HomeBrand Move !!วิสัยทัศน์ 25 ปี Major ทำอย่างไรก็ไม่ถูกดิสรัป ถ้ายังสร้าง ‘ความสุข’ ได้ พร้อม 3 เสาหลัก ขับเคลื่อนธุรกิจโต 2 เท่า

วิสัยทัศน์ 25 ปี Major ทำอย่างไรก็ไม่ถูกดิสรัป ถ้ายังสร้าง ‘ความสุข’ ได้ พร้อม 3 เสาหลัก ขับเคลื่อนธุรกิจโต 2 เท่า

แชร์ :

เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าจะอยู่ในกลุ่มสุ่มเสี่ยงจากการถูก Technology Disruption เพราะแวดล้อมด้วยปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน แต่ทว่า เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป กลับทำรายได้เติบโตเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่องทุกปี พร้อมรักษาระดับกำไรไว้ไม่ต่ำกว่าหลักพันล้านบาทมาทุกปีเช่นกัน โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมาที่สามารถพาธุรกิจขยับสเกลไปสู่บริษัทที่ทำรายได้ระดับหมื่นล้านบาทได้สำเร็จ ขณะที่กำไรสุทธิก็ขยับขึ้นมาเกือบ 1,300 ล้านบาท 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ส่วนตัวเลขหลังผ่านไตรมาสล่าสุด​ รายได้รวม 9 เดือนของปีนี้ เมเจอร์ฯ ตุนใส่กระเป๋าไว้แล้วกว่า 8,300 ล้านบาท โดย 4,300 ล้านบาท มาจากการขายตั๋วหนัง รายได้จากการจำหน่ายเครื่องดื่มและป๊อบคอร์นอยู่ที่ 1,500 ล้านบาท และรายได้จากกลุ่มธุรกิจสื่ออยู่ที่ 1,100 ล้านบาท รวมทั้งจากธุรกิจอื่นๆ ในเครือ และคาดว่าสิ้นปีนี้ เมเจอร์ฯ ก็ยังคงรักษาการเติบโตไว้ได้ 10-15%  รวมทั้งรักษาระดับกำไรไว้ไม่ต่ำกว่าเดิมเพื่อให้ยังคงสามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้เหมือนทุกๆ ปี

ไม่ใช่แค่ธุรกิจภาพยนตร์ แต่กำลังส่งมอบ​ “ความสุข”

คุณวิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ให้มุมมองถึงโอกาสของธุรกิจโรงภาพยนตร์ ที่หลายๆ คนมองว่าอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการถูก Disrupted โดยเฉพาะการพัฒนาของเทคโนโลยี​ และการมาของบรรดา Streaming หรือการตกลงของธุรกิจสื่อ แต่คุณวิชากลับมองเห็นแต่โอกาสที่จะทำให้เมเจอร์ฯ เติบโตได้แบบ Double Size จากจุดที่ยืนอยู่ในปัจจุบัน เพราะไม่ได้มองว่าเมเจอร์ฯ กำลังทำธุรกิจโรงภาพยนตร์​ แต่มี Passion สำคัญในการเป็นผู้สามารถส่งมอบความสุขให้กับผู้บริโภคผ่าน Entertainment

ขณะที่คู่แข่งต่างๆ กลับไม่ใช่อุปสรรคสำคัญในการทำธุรกิจ เพราะสุดท้ายแล้ว อยู่ที่ความสามารถในการตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เพื่อให้ผู้บริโภคยอมแชร์เวลาที่มีอย่างจำกัดเพื่อมาดูภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์

“ในยุคดิจิทัลที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่ผู้คนมีความเครียดเพิ่มมากขึ้น Entertainment ยิ่งทวีความสำคัญ เพราะทุกคนต้องการรีแลกซ์ ผ่อนคลาย และสร้างความสุขให้ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการดูหนัง ฟังเพลง แม้แต่ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่างแจ๊ค หม่า ซึ่งอยู่ในธุรกิจด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี ยังหันมาลงทุนใน Entertainment เพราะความสุขคือ สิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องการ ดังนั้น ​ธุรกิจ Entertainment ยังมีโอกาสเติบโตและไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่มีโอกาสอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะในแถบเอเชีย ซึ่งเป็นตลาดที่กำลังเติบโตอย่างร้อนแรง รวมทั้งยังมีตลาดใหญ่อย่างจีน ซึ่งถือเป็น No.1 Box Office ของโลก ด้วยจำนวนโรงภาพยนตร์ที่มีกว่า 7 หมื่นแห่ง จากจำนวนโรงภาพยนตร์ที่มีทั่วโลกมากกว่า 2 แสนแห่ง ​เราจึงไม่เคยกลัวว่าธุรกิจจะถูก Disrupted เพราะเรามี Bottom Line สำคัญในการทำธุรกิจคือ การเป็นผู้สร้างความสุขให้เกิดกับทุกๆ คน”​

สร้าง Double Growth จาก 3 เสาหลัก

สำหรับปี 2020 เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์​ กรุ้ป จะก้าวเข้าสู่ปีที่ 25 ​พร้อมวางวิสัยทัศน์สำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต ​โดยตั้งเป้าภายในปี 2025 หรืออีก 5 ปีนับจากนี้ ธุรกิจจะเติบโตได้แบบเท่าตัว จากรายได้กว่าหมื่นล้านบาทในปัจจุบัน ขณะที่ยอดขายตั๋วในแต่ละปีคาดว่าจะเพิ่มเป็น 100 ล้านใบ จากปัจจุบันเข้าใกล้ 40 ล้านใบแล้ว ​​ด้วย 3 Pillars สำคัญต่อไปนี้

1. การดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ Major 5.0

ด้วยการให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีล้ำสมัยและดีที่สุดสำหรับโรงภาพยนตร์จากทั่วโลกมาใช้กับโรงภาพยนตร์ในเครือ โดย เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ถือเป็นโรงภาพยนตร์รายแรกของโลกที่ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ และทันสมัย ตลอด 24 ปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การขายตั๋วผ่านตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ E Ticket ก่อนพัฒนาเป็น Seamless Ticket ที่สามารถซื้อตั๋วผ่านแอปพลิเคชั่นแล้วสแกนตั๋วที่จุดเพื่อเดินเข้าโรงภาพยนตร์ได้ทันที ขณะที่แอปฯ ​จะพัฒนาไปสู่ความเป็น Super App ที่ทำได้มากกว่าแค่ซื้อตั๋วหนัง แต่สามารถเข้าใจผู้บริโภค และนำเสนอทั้งโปรแกรมหนังหรือโปรโมชั่นได้แบบ Personalize จากการพัฒนาระบบ AI&ML เป็นระบบ Movie Recommendation Engine รวมทั้งยังเพิ่มบริการเพย์เม้นต์ต่างๆ เข้ามาด้วย

ในส่วนของโรงภาพยนตร์ก็เน้นความทันสมัย และตอบโจทย์ผู้บริโภค ทั้งการพัฒนาโรงไอแมกซ์ จอยักษ์ 3 มิติ เข้ามาให้คนไทยได้สัมผัสมาแล้วกว่า 20 ปี, โรงภาพยนตร์ 4DX แห่งแรกของไทย เพื่อให้ผู้ชมได้รับอรรถรสประสบการณ์ใหม่ที่แตกต่างในการชมภาพยนตร์,โรงภาพยนตร์ Screen X ​ที่ใช้ระบบการฉาย 3 ทิศทาง เพิ่มมุมมองในการดูกว้างถึง 270 องศา, LED Cinema Screen,โรงภาพยนตร์ Esports แห่งแรกในโลก รวมทั้งการสร้างโรงระดับแฟล็กชิพ ที่นอกจากฉายหนังยังสามารถใช้เป็นที่ในการจัดกิจกรรมต่างๆ หรือ Kids Cinema โรงภาพยนตร์เด็กแห่งแรกในเมืองไทย ทำให้เพิ่มฐานกลุ่มเด็กเข้ามาใช้บริการได้มากขึ้น

“ปี 2020 นี้ ​เมเจอร์จะนำเทคโนโลยี​ GIANT LASER SCREEN หรือ GLS มาใช้ในโรงระดับแฟล็กชิพ ​เพื่อเปลี่ยนโรงภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นโรงที่ดีที่สุด ด้วยระบบการฉายภาพแบบ Laser Projector จากแบรนด์ระดับโลกอย่าง Christie รองรับความคมชัดของภาพสูงสุดถึง 4K หรือ 8 ล้านพิกเซล ฉายบนจอภาพขนาดใหญ่พิเศษเทียบเท่าตึก 3 ชั้น​ พร้อมระบบเสียงรอบทิศทาง 3 มิติ ​เสมือนอยู่ในเหตุการณ์จริงและสมจริงยิ่งขึ้น​ ​โดยจะทยอยเปิดโรง​ GLS ใน 6 สาขา คือ เอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ งามวงศ์วาน-แคราย, เมกา ซีนีเพล็กซ์, พรอมานาด ซีนีเพล็กซ์, เมเจอร์ ซีนีมา บางแค, เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ รังสิต และ โคราช ซีนีเพล็กซ์”​

2. การเติมเต็มธุรกิจทั้งจาก Hardwere และ Softwere 

โดยในฟากฮาร์ดแวร์ เน้นการ​เดินหน้าลงทุนขยายโรงภาพยนตร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าที่จะมีโรงภาพยนตร์ทั้งในประเทศ และในกลุ่มประเทศ CLMV รวม 1,200 โรง โดยจะมีสาขาครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย ในปี 2025

ส่วนปี 2020 มีแผนลงทุนขยายสาขาเพิ่มอีก 30 โรง โดยเฉพาะในต่างจังหวัด​ ​จากปัจจุบัน​มีโรงภาพยนตร์อยู่ใน 60 จังหวัด เข้าถึงในระดับอำเภอและตำบล โดยมีแผนขยายสาขาในอีก 17 จังหวัด เพื่อให้ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน, แพร่, กาฬสินธุ์, บึงกาฬ, เลย, สุรินทร์, อำนาจเจริญ, ชัยนาท, อุทัยธานี, นครนายก, สมุทรสงคราม, ตราด, ภูเก็ต, ตรัง, ยะลา, นราธิวาส, ปัตตานี  โดยสิ้นปีนี้เมเจอร์ฯ จะมีสาขารวม 169 สาขา 810 โรง 183,958 ที่นั่ง แบ่งเป็น กรุงเทพฯ และปริมณฑล 46 สาขา 355 โรง 80,468 ที่นั่ง, สาขาในต่างจังหวัด 115 สาขา 416 โรง 95,041 ที่นั่ง​​​ และสาขาในต่างประเทศ 8 สาขา 39 โรง 8,449 ที่นั่ง

ขณะที่การพัฒนาฟากของซอฟต์แวร์ จะเน้นการ​ยกระดับหนังไทยสู่มาตรฐาน Tollywood (Thailand+Hollywood) เช่นเดียวกับการมี Hollywood ของสหรัฐ และ Bollywood ในอินเดีย พร้อมเพิ่มรายได้จากหนังไทยด้วยสัดส่วน Market Share 50% พร้อมผลักดันการส่งภาพยนตร์ไทยออกขายไปยังตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเป้าหมายหลักคือ จีน​ และกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ​รวมถึงส่งภาพยนตร์ไทยให้บริการบนสายการบินต่างๆ ​และบนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Netflix ซึ่งเป็นช่องทางทำให้ภาพยนตร์ไทยมีตลาดสามารถเก็บรายได้เพิ่มมากขึ้น​

ปัจจุบัน​อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยได้รับการยอมรับจากตลาดต่างประเทศมากขึ้น ทำให้ไม่เพียงแต่การส่งออกภาพยนตร์ไทยไปฉายในต่างประเทศเท่านั้น แต่ดาราไทยหลายคนก็ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก มีดาราไทยไม่น้อยที่ออกไปสร้างชื่อเสียงในตลาดฮอลลีวู้ด ประเทศจีน และเกาหลี ซึ่งเมเจอร์ฯ​ มีธุรกิจครบวงจร ทั้งโรงภาพยนตร์ และพร้อมเดินหน้าสนับสนุนการสร้างภาพยนตร์ไทยอย่างเต็มที่ เพื่อให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของบ้านเรามีการเติบโตมากยิ่งขึ้นและพัฒนาเป็น Tollywood ต่อไป

“หนังไทยเป็นหนึ่งในคอนเทนต์ที่มีโอกาส โดยเฉพาะการยกระดับเป็น Asian Content เพื่อขยายตลาดจากแค่ในประเทศ ไปเป็นหลายร้อยล้านคนใน CLMV รวมทั้งในจีน ซึ่งทางเมเจอร์ฯ มีส่วนในการสนับสนุนหนังไทยให้ไปเปิดตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะการเป็นพาร์ทเนอร์และร่วมทุนกับบริษัทจีน เช่น การนำบทภาพยนตร์จีนมาทำโปรดักชั่นในประเทศไทย โดยคนไทย เพื่อโอกาสในการทำตลาดจีนได้ในฐานะหนังจีน ซึ่งจะทำได้สะดวกกว่าแนวทางเดิมๆ ที่เน้นการส่งออกหนังไทย​ ซึ่งมีข้อจำกัดในการสร้างรายได้และเติบโตได้น้อยกว่า โดยคาดว่าจะสามารถฉายได้ในต้นปีหน้า และจะมีโปรเจ็กต์ร่วมทุนกับทางจีนอย่างต่อเนื่อง” ​ 

3. Social Contribution 

เมเจอร์ฯ ไม่เพียงทำหน้าที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง​ แต่ยังมองถึงการเข้ามาช่วยสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับทั้งธุรกิจและสังคม ผ่านนโยบาย “Green Cinema” เน้นการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และภารกิจ Social Giving ของ มูลนิธิ เมเจอร์ แคร์ เพื่อขยายโอกาสให้เด็กและเยาวชนทั่วประเทศมีโอกาสได้ดูหนังปีละกว่า 5 แสนที่ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ รวมทั้งอาจเป็นหนึ่งจุดเปลี่ยนในชีวิตของเด็กได้ด้วย

ขณะที่นโยบาย “Green Cinema” จะทำใน 2 ส่วนหลัก คือการ ลด ละ เลิกใช้ พลาสติก และรณรงค์การแยกประเภทขยะ และเรื่องของ Energy Saving การใช้พลังงานอย่างประหยัด ด้วยการติดตั้ง Solar Rooftop โดยเฉพาะในสาขาแบบ Standalone เพื่อนำพลังงานมาผลิตเป็นไฟฟ้าใช้ภายในสาขา

ส่วนของการลด ละ เลิกใช้ พลาสติก และรณรงค์การแยกประเภทขยะนั้น มีการนำร่องไปตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา ด้วยการเริ่มงดใช้หลอดพลาสติก หันมาใช้หลอดที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติอย่างน้ำตาลอ้อยที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ในสาขาในกรุงเทพฯและปริมณฑล  พร้อมจัดวางถังขยะแยกประเภท ที่โรงภาพยนตร์ในเครือเมเจอร์ฯ 7 สาขา ได้แก่ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ รัชโยธิน, สุขุมวิท-เอกมัย, รังสิต, ปิ่นเกล้า พารากอน ซีนีเพล็กซ์, เอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ งามวงศ์วาน-แคราย และ ไอคอน ซีเนคอนิค

และในโอกาสครบรอบ 25 ปี เริ่มดีเดย์ตั้งแต่ 25 พฤศจิกายน 2562 เมเจอร์ฯ จะประกาศงดใช้ถุงพลาสติกทุกวันพุธ ณ จุดจำหน่ายเครื่องดื่มและป๊อปคอร์น (Concession) และใช้หลอดที่ทำจากพลาสติก PP Bio Compounds-Nano Corn Starch ที่มีส่วนผสมของแป้งข้าวโพดสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติภายใน 1 ปี ที่ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ทุกสาขาทั่วประเทศ ทำให้ลดการใช้หลอดพลาสติกได้ 11 ล้านหลอด/ปี


แชร์ :

You may also like