่าว อันที่จริงแล้วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ฟิลิปส์ค่อยๆ เลิกโฟกัสหลายธุรกิจ ที่ชัดเจนและคนไทยรู้จักดีก็คือ หลอดไฟ, โทรทัศน์ และเครื่องเสียง ซึ่งได้เลิกกิจการธุรกิจเหล่านี้ไปแล้ว และโฟกัสกับธุรกิจเครื่องมือแพทย์มากขึ้น เพราะเกี่ยวเนื่องกับสุขภาพ กระทั่งตัดสินใจครั้งสำคัญ คือ การเลิกธุรกิจหลอดไฟและอุปกรณ์ให้แสงสว่างทั้งหมด เพื่อมาโฟกัสเครื่องมือแพทย์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ดูแลความเป็นอยู่ที่ดี ตอกย้ำแนวคิด Health Continuum”

Health Continuum…สุขภาพดีเริ่มต้นตั้งแต่ที่บ้าน

ด้วยความมุ่งมั่นในการทำธุรกิจสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ฟิลิปส์จึงมององค์รวมด้านสุขภาพของผู้บริโภคในแบบ Health Journey เริ่มตั้งแต่การดูแลป้องกัน และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขด้วยสุขภาพที่ดีจากที่บ้าน  ด้วยการนำเสนอนวัตกรรมที่ช่วยดูแลสุขภาพที่บ้านได้ และเมื่อเจ็บป่วยไปโรงพยาบาล ฟิลิปส์ก็มีโซลูชั่นที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ และการรักษาแบบเฉพาะเจาะจงสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย ตลอดจนถึงการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อฟื้นฟูสุขภาพที่บ้าน

“เมื่อพูดถึงสุขภาพไม่ได้หมายถึงเพียงแค่นวัตกรรมที่รักษาสุขภาพในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่หมายถึงนวัตกรรมที่สามารถรองรับการที่ทำให้คนใส่ใจสุขภาพ มีสุขภาพที่ดี มีความเป็นอยู่ที่ดี เพราะฉะนั้น Health Continuum คือ สุขภาพที่ดีต้องเริ่มต้นตั้งแต่ที่บ้าน ตั้งแต่เครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์เครื่องครัวในการทำอาหาร เช่น คนไทยรวมถึงคนทั่วโลกชอบของทอด ซึ่งเกี่ยวข้องกับน้ำมัน เมื่อกินน้ำมันเยอะๆ ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพก็ตามมา ฟิลิปส์จึงพัฒนา Philips AirFryer หม้อทอดไม่ใช้น้ำมัน  นอกจากไม่ต้องใช้น้ำมันแล้วยังรีดน้ำมันออกมาได้อีก นี่เป็นตัวอย่างว่า  เรามีนวัตกรรมที่ทำให้สุขภาพคนดีขึ้น ไปพร้อมๆ กับมีความสุขกับการกินอาหารที่กรุบกรอบอร่อยได้เหมือนเดิม คงรสชาติ 98-100% ด้วยซ้ำไปในอาหารบางชนิดโดยไม่ต้องใช้น้ำมันแม้แต่เพียงหยดเดียว”

“นอกจากนี้ เรายังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อการดูแลสุขภาพอีก เช่น เครื่องฟอกอากาศ เพราะอากาศที่ไม่ดีส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ยิ่งในช่วงที่มีเรื่องฝุ่นพิษ PM 2.5 หรือบางครอบครัวมีเด็กเล็กหรือคนป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ เราก็มีเครื่องฟอกอากาศที่ดักจับฝุ่นได้ถึงอนุภาคขนาดเล็กกว่า PM 2.5 ซึ่งจะช่วยฟอกอากาศภายในบ้านให้บริสุทธิ์และยังลดสารก่อภูมิแพ้เพื่อทำให้สภาพแวดล้อมภายในบ้านดีขึ้น หรืออย่างล่าสุดเรามีโซลูชั่นใหม่สำหรับแปรงสีฟันไฟฟ้า ที่มีแอปพลิเคชั่นแบบ AI ซึ่งจะรายงานผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการแปรงฟันในแต่ละครั้ง ว่าแปรงฟันสะอาดทั่วทั้งปากแล้วหรือยัง ถ้ายังหลงเหลือหรือไม่สะอาดตรงไหน ก็จะชี้้ชัดให้เราทราบและแปรงฟันในจุดนั้นเพ่ิมเติม โดยโซลูชั่นนี้ได้ขายในต่างประเทศแล้ว คาดว่าคงได้นำมาขายในไทยเร็วๆ นี้”

เจ็บไข้ได้ป่วย พร้อมวินิจฉัย รักษา และดูแลต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามหากป่วยขึ้นมาจริงๆ จำเป็นจะต้องถึงมือแพทย์ ต้องเข้าโรงพยาบาล ฟิลิปส์ก็มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือแพทย์และโซลูชั่นอยู่แล้ว ตั้งแต่เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED) เครื่องกระตุกหัวใจ เครื่องเอ็กซ์เรย์ เครื่องอัลตร้าซาวด์ เครื่อง MRI ที่ใช้ในการวินิจฉัย เมื่อทราบว่าเป็นโรคภัยไข้เจ็บอะไร ก็เข้าสู่กระบวนการรักษา ซึ่งฟิลิปส์ก็มีเครื่องมือรักษาอีกหลากหลาย หรือในบางเคสที่คนไข้ต้องกลับไปรักษาตัวต่อที่บ้าน ฟิลิปส์ก็มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้ดูแลรักษาและติดตามสุขภาพคนไข้อย่างต่อเนื่องที่บ้าน อาทิ เครื่องช่วยหายใจ เครื่องพ่นยาในผู้ป่วยโรคปอด ฯลฯ ทั้งหมดทั้งปวงนี้คือ Health Continuum ที่ฟิลิปส์เน้นย้ำการนำเสนอนวัตกรรมและโซลูชั่นเพื่อการดูแลรักษาสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ทั้งวงจรสุขภาพของผู้บริโภค

“ไม่ใช่ว่ากลับถึงบ้านก็ตัดขาดจากโรงพยาบาลอย่างสิ้นเชิง เพราะคนไข้บางประเภทที่เป็นโรคเรื้อรังบางอย่าง เช่น โรคเกี่ยวกับหัวใจ ความดัน และหลอดเลือด บางครั้งอาจจะไม่ต้องไปโรงพยาบาลบ่อยๆ แต่แพทย์สามารถตรวจและติดตามอาการของคนไข้ได้อย่างใกล้ชิดผ่านอุปกรณ์ง่ายๆ ให้คนไข้ใช้เองที่บ้าน และส่งข้อมูลกลับโรงพยาบาล เมื่อแพทย์ตรวจดูแล้วว่าสุขภาพโอเคก็ไม่เป็นไร แต่หากพบอาการผิดปกติก็ทำการนัดหมายคนไข้มาที่โรงพยาบาล หรือส่งทีมแพทย์ไปดูแลถึงบ้านคนไข้  เหมือนในประเทศที่มีความรุดหน้าทางการแพทย์แล้ว ซึ่งการเชื่อมโยงทั้งหมดนี้ จะต้องเชื่อมโยงด้วยอินเตอร์เน็ต เพราะฉะนั้นอินเตอร์เน็ตจะเป็น backbone สำคัญของโลกยุคใหม่ และใน Health Continuum ด้วย”

นึกถึงฟิลิปส์ นึกถึงธุรกิจสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี

เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ธุรกิจเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ เป็นธุรกิจที่เกือบจะเล็กที่สุดของฟิลิปส์เลย แต่หลังจากนั้นเงินที่ได้จากการขายกิจการและจากที่เคยลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ก็นำมาเดินเครื่องธุรกิจเครื่องมือแพทย์ทั้งในแง่ของการพัฒนาและวิจัยผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างนวัตกรรม หรือกระทั่งการซื้อกิจการธุรกิจเครื่องมือแพทย์ชั้นนำของโลกเข้ามาอยู่ภายใต้ชายคาของฟิลิปส์ ตราบถึงทุกวันนี้ธุรกิจเครื่องมือแพทย์ของเรามีสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดในฟิลิปส์ ในสัดส่วน 60%  ในขณะที่ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อการดูแลสุขภาพมีสัดส่วน 40%

“ดีเอ็นเอของฟิลิปส์ คือ “นวัตกรรม” สินค้าของฟิลิปส์จึงมีนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านสุขภาพของผู้บริโภคได้ เช่น ในแง่ความสะดวกสบาย อย่างเครื่องฟอกอากาศก็มีแอปพลิเคชั่นที่สื่อสารกับมือถือได้ แม้ในขณะที่นั่งทำงานอยู่ที่ออฟฟิศ หากอยากจะทราบว่าอากาศที่บ้านเป็นอย่างไร ดีหรือไม่ เพราะอยากกลับถึงบ้านแล้วได้สูดอากาศที่สดชื่น ก็สามารถเช็คได้ และสั่งให้เครื่องฟอกอากาศทำงานรอได้เลย นับเป็นโลกแห่ง IoT อย่างแท้จริง”

ทั้งนี้เครื่องไม้เครื่องมือผลิตภัณฑ์ของฟิลิปส์ในอนาคต จะเดินหน้าไปสู่การเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตโดยสมบูรณ์แบบในอนาคต สินค้าที่เรามีในตอนนี้ Health Continuum เป็นจุดเริ่มต้นของ S-Curve ในอนาคตจะมีสินค้าอีกมากมายที่ตอบสนองในเรื่องนี้ อีกหน่อยอาจจะมีแหวนหรือนาฬิกาข้อมือที่สามารถระบุได้ว่าระดับน้ำตาลในเลือดเราสูงเกินปกติ เรามีเอนไซม์ในตับบางตัวที่ผิดปกติหรือเปล่า เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเกินเลย มีโอกาสเป็นไปได้สูงมาก เพราะเทคโนโลยีล้ำหน้าขึ้นทุกวัน

บูมตลาดจับชนชั้นกลางเอเชียแปซิฟิค  ปั้นสินค้าไฮเอนด์ ในราคาจับต้องได้

คุณวิโรจน์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “สำหรับผู้บริโภคที่ใส่ใจและคุ้นเคยในเทคโนโลยีเป็นอย่างดี จะรู้จักว่าฟิลิปส์เป็นผู้นำในด้านธุรกิจเครื่องมือแพทย์ โดยเฉพาะแวดวงสาธารณสุข รู้จักฟิลิปส์ดี ส่วนในภาพรวมผู้บริโภคระดับ B+ ขึ้นไป หรือมีกำลังซื้อ จะตระหนักดีว่าฟิลิปส์เป็นผู้นำนวัตกรรม ที่มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แตกต่าง และนำเทรนด์กว่าคู่แข่งมานำเสนออยู่เสมอ เช่น ฟิลิปส์เริ่มจำหน่ายเตารีดที่ไม่ต้องปรับอุณหภูมิเป็นรายแรกในตลาด รีดยังไงก็ไม่ไหม้ จนทำให้เกิด Me too Marketing ตามมาอีกเป็นพรวน กระนั้นในภาพกว้าง ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังมีการรับรู้ว่า  ฟิลิปส์ยังเป็นแบรนด์หลอดไฟอยู่ เนื่องจากตอนที่ทำธุรกิจหลอดไฟ ฟิลิปส์เป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งมาก ขนาดที่ว่าเราอยู่อันดับ 1 มองไปข้างหลัง ไม่เห็นเลยว่าอันดับ 2 อยู่ตรงไหน เราแข็งแกร่งขนาดนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่วันดีคืนดีเราจะบอกให้ผู้บริโภคทั่วไปรับรู้ว่าฟิลิปส์ไม่ใช่หลอดไฟอีกต่อไปแล้ว ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร”

จริงอยู่ในแง่ของการวางตำแหน่งการตลาด ฟิลิปส์เป็นสินค้าไฮเอนด์ แต่เนื่องจากในระยะช่วง 5-6 ปีหลัง เราเริ่มมองว่า ไม่ใช่แค่ฟิลิปส์ที่เริ่มหันมาสนใจตลาดเอเชียแปซิฟิก เนื่องจากตลาดในอเมริกา และยุโรป แม้จะมีขนาดใหญ่ แต่กลับไม่เติบโต แตกต่างจากในภูมิภาคนี้ที่เป็น Emerging Market เพราะผู้บริโภคเริ่มมีกำลังซื้อสูงขึ้น และมองหาสินค้าที่เป็นนวัตกรรมมากขึ้น มีการขยายตัวของชนชั้นกลางซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ตลาดเติบโต อย่างในอินโดนีเซียมีประชากรราว 270 กว่าล้านคน ปี 2019 มีชนชั้นกลางราว 60 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 85 ล้านคน ในปี 2020 ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อมหาศาล และเป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

“สำหรับประเทศไทยก็เช่นกัน ชนชั้นกลางบ้านเราเริ่มมีบทบาทและมีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายกฯ ชาติชาย ชุณหวัน ก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง ช่วงนั้นซื้อใบจองบ้าน ซื้อตอนเช้า ตอนบ่ายขาย ชนชั้นกลางเฟื่องฟูมาก จนกระทั่งฟองสบู่แตก บาดเจ็บสาหัสกันไปเยอะ จนกระทั่งเราฟื้นตัวและกลับมา นอกจากนี้ยังมีดาวรุ่งดวงใหม่ในภูมิภาคนี้ ก็คือเวียดนาม แสดงให้เห็นว่าตลาดเอเชียแปซิฟิคกำลังเนื้อหอม เป็นที่ดึงดูดของธุรกิจใหญ่ๆ ในโลก สนใจที่จะขยายธุรกิจและเข้ามาลงทุนมากขึ้น ทำให้มีคูู่แข่งมากหน้าหลายตา อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับทางยุโรปและอเมริกาก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ เพราะว่าผู้บริโภคในตลาดเอเชียแปซิฟิคค่อนข้างมีความอ่อนไหวด้านราคา”

“เพราะฉะนั้นฟิลิปส์จึงวิเคราะห์ว่าโครงสร้างตลาดและธุรกิจทุกอย่างจะเป็นรูปทรงปิรามิด ถ้าเราโฟกัสเฉพาะยอดปิรามิดเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเราต้องการให้องค์กรเติบใหญ่ ซึ่งจะวัดด้วยรายได้หรือผลกำไร และในอีกแง่หนึ่งเราต้องการให้คนทั้งโลกมองว่าเราเป็นบริษัทที่นำเสนอนวัตกรรมด้านสุขภาพ จึงต้องจับกลุ่มเป้าหมายที่ถัดลงมาจากยอดปิรามิดด้วย ดังนั้นเราจึงขยับขยายด้วยการผลิตสินค้าอีกระดับหนึ่งที่คุณภาพและราคาเหมาะสม  เพราะผู้บริโภคในกลุ่มนี้มีความต้องการที่จะใช้สินค้าที่เป็นนวัตกรรม แต่กำลังซื้ออาจจะยังไม่เพียงพอ เราจึงผลิตสินค้าอีกระดับหนึ่งที่ตอบโจทย์นี้ได้มาจำหน่าย ตอนนี้สินค้าของฟิลิปส์จะจับกลุ่ม Middle to High แต่ว่าสินค้าส่วนใหญ่แล้ว รายได้หลักของเราแม้แต่ในประเทศไทยก็มาจากสินค้าไฮเอนด์ เพราะสินค้าในระดับถัดลงมาคู่แข่งมีจำนวนมหาศาล อยู่ข้างบนคู่แข่งอาจจะ 3-4 รายเท่านั้น แต่ถัดลงมาคู่แข่งหลายสิบรายเลยทีเดียว และห้ำหั่นกันด้วยสงครามราคา”

สำหรับพฤติกรรมของผู้บริโภคระดับไฮเอนด์จะมองที่อรรถประโยชน์รวมถึงคุณภาพที่จะได้รับมากกว่าจะสนใจเรื่องราคา อย่างเครื่องมือแพทย์ ตลาดหลักของเราคือโรงเรียนแพทย์ต่างๆ ที่ต้องการใช้สินค้าระดับไฮเอนด์อยู่แล้ว จุดเด่นอีกประการของฟิลิปส์คือ มีความหลากหลายของสินค้าและตอบสนองต่อความต้องการ พฤติกรรม และรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภคในแต่ละภูมิภาคหรือท้องถิ่น เช่น ในเอเชียแปซิฟิคบริโภคข้าวเป็นหลัก ดังนั้น ฟิลิปส์จึงมีโรงงานผลิตหม้อหุงข้าวสำหรับภูมิภาคนี้โดยเฉพาะ อย่างในอินโดเซีย นิยมบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก ตลาดหม้อหุงข้าวที่นั่นใหญ่กว่าตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยทั้งหมด

เน้นสื่อสารกับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง หวังลบภาพแบรนด์หลอดไฟ

สำหรับกลยุทธ์สื่อสารการตลาด “ฟิลิปส์ มากกว่าศตวรรษแห่งนวัตกรรมเพื่อตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจที่มีอย่างต่อเนื่องยาวนานด้วยนวัตกรรมอันโดดเด่นนั้น จะเน้นการสื่อสารกับผู้บริโภคว่าฟิลิปส์โฟกัสที่ธุรกิจนี้เป็นหลัก ผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ รวมถึงกิจกรรม ซึ่งคุณวิโรจน์ยอมรับว่าไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ผู้บริโภครู้จักฟิลิปส์ในฐานะหลอดไฟ แม้กระทั่งทีมฟุตบอลดัตช์บางทีมก็มีฟิลิปส์เป็นสปอนเซอร์ยังเรียกว่าทีมหลอดไฟ ไอ้หลอดไฟ แสดงว่าบารมีของฟิลิปส์ในแง่ของหลอดไฟแรงมาก แคมเปญนี้จึงต้องค่อยเป็นค่อยไป ตอบลำบากว่าภายในเมื่อไหร่ที่คนจะเลิกคิดว่าฟิลิปส์เป็นหลอดไฟ ก็ต้องพึ่งพาหลายปัจจัย และหากในอนาคตไม่มีแบรนด์หลอดไฟฟิลิปส์อีกต่อไปก็อาจจะช่วยได้”

“ที่ผ่านมา เราพยายามจัดกิจกรรมต่างๆ  ที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพอย่างต่อเนื่อง  เพื่อสื่อสารไปยังผู้บริโภค  ให้มีภาพจำฟิลิปส์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ อาทิ กิจกรรมฝึกอบรมความรู้เกี่ยวกับการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานด้วยการทำ CPR และการใช้เครื่อง AED ซึ่งเราได้ร่วมมือกับองค์กรด้านการแพทย์และสุขภาพ อาทิ สมาคมแพทย์โรคหัวใจ มูลนิธิโรคหัวใจในพระบรมราชูปถัมภ์ หน่วยอุบัติเหตุสภากาชาด และโรงพยาบาลรามาธิบดี นำทีมไปช่วยฝึกอบรมและให้ความรู้กับประชาชนทั่วไปตามสถานที่ต่างๆ โดยทำมาต่อเนื่องหลายปีแล้ว แม้แต่ในกลุ่มพนักงานของฟิลิปส์เอง เราก็มีการจัดอบรมให้พนักงานของเราทุกคนจะต้องมีความรู้ในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานได้ ซึ่งทุกคนที่ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรการันตีว่ามีความรู้เพียงพอที่จะช่วยชีวิตพื้นฐานได้”

ด้านธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กของฟิลิปส์ ก็จะเน้นที่เกี่่ยวกับสุขภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ควบคู่กับการดูแลความเป็นอยู่ที่ดีให้ผู้บริโภค เช่น หม้อทอดไม่ใช้น้ำมัน หรือเครื่องปั่นสูญญากาศที่สามารถคงสารอาหารได้ยาวนานถึง 8 ชั่วโมง หรือแม้กระทั่ง เตารีด ของเราก็เน้นทำให้ชีวิตในการรีดผ้าสะดวกสบายมากขึ้น ไดร์เป่าผม ที่ปรับอุณหภูมิอัตโนมัติตามความชื้นของเส้นผม ไม่ใช่ร้อนคงที่ ช่วยดูแลสุขภาพผมอีกทางหนึ่ง สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าของเรายังคงขายผ่านช่องทางค้าปลีกต่างๆ ในขณะที่ช่องทางออนไลน์ ก็กำลังเติบโตดี และเร็วๆ นี้ ก็จะมีช่องทางออนไลน์ของฟิลิปส์เอง เพื่อให้ผู้บริโภคซื้อได้โดยตรง

“ต้องบอกว่าการขายผ่านช่องทางออนไลน์ของเราโตมาก แต่ละปีโต 3 หลักเลยทีเดียว แต่ปริมาณยังน้อยอยู่เมื่อเทียบกับช่องทางอื่น ในอนาคตข้างหน้าเชื่อว่าจะมีโอกาสโตมากขึ้นไปอีก และเราเริ่มเห็นช่องทางค้าปลีกหลายๆ ที่เริ่มหันมาจับช่องทางออนไลน์แล้วด้วยเช่นกัน ซึ่งน่าจะเป็นเทรนด์ที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดทีเดียว”

วิจัยผู้บริโภคอย่างเข้มข้น เพื่อพัฒนานวัตกรรมตอบโจทย์ Pain Point

“เรามีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอยู่ตลอด เพื่อหาฟีดแบ็กจากลูกค้าและผู้บริโภค และวิเคราะห์เทรนด์ในตลาด อย่างห้อง MRI ในโรงพยาบาลจะดูน่ากลัวทั้งในเรื่องของรังสีและบรรยากาศที่ไม่เป็นมิตร เราจึงสร้างห้องที่เรียกว่า Ambient Experience แทนที่จะเป็นห้องสีพื้นๆ ก็ปรับให้มีสีไฟให้คนไข้เข้าไปแล้วรู้สึกผ่อนคลาย หรือถ้าเป็นคนไข้เด็ก ซึ่งเขาจะค่อนข้างกลัวเวลาต้องเข้าตรวจในอุโมงค์  เราก็จะมีภาพให้เด็กเลือกเลยว่า เข้าไปแล้วอยากจะเห็นภาพอะไร เช่น ภาพการ์ตูนดิสนีย์ ก็จะมีปีเตอร์แพนบินว่อนห้องเลย ถือเป็นการลด Pain Point ที่เกิดจากการเข้าไปรับการรักษา หรืออย่างโรคที่เกี่ยวกับการนอนกรนต้องใส่หน้ากากเครื่องช่วยหายใจเวลานอน แต่ผู้ป่วยแต่ละคนสรีระและรูปหน้าไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นหน้ากากของฟิลิปส์จะมีให้เลือกหลายแบบมาก ทั้งแบบครอบจมูก แบบติดปลายจมูก แบบครอบครึ่งหน้า ฯลฯ เพื่อความสบายของผู้สวมใส่”

“เราเป็น Trend Leader อย่างหม้อทอดไม่ใช้น้ำมัน เราก็ทำก่อนใคร มีมานานเกือบ 10 ปีแล้ว และเรายังพัฒนารุ่นใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น สำหรับครอบครัวที่ต้องการทำอาหารเยอะๆ ในคราวเดียวไม่ต้องเสียเวลาทำหลายรอบ เช่น การทอดไก่ทั้งตัว หรือทอดขาหมูเยอรมัน เมื่อก่อนเราตอบโจทย์คนซื้อไปใช้ในคอนโดเพราะไม่มีควัน แต่ช่วงหลังกระแสสุขภาพมาแรงมาก คนที่อยู่อาศัยตามบ้านและเป็นครอบครัวใหญ่ก็ต้องการใช้เหมือนกัน”

ความท้าทายของฟิลิปส์ในทศวรรษหน้า

ในอนาคต 10 ปีข้างหน้า คุณวิโรจน์บอกว่าความท้าทาย และทิศทางธุรกิจของฟิลิปส์ คือจะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สุขภาพให้เข้มข้นมากขึ้น รวมถึงตอบโจทย์การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ โดยสานต่อการผลิตนวัตกรรมเพื่อให้ป้องกัน แก้ไข และรักษา

สำหรับแนวโน้มสินค้าจะเป็น Hardcore Healthcare และ Automate มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความที่เทคโนโลยีทีเข้ามาเป็นกลไกในการสร้างเสริมสุขภาพ รวมถึงความท้าทายที่สำคัญคือ จะต้องสร้างแบรนด์ฟิลิปส์ให้สินค้าเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ให้มีความแข็งแกร่งเหมือนหลอดไฟฟิลิปส์ให้ได้ ซึ่งการที่จะบรรลุเป้าหมายนั้นได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภคเพื่อเข้าถึง Consumer Insight ให้มากขึ้น

#Philips #InnovationandYou #PhilipsHealthTech

 


แชร์ :

You may also like