HomeInsightไม่ใช่แค่ Food Waste แต่ไทยยังสูญเสียโอกาสจาก Food Loss อีกเกือบ 2 แสนล้านบาทต่อปี

ไม่ใช่แค่ Food Waste แต่ไทยยังสูญเสียโอกาสจาก Food Loss อีกเกือบ 2 แสนล้านบาทต่อปี

แชร์ :

ขณะที่หลายๆ ฝ่ายกำลังตื่นตัวและเร่งผลักดันรณรงค์ประเด็นเรื่องของ Food Waste ​​กันอย่างแพร่หลาย แต่ในอุตสาหกรรมอาหารไม่ใช่แค่ปลายทางเท่านั้นที่เกิดการสูญเสียจำนวนมากเช่นนี้ เพราะในกระบวนการต้นทางก่อนที่ผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ จะถึงมือผู้บริโภคก็เกิดการสูญเสียไปไม่น้อยถึงเกือบปีละ 2 แสนล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว   

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS โดย ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ร่วมด้วย คุณอภินันทร์ สู่ประเสริฐ รองผู้อำนวยการฝ่าย และ คุณกณิศ อ่ำสกุล นักวิเคราะห์​ แห่ง Krungthai COMPASS ให้ข้อมูลว่า แต่ละปีประเทศไทยสูญเสียโอกาสทางธุรกิจจากปัญหา Food Loss หรือความสูญเสียที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมอาหารในหลากหลายรูปแบบ ทั้งจากขั้นตอนการเก็บเกี่ยว การจัดเก็บ การขนส่ง หรือไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีในการผลิต รวมไปถึงการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์แบบผิดๆ ทำให้อาหารเน่าเสียได้ง่าย มีระยะเวลาในการจัดเก็บหรือ Shelf-life สั้นลง รวมทั้งอาจเกิดการบุบสลาย เสียหายแตกหัก จนไม่สามารถนำไปจำหน่ายต่อให้กับผู้บริโภคได้

ซึ่งทางศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ได้ประเมินตัวเลข Food Loss ที่เกิดขึ้นในแต่ละปีไม่น้อยกว่า 1.88 แสนล้านบาท ​คิดเป็นกว่า 30% หรือราว 1 ใน 3 ของมูลค่าในธุรกิจอาหารทั้งหมด​ ซึ่งมูลค่าเงินที่สูญเสียไปจาก Food Loss นี้ เทียบเท่าได้กับงบประมาณในการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ระดับชาติ หรือสามารถนำไปใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้กับประเทศ เช่น โครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ได้หลายโครงการเลยทีเดียว

เทรนด์แห่งบรรจุภัณฑ์​​ ตัวช่วยปัญหา Food Loss 

หลากหลายแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่อง Food Loss ให้เบาบางลง​ นอกจากการพัฒนาด้าน Food Science ต่างๆ ที่อาจต้องใช้ต้นทุนสูงเพื่อเข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ ยังมีหนึ่งในวิธีที่ค่อนข้างสะดวกสำหรับผู้ประกอบการและสามารถแก้ปัญหาการเกิดความสูญเสียก่อนที่ผลิตภัณฑ์จะถึงผู้บริโภคด้วยวิธีง่ายๆ คือ การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถช่วยยืดอายุให้กับผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านกลุ่มบบรจุภัณฑ์ที่เรียกว่า Active Packaging 

แอคทีฟ แพกเกจจิ้ง จะมีคุณสมบัติมากกว่า Basic Benefit ของกลุ่มแพกเกจทั่วๆ ไป ที่ส่วนใหญ่จะใช้​เพื่อความสวยงาม ป้องกันสิ่งสกปรกหรือปนเปื้อนต่างๆ ไม่ให้สัมผัสกับอาหาร รวมทั้งเพื่อความสวยงาม และแจ้งข้อมูลโภชนาการต่างๆ ขณะที่​ Active Packaging นอกจากจะได้ Basic Benefit ในฐานะที่เป็นบรรจุภัณฑ์ประเภทหนึ่งแล้ว ยังมีความสามารถในการยืดอายุอาหารให้มี Shelf-life ที่ยาวนานมากขึ้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญของการเกิด Food Loss เ​ช่นกัน

นอกจากปัญหาสำคัญเกี่ยวกับตัวเลข Food Loss ในธุรกิจอาหารแล้ว การใช้ Active Packaging ยังสอดคล้องกับ Consumer Trend ที่ให้ความสำคัญกับการบริโภคอาหารที่เป็น Clean Food ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการเลือกบริโภคอาหารที่ไม่มีสารกันบูด หรือการใช้สารสังเคราะห์ต่างๆ ซึ่งมีผลในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคถึงกว่า 30-40%

ที่สำคัญ ยังเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการขยายตลาดไปได้ในหลากหลายพื้นที่ เพราะข้อจำกัดหลักของธุรกิจอาหารคือ การมี Shelf-life ค่อนข้างสั้น ทำให้การทำตลาดกระจุกอยู่ในบางตลาด แต่หากนำ Active Packaging มาใช้จะเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดไปยังประเทศที่ไกลขึ้น หรือแม้แต่ในธุรกิจ E Commerce ซึ่งความนิยมในการสั่งสินค้ากลุ่มอาหารจะน้อย เพราะกังวลว่าสินค้าจะเน่าเสีย ไม่สด หรือปนเปื้อน​ แต่หากพัฒนาและ Educated ตลาดให้เข้าใจเรื่อง Active Package เชื่อว่าจะเพิ่มโอกาสเติบโตให้สินค้ากลุ่มอาหารในฟากของออนไลน์ได้มากขึ้น

“ความสามารถในการเพิ่ม Shelf-life จากการใช้ Active Packaging ทำให้อาหารมีอายุในการเก็บรักษาเพิ่มขึ้นได้ถึง 1-2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับประเภทและชนิดของอาหาร เช่น ในกลุ่มผลิตและแปรรูปเนื้อสัตว์ จะช่วยเพิ่ม Shelf-life  เพิ่มขึ้นได้ 1-2 วัน กลุ่มอาหารพร้อมทานหรือเบเกอรี่ต่างๆ เพิ่มได้ 5-7 วัน กลุ่มส่งออกผักหรือผลไม้ เพิ่มได้อีก 3-10 วัน หรือในส่วนของนมและผลิตภัณฑ์นม หรือน้ำผลไม้ต่างๆ เพิ่มอายุได้ถึง 1-2 สัปดาห์ ดังนั้น เมื่ออายุในการจัดเก็บรักษายาวนานมากขึ้น โอกาสในการใช้สารกันบูด สารสังเคราะห์ปรุงแต่งต่างๆ ก็ลดลง ขณะที่การใช้ Active Packgaging ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคด้วย”​

ต้นทุนไม่ต่าง SME ก็ใช้ได้ 

หลายคนอาจกังวลว่า Active Packaging จะส่งผลให้ต้นทุนผู้ประกอบการพุ่งขึ้น​​ จนเกิดการผลักภาระต้นทุนให้ผู้บริโภคหรือไม่ ทางศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ได้คำนวนต้นทุนและพบว่า แทบไม่ต่างจากการใช้แพกเกจทั่วไป ​ความแตกต่างอยู่ในระดับแค่ 1-4% ตามประเภทวัตถุดิบและแพกเกจที่เลือกใช้ ซึ่งหากเทียบแล้วจะแตกต่างกันแค่ในหลักสตางค์เท่านั้น แต่สามารถช่วยลด Food Loss ที่เกิดขึ้นในธุรกิจ และเพิ่ม Value ในมิติอื่นๆ ให้กับธุรกิจที่มากกว่า จึงไม่เป็นเหตุผลให้ผู้ประกอบการใช้อ้างเพื่อปรับราคาสินค้าได้

ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคในต่างประเทศ เริ่มตระหนักประเด็นต่างๆ เหล่านี้มากขึ้น ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในธุรกิจและส่งผลให้เกิดการปรับตัวของธุรกิจอาหารในหลายๆ ประเทศ ซึ่งทิศทางในประเทศไทยก็กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันนี้เช่นกัน

ที่สำคัญ ผู้ประกอบการรายกลางและเล็ก หรือกลุ่ม SME ก็สามารถเข้าถึงบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ เพื่อนำไปสร้าง Value ให้ผลิตภัณฑ์อาหารของตัวเองได้เช่นเดียวกัน เพื่อสามารถส่งสินค้าไปทำตลาดได้ในหลากหลายพื้นที่มากกว่าแค่ในท้องถิ่นหรือแค่ตลาดจังหวัดที่อยู่ใกล้ๆ เท่านั้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดและเติบโตที่มากยิ่งขึ้น

“ปัจจุบัน SME มักจะโฟกัสอยู่ที่เรื่องของการหาตลาด แต่ลืมมองการเพิ่ม Value ในมิติต่างๆ ให้กับสินค้า โดยเฉพาะการติดตามเทคโนโลยีหรือนำสิ่งใหม่ๆ มาพัฒนาก็กังวลว่าจะทำให้ต้นทุนเพิ่ม ซึ่งในความเป็นจริงมีหลายๆ เทคโนโลยีที่ไม่จำเป็นต้องลงทุนสูงมากขึ้นกว่าเดิม แต่ในทางกลับกันจะกลายเป็นโอกาสใหม่ที่ทำให้ SME สามารถสร้างคุณค่าที่มากขึ้น และเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจแข็งแรงและเติบโตไปเป็นผู้เล่นในระดับประเทศหรือขยายตลาดไปในระดับส่งออกได้เพิ่มมากขึ้นด้วย”​

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like