HomeBrand Move !!เปิดผลสำรวจ “นักเดินทางหญิงชาวมุสลิม” จัดทริปท่องโลกมากขึ้น ไทยติดอันดับ 2 เป้าหมายที่น่าเดินทาง

เปิดผลสำรวจ “นักเดินทางหญิงชาวมุสลิม” จัดทริปท่องโลกมากขึ้น ไทยติดอันดับ 2 เป้าหมายที่น่าเดินทาง

แชร์ :

เดิมอาจเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน แต่ในการสำรวจล่าสุดของ TBWA/Asia พบว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมนั้นกลายเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตเร็วมากที่สุดในโลกไปแล้ว หรือคิดเป็น 10% ของนักเดินทางทั้งหมด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงที่มักเดินทางพร้อมกับเพื่อนผู้หญิงด้วยกัน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เมื่อถามว่าคนกลุ่มนี้คือใครกันบ้าง ทาง TBWA/Asia ซึ่งได้สัมภาษณ์ชาวมุสลิมจำนวน 1,000 คนอายุระหว่าง 18 – 30 ปีที่อาศัยอยู่ในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสหราชอาณาจักร พบว่า นักท่องเที่ยวหญิงชาวมุสลิมที่บอกว่าตัวเองมีแผนท่องเที่ยวนั้นหลักๆ มาจากมาเลเซีย 46% และอินโดนีเซีย 38% ในจำนวนนี้ หลายคนตั้งเป้าจะเดินทางไปต่างประเทศถึง 4 แห่งภายใน 18 เดือนข้างหน้า

อย่างไรก็ดี สิ่งที่หญิงสาวชาวมุสลิมมองหาก็คือข้อมูลการท่องเที่ยวที่เหมาะกับตัวเอง เช่น พวกเธอจะไปหาอาหารฮาลาลอร่อย ๆ รับประทานได้ที่ไหน ทัศนคติของคนในเมือง หรือประเทศนั้น ๆ ต่อชาวมุลิมเป็นอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น หลายประเทศมีทะเลและชายหาดสวยงาม แต่การแต่งตัวมิดชิดของหญิงสาวชาวมุสลิมอาจทำให้ถูกจ้องมองจากคนในประเทศ หรือนักท่องเที่ยวคนอื่น ๆ ได้

ปัจจุบันก็พบว่าบางแพลตฟอร์มเช่น Airbnb มีการสร้างคอนเทนต์เพื่อตอบสนองความต้องการของสาวชาวมุสลิมออกมาบ้างแล้ว รวมถึงบรรดาโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ที่มีการสร้างกลุ่มสำหรับพูดคุยกันระหว่างผู้หญิงชาวมุสลิมเป็นการเฉพาะด้วย

สำหรับผู้ประกอบการการท่องเที่ยวจะเตรียมตัวอย่างไรนั้น Nazirah Ashari ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์ของ TBWA\Kuala Lumpur กล่าวว่า Halal Travel ต้องการการตอบสนองที่มากกว่าแค่การเปลี่ยนเมนูอาหารเช้า แต่เป็นการหาพื้นที่ที่ดึงดูดใจ และทำให้สาวชาวมุสลิมอยากเดินทางเข้ามามากขึ้น

“แม้จะมีข้อจำกัดมากมาย แต่เราก็พบว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงที่ตอบแบบสอบถามนั้นเคยไปเที่ยวต่างประเทศกับเพื่อนผู้หญิงมาแล้ว และพวกเธอยังมีแผนจะไปเที่ยวในอีก 18 เดือนข้างหน้าด้วย”

ผลวิจัยดังกล่าวยังสอดคล้องกับตัวเลขจากทางมาสเตอร์การ์ดและเครสเซนต์เรตติ้ง ที่ระบุว่า ในปีที่แล้ว (พ.ศ. 2561) ร้อยละ 28 ของการเดินทางของผู้หญิงชาวมุสลิมเป็นการเดินทางคนเดียว (Solo Travels) แสดงให้เห็นว่า นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ซึ่งยังมีอายุน้อยต้องการแสวงหาประสบการณ์ท่องโลกมากขึ้น

เมื่อปีที่แล้วนักท่องเที่ยวหญิงชาวมุสลิมจำนวนประมาณ 63 ล้านคนใช้จ่ายมากกว่า 2.4 ล้านล้านบาทในการเดินทางท่องโลก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นจากการที่ประชากรกลุ่มนี้จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นและส่งผลต่อตลาดการท่องเที่ยวทั่วโลก

จากการที่สองในสามของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้คือผู้หญิงชาวมุสลิมอายุ 40 ปีหรือน้อยกว่านั้น ชี้ให้เห็นว่าประชากรกลุ่มนี้ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างมาก มากกว่าครึ่งของนักเดินทางกลุ่มนี้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการหาข้อมูลเรื่องที่พัก การเดินทาง และร้านอาหาร

“ถึงแม้การเดินทางของผู้หญิงชาวมุสลิมจะเพิ่มมากขึ้นอย่างแพร่หลาย แต่การศึกษาวิจัยทางการตลาดเพื่อความเข้าใจในความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ยังมีไม่มากนัก รายงานฉบับนี้ทำให้เราเข้าใจถึงแรงจูงใจในทุกๆ ด้านของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ซึ่งในตัวของพวกเขาเต็มไปด้วยพลังแห่งการสำรวจ ความตื่นตัว และความเอาใจใส่ในรายละเอียด โดยเราได้ทำการสัมภาษณ์นักท่องเที่ยวหญิงชาวมุสลิมหลายคนที่มีพื้นฐานและเรื่องราวที่ต่างกัน ซึ่งเราเชื่อว่ารายงานฉบับนี้จะมีประโยชน์แก่หลายๆ ฝ่ายเพื่อการเข้าถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้ดียิ่งขึ้น” คุณรูห์ดาห์ ซาอินี หัวหน้าฝ่ายการตลาดของเครสเซนต์เรตติ้งและฮาลาลทริปกล่าว

เดินทางทั้งครอบครัว เม็ดเงินก้อนใหญ่

ไลฟ์สไตล์และคุณค่าของชุมชนคือหัวใจหลักในการเดินทางของผู้หญิงชาวมุสลิม พลังในการใช้จ่ายของผู้หญิงกลุ่มนี้เพิ่มสูงขึ้น โดยเกือบทั้งหมดมีการวางแผนการเดินทางสองถึงสามครั้งต่อปี การเดินทางเพื่อพักผ่อนนำมาเป็นอันดับหนึ่ง (90 เปอร์เซนต์) ตามมาด้วยการเดินทางเพื่อศาสนา (21 เปอร์เซ็นต์) และเพื่อธุรกิจ (11 เปอร์เซ็นต์) รายงานนี้ยังพบอีกว่าผู้หญิงกลุ่มนี้มีอิทธิพลในการวางแผนการเดินทางถึงแม้จะเดินทางร่วมกับผู้อื่นด้วย โดยส่วนมาก 71 เปอร์เซ็นต์เดินทางกับครอบครัว ดังนั้นจึงพบว่าพวกเขาจะเลือกจุดหมายปลายทางที่เหมาะกับครอบครัว

ความปลอดภัยและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวกับศาสนาเป็นสิ่งสำคัญที่สุด กลุ่มนักเดินทางผู้หญิงเป็นกลุ่มที่เติบโตอย่างรวดเร็วในตลาดการท่องเทียว และความต้องการหลักคือ ความปลอดภัย ซึ่งผู้หญิงมุสลิมก็ต้องการสิ่งเดียวกัน อย่างไรก็ตามผู้หญิงชาวมุสลิมจะคำนึงถึงสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวกับศาสนาในการเดินทางด้วย โดย 94 เปอร์เซนต์ของผู้หญิงชาวมุสลิมที่ถูกสัมภาษณ์จะคำนึงถึงร้านอาหารฮาลาลเป็นสำคัญ ขณะที่ 86 เปอร์เซ็นต์จะคำนึงถึงห้องละหมาดที่ให้บริการเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น 79 เปอร์เซนต์จะเลือกสถานเสริมความงามและสปาสำหรับผู้หญิงเท่านั้น

ความยุติธรรมของสังคม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญตามความเชื่อในศาสนาอิสลามก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหนึ่งที่พวกเขาคำนึงถึง โดย 73 เปอร์เซนต์เลือกการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเมื่อเดินทางไปต่างประเทศ

จากผลสำรวจดัชนีการท่องเที่ยวของชาวมุสลิมทั่วโลกประจำปี 2562 โดยมาสเตอร์การ์ดและเครสเซนต์เรตติ้ง (The Mastercard-CrescentRating Global Muslim Travel Index หรือ GMTI 2019) ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับ 2 ในฐานะจุดหมายปลายทางยอดนิยมในกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม (Non-OIC) และอันดับ 18 ของทั่วโลกทั้งกลุ่มประเทศมุสลิมและประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม (OIC และ Non-OIC) ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยถือเป็นหนึ่งใน 5 จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวชั้นนำในกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่มุสลิมที่มีทั้งความปลอดภัยและมีอิสระทางความเชื่อสูงสุดสำหรับนักท่องเที่ยวหญิงชาวมุสลิม

“นักท่องเที่ยวหญิงชาวมุสลิมพร้อมที่จะเดินทางท่องโลกเพิ่มมากขึ้น ผู้หญิงกลุ่มนี้พร้อมที่จะออกเดินทางและใช้บริการกับผู้ให้บริการที่เล็งเห็นความสำคัญของพวกเขาและช่วยให้พวกเขายังคงรักษาคุณค่าทางชุมชนและวิถีชีวิตในแบบของตนไว้ได้ เรามุ่งหวังว่ารายงานฉบับล่าสุดของมาสเตอร์การ์ดและเครสเซนต์เรตติ้งนี้จะช่วยให้ผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสามารถปรับสินค้าและการบริการเพื่อสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้ตรงจุด” คุณไอชา อิสลาม รองประธานบริหารผลิตภัณฑ์การตลาด มาสเตอร์การ์ดกล่าว

 

Source

Source


แชร์ :

You may also like