เห็นหัวเรื่องบทความ หลายคนอาจนึกไปถึงข่าวลือหนาหูในช่วงที่ผ่านมา เกี่ยวกับสายการบินแห่งชาติที่แพร่สะพัดว่ากำลังเผชิญวิกฤต โดยบางกระแสลือกันไปถึงขั้นรุนแรงว่าเตรียมปิดกิจการ ทำให้ผู้บริหารระดับสูงต้องออกมายืนยันว่าข่าวลือดังกล่าวห่างไกลจากความเป็นจริงไปมาก พร้อมยืนยันสถานะของสายการบินยังมีความแข็งแรง สามารถที่จะแข่งขันอยู่ในตลาดได้ แม้สิ่งที่เกิดขึ้นผ่านตัวเลขผลประกอบการที่ประกาศออกมาจะพบว่า สายการบินไทยขาดทุนต่อเนื่องมาหลายปีแล้วก็ตาม
ขณะที่เนื้อหาของบทความนี้ อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับการบริหารงานของสายการบินแห่งชาติ หรือการวิเคราะห์ธุรกิจการบินโดยตรง แต่จะเป็นการยกกรณีศึกษาเกี่ยวกับการจัดการความเสี่ยงในระดับ Macro Risk โดยเฉพาะในบางประเทศที่พึ่งพิงการเติบโตของ GDP จากตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป และในตลาดนั้นอาจมีผู้ประกอบการบางรายที่มีบทบาทในอุตสาหกรรมค่อนข้างมาก แต่หากวันหนึ่งธุรกิจเกิดปัญหาจนไม่สามารถดำเนินกิจการได้ตามปกติ ไม่ใช่เพียงแค่ผลกระทบต่อธุรกิจเท่านั้น แต่จะเป็นการฉุดภาพรวมเศรษฐกิจในระดับประเทศให้สะดุดได้เลยทีเดียว
ดร. กิตติพงษ์ เรือนทิพย์ และ คุณจารุวรรณ เหล่าสัมฤทธิ์ จากศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ได้วิเคราะห์ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจหดตัวของไอซ์แลนด์ซึ่งเป็นเอฟเฟ็กต์จากการที่สายการบินต้นทุนต่ำสายการบินหนึ่งปิดตัวลงอย่างกระทันหันในช่วงเดือนมีนาคม 2019 หรือเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจไม่ได้เป็นข่าวใหญ่ในประเทศไทยมากนัก แต่กรณีที่เกิดขึ้นกับไอซ์แลนด์สามารถเป็นบทเรียนที่ดีให้กับประเทศไทยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่หลายสายการบินกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ตลอดจนการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นอย่างเช่นในปัจจุบัน
WOW air Effect ฉุดเศรษฐกิจไอซ์แลนด์รอบ 10 ปี
การศึกษาจาก Krungthai COMPASS ระบุว่า ช่วงปลายเดือนมีนาคม ปี 2019 WOW air ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำรายใหญ่ของไอซ์แลนด์ ประกาศยุติการดำเนินการและยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมดอย่างกระทันหันในวันเดียวกัน จากปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนัก ด้วยปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นการขยายธุรกิจที่เร็วและมากเกินไป สภาพการแข่งขันของธุรกิจสายการบินที่เพิ่มสูงขึ้น ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนการประสบภาวะขาดทุนติดต่อกัน 2 ปี เป็นต้น
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากไม่สามารถเดินทางเข้าไอซ์แลนด์ได้ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไอซ์แลนด์ในช่วง 3 เดือนถัดมา หลังเหตุการณ์ดังกล่าวลดลงเกือบ 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และมีการประเมินว่านักท่องเที่ยวทั้งปีจะลดลงเหลือ 8.9 ล้านคน จากจำนวน 9.8 ล้านคนในปี 2018
หลังเหตุการณ์ดังกล่าว ธนาคารกลางของไอซ์แลนด์จึงได้ปรับลดประมาณการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจจาก 1.8% เหลือเพียง 0.4% ซึ่งนับเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ไอซ์แลนด์ประสบปัญหาวิกฤติทางการเงินในช่วงปี 2008-2011 นอกจากนี้แล้ว ก็ยังมีการปรับการคาดการณ์ตัวเลขการว่างงานเพิ่มขึ้นจาก 3.1% เป็น 3.9% ด้วยเช่นกัน (รูปที่ 1-2)
ทำไมแค่สายการบินปิดตัวถึงส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจมากขนาดนี้?
ไม่บ่อยนักที่เราจะพบว่า การที่บริษัทหรือสายการบินเดียวปิดตัว จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจทั้งประเทศ แต่ด้วยความที่ GDP ของไอซ์แลนด์พึ่งพิงเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 12% นักท่องเที่ยวกว่า 90% ก็เดินทางมาเที่ยวไอซ์แลนด์ทางอากาศ และ WOW air ก็เป็นสายการบินซึ่งนำนักท่องเที่ยวต่างชาติสัดส่วนกว่า 30% เข้ามาในประเทศในปี 2018 ดังนั้นเมื่อ WOW air ยุติการดำเนินการอย่างกระทันหัน จึงทำให้เกิดผลกระทบด้านลบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไอซ์แลนด์อย่างหนัก
แล้วเหตุการณ์นี้เกี่ยวข้องอะไรกับไทย?
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับไอซ์แลนด์สามารถนำมาเปรียบเทียบกับไทยได้ เนื่องจากไทยมีปัจจัยหลายอย่างที่คล้ายคลึงกับไอซ์แลนด์ ยกตัวอย่างเช่น
ประการที่ 1 : เศรษฐกิจของทั้งไอซ์แลนด์และไทยพึ่งพิงเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติถึงประมาณ 12 %
ไทยกับไอซ์แลนด์มีความคล้ายคลึงกันอย่างมากในเรื่องความสำคัญของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจในประเทศ โดยเมื่อดูข้อมูลย้อนไปในช่วงปี 2011-2018 จะพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาไทยเพิ่มขึ้นจาก 19 ล้านคนเป็น 38 ล้านคน หรือโตเฉลี่ยปีละ 11.9% ในขณะที่ไอซ์แลนด์นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจาก 5 แสนคน เป็น 2.2 ล้านคน หรือโตเฉลี่ยปีละ 22% (รูปที่ 3)
สำหรับเหตุผลที่นักท่องเที่ยวเติบโตอย่างมากในกรณีของไอซ์แลนด์คือการอ่อนตัวของค่าเงินหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 ในขณะที่กรณีของไทยมาจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของนักท่องเที่ยวจีนที่มาไทย โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาเที่ยวไทย ประมาณ 80% เดินทางมาด้วยเครื่องบิน
ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ความสำคัญของภาคการท่องเที่ยวต่อ GDP ของทั้งไทยและไอซ์แลนด์เพิ่มขึ้นอย่างมาก จากที่เคยมีสัดส่วนต่อ GDP เพียง 4-5% ในช่วงปี 2008 เป็นมีสัดส่วนถึง 12% ในปี 2018 (รูปที่ 4) การที่เม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นสัดส่วนกว่า 12% ของ GDP ถือว่าค่อนข้างสูง (เม็ดเงินดังกล่าว มีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั้งปีถึง 2.5-3 เท่า) เมื่อเทียบกับหลายประเทศ ยกตัวอย่างเช่น เกาหลีใต้และญี่ปุ่นมีสัดส่วนดังกล่าวประมาณ 1% ในขณะที่มาเลเซียและสิงคโปร์มีสัดส่วนดังกล่าวประมาณ 6% เป็นต้น
อย่างไรก็ดี เราไม่ได้ต้องการสื่อว่าสัดส่วนที่สูงนี้เป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของทั้งไทยและไอซ์แลนด์อย่างมาก (คิดง่ายๆว่านักท่องเที่ยวลดลง 10% ก็สามารถทำให้ GDP โตน้อยกว่าเดิมถึงกว่า 1% แล้ว)
ประการที่ 2 : ทั้งไทยและไอซ์แลนด์พึ่งพิงนักท่องเที่ยวชาติหลักๆจากไม่กี่ประเทศ
โดยในกรณีของของไอซ์แลนด์ นักท่องเที่ยวกว่า 40% มาจากสหรัฐฯและสหราชอาณาจักร ในขณะที่ในกรณีของไทย นักท่องเที่ยวจีนมีสัดส่วนประมาณ 32% จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด (รูปที่ 5) ซึ่งการที่ประเทศหนึ่งต้องพึ่งพิงนักท่องเที่ยวจากประเทศหนึ่งในสัดส่วนที่สูง ก็ทำให้ภาคการท่องเที่ยวมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ในกรณีที่ประเทศต้นทางไม่มาท่องเที่ยวอย่างกระทันหันด้วยเหตุผลต่างๆ (ไม่ว่าจะเป็นประสบภัยธรรมชาติ ปัญหาเศรษฐกิจ หรือสายการบินหลักเกิดปิดตัวอย่างกระทันหันอย่างในกรณีของไอซ์แลนด์)
ประการที่ 3 : ธุรกิจสายการบินกำลังเผชิญความท้าทายรอบด้าน
ไม่ว่าจะเป็นสายการบินไทยซึ่งเป็นสายการบินที่นำนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยมากที่สุด (คิดเป็นสัดส่วน 30% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยทางอากาศทั้งหมด) กำลังประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2019 ขาดทุนสุทธิกว่า 6,400 ล้านบาท และมียอดขาดทุนสะสมตั้งแต่ปี 2015 กว่า 33,000 ล้านบาท (ข้อมูลจาก SET)
สำหรับสายการบิน Thai Air Asia และ Thai Lion Air ซึ่งเป็นสายการบินลำดับ 2 และ 3 ที่นำนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไทยก็มีผลประกอบการไม่สู้ดีนัก โดยเฉพาะ Thai Lion Air ซึ่งกำลังประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่อง 5 ปีติดต่อกัน เป็นมูลค่าการขาดทุนสะสมกว่า 8,400 ล้านบาท เฉพาะการขาดทุนในปี 2018 มีมูลค่ากว่า 4,600 ล้านบาท (ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า) ส่วนในกรณีของ Thai Air Asia แม้จะยังไม่ประสบปัญหาขาดทุน แต่ด้วยการแข่งขันที่มากขึ้น และต้นทุนค่าน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ก็ทำให้ผลประกอบการของ Thai Air Asia ในครึ่งปีแรก 2019 มีกำไรเพียงแค่ 25 ล้านบาทเท่านั้น (ข้อมูลจาก SET)
แล้วไทยจะเป็นอย่างไอซ์แลนด์หรือไม่?
ถึงแม้ว่าไทยจะมีปัจจัยหลายอย่างที่คล้ายคลึงกับไอซ์แลนด์ แต่เราไม่คิดว่าไทยมีโอกาสจะเกิดเหตุการณ์อย่างไอซ์แลนด์สูงนัก และถึงเกิดก็คงไม่รุนแรงเท่า เนื่องจาก โอกาสที่สายการบินไทยจะยุติการดำเนินการอย่างกระทันหันเป็นไปได้ยาก เนื่องจากการบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจแตกต่างกับ WOW air ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน และแม้สายการบินต้นทุนต่ำต่างๆจะกำลังประสบภาวะขาดทุน แต่ก็มีสัดส่วนการนำนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าสู่ไทยน้อยกว่าในกรณีของ WOW air
รวมทั้ง ไทยมีสายการบินหลักๆที่นำนักท่องเที่ยวเข้าไทยหลากหลายกว่าไอซ์แลนด์ ซึ่งมีสายการบินหลักที่นำนักท่องเที่ยวเข้าประเทศเพียงแค่ 2 กลุ่มสายการบินเท่านั้น ดังนั้น แม้สายการบินใดสายการบินหนึ่งจะหยุดให้บริการไป ก็มีความเป็นไปได้ที่นักท่องเที่ยวจะยังสามารถเดินทางมาไทยได้ด้วยสายการบินอื่น (รูปที่ 6) อย่างในกรณีของนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นชาติที่มาเที่ยวไทยมากที่สุด และมีกว่า 32 สายการบิน ที่นำนักท่องเที่ยวจีนบินตรงมาที่ไทย รวมทั้งยังไม่มีสายการบินใดที่ครองสัดส่วนใหญ่ในการนำนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะครองตลาดอยู่รายละไม่เกินไปกว่า 15% (รูปที่ 7) ดังนั้น หากสุดท้ายเกิดกรณีที่บางสายการบินเลิกกิจการกระทันหันแบบ WOW air ก็ยังมีสายการบินอื่นให้บริการทดแทนได้
แต่อย่างไรก็ตาม แม้การศึกษาจะคาดการณ์ผลกระทบในประเทศไทยจะไม่รุนแรงเท่ากับไอซ์แลนด์ แต่จากข้อมูลต่างๆก็แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงเฉพาะตัว จากการพึ่งพาอุตสาหกรรมการบินซึ่งกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายอยู่ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวยังมีหลายฝ่ายที่ไม่ได้ให้ความสนใจมากเท่าที่ควร
“เอฟเฟ็กต์ที่จะเกิดขึ้นในภาพ Macro ระดับประเทศ อาจมีการกระจายความเสี่ยงไว้ในระดับหนึ่งแล้ว แต่หากมองลึกไปในมิติของผู้ประกอบการ ซึ่งอยู่ในบางพื้นที่หรือบางจังหวัด ที่อาจจะมีสายการบินให้บริการเพียงรายเดียว เท่ากับว่า ธุรกิจของท่านจะต้องขึ้นอยู่กับธุรกิจของสายการบินหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเป็นการบ้านที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องคิดและไม่ควรอยู่นิ่งเฉย ต้องหาทางกระจายความเสี่ยงเพื่อไม่ปล่อยให้ธุรกิจพึ่งพิงหรือขึ้นอยู่กับปัจจัยใดเพียงอย่างเดียว”
ขณะที่ในภาพ Macro ก็จำเป็นต้องกระจายความเสี่ยงเพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการให้ความสำคัญในการสร้างให้เกิดการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวจากชาติต่างๆ ที่หลากหลาย สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยว สิ่งที่ควรจับตาจึงมิได้มีเพียงแค่เรื่องค่าเงิน และภาวะเศรษฐกิจในประเทศของนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเท่านั้น หากแต่รวมถึงผลประกอบการของสายการบินที่พานักท่องเที่ยวเหล่านั้นเข้ามาด้วยเช่นกัน เพราะหากเกิดวิกฤติที่เกินความคาดหมายขึ้น ก็อาจจะไม่ใช่แค่วิกฤติของธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง แต่อาจกระทบมาสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระดับประเทศด้วยเช่นกัน