HomeFeaturedชีวิตหลังการเมือง “สุรนันทน์ เวชชาชีวะ” เถ้าแก่หน้าใหม่ปั้นคาเฟ่-ร้านก๋วยเตี๋ยว เป้าหมายปักธง “แบรนด์ไทย” ในต่างแดน

ชีวิตหลังการเมือง “สุรนันทน์ เวชชาชีวะ” เถ้าแก่หน้าใหม่ปั้นคาเฟ่-ร้านก๋วยเตี๋ยว เป้าหมายปักธง “แบรนด์ไทย” ในต่างแดน

แชร์ :

หลังจบการศึกษาและเริ่มต้นชีวิตการทำงานของ “คุณสุรนันทน์ เวชชาชีวะ” มาถึงวัย 58 ปี เส้นทางชีวิตเปลี่ยนแปลงทุก 5 ปี ผ่านประสบการณ์มาแล้ว ทั้งข้าราชการ  ทำงานบริษัทเอกชน นักการเมือง นักสื่อสารมวลชน และบทบาทล่าสุด เจ้าของธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม Brainwake Café และร้านก๋วยเตี๋ยวสูตรไต้หวัน Mei Wei Wan กับการเริ่มต้นชีวิต “เถ้าแก่” หน้าใหม่ในวัยใกล้เกษียณ!

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ชื่อของ “คุณสุรนันทน์ เวชชาชีวะ” ถือเป็นบุคคลที่สังคมจดจำได้จากบทบาทการทำหน้าที่ทางการเมือง โดยตำแหน่งสุดท้ายในปี 2557 คือ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และเป็นจุดเริ่มต้นเส้นทาง “เจ้าของธุรกิจ” Brainwake Café ร้านอาหารสไตล์ Comfort food  เบเกอรี่และกาแฟรสเข้ม กับร้านแรก “สุขุมวิท 33” มาถึงปีนี้เปิดไปแล้ว 8 สาขา

ช่วง 4 ปีของ Brainwake Café เริ่มมีสีสัน หลังจากเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้ประกาศกลุ่มทุนใหม่ “สัมมากร” เข้ามาถือหุ้น 19%  ตามด้วยสหพัฒน์ฯ 13%  และการเพิ่มทุนจดทะเบียนล่าสุด 150 ล้านบาท เปิดตัวแบรนด์ใหม่ ร้านก๋วยเตี๋ยว “Mei Wei Wan” (เม่ย เว้ย หว่าน) ทำให้ก้าวเดินของ “เถ้าแก่” หน้าใหม่วันนี้เริ่มไม่ธรรมดา

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ ซีอีโอ บริษัทเบรนเวค ฟู้ด จำกัด กับบทบาท Entrepreneur เต็มตัว

เจ้าของธุรกิจในวัยใกล้เกษียณ

Brand Buffet เปิดบทสนทนาชีวิตหลังการเมืองกับ คุณสุรนันทน์ เวชชาชีวะ ซีอีโอ บริษัทเบรนเวค ฟู้ด จำกัด ที่บอกว่าวันนี้เขาคือ Entrepreneur เต็มตัว และชีวิตการเป็นเจ้าของธุรกิจ 4 ปีนี้ “เหนื่อย” เอาเรื่องเลยทีเดียว!

ย้อนไปจุดเริ่มต้นของ Brainwake Café ในปี 2557 หลังเหตุการณ์รัฐประหาร ทำให้ คุณสุรนันทน์ ต้องยุติบทบาททางการเมือง ขณะนั้นอายุ 54 ปีแล้ว  แต่ก็คิดว่าอยากเป็น “เถ้าแก่” อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง เพราะได้ทำงานมาทุกอย่างแล้ว ตั้งแต่รับราชการ ลูกจ้างเอกชนซึ่งทำให้มีประสบการณ์เรียนรู้การทำธุรกิจ กระทั่งมาเป็นนักการเมือง และงานด้านสื่อสารมวลชน การทำรายการทีวี “ชิมอาหาร”

แม้เป็นคนทำอาหารไม่เป็น  เมนูถนัดแค่ไข่เจียว แต่ด้วยความที่เป็นนักชิม ทำให้รู้จักเชฟฝีมือดีและผู้คนในแวดวงอาหาร จึงเลือกเริ่มต้นชีวิตเถ้าแก่ ด้วยการเปิดธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม จากจุดเด่นของประเทศไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบอาหารที่ดี  ช่วงที่ทำงานการเมืองก็สนับสนุนเอสเอ็มอี นโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก เมื่อตัดสินใจทำธุรกิจก็ต้องการสร้างแบรนด์ ของตัวเองด้วย

Brainwake Café สาขาแรกเริ่มต้นช่วงกลางปี 2558  สไตล์ Comfort food ง่ายๆ รับประทานได้ทั้งวัน และเมนูกาแฟรสชาติเข้มเจาะคนทำงาน ชาวต่างชาติและคนไทย ในย่าน “สุขุมวิท 33”  ซึ่งก็คือพื้นที่ส่วนหนึ่งในบริเวณบ้านพักปัจจุบัน เพราะเป็นร้านแรก จึงต้องดูแลต้นทุนค่าเช่าพื้นที่ให้ดี

“ช่วงที่คิดทำธุรกิจก็มีคนแนะนำให้ซื้อแฟรนไชส์ร้านอาหารหรือร้านกาแฟแทน เพราะน่าจะทำธุรกิจง่ายกว่า แต่ก็ไม่เลือกทางนั้น  แต่ต้องการสร้างแบรนด์เอง เพื่อเป็นอีกบทพิสูจน์การทำงานของคนไทย ชื่อแบรนด์ก็คิดกันหลายชื่อและอยู่ดีๆ ก็คิดชื่อขึ้นมาได้ว่า  Brainwake  เพราะจะขายอาหาร ขนม กาแฟที่อร่อยๆ ให้สมองตื่น” 

Brainwake คาเฟ่ของชุมชน

คอนเซปต์ของ Brainwake Café  คือร้านของชุมชน  นอกจากเมนูอาหารมาตรฐานแล้ว แต่ละสาขาจะมีเมนูอาหาร เบเกอรี่ พิเศษเฉพาะสาขาอีกด้วย เช่น สุขุมวิท 33 จะมี ก๋วยเตี๋ยวเรือน้าชู  ร้านดังย่านกระทรวงการคลัง มาเป็นตัวเลือกของชุมชนและครอบครัว ทำให้ลูกค้าทุกวัยมาใช้บริการได้ ทั้งพ่อแม่ที่มากินก๋วยเตี๋ยว ส่วนลูกอาจเลือกเมนูคลับแซนด์วิช

ส่วนสาขา G Tower ที่มีคนทำงานจำนวนมาก เชฟประจำเป็นคนภูเก็ต มีความถนัดอาหารใต้ สาขานี้จึงมีเมนูพิเศษเป็นอาหารใต้ ที่เชฟคิดค้นขึ้นมาเอง เพื่อสร้างความหลากหลายให้ลูกค้าคนทำงานที่ต้องมารับประทานบ่อยครั้งไม่เบื่อกับเมนูเดิมๆ อีกทั้งยังเป็นเวที ให้เชฟ ได้ฝึกฝีมือเมนูใหม่ๆ

ขณะที่หุ้นส่วนชาวญี่ปุ่น มีความเชี่ยวชาญเรื่องเบเกอรี่ Brainwake Café  สาขา “ทองหล่อ” จึงทำหน้าที่เป็น Bakery Lab” พัฒนาสูตรใหม่ๆ  ผลิตเบเกอรี่และเค้กสไตล์ญี่ปุ่นเพื่อส่งไปยังสาขาอื่นๆ  และยังเป็นพันธมิตรกับ “ลอว์สัน 108” ตั้งตู้จำหน่ายเบเกอรี่ของ Brainwake ในร้าน 20 สาขา ถือเป็นอีกธุรกิจของกลุ่มเบเกอรี่สไลต์ญี่ปุ่น

ส่วน “กาแฟ” ใช้เมล็ดกาแฟจากเชียงราย คั่วสไตล์ Brainwake ที่จะให้รสชาติเข้ม ตอบโจทย์ลูกค้าวัยทำงาน ไม่กินหวาน แต่หากเป็นทำเลเจาะกลุ่มนักศึกษา ก็ต้องเพิ่มไซรัปไว้ให้เติมเอง

“ที่เลือกทำธุรกิจอาหารและกาแฟ  ก็ต้องพูดตรงๆ ถ้า Brainwake เริ่มต้นด้วยร้านกาแฟก่อน ก็คงเจ๊งไปแล้ว เพราะเป็นตลาดที่แข่งขันสูง มีทั้งกลุ่มไฮเอนด์ทุนใหญ่ สตาร์บัคส์  ทุนหนาอเมซอน และคนไทยทำร้านกาแฟเก่งมาก เห็นได้จากร้านกาแฟสเปเชียล สแตนด์อโลน ที่มีจำนวนมากและยังเปิดเพิ่มเรื่อยๆ”

การเป็นคาเฟ่ ที่มีทุกอย่าง เมนูอาหารและเครื่องดื่ม ตั้งแต่เช้า กลางวัน เย็น ค่ำ เพราะเปิดตั้งแต่ 7.00-21.00 น. ทำให้ได้ลูกค้าหลากหลาย การวางตัวเป็นร้านของชุมชน จึงเป็นจุดนัดพบที่มาได้ตลอดทั้งวัน

ปั้นแบรนด์ร้านก๋วยเตี๋ยวสูตรไต้หวัน

หลังสร้างแบรนด์ Brainwake มา 4 ปี เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ปีนี้ได้ลงทุนกับ Lichen International Group ผู้ดำเนินธุรกิจอาหารรายใหญ่จากไต้หวัน ร่วมกันพัฒนาแบรนด์ใหม่ ร้านก๋วยเตี๋ยว Mei Wei Wan” (เม่ย เว้ย หว่าน) แปลว่า “ชามอร่อย”  ก๋วยเตี๋ยวสูตรไต้หวันดั้งเดิม เปิดสาขาแรกที่สามย่านมิตรทาวน์  ปีหน้าจะขยายอีก 3-4 สาขา

“ช่วง 2 ปีก่อนเริ่มดูตลาดว่า จะพัฒนาสินค้าประเภทใดต่อจากเบรนเวค คาเฟ่ ก็มาลงตัวที่ร้านก๋วยเตี๋ยว สตรีทฟู้ด สไตล์ไต้หวัน ทาง Lichen ก็ยังไม่เคยมีแบรนด์ร้านอาหารเอง ธุรกิจที่ทำอยู่เป็นแฟรนไชส์ทั้งหมด เมื่อเห็นร่วมกันว่า ก๋วยเตี๋ยวสไตล์ไต้หวัน น่าจะมีโอกาสทำตลาดในไทย จึงจับมือกันพัฒนาแบรนด์ใหม่”

ร้าน Mei Wei Wan” เป็น ก๋วยเตี๋ยวไต้หวันแนวทันสมัย ที่ยังไม่มีในไทย เส้นก๋วยเตี๋ยวเป็นสูตรเฉพาะไต้หวัน มีทั้งก๋วยเตี๋ยวเนื้อออสเตรเลีย ราคา 275 บาท เมนูก๋วยเตี๋ยวหมู ราคา 245 บาท  เชื่อว่าทำตลาดได้ เพราะปัจจุบันเมนูก๋วยเตี๋ยวเรือพรีเมี่ยมอย่าง ทองสมิทธ์ ก็สามารถขายได้ จากจุดแตกต่างเรื่องวัตถุดิบ นอกจากนี้ ร้าน Mei Wei Wan” ยังมีเมนู ข้าวหน้าไก่ ข้าวหน้าหมู ข้าวหน้าเนื้อ และก๋วยเตี๋ยวน่องไก่

การลงทุนร้าน Mei Wei Wan” ในประเทศไทยได้ตกลงกับกลุ่ม Lichen แล้วว่า เบรนเวคจะถือหุ้น 60% ส่วนกลุ่ม Lichen 40%  และหากนำร้าน  Mei Wei Wan” ไปขยายที่ไต้หวัน และในประเทศอื่นๆ กลุ่ม Lichen จะเป็นผู้ถือหุ้นหลัก 60% และเบรนเวค 40%

มองว่าอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยวเรือ ยังมีโอกาสเติบโต ปัจจุบันจึงจดทะเบียนแบรนด์ “ชามอร่อย” ร้านอาหารก๋วยเตี๋ยวเรือไว้แล้ว ซึ่งจะแบรนด์ธุรกิจอาหารต่อไปของเบรนเวค  โดยเป็นสูตรก๋วยเตี๋ยวเรือน้าชู ร้านดัง ที่ขายอยู่ใน Brainwake Café อยู่แล้ว

ในอนาคตหากพันธมิตร กลุ่ม Lichen นำร้าน Mei Wei Wan” ไปเปิดในต่างประเทศ  ก็อาจจะมีร้านก๋วยเตี๋ยวเรือ “ชามอร่อย” เปิดคู่กันในร้านเดีย

เดินตามรอย “เกรย์ฮาวด์” ปักธงต่างประเทศ

จากจุดเริ่มต้นลงทุน Brainwake ด้วยเงินทุนตัวเองและครอบครัว 2 ล้านบาท จากนั้นเริ่มมีเพื่อนชาวญี่ปุ่นสนใจลงทุนด้วย รวมทั้งเพื่อนๆ ที่ร่วมลงขันเป็นหุ้นส่วนราว 70 คน ลงเงินกันตั้งแต่ 50,000 บาทถึงหลักสิบล้านบาท รอบล่าสุดเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 150 ล้านบาท โดยมี “สัมมากรและกลุ่มสหพัฒน์” เข้ามาร่วมถือหุ้นด้วย ซึ่งถือเป็น เป็น Strategic Partner ทั้งคู่ เพราะเห็นโอกาสเติบโตในธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม

กลุ่มสัมมากรเองมี คอมมูนิตี้ มอลล์ สัมมากร เพลส  ซึ่ง Brainwake Café  สามารถเข้าไปเปิดให้บริการเพื่อเพิ่มความหลากหลายของร้านค้า เช่นเดียวกับกลุ่มสหพัฒน์ฯ ที่จะนำแบรนด์  Brainwake Café  เข้าไปให้บริการเสริมธุรกิจไลฟ์สไตล์ รวมทั้งเปิดให้บริการในโรงเรียนนานาชาติคิงส์คอลเลจกรุงเทพ ย่านพระราม 3

ปัจจุบันมีร้าน Brainwake Café 8 สาขา ปี 2563 น่าจะเปิดได้อีก 2-3 สาขา รูปแบบการขยายสาขามีทั้งลงทุนเอง  การลงทุนร่วมกับเจ้าของพื้นที่และแบ่งรายได้ร่วมกัน ซึ่งจะทำให้บริษัทไม่ต้องแบกรับต้นทุนค่าเช่าพื้นที่

เป้าหมายหลังจากนี้อีก 3-4 ปี อาจจะระดมอีกรอบ ถ้ากรรมการบริษัทเห็นด้วยกับแผนธุรกิจที่วางไว้ ในการนำแบรนด์ร้านอาหารไทยไปปักธงในต่างประเทศ เล็งไว้ที่เมืองหลักๆ อย่าง สิงคโปร์ โตเกียว เมลเบิร์น และยุโรป การลงทุนในต่างประเทศจะเน้นการหาพาร์ทเนอร์เป็นหลัก ปัจจุบันก็มีผู้ประกอบการจากญี่ปุ่น ให้ความสนใจติดต่อมาทางผู้ถือหุ้นญี่ปุ่นของเบรนเวคแล้วเช่นกัน

เป็นความฝันส่วนตัวที่อยากทำแบรนด์ไทยไปต่างประเทศ ตอนทำงานการเมือง คอยบอกให้แบรนด์ไทยไปต่างประเทศ ก็อยากให้แบรนด์ของเราเอง ไปเปิดในต่างประเทศให้ได้เช่นกัน โดยยึด เกรย์ฮาวด์ เป็น Benchmark ในการทำงาน เพราะเป็นแบรนด์ร้านอาหารไทยที่ประสบความสำเร็จทั้งในไทยและต่างประเทศ

ชีวิตหลังเกษียณเริ่มต้นใหม่ได้ทุกคน

การเริ่มต้นธุรกิจเมื่อ 4 ปีก่อนในวัย 54 ปี ในฐานะ “ผู้ประกอบการหน้าใหม่” ที่อยากลองวิชา ซึ่งก็มีโอกาสทั้งทำถูก ทำผิด ทำพลาด หรือทำเจ๊งได้  แต่วันนี้ “เบรนเวค” ก็เดินมาได้อีกสเต็ป มีกลุ่มทุนใหม่ที่เห็นโอกาสเข้ามาร่วมลงทุนด้วย ถือว่าขั้นแรกประสบความสำเร็จมาแล้ว

ความท้าทายหลังจากนี้ คุณสุรนันทน์ บอกว่าหากทำสำเร็จตามแผนในอีก 3 ปีข้างหน้า คือการขยายไปต่างประเทศ หรือการนำธุรกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์ ที่ถือเป็นความฝันของนักธุรกิจหลายคน

การบริหารเบรนเวค ที่ตั้งใจไว้ อยากทำให้บริษัทเป็นธุรกิจของมืออาชีพ แม้จุดเริ่มต้นมาจากคนเดียว ในอนาคตคนบริหารควรเป็นมืออาชีพ เป็นคนรุ่นใหม่ที่จะมาสานต่อ เพื่อให้ธุรกิจเติบโต เป็นแบรนด์ร้านอาหารไทยที่สร้างชื่อในต่างประเทศ และเป็นความภูมิใจของคนไทย

จากเส้นทางชีวิตการทำงานที่เปลี่ยนแปลงทุก 5 ปี ผ่านมาแล้วหลากหลายบทบาท กับความท้าทายในฐานะ “เจ้าของธุรกิจ” ที่เริ่มต้นในวัยใกล้เกษียณ พิสูจน์ให้เห็นว่า “คนเราหยุดทำงานไม่ได้”  คนที่เริ่มต้นเมื่อ อายุ 50 ปีก็มี หรือหลังเกษียณแล้วหลายคนยังอยากทำงานอยู่ก็มีอีกมาก

“ชีวิตผมเปลี่ยนแปลงทุก 4-5 ปี กว่า 30 ปีทำงานมาตลอด ประสบความสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง ถือเป็นบทเรียนชีวิต การตัดสินใจทำธุรกิจในวัยใกล้เกษียณ ผมไม่ต้องการเงินเยอะแยะ ไม่ต้องการรวยเป็น 100 ล้าน 1,000 ล้าน แต่มันคือความท้าทาย และเราหยุดเรียนรู้ไม่ได้”

มองว่าอายุ 50 ปี หรือ  60 ปีก็เริ่มทำธุรกิจได้ คนที่ล้มเหลวมาตลอด อาจมาประสบความสำเร็จตอนอายุ 60 ปีก็มี และในยุคนี้ก็ไม่แปลกที่จะมีคนหนุ่มสาวประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุน้อย

“ผมภูมิใจที่สร้างธุรกิจ จากร้านเล็กๆ ที่มีพนักงาน 4-5 คน  วันนี้มี 150 คนที่ต้องดูแล  และตัวผมเองก็ไม่เป็นภาระให้คนอื่นต้องมาเลี้ยงดู เชื่อว่าคนหลังวัยเกษียณยังมีโอกาสทำงานต่อได้ เมื่อสังคมให้โอกาสคนรุ่นใหม่ ในยุคที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย ก็ต้องให้โอกาสกับคนสูงวัยได้ทำงานสร้างรายได้ เพื่อไม่เป็นภาระกับคนรอบข้าง ใช้ชีวิตอย่างสนุก และเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา”

ชีวิตหลังการเมืองวันนี้ของ คุณสุรนันทน์  โฟกัสไปที่การสร้างธุรกิจ “เบรนเวค ฟู้ด” ที่ต้องทำให้ “กำไร” เพื่อส่งคืนผลตอบแทนให้กับผู้ร่วมลงทุน แม้ตลอดชีวิตการทำงานกว่า 30 ปี ที่ไม่เคยเป็นเส้นตรงและเจอกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ต้องบอกว่าการมาเริ่มต้นธุรกิจในวัย 54 ปี ก็ไม่ใช่สิ่งที่เสียเวลาไปเปล่าๆ  เพราะถ้าเรียนจบแล้วทำธุรกิจเลยคงเจ๊งไปแล้วเพราะไม่มีประสบการณ์ใดๆ  ช่วงเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมาจึงเป็นการเก็บเกี่ยวประสบการณ์เรียนรู้ธุรกิจ การบริหารคน ความรู้ที่สั่งสมมาตลอดชีวิต ทำให้เริ่มต้นใหม่ได้ทุกวัน

แต่หากถามว่ามีโอกาสจะกลับไปทำงาน “การเมือง” อีกไหม  คุณสุรนันทน์ ก็ยังตอบไม่ได้  เพราะอย่างที่บอกไว้ว่าชีวิตเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา หากการทำงานการเมือง ที่มีเป้าหมายช่วยสังคมและงานสาธารณะ ก็ไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งอะไร และอาจไม่ต้องทำงานการเมืองก็ได้ แต่เป็นนักธุรกิจที่ช่วยงานสาธารณะ ก็เท่ากับได้ช่วยสังคมแล้ว


แชร์ :

You may also like