บมจ.ซิกน่า ประกันภัย เปิดเผยข้อมูลจากผลการสำรวจ “คะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่แบบ 360° ประจำปี 2019″ (2019 Cigna 360 Well-Being Survey) โดยทำการสำรวจโฟกัสไปใน 5 เรื่องสำคัญ ได้แก่ ด้านครอบครัว สุขภาพ สังคม การเงิน และการงาน ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างจาก 23 ประเทศ ในทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยใน USA, UK , อินโดนีเซีย, จีน และอินเดีย ใช้จำนวนกลุ่มตัวอย่างที่ราว 1พันคน ขณะที่ประเทศอื่นๆ อาทิ UAE, ซาอุดิอาระเบีย, แอฟริกาใต้, ไนจีเรีย, แคนาดา, เม็กซิโก, บราซิล, สเปน, ตุรกี, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, สิงคโปร์, เกาหลี,ไต้หวัน,ฮ่องกง, ออสเตรีเลีย, นิวซีแลนด์ และประเทศไทย ใช้กลุ่มตัวอย่างอยู่ที่ประมาณ 500 คน
ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจแสดงให้เห็นว่า 84% ของประชากรโลก กำลังได้รับผลกระทบจากปัญหาความเครียด จนส่งให้กลายเป็นปัญหาเรื้อรังอื่นๆ ด้านสุขภาพตามมา รวมทั้งยังส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคภัยไข้เจ็บที่มีต้นเหตุมาจากภาวะในเรื่องของความเครียดตามมามากถึง 75% เลยทีเดียว
คนไทยเครียดสูงอันดับ 5 ของโลก
ขณะที่ผลสำรวจของประเทศไทย พบว่า เป็นประเทศมีความเครียดสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก จากทั้ง 23 ประเทศที่ทำการสำรวจในครั้งนี้ โดยมีคนไทยถึง 91% ยอมรับว่าตัวเองมีความเครียด ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 84% และที่แย่ไปกว่านั้น ก็คือ มีอยู่ราว 7% ในจำนวนนี้ ไม่สามารถหาคำตอบได้ว่า ความเครียดที่ตัวเองกำลังเผชิญอยู่นั้น เกิดขึ้นมาจากสาเหตุใด ทำให้ไม่สามารถจัดการกับความเครียดเหล่านั้นได้
โดยยังพบว่า ความเครียดที่เกิดขึ้นในที่ทำงานกำลังกลายเป็นปัญหาที่ส่งผลรุนแรงมากขึ้น โดยที่คนวัยทำงานชาวไทยถึง 81% ระบุว่า พวกเขาอยู่ในวัฒนธรรมการทำงานที่ต้องตื่นตัวตลอดเวลา ส่งผลให้มีความเครียดเพิ่มสูงขึ้น แต่ในภาพรวมของคนไทยส่วนใหญ่ที่เหลือ ยังสามารถรับมือและบริหารจัดการกับความเครียดเหล่านั้นได้
ขณะที่เกือบทั้งหมด เห็นด้วยว่า ความเครียดในสถานที่ทำงานจะส่งผลเชิงลบ ต่อประสิทธิภาพการทำงานและนำไปสู่บรรยากาศการทำงานที่น่าหดหู่มากขึ้น โดยที่ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ส่งผลให้คนไทยเกิดการเจ็บป่วยได้มากขึ้น เช่น พบว่า ในกลุ่มคนที่มีความเครียด มีสัดส่วนป่วยเป็นโรคหัวใจสูงถึง 20% เมื่อเทียบกับคนทั่วไปที่ไม่ได้เผชิญกับภาวะความเครียด ที่มีโอกาสป่วยเป็นโรคหัวใจได้เพียง 9% เท่านั้น
พร้อมกันนี้ คะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่โดยภาพรวมของประเทศไทย ถือว่ามีคะแนนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเพียงเล็กน้อย เมื่อพิจารณาจากปัจจัยในด้านสังคม ด้านครอบครัวและด้านการเงิน แต่พบว่า คะแนนในด้านสุขภาพร่างกาย และด้านการงานลดลง โดยเฉพาะความกังวลหลักๆ ของคนไทยคือ การนอนหลับพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ การทานอาหารที่ไม่ค่อยดีต่อสุขภาพ ไม่มีเวลาออกกำลังกาย รวมถึงไม่สามารถหาเวลาไปพบปะเจอเพื่อนฝูงได้ แม้ว่าจะมีเพื่อนที่สามารถพูดคุยด้วยแบบเปิดอกก็ตาม
นอกจากนั้นคนไทยยังรู้สึกว่าตนเองไม่มีความมั่นคงด้านการเงิน โดยเฉพาะเรื่องเงินเดือน และเรื่องเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลของคนในครอบครัวหากเกิดการเจ็บป่วย แต่สิ่งที่ดีขึ้นคือคนไทยมีภาวะความเครียดในที่ทำงานน้อยกว่าคนในประเทศอื่นๆและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับหัวหน้างาน
เนื่องจากพบว่า มีคนไทยเกินครึ่งระบุว่านายจ้างให้สวัสดิการเพื่อดูแลสุขภาพ โดยมี 2 ใน 3 ระบุว่า นายจ้างยังให้การสนับสนุนในเรื่องการจัดการความเครียดในที่ทำงาน เมื่อเปรียบเทียบกับ 36% ที่เป็นค่าเฉลี่ยทั่วโลก และยังรู้สึกว่าสวัสดิการเหล่านี้ให้ความสำคัญเฉพาะสุขภาพด้านร่างกายมากกว่าด้านจิตใจ โดยพวกเขาต้องการแนวทางการจัดการความเครียดจากนายจ้างแบบองค์รวมเพื่อส่งเสริมให้มีสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งโดยรวมแล้วคนไทยมีการบริหารจัดการความเครียดของตนเองได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ
แซนด์วิชเจนเนอเรชัน กดดันหนักที่สุด
หากพิจารณาผลการศึกษาในรายละเอียด จะพบว่า คนไทยช่วงอายุระหว่าง 35-49 ปี หรือที่เรียกว่า “กลุ่มแซนด์วิชเจนเนอเรชั่น” เพราะเป็นกลุ่มหลักที่ต้องมีหน้าที่ในการดูแลคนรอบตัว และต้องรับมือกับปัญหาในชีวิตทุกๆ ด้าน ทั้งการต้องทำงานหนัก การมีวิถีชีวิตประจำวันที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ
รวมทั้งยังมีปัญหาด้านการเงินมากกว่าช่วงวัยอื่นๆ สอดคล้องกับผลการสำรวจในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ที่พบเช่นเดียวกันว่า กลุ่มคนในช่วงอายุประมาณนี้ คิดว่าตนเองไม่สามารถใช้ชีวิตตามที่ตั้งมาตรฐานไว้ได้ และกังวลเรื่องการวางแผนค่าใช้จ่ายระยะยาว เช่น ค่าที่อยู่อาศัย หรือการวางแผนสำหรับการเกษียณที่มีคุณภาพ โดยที่กลุ่มแซนด์วิชเจนเนอเรชั่นนี้ ยังคงเป็นกลุ่มที่มีคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่น้อยที่สุดแทบทุกด้านติดต่อกันมาทุกปี
โดยพบว่า ความเครียดของคนรุ่นนี้เกิดจากแรงกดดันจากการที่ต้องดูแลทั้งพ่อแม่และครอบครัวของตนเองให้มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี เนื่องจากการมีชีวิตที่ดีนั้นไม่เพียงแต่ต้องใช้เงินจำนวนมากเท่านั้น แต่ยังต้องมีการจัดสรรเวลาให้กับครอบครัวอย่างเพียงพอรวมไปถึงการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงอีกด้วย
ซึ่งคนกลุ่มนี้มองว่า ค่อนข้างทำได้ยากมาก เพราะจำเป็นต้องทุ่มทำงานหนักจนไม่มีเวลาพอที่จะไปทำเรื่องอื่นๆ แม้แต่เวลาที่จะให้กับครอบครัว สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการวางแผนแก้ไขโดยด่วน เนื่องจากคนรุ่นนี้ถือเป็นคนกลุ่มหลักที่มีทักษะสูงในการทำงานและเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ซิกน่า จัดแคมเปญ รู้เท่าทันความเครียด
แนวโน้มปัญหาความเครียด ที่มีอัตราการเพิ่มพูนขยายวงกว้างอย่างรวดเร็วมากขึ้นในประเทศไทยนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัยทำงาน รวมทั้งผลกระทบจากปัญหาความเครียดสะสมเรื้อรัง ที่กลายเป็นสาเหตุหลักที่มีผลกระทบโดยตรงต่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพและการอยู่ร่วมกันในสังคม คนไทยที่มีความเครียดสะสมก่อให้เกิดผลกระทบของความเครียดที่ส่งต่อร่างกายเช่น การทำให้เกิดโรคนอนไม่หลับ โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน
คุณธีรวุฒิ สุธนะเสรีพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิกน่า ประเทศไทย เปิดเผยว่า ซิกน่า ได้จัดทำแคมเปญ ”เผยความเครียดที่มีตัวตน” (SEE STRESS DIFFERENTLY) สร้างความตระหนักรู้ในตัวตนของความเครียด และผลกระทบที่มาจากความเครียดสะสมเรื้อรัง พร้อมทั้งนำเสนอวิธีการจัดการความเครียดเหล่านั้นได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยการจัดทำแบบทดสอบทางออนไลน์เพื่อให้ทุกคนสามารถวัดระดับความเครียดของแต่ละบุคคลได้ด้วยตัวเอง ผ่านการทำแบบทดสอบออนไลน์เพื่อวัดระดับความเครียดผ่านเว็บไซต์ https://www.cigna.co.th/mystressplan โดยสามารถเข้าไปทดลองวัดระดับความเครียดของตัวเองได้อย่างต่อเนื่องไปตลอดปี 2019
นอกจากนี้ยังมีการจัดทำโปรแกรมกิจกรรมพิเศษเพื่อเป็นการลดระดับความเครียด โดยมีชื่อที่สามารถจำได้โดยง่ายว่า “PLAN” P (ระยะเวลาในการผ่อนคลาย) L (สถานที่ผ่อนความเครียด) A (กิจกรรมที่เพลิดเพลินทำให้ผ่อนคลายความเครียด) N (คนที่จะร่วมผ่อนคลายความเครียดไปด้วยกัน)
“ไลฟ์สไตล์และการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะในเมืองหลวงที่ต้องเครียดท้ังการทำงาน การเดินทาง หรือการ Connect กับโลกโซเชียลตลอดเวลาอาจทำให้อาจมีความเครียดได้โดยไม่รู้ตัว รวมทั้งปัญหารอบด้านทั้งเรื่องสุขภาพ การงาน การเงิน ทำให้คนไทยป่วยบ่อยขึ้น ทั้งโรคจากความเครียดอย่างโรคหัวใจ มะเร็ง หรือจากพฤติกรรมในการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ เช่น โรคกระเพราะ กรดไหลย้อน ออฟฟิศซินโดรม และเพิ่มความเครียดมากขึ้น แต่หากรู้เท่าทันและสามารถจัดการได้ ก็จะช่วยให้สามารถบาลานซ์การใช้ชีวิตและดูแลสุขภาพได้มากขึ้น”
Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand