โรคหัวใจ ถือเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับต้นๆ รองจากมะเร็ง ซึ่งจากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า คนไทยเสียชีวิตจากกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงถึง 20,855 คนต่อปี หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ในขณะที่ปัจจุบันสิทธิรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะช่วยให้อัตราการเข้าถึงบริการระบบสาธารณสุขของคนไทยเพิ่มมากขึ้น แต่จำนวนแพทย์ยังคงไม่เพียงต่อการดูแลผู้ป่วย ซึ่งจากสถิติพบว่าในปี 2561 พบว่าอัตราแพทย์ 1 คน ต่อประชากรเฉลี่ย 1,771 คน แต่จำนวนแพทย์ต่อประชากรไม่ได้กระจายอย่างเท่ากันทุกพื้นที่ อย่างในกรุงเทพมหานครอัตราแพทย์ 1 คน ต่อประชากรเฉลี่ย 601 คน ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อัตราแพทย์ 1 คนต่อประชากรเฉลี่ย 2,719 คน ส่วนภาคใต้อัตราแพทย์ 1 คนต่อประชากร 2,115 คน
ฟิลิปส์ ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการดูแลสุขภาพ เล็งเห็นถึงความสำคัญของโรคหัวใจและการพัฒนาการเข้าถึงระบบสาธารณสุขไทย จึงได้ริเริ่มโครงการซีเอสอาร์เพื่อช่วยเหลือสังคม (Corporate Social Responsibility) ภายใต้ชื่อ “ดูแลกาย ห่วงใยหัวใจ เริ่มที่ตัวคุณ” ด้วยการสนับสนุนการทำงานของสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และชมรมคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจแห่งประเทศไทย เพื่อออกหน่วยตรวจโรคหัวใจด้วยเครื่องตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiography) พร้อมทั้งรณรงค์เรื่องการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจแก่ประชาชนทั่วไป ณ โรงพยาบาลกระบี่ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิง สมนพร บุณยะรัตเวช สองเมือง ประธานชมรมคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “โรคหัวใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยอันดับต้นๆ เพราะบางครั้งโรคหัวใจอาจจะไม่แสดงอาการอะไรเลย จนอาจเกิดการเสียชีวิตเฉียบพลัน สำหรับอาการแสดงของโรคหัวใจ ได้แก่ เหนื่อยหอบง่าย นอนราบแล้วอึดอัดต้องลุกขึ้นมานั่งช่วงกลางคืน เจ็บหน้าอกซึ่งมีลักษณะเฉพาะ ใจสั่นเต้นเร็ว หรือเป็นลมหมดสติที่ไม่ได้เกิดจากการเป็นลมแดด หรือการยืนนาน เป็นต้น สำหรับสาเหตุของโรคหัวใจเกิดจากพันธุกรรม ความเครียด การไม่ออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ โดยเฉพาะอาหารที่ประกอบด้วยไขมัน เกลือ น้ำตาล หรือคลอเรสเตอรอลปริมาณสูงๆ การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ หรืออาจจะเกิดจากผลของโรคอื่น เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และการใช้ยาบางชนิด ฯลฯ”
โรคหัวใจมีหลายประเภท อันได้แก่ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคลิ้นหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งการรักษาโรคหัวใจแต่ละประเภทก็มีความแตกต่างกัน ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการรักษาโรคหัวใจนั้น ต้องวินิจฉัยให้ได้ว่าเป็นโรคหัวใจประเภทไหน และความรุนแรงระดับใด เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพต่อชีวิตผู้ป่วย
“จริงๆ การตรวจหัวใจทำได้หลากหลายวิธี แต่การตรวจที่จัดได้ว่าเป็นหนึ่งในการตรวจที่สำคัญ คือ การตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูง (Echocardiography) โดยใช้หลักการของคลื่นอัลตราซาวน์ ซึ่งคลื่นเสียงดังกล่าวสามารถผ่านหน้าอกผู้ป่วยไปยังหัวใจ สามารถตรวจการทำงานและโครงสร้างของหัวใจ ได้แก่ การบีบและการคลายตัวของหัวใจ การปิดเปิดของลิ้นหัวใจ การตรวจลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ การตรวจว่ากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือไม่ หรือหลอดเลือดหัวใจอุดตัน เป็นต้น โดยการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจนี้ ถือว่าเป็นการตรวจที่มีความปลอดภัย ผู้ป่วยตั้งครรภ์ก็สามารถตรวจได้โดยไม่มีอันตรายต่อทารกในครรภ์ ดังนั้นทางสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยฯ และชมรมคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจแห่งประเทศไทยจึงได้เลือกวิธีการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ มาใช้ในการออกหน่วยตรวจในครั้งนี้ เพื่อให้การวินิจฉัยโรคหัวใจประเภทต่างๆ ถูกต้องแม่นยำ ช่วยให้เกิดผลลัพธ์ในการรักษาที่มีประสิทธิภาพ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิง สมนพร กล่าวเพิ่มเติม
ด้านนายวิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวถึงโครงการ “ดูแลกาย ห่วงใยหัวใจ เริ่มที่ตัวคุณ” ในครั้งนี้ว่า “ฟิลิปส์ เราดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพ และมีวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตและดูแลความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน ดังนั้น การจัดกิจกรรมซีเอสอาร์ของเราจึงมุ่งเน้นไปที่การดูแลสุขภาพแบบยั่งยืน เราจึงได้ริเริ่มโครงการ “ดูแลกาย ห่วงใยหัวใจ เริ่มที่ตัวคุณ” ในครั้งนี้ขึ้น เพราะเราเล็งเห็นถึงความสำคัญของโรคหัวใจ ซึ่งพบผู้ป่วยจำนวนมากในประเทศไทยและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การเข้าถึงระบบสาธารณสุขของไทย อาจยังไม่เพียงพอ ซึ่งโครงการฯ นี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อรณรงค์และให้ความรู้กับประชาชนคนไทยให้เห็นความสำคัญของโรคหัวใจ เข้าใจถึงสาเหตุและการป้องกันโรคหัวใจ เพราะการดูแลสุขภาพต้องเริ่มต้นที่ตัวเราเอง การป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคหัวใจย่อมดีกว่าการรักษา 2) สนับสนุนองค์กรแพทย์และสถานพยาบาลในการส่งเสริมและพัฒนาการเข้าถึงระบบสาธารณสุขของคนไทยให้มากขึ้น”
“ถึงแม้ว่าฟิลิปส์ เราจะนำเสนอนวัตกรรมเพื่อการดูแลสุขภาพ อย่างเครื่องมือแพทย์อันทันสมัย รวมถึงเครื่องตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจแบบ 4 มิติ ที่เข้ามาช่วยให้การตรวจมีความแม่นยำมากขึ้น แต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วย และช่วยพัฒนาระบบสาธารณสุขในระยะยาว ซึ่งปัจจุบันแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจในประเทศไทยยังมีน้อย เมื่อเทียบกับความต้องการของผู้ป่วยตามโรงพยาบาลทั่วประเทศ ดังนั้น เราจึงดำเนินโครงการฯ ดังกล่าวด้วยการสนับสนุนการทำงานของสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยฯ และชมรมคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจแห่งประเทศไทย ในการจัดกิจกรรมออกหน่วยตรวจโรคหัวใจด้วยเครื่องตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ(Echocardiography) ณ โรงพยาบาลกระบี่แห่งนี้ ที่ยังมีผู้ป่วยกว่า 100 ราย รอรับการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจที่มีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจ โดยเฉพาะด้านโภชนาการกับกิจกรรม Healthy Heart with Philips AirFryer เพื่อให้ประชาชนเรียนรู้การเลือกรับประทานอาหารไขมันน้อย และมีประโยชน์ต่อสุขภาพในระยะยาว ซึ่งหากว่าเรามีโอกาสเราก็จะต่อยอดขยายโครงการฯ นี้ไปสู่พื้นที่จังหวัดอื่นๆในอนาคตด้วย” นายวิโรจน์ กล่าวเพิ่มเติม
นายแพทย์สุพจน์ ภูเก้าล้วน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกระบี่ กล่าวว่า “โรงพยาบาลกระบี่ เราได้ตั้งปณิธานไว้ในอันที่จะเป็นศูนย์สุขภาพดี สำหรับชาวจังหวัดกระบี่และนักท่องเที่ยวด้วยการให้บริการที่ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง การทำงานด้วยทีมงานที่มีความชำนาญ มีความรู้ และมีคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันเราได้มีการนำเทคโนโลยีด้านการแพทย์เข้ามาช่วยในการตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง แต่เรายอมรับว่าเรายังมีแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางไม่เพียงพอต่อความต้องการและจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี การดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการ “ดูแลกาย ห่วงใยหัวใจ เริ่มที่ตัวคุณ” ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีต่อประชาชนที่อยู่ในกระบี่ เพราะนอกจากจะไม่ต้องรอคิวนานในการรับการตรวจโรคหัวใจเฉพาะด้านแล้ว ยังสร้างการตื่นตัวและการรับรู้ให้ประชาชนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ทางโรงพยาบาลกระบี่ เราก็ยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนามาตรฐานของโรงพยาบาลต่อไป และจะพยายามพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ให้เพิ่มมากขึ้น และอยากให้ทางภาครัฐช่วยผลักดันในการสร้างบุคลากรทางการแพทย์และเพิ่มการกระจายบุคลากรทางการแพทย์ให้กว้างขวางมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเข้าถึงระบบสาธารณสุขในระยะยาว เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคตจากการที่เรากำลังเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ”