HomeBrand Move !!อาชีพใหม่ “สูงวัย” เมื่อใครๆ ก็เป็นได้ LINE Creators จากวันว่างสร้างรายได้หลักแสน

อาชีพใหม่ “สูงวัย” เมื่อใครๆ ก็เป็นได้ LINE Creators จากวันว่างสร้างรายได้หลักแสน

แชร์ :

ในวันที่คนไทยเทเวลาอยู่กับสื่อออนไลน์เฉลี่ยวันละกว่า 10 ชั่วโมง ครองสถิติอันดับต้นๆ ของโลก พฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของ “ทุกวัย” ส่วนใหญ่อยู่กับ 3 แพลตฟอร์มยักษ์ “เฟซบุ๊ก ไลน์ ยูทูบ” ชัดเจนว่าเลือกเสพเนื้อหาในแบบที่ตัวเองชื่นชอบ  วันนี้อุตสาหกรรมคอนเทนต์จึงเป็นโอกาสของทุกคนที่มีไอเดีย จากในยุค User-generated content (UGC) สู่ Creator  “อาชีพใหม่” ที่ใครๆ ก็ทำได้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

พูดได้ว่าวันนี้อาชีพ Creator ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มใด ต่างก็สร้าง “รายได้” ให้คนทั่วไปที่มีไอเดียสร้างสรรค์คอนเทนต์ไม่แพ้อาชีพอื่นๆ ในยุคที่สื่อออนไลน์ กลายเป็น “สื่อหลัก” เข้าถึงคนทุกวัย เฟซบุ๊ก มีผู้ใช้งานกว่า 45 ล้านบัญชี เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถหารายได้หลากหลายรูปแบบ ที่โดดเด่นปีนี้ต้องยกให้  “บังฮาซัน” ในวันที่สิ้นหวัง แต่ลุกขึ้นมาใช้ไอเดียขายของแบบฮาๆ ผ่าน Facebook Live  เพจ “อาหารทะเลตากแห้ง จังหวัดสตูล”  สร้างรายได้หลัก “สิบล้านบาท” ต่อเดือน

หรือจะเป็น Youtuber เบอร์ต้น  เก๋ไก๋ ณัฐธิชา นามวงษ์ เจ้าของแชนแนล  Kaykai Salaider ที่มีผู้ติดตามกว่า 11.5  ล้านรายสูงสุดในประเทศไทย ในวัย 23 ปี เก๋ไก๋ ทำรายได้เฉพาะยอดวิวหลัก “ล้านบาท” ต่อเดือน ไม่รวมรายได้อื่นๆ  ปัจจุบัน Youtuber กลายเป็น “อาชีพ” ที่คนรุ่นใหม่และใครๆ ก็ใฝ่ฝันอยากทำ

ผู้ชนะเลิศ “LINE CREATORS MARKET STICKER CONTEST 2019”

LINE Creators อีกอาชีพที่ใครๆ ก็ทำได้

แต่หากไม่ถนัดสกิลทำวิดีโอคอนเทนต์แบบโชว์หน้าตา ยังมีโอกาสกับอาชีพ Creator ได้ไม่ต่างจากแพลตฟอร์มอื่นๆ กับ LINE Creators  ปัจจุบันแอปพลิเคชั่น LINE มีผู้ใช้ราว 44 ล้านราย เรียกว่าคนมีสมาร์ทโฟน ก็ต้องมี LINE เป็นแพลตฟอร์มที่เข้าถึงคน “ทุกกลุ่ม”  และขวัญใจของกลุ่มสูงวัย ใช้เป็นช่องทางส่งรูปภาพและสติกเกอร์ทักทาย “สวัสดี” 7 สี 7 วัน กับครอบครัวและสังคมออนไลน์ทุกวัน

“ความนิยมใช้สติกเกอร์ มาจากความสะดวกในแง่ของการสื่อสาร ที่สามารถสื่ออารมณ์และความรู้สึกผ่านคาแรคเตอร์ต่างๆ โดยไม่ต้องพิมพ์ข้อความ”

คุณอิสรี ดำรงพิทักษ์กุล หัวหน้าธุรกิจ ไลน์ สติกเกอร์  LINE ประเทศไทย

คุณอิสรี ดำรงพิทักษ์กุล หัวหน้าธุรกิจ ไลน์ สติกเกอร์  LINE ประเทศไทย  บอกว่า LINE Creators เป็นตลาดที่ได้รับความสนใจจากคน “ทุกวัย”  เข้ามาเป็นครีเอเตอร์หารายได้  จากเดิมที่เริ่มต้นด้วย Corporate Sticker ทำงานร่วมกับ คอนเทนต์ โปรวายเดอร์ รายใหญ่  แต่หลังจากเปิด LINE Creators Market ให้คนทั่วไปสามารถออกแบบสติกเกอร์และจำหน่ายได้เอง โดยแบ่งรายได้ร่วมกับไลน์ ทำให้ตลาดในฝั่ง Consumer Sticker โตเร็ว มีสติกเกอร์ใหม่ หลากหลาย ในราคาเข้าถึงง่าย

ปัจจุบันไลน์มีครีเอเตอร์ราว 530,000 คน  มีกลุ่มแอคทีฟ 30% คือ ออกสติกเกอร์สม่ำเสมอ มีกลุ่มที่เปลี่ยนจากงานพาร์ทไทม์ มาเป็นงานหลัก ประมาณ 10% ที่ยึดเป็นอาชีพ LINE Creators แม้สัดส่วนคนที่ทำงาน Full Time ในไทยยังน้อยกว่าญี่ปุ่น แต่กราฟก็พุ่งขึ้นโชว์ตัวเลขโต 100% มาต่อเนื่อง ปัจจุบันครีเอเตอร์ ทำสติกเกอร์วางขายแล้วกว่า 2.4 ล้านเซ็ต

“แรกๆ คนเข้าใจว่าการเป็น ไลน์ ครีเอเตอร์ คงทำยาก แต่หลังจากมีการสื่อสารไปเรื่อยๆ จัดเวิร์คช้อป   สอนทำสติกเกอร์จากโปรแกรมง่ายๆ ที่ทำได้ไม่ยาก เพียงแค่มีไอเดีย ก็ทำได้ทุกคน  จุดที่ดึงคนเข้ามาได้มากในปี 2017  ต้องยกให้กระแสดังของ Name Sticker ที่ทำให้เห็นว่าใครๆ ก็ทำสติกเกอร์ได้”

แม้ปีแรกๆ LINE Creators  มาจากคนทำงานด้านดิจิทัล กราฟฟิกดีไซน์ และเอเยนซี่ แต่หลังๆ คนทั่วไป ที่ชอบวาดรูป และมีไอเดียออกแบบ เข้ามาทำสติกเกอร์มากขึ้น  และผู้ซื้อเองก็มีหลากหลายกลุ่ม หลายวัย มักเลือกซื้อสติกเกอร์ จากคาแรคเตอร์ที่สะท้อนความเป็นตัวเอง ไม่ได้ติดยึดว่าต้องเป็น คาแรคเตอร์ดัง

ต่อยอดคาแรคเตอร์สู่สินค้าเมอร์เชนไดส์

วันนี้ต้องบอกว่า LINE Creators  ของไทย ไม่ได้แต่ทำตลาดสติกเกอร์แค่ในประเทศ แต่มี  28 คาแรคเตอร์ไทยที่สามารถขายได้ในตลาด Global บางตัวเป็นอันดับ 1 ในอินโดนีเซียและไต้หวัน

ไลน์ยังจูงใจครีเอเตอร์ ด้วยการหาช่องทางสร้างรายได้ใหม่ๆ ให้ครีเอเตอร์  เช่น โปรเจกต์ Rising Star   ให้รางวัลครีเอเตอร์ที่ทำยอดดาวน์โหลดสูงสุดประจำเดือน ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท เพื่อนำไปผลิตสินค้าเมอร์เชนไดส์จากคาแรคเตอร์สติกเกอร์ของผู้ชนะ  ซึ่งไลน์มีพันธมิตรซัพพลายเดอร์ที่พร้อมผลิตสินค้าให้อยู่แล้ว หลังจากครีเอเตอร์เลือกว่าจะผลิตสินค้าอะไร  เมื่อผลิตเสร็จก็จะนำมาจำหน่ายใน Line Gift Shop

อีกทั้งยังทำหน้าที่ “แมทชิ่ง”  ครีเอเตอร์กับบิสสิเนส ต่างๆ ที่ต้องการใช้ลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์ของครีเอเตอร์ ไปทำสินค้าเมอร์เชนไดส์  เช่น โปรเจกต์ที่ร่วมกับ  ซาบีน่า แบรนด์ชุดชั้นในได้ นำ 8 คาแรคเตอร์สติกเกอร์

ที่ประกอบด้วย หมีขอ, พุดดิ้ง แฮมเตอร์, แมวเย้, คุณหมีกับเจ้าเหมียว, เจ้าเหมียวน้อย, หมีนุ่มกับต่ายนิ่ม, วอร์บี้ และ เบบี้แคท มาผลิตคอลเลคชั่น สินค้าชุดชั้นในไฮสตรีทแบรนด์

การต่อยอดคาแรคเตอร์เพื่อขายลิขสิทธิ์ผลิตสินค้าเมอร์เชนไดส์  รายได้จะตรงไปที่ครีเอเตอร์ทันที่  ซึ่งแสดงให้เห็นว่า หากครีเอเตอร์ สร้างชื่อเสียงบนแพลตฟอร์มไลน์ สติกเกอร์ ได้แล้ว หากผู้สนใจเข้ามาติดต่อซื้อลิขสิทธิ์  ก็สามารถต่อยอดสร้างรายได้อีกหลากหลายช่องทาง

“จากบทบาทแมทชิ่ง ในอนาคตไลน์ สติกเกอร์ จะสร้างอีโคซิสเต็ม ที่เชื่อมกับพันธมิตร เพื่อสร้างบิสสิเนส โมเดล ต่อยอดจากการขายสติกเกอร์ไลน์ให้กับทั้งครีเอเตอร์และแพลตฟอร์มไลน์”

สติกเกอร์ไลน์ เปลี่ยนวันว่าง “สูงวัย” สร้างรายได้

หากโฟกัสเฉพาะกลุ่มสูงวัย แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียขวัญใจ “วัยเก๋า” ต้องยกให้ LINE  เมื่อพฤติกรรมคนใช้ต้องการสติกเกอร์สื่อความรู้สึกที่ตรงกับคาแรคเตอร์ตนเอง เราจึงเห็นคนวัยเกษียณ เข้าสู่อาชีพ LINE Creators  มากขึ้น

คุณณัฐดล แก้วไพฑูรย์ (โอณ์) ในวัย 59 ปี  จากเดิมที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว ปัจจุบันมีอีกหนึ่งอาชีพ คือ LINE Creator กับผลงานของ PeakStudio ที่มีทั้งหมด 428 ชุด  (รวมสติกเกอร์ชื่อ) เน้นคาแรคเตอร์เด็กน่ารักกับสัตว์เลี้ยง คุณโอณ์ บอกว่าวันนี้แทบจะทำสติกเกอร์ Full Time แล้ว เพราะลูกๆ โตและทำงานกันหมดแล้ว จึงมีเวลาว่างมากขึ้น

จุดเริ่มต้นอาชีพครีเอเตอร์ ก็มาจากภรรยา ต้องการให้ทำสติกเกอร์ให้ใช้  เพราะที่ขายอยู่ “ยังไม่ตรงใจ” นั่นเอง คุณโอณ์ จึงลองหัดวาดการ์ตูนเล่นๆ  ซึ่งก็ไม่มีพื้นฐานทางด้านการวาดรูปมาก่อน มีเพียงขีดๆ เขียนๆ บ้างเท่านั้น แต่ก็ลองทำสติกเกอร์ไว้ใช้เองตามวาระโอกาสต่างๆ เริ่มทำครั้งแรกเมื่ออายุ 56 ปี

คุณณัฐดล แก้วไพฑูรย์ (โอณ์)

จากจุดเริ่มต้นทำสนุกๆ ไม่ได้หวังเรื่องรายได้ กับคาแรคเตอร์แรก “การ์ตูนหมู” ลายน่ารัก จากนั้นก็เริ่มมียอดขายเข้ามาเล็กน้อยสำหรับชุดแรก  จากนั้นจึงเริ่มชุดที่ 2-3 ตามมา พบว่าเริ่มมีคนชอบมากขึ้น ทั้งคนทั่วไปและการบอกต่อของกลุ่มเพื่อนๆ  “ช่วงนี้เริ่มจุดประกายในใจว่าผลงานของเรามีคนชอบเหรอ จึงทำมาเรื่อยๆ และไม่ได้มองเรื่องรายได้เป็นตัวตั้ง”

ช่วงปีที่ 2-3 เมื่อเริ่มมีสติกเกอร์มากพอสมควร และก็มีชุดธีมปีใหม่ 2018 ที่ทำยอดดาวน์โหลดได้สูง การทำสติกเกอร์ก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น  ในฝั่งของ LINE ก็มีการจัดกิจกรรมสนับสนุนครีเอเตอร์สร้างสรรค์ผลงานด้วยเช่นกัน ปัจจุบันทำสติกเกอร์เดือนละ 2-3 ชุด เป็นภาพนิ่งชุดละ 40 คาแรคเตอร์ ราคาชุดละ 30 บาท

จากช่วงเริ่มต้นทำสติกเกอร์ ต้องรอหลายเดือนกว่าจะรับรายได้ครั้งแรกที่ 500 บาท หลังจากสะสมผลงานมา 3 ปี และทำออกมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน PeakStudio ของคุณโอณ์  มีรายได้เฉลี่ย 30,000-50,000 บาทต่อเดือน สูงสุดเคยได้ทำได้ 300,000 บาทต่อเดือน

PeakStudio ชุด 3 สาว ก๊ะ สัตว์เลี้ยงแสนรัก ส่งความสุข

คุณโอณ์ เล่าว่าเขามักถูกถามว่ามี “เคล็ดลับ” อะไรในการทำสติกเกอร์ สิ่งที่บอกคนถามก็คือ “ทำไปเถอะ ทำไปเรื่อยๆ เมื่อมีสติกเกอร์สะสมมากพอ มีคนเห็นและบอกต่อ รายได้ก็จะเข้ามาเอง”  อีกสิ่งที่ต้องบอกเล่า คือ “สติกเกอร์ ของเราไม่จำเป็นต้องไปเหมือนคนอื่น  แต่ให้ออกแบบในสิ่งที่เราชอบ เพราะเมื่อคนที่เห็นและชอบในแบบเดียวกัน ก็จะติดตามผลงานเราเอง”

ปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย จำนวนผู้ใช้ไลน์เองก็มีกลุ่มสูงวัยจำนวนมาก  จึงมีโอกาสสร้างสรรค์สติกเกอร์หลากหลายรูปแบบสำหรับกลุ่มนี้  ขณะที่เดียวกันกลุ่มวัยเกษียณ ก็สามารถใช้เวลาว่างมาทำ สติกเกอร์ไลน์ได้เช่นกัน  เพราะไม่ได้ใช้เทคนิคมากนักมีโปรแกรมสำเร็จรูปช่วยทำงาน เพียงแต่ต้องมีไอเดียในการคิดคาแรคเตอร์ ซึ่งก็หาได้จากสิ่งที่ชอบรอบตัวนั่นเอง  คุณโอณ์ ทิ้งทายว่า “รู้สึกโชคดีที่ได้ทำในสิ่งที่มีความสุข  ทำงานที่บ้าน แถมสร้างรายได้ในวัยเกษียณอีกด้วย”

คุณศิริลักษณ์ ปลื้มจิตต์ (เล็ก)

“แม่บ้าน”ว่างๆ ก็ทำสติกเกอร์ได้

ในกลุ่มแม่บ้านก็มีเช่นกัน คุณศิริลักษณ์ ปลื้มจิตต์ (เล็ก)  อายุ 53 ปี ปัจจุบันยึดอาชีพ LINE Creator  กับผลงานในนาม  Alex กับหลากหลายคาแรคเตอร์ ที่สร้างชื่อ ก็สติกเกอร์ “มนุษย์หญิง” และ “หมีฟู”

คุณเล็ก เล่าว่าหลังจากลาออกจากงานช่วง 5 ปีก่อน เพราะต้องการพักผ่อน จึงต้องมารับหน้าที่ “แม่บ้าน” เต็มรูปแบบ  และใช้เวลาว่างหัดวาดรูปในกระดาษ จากนั้นก็มาหัดวาดต่อในไอแพด ซึ่งไม่ได้มีพื้นฐานการวาดรูปมาก่อน

หลังจากวาดรูปเล่นโดยใช้โปรแกรมในไอแพด ก็อยากเห็นรูปวาดเป็นสติกเกอร์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของอาชีพ LINE Creators เมื่อ 5 ปีก่อน  จากโปรแกรมในไอแพดก็เริ่มเรียนรู้เพิ่มเติมจากโปรแกรม Photoshop, AI เพื่อทำให้ภาพสวยขึ้น

“ช่วงเริ่มต้นทำสติกเกอร์ไม่ได้คิดว่าจะเป็นอีก อาชีพ สร้างรายได้  คิดแค่ว่าอยากมีสติกเกอร์เป็นของตัวเอง เรียกว่าเป็นความภูมิใจที่อยากเห็น ก็ต้องบอกว่าสติกเกอร์ชุดแรกที่ทำไม่ได้โด่งดังอะไร เป็นการทำแล้วส่งต่อให้เพื่อน ๆ ชวนกันมาดาวน์โหลด  แต่เพื่อนๆ ก็ช่วยกันส่งต่อ เพื่อทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น”

Alex ชุด มนุษย์หญิง

แต่ละเดือนคุณเล็ก จะทำสติกเกอร์ออกมา 1 ชุด  ที่ทำได้เร็วที่สุด 2 สัปดาห์  และเคยได้รางวัล Rising Star ประจำเดือน จากคาแรคเตอร์ “มนุษย์หญิง”  ซึ่งต้องมียอดไม่ต่ำกว่า 40,000 ดาวน์โหลด

เงินก้อนแรกจากสติกเกอร์ชุดแรกราว 20,000 บาท คุณเล็กได้นำเงินไปทำบุญทั้งหมด  ทุกวันนี้ที่มีจำนวนชุดสติกเกอร์มากขึ้น ก็เริ่มมีรายได้เข้ามาเรื่อย ๆ แต่ก็แบ่งเงิน 10% ไปทำบุญเป็นประจำ  และเริ่มเห็นว่าเป็นอีกอาชีพที่สร้างรายได้ ให้กับแม่บ้านที่เกษียณตัวเองออกจากงานประจำได้เช่นกัน  ปัจจุบันมีรายได้จากสติกเกอร์ราว 30,000-50,000 บาทต่อเดือน  ชุดที่ทำรายได้สูงสุดอยู่ที่ 300,000 บาท

ไอเดียการทำสติกเกอร์ของคุณเล็ก เน้นเป็นตัวแทนแสดงความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ของผู้หญิง เป็นคาแรคเตอร์ลายน่ารัก เพื่อทำให้ผู้ส่งและผู้รับมีความสุข  และคนทำก็มีความสุขเช่นกัน

คุณนรินทร์ เรืองแสง (เจี๊ยบ)

มืออาชีพต่อยอดอาชีพใหม่

สำหรับครีเอเตอร์ไลน์กลุ่มหลัก คือคนที่ทำงานด้านกราฟฟิกดีไซน์ งานเอเยนซี่อยู่แล้ว ทำให้มีความเชี่ยวชาญงานออกแบบ คุณนรินทร์ เรืองแสง (เจี๊ยบ) ครีเอเตอร์ในนาม ke-nai และ MJ_Cartoon  ผลงานสร้างชื่อชุด Sumo Cat Animation และ “ต่ายซ่าขาร็อค” จัดอยู่ในกลุ่มนี้

คุณเจี๊ยบ ในวัย 41 ปี  ปัจจุบันประกอบธุรกิจส่วนตัว และ LINE Creator  เล่าว่าก่อนยึดอาชีพ Creator สติกเกอร์ ไลน์  เขาเป็นอาจารย์สอนทำแอนิเมชัน และทำหนังสือเกี่ยวกับ Flash Animation  หลังจากLINE  เปิดให้คนทั่วไปเป็นครีเอเตอร์ สติกเกอร์ ก็เริ่มทำมาถึงปัจจุบันเป็นเวลา 6 ปีแล้วและยึดเป็นอาชีพหลัก

เขาเน้นทำสติกเกอร์ แอนิเมชัน ชุดแรกๆ จึงใช้เวลานานราว 4 เดือน  คาแรคเตอร์แรกชื่อ Sumo Cat ได้รับกระแสดีจากตลาด เดือนแรกทำได้ยอดได้ 70,000-80,000 บาทเลยทีเดียว จากนั้นจึงเริ่มทำมาเรื่อยๆ ไม่นานก็ตัดสินใจเลิกสอนแอนิเมชัน มาเป็น ครีเอเตอร์ สติกเกอร์ ไลน์ เต็มตัว ปัจจุบันทำมาแล้วกว่า 100 ชุด ทั้งที่ขายในไทยและต่างประเทศ ซึ่งก็ใช้คาแรคเตอร์เดิมที่ขายในไทย แต่เปลี่ยนคำเป็นภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย

MJ_Cartoon ชุด ซูโม่แคท แมวจอมกวน

“เป็นอาชีพครีเอเตอร์ สติกเกอร์ ถือว่ามั่นคงสำหรับผม ที่ทำมาแล้ว 6 ปี บางปีไม่ได้ออกคาแรคเตอร์ใหม่ ก็ยังมีรายได้จากชุดเก่าเข้ามาเรื่อย ๆ  เพราะมีฐานแฟนอยู่จำนวนหนึ่ง ที่ช่วยสร้างรายได้ประจำ แต่ช่วงที่ออกชุดใหม่ก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นมา”

ปัจจุบันหากไม่มีสติกเกอร์ใหม่รายได้เฉลี่ย 20,000-30,000 บาทต่อเดือน ช่วงที่ออกสติกเกอร์ใหม่ต่อเนื่องเดือนละ 2 ชุดรายได้ก็จะเพิ่มเป็น 50,000-60,000 บาทต่อเดือน หากเป็นชุดที่ได้รับความนิยมรายได้สูงสุดถึง 200,000 บาทต่อเดือนในช่วงที่ออกใหม่

การครีเอทสติกเกอร์แต่ละชุดต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนว่าจะเจาะตลาดกลุ่มไหน  เช่น กลุ่มผู้หญิงแต่ละวัยคาแรคเตอร์ก็ต่างกัน  กลุ่มผู้ชาย วัยรุ่น คนรักแมว รักสุนัข รักกระต่าย  จากนั้นสร้างคาแรคเตอร์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว  อารมณ์ของตัวการ์ตูนต้องชัดเจน  เช่น ยิ้มกว้างกับยิ้มน้อยๆ ก็ต่างกัน และต้องดูเทรนด์ในช่วงนั้นๆ ด้วย เช่น เทศกาล ปีใหม่ สงกรานต์  ก็ต้องออกสติกเกอร์มาเกาะกระแสด้วย ปัจจุบันการ์ตูนผู้หญิงและแมว กำลังได้รับความนิยมสูง

คาแรคเตอร์ สติกเกอร์ที่ได้รับความนิยมยังสามารถ “ต่อยอด” ไปสู่ตลาดไลเซ่นส์อื่นๆ ได้เช่นกัน ปัจจุบันเริ่มมีผู้สนใจมาติดต่อซื้อลิขสิทธิ์บางคาแรคเตอร์ไปทำเป็นสินค้าจำหน่ายแล้ว

ปัจจุบันมีผู้สนใจเป็นครีเอเตอร์ สติกเกอร์ กันมากขึ้น และมีคนติดต่อเข้ามาขอเรียนทำสติกเกอร์จำนวนมาก คุณเจี๊ยบ ที่เดิมเคยสอนทำแอนิเมชันอยู่แล้ว จึงเริ่มเปิดคอร์สสอนทำสติกเกอร์เริ่มตั้งแต่ขั้นที่ไม่มีพื้นฐานใดๆ  โดยเปิดสอนที่จังหวัดขอนแก่น ถือเป็นอีกช่องทางต่อยอดจากการเป็นครีเอเตอร์ ไลน์

คุณพชร ทศานนท์ (พีช)

“คนรุ่นใหม่” เป็นครีเอเตอร์ทุกแพลตฟอร์ม

คนรุ่นใหม่ถือเป็นกลุ่มที่สร้างโอกาสจากดิจิทัล แพลตฟอร์มต่างๆ ได้เป็นอย่างดีเช่นเดียวกับ คุณพชร ทศานนท์ (พีช) ในวัย 27 ปี เข้าเลือกเส้นทางในอาชีพ Youtube, นักวาดการ์ตูน LINE WEBTOON และ LINE Creator ในนาม RealPeach  เจ้าของคาแรคเตอร์ สติกเกอร์ หนูแฮมเสตอร์ kanakei และ Joke Bear

เล่าเส้นทางอาชีพครีเอเตอร์ว่า หลังศึกษาจบด้านสถาปัตยกรรม  ก็สนใจการออกแบบสิ่งต่างๆ จึงเริ่มงานด้านกราฟฟิกเป็นงานประจำทำอยู่ราว 3 ปี ระหว่างนั้นเขียน Line Webtoon  ไปด้วย

จากนั้นตัดสินใจออกจากงานประจำมาทำช่องยูทูบ RealPeach ต้องใช้เวลา 8 เดือนจึงเห็นรายได้เข้ามา  ปัจจุบันมีผู้ติดตามกว่า 7 แสนคน เป็นคอนเทนต์แอนิเมชันที่เล่าประสบการณ์ของตัวเองในมุมต่างๆ

โดยเริ่มทำ สติกเกอร์ไลน์ เมื่อ 3 ปีก่อน เป็นการนำคาแรคเตอร์ จากยูทูบมาต่อยอด ปัจจุบันมี 3 ชุด ภาพนิ่งชุดละ 40 ตัว

RealPeach ชุด RealPeach & Brain 2

“สติกเกอร์ชุดแรกต้องเรียกว่ายังขายไม่ดี แต่เมื่อนำคาแรคเตอร์จากยูทูบมาทำเป็น สติกเกอร์ในชุดต่อมา ก็เริ่มมีคนสนใจดาวน์โหลดมากขึ้น มีคนที่ติดตามจากช่องยูทูบมาดาวน์โหลดสติกเกอร์ด้วย”

ปัจจุบันงานหลักยังเป็น Youtuber  ส่วนสติกเกอร์ จะทำออกมาในโอกาสต่างๆ หรือช่วงที่ LINE จัดกิจกรรม ประมาณ 6 เดือน 1 ชุด และเคยได้รับรางวัล Rising Star จาก LINE  จีงมีโอกาสนำคาแรคเตอร์มาทำเป็นสินค้าเมอร์เชนไดส์จำหน่าย เช่น พวงกุญแจและหมอนผ้าห่ม ทำให้เห็นว่า อาชีพครีเอเตอร์ มีโอกาสต่อยอดจากผลงานสติกเกอร์ สร้างรายได้จากช่องทางอื่นๆ  และเห็นว่าเป็นอีกอาชีพที่สร้างรายได้มั่นคง เช่นเดียวกับอาชีพประจำอื่นๆ  จากการทำงานหลายแพลตฟอร์มเพื่อทำให้เกิดรายได้จากหลายช่องทาง

ในยุคที่ “ทุกวัย” เข้าถึงอินเทอร์เน็ต ใช้เวลากับสื่อออนไลน์มากขึ้น  ไม่ว่าใครๆ ก็มีสามารถสร้างโอกาสจาก “ดิจิทัล แพลตฟอร์ม” ที่ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ไม่ต่างกัน หากมี “ไอเดีย” ก็สามารถยึดอาชีพ “ครีเอเตอร์” สร้างรายได้เป็นนายตัวเอง!


แชร์ :

You may also like