Tencent (เทนเซ็นต์) ถือเป็นยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีที่มีความแข็งแกร่งด้านแพลตฟอร์มดิจิทัลและโซลูชั่นจากแดนมังกร โปรดักท์ที่ให้บริการในไทยเจาะตรงกลุ่มผู้บริโภค (B2C) เริ่มจาก News & Portal แบรนด์ Sanook ขยายต่อสู่กลุ่มบันเทิงเพลงและหนัง JOOX และ WeTV ในฝั่งธุรกิจ B2B เปิดตัวเซอร์วิสด้วยระบบ AI และ Cloud ซึ่งเป็นเทรนด์เทคโนโลยี ผลักดันวิชั่น Tencent 2020 ก้าวสู่ Content Beyond App
ธุรกิจที่ “เทนเซ็นต์” มีความแข็งแกร่งในประเทศไทย คือ “ดิจิทัล แพลตฟอร์ม” ทั้งกลุ่มคอนเทนต์ข่าวสารอย่าง เว็บไซต์ Sanook (สนุก) ความบันเทิงและมัลติมีเดีย JOOX (จู๊กซ์) WeTV (วีทีวี) และ เทนเซ็นต์ เกมส์ กลยุทธ์ที่จะดึงผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมกับแพลตฟอร์มและสร้างคอมมูนิตี้ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ คือการสร้าง Story หรือ “คอนเทนต์” ที่ตอบสนองความสนใจแต่กลุ่ม โดยมีเทคโนโลยีจุดแข็งของเทนเซ็นต์มาช่วยสนับสนุน
ปั้นออริจินัลคอนเทนท์เจาะจีน
กลยุทธ์ของเทนเซ็นต์ ปี 2020 วางไว้ 3 เรื่องหลัก คือ การสร้างออริจินัล คอนเทนต์, คอมมูนิตี้ และ นวัตกรรม ผ่านเทคโนโลยี AI ผ่าน Cloud ในทุกเซอร์วิสและธุรกิจที่ให้บริการ
คุณกฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จํากัด กล่าวว่ากลยุทธ์ การสร้าง Original Content ในทุกแพลตฟอร์มทั้งข่าวและแพลตฟอร์มเอนเตอร์เทนเมนต์ เป็นการสร้างแตกต่างและดึงผู้บริโภคให้อยู่กับเทนเซ็นต์ ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์
สำหรับ WeTV แพลตฟอร์มให้บริการวีดีโอสตรีมมิ่ง เซอร์วิสที่ได้เปิดตัวไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา และเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากการนำซีรีส์ย้อนยุคเรื่องดัง “ปรมาจารย์ลัทธิมาร” หรือ The Untamed ของนักแสดงชื่อดัง “เซียวจ้าน-หวังอี้ป๋อ” มาออกฉาย ทำให้ยอดผู้ใช้งานแอป WeTV เพิ่มขึ้น 250%
ใน 2020 WeTV จะเน้นการทำ ซีรีส์ ออริจินัล มากขึ้น โดยมีโปรแกรมยักษ์ที่ร่วมกับ GDH ผลิตซีรีส์ “ฉลาดเกมส์โกง เดอะซีรี่ย์” (Bad Genius the Series) ซีรี่ส์เรื่องนี้จะเผยแพร่พร้อมกัน ทั้ง WeTV ในไทยและ แพลตฟอร์ม “เทนเซ็นต์ วิดีโอ” ในจีน ที่มีผู้ชมกว่า 500 ล้านคน เชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากทั้ง 2 ประเทศ จากกระแสความนิยมภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ทำรายได้ในโรงภาพยนตร์ในจีนกว่า 1,000 ล้านบาทมาแล้ว
ออริจินัล คอนเทนต์ของ WeTV ปี 2020 จะส่งออกคอนเทนต์ซีรีส์ไทย ไปทำตลาดในต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน ที่เป็นบริษัทแม่ของเทนเซ็นต์ ดังนั้นผู้ชมที่จะดูซีรีส์ไทย 1,000 ล้านคนต่อไป อาจจะอยู่ที่เมืองจีน
โดย WeTV วางเป้าหมายผลิตซีรีส์ ออริจินัล คอนเทนต์ ไตรมาสละ 2 ซีรีส์ มีโปรเจ็กต์ใหม่ๆ ร่วมกับพาร์ทเนอร์ต่อเนื่องตลอดทั้งปี ปัจจุบัน WeTV มียอดดาวน์โหลดเดือนละ 1 ล้านดาวน์โหลด
ส่วน JOOX จะมีเอ็กซ์คลูซีฟคอนเทนต์ Collaboration Projects เชิญศิลปินที่มีแนวเพลงต่างกันมาทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น การ Collab เพลงดังกับศิลปิน, รุ่นใหม่ร้องเพลงเก่า, ศิลปินไทยกับต่างชาติ เช่น แคมเปญ JOOX Original 100×100 ที่ยังทำต่อเนื่องในปี 2020 ปัจจุบัน JOOX เป็นมิวสิค แอป ที่มียอดดาวน์โหลดไปแล้ว 70 ล้านครั้ง และมียอดฟังเพลงกว่า 3,000 ล้านครั้งในปี 2018
สร้างคอมมูนิตี้ “เพลง-เกมส์”
คอมมูนิตี้ใหญ่ที่สุดคือ “เพลง” เพราะเข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย ซึ่งแต่ละกลุ่มจะนิยมศิลปินและเพลงที่แตกต่างกัน กลยุทธ์การสร้าง คอมมูนิตี้ (Community) ของเทนเซ็นต์ ผ่าน JOOX เป็นการใช้ข้อมูลอินไซต์ของผู้ฟังแต่ละกลุ่มว่านิยมเพลงแบบไหนและศิลปินคนไหน เพื่อนำข้อมูลมาต่อยอดสร้างคอนเทนต์และอีเวนท์ ที่ตรงกับความสนใจของคอมมูนิตี้
ที่ผ่านมาคอมมูนิตี้ของ JOOX ได้หา Talent ใหม่ๆ ร่วมกับศิลปินทุกค่าย รวมทั้งดึง Influencer และ KOL มาสร้างออริจินัล คอนเทนต์ ผ่านฟีเจอร์ JOOX VDO Karaoke ซึ่งเป็นกลุ่มที่สามารถสร้างเอ็นเกจเมนต์กับคอมมูนิตี้ได้ดี อีกทั้งได้สร้างอีโคซิสเต็มส์การหารายได้ ผ่านการมอบของขวัญ (รีวอร์ด) ให้กับคนที่ร้องถูกใจ รวมทั้งสร้างเป็น Branded Song ที่ตอบโจทย์ “แบรนด์ สปอนเซอร์” ที่ผ่านมา JOOX ได้ผลิต Branded Song ให้กับ Tomorrow by UOB เป็นเพลงแรกที่สามารถติดชาร์ท JOOX
ส่วน เทนเซ็นต์ เกมส์ (Tencent Games) PUBG Mobile (พับจีโมบาย) ได้สร้างคอมมูนิตี้ผ่าน eSport Ecosystem ในประเทศไทยและในระดับโลก ด้วยการจัดอีเวนท์เพื่อแข่งขัน 15 ครั้งใน 12 จังหวัด มีคนเข้ามาร่วมกิจกรรมอีเวนท์กว่า 30,000 คน ปัจจุบันเกม PUBG Mobile มียอดผู้ชมกว่า 17 ล้านวิว มีนักเล่นเกมอีสปอร์ต 18,000 คน มียอดดาวน์โหลดเกมทั่วโลกอยู่ที่ 400 ล้านครั้ง
เดิม คอมมูนิตี้ อีสปอร์ต ถูกมองว่าเป็นคอมมูนิตี้ของเด็กติดเกม แต่ปัจจุบัน 82% ของแฟนเกม บอกว่าพวกเขาสนใจที่จะเข้ามาร่วมกับคอมมูนิตี้ ซึ่งไม่ใช่อยู่เพียงในโลกออนไลน์เท่านั้น เพราะ 61% บอกว่าต้องการ “คอนเนค” กับกลุ่มคอมมูนิตี้ และเพื่อนที่รู้จักบนเกมในโลกออฟไลน์ด้วย ทำให้อีสปอร์ต สามารถสร้างคอมมูนิตี้ได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ (O2O) ปีที่ผ่านมาอีสปอร์ตในไทยถือว่าเติบโตสูง รายได้ติดอันดับ 20 ของโลก
รีแบรนด์ Sanook เปิดเว็บใหม่ Sanook77.co
โปรดักท์แรกของเทนเซ็นต์ในประเทศไทย คือกลุ่ม News & Portal แบรนด์ Sanook ที่ครบรอบ 21 ปี และได้รีแบรนด์ครั้งใหญ่ ด้วยการเปลี่ยนโลโก้และพัฒนาแอปพลิเคชันใหม่ ด้วยฟีเจอร์ต่างๆ อาทิ เทคโนโลยี Text to Speech ที่ทำหน้าที่แปลงข่าวสารและเนื้อหาบน Sanook ให้ออกมาเป็นเสียง
บริการ Text to Speech ที่แปลงเนื้อหาเป็นเสียงให้เสพคอนเทนต์ง่ายขึ้น ไม่ต่างจากการดูภาพ หรือดูวิดีโอ พบว่าเทคโนโลยี Text to Speech ทำให้คนเสพคอนเทนท์มากขึ้น 30% ปัจจุบันทั้ง Financial Times และ Bloomberg ได้ใช้เทคโนโลยีนี้แล้วในแพลตฟอร์มของตัวเอง
เทรนด์เทคโนโลยีในกลุ่ม Reading Content เป็นการพัฒนาฟีเจอร์ที่ตอบพฤติกรรมผู้บริโภค จากการเติบโตของ Podcast (การสร้างคอนเทนต์ด้วยเสียง) ซึ่งนับจากปี 2006 ที่ผู้บริโภคบอกว่ารู้จักเพียง 22% มาปี 2019 บอกว่ารู้จัก Podcast 64% และยังเป็นแนวโน้มที่เติบโตต่อเนื่อง เพราะเป็นคอนเทนต์ที่เสพง่าย มีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาสร้างคอนเทนต์ให้ฟัง
นอกจากนี้ Sanook เปิดตัวแพลตฟอร์มเว็บไซต์ใหม่ Sanook77.co ที่เน้นข้อมูลข่าวสารระดับภูมิภาคในแต่ละจังหวัด เป็นการทำคอนเทนต์ที่ตอบสนองผู้บริโภคที่ปัจจุบัน 60% ของผู้เสพคอนเทนต์ Sanook อยู่ในต่างจังหวัด แอป Sanook จะมีเทคโนโลยี AI และ Machine Learning เรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อฟีดคอนเทนต์ที่แตกต่างกันตามความสนใจของแต่ละคน และมีระบบ Location Base Service ที่จะฟีดคอนเทนต์ ในแต่ละจังหวัดที่ผู้ใช้งานอยู่ในพื้นที่ต่างกัน หรือเดินทางไปในจังหวัดต่างๆ ก็จะเห็นฟีดข่าวของจังหวัดนั้นๆ ถือเป็นการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในโปรดักท์ ปัจจุบัน Sanook มียอดผู้ใช้งานอยู่ที่ 41 ล้านราย
เกาะเทรนด์ AI และ Cloud
ส่วนกลยุทธ์ การพัฒนานวัตกรรม (Innovation) ของเทนเซ็นต์ มาจากเทรนด์หลักคือ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และคลาวด์ (Cloud) ที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งทุกอุตสาหกรรมจะหยิบยกมาใช้ในธุรกิจ โดย PwC ประเมินว่าปัจจุบัน AI สร้างรายได้ราว 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่อีก 10 ปีข้างหน้า หรือในปี 2030 จะเพิ่มเป็น 15.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ของจีดีพีทั่วโลก
เทคโนโลยี AI และ Cloud เป็นโซลูชั่นและบริการที่จะได้รับความสนใจมากขึ้นในปีหน้า และเป็นธุรกิจที่บริษัทจะให้บริการในฝั่ง B2B ผ่านบริการ เทนเซ็นต์ คลาวด์ ที่รองรับความต้องการของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนพร้อมศูนย์ดาต้า เซ็นเตอร์ในเมืองไทย
บริการโซลูชันในฝั่ง B2B โฟกัส 3 ด้าน คือ สมาร์ทโซลูชัน ,แพลตฟอร์ม และอินฟราสตรัคเจอร์ ในกลุ่มธุรกิจ รีเทล,เฮลท์แคร์, ไฟแนนซ์, การศึกษา,การท่องเที่ยวและการเดินทาง ซึ่งถือเป็นเซอร์วิสที่เพิ่งเริ่มต้นให้บริการในไทย
ปัจจุบัน เทนเซ็นต์ ประเทศไทย รายได้หลัก 60-70% มาจากดิจิทัลแพลตฟอร์ม Sanook, JOOX และ PUBG สัดส่วนอีก 20-30% มาจาก WeTV และบริการคลาวด์
แม้จะเป็นบริษัทเทคโนโลนีและออนไลน์ แต่หลายบริการของเทนเซ็นต์ เป็นการเชื่อมแพลตฟอร์ม ออนไลน์และออฟไลน์ ตามการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค เพื่อสร้างคอมมูนิตี้ผู้ใช้บริการให้เติบโต เพื่อทำให้ เทนต์เซ็นต์ 2020 ก้าวสู่เป้าหมาย Content Beyond App