หลังจากเปิดตัวในระดับโลกไปแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา กับบริการ YouTube Music ล่าสุดก็เกิดการเปิดตัวแบบปูพรมในหลายประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วอย่างเป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฮ่องกง, ไต้หวัน, ฟิลิปปินส์ รวมถึงประเทศไทย สำหรับบริการ YouTube Music ทั้งแบบฟรีและแบบมีค่าบริการที่ใช้ชื่อว่า YouTube Music Premium โดยเคาะราคาเริ่มต้นที่ 129 บาทต่อเดือนสำหรับคนที่อยากฟังเพลงยาว ๆ ไม่มีโฆษณาคั่น แต่หากจ่ายเพิ่มเป็น 159 บาทก็ได้จะสิทธินั้นบนแอปหลักอย่าง YouTube ร่วมด้วย
เหตุผล Google เปิดตัว Youtube Premium และ YouTube Music ในไทย
อะไรทำให้ Google ตัดสินใจเปิดตัวโมเดลการเก็บเงินเพื่อแลกกับการไม่เห็นโฆษณาบนแพลตฟอร์มหลังจากให้บริการฟรีมาโดยตลอดนั้น หากจะเล่าให้เห็นภาพที่ชัดขึ้น จะพบว่ามีการเตรียมการเพื่อนำไปสู่การเปิดตัวครั้งนี้มาค่อนข้างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดการปัญหาด้านลิขสิทธิ์เพลงที่ทางคุณมุกพิม อนันตชัย หัวหน้าฝ่ายพันธมิตร ธุรกิจ YouTube ประเทศไทย เคยให้ข้อมูลไว้เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมาว่า Google มีการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ค่ายเพลงต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยที่ 2 มาจากความสนใจของผู้ใช้บริการที่ YouTube พบว่าในแต่ละเดือนมีผู้คนเข้ามาฟังเพลงบน YouTube มากกว่า 1 พันล้านคน ซึ่งถ้าเจาะเฉพาะประเทศไทย พบว่า คอนเทนต์บันเทิงคือคอนเทนต์อันดับหนึ่งที่คนเข้ามาเสพจากแพลตฟอร์ม และ 70% ของผู้ตอบแบบสอบถาม เข้ามาฟังเพลงใน YouTube ทุกวัน
นอกจากนี้ หากแบ่งเป็นช่วงอายุ ตัวเลขจาก Ipsos พบว่า คนที่อายุระหว่าง 16 – 34 ปีมากถึง 77% เข้ามาฟังเพลงใน YouTube ส่วนกลุ่มที่อายุ 35 ปีขึ้นไปก็มีถึง 62% ที่เข้ามาฟังเพลงเช่นกัน
“เพลงเป็นคอนเทนต์ที่ทำให้แพลตฟอร์มเราสามารถ Engage กับคนได้เยอะมาก ไม่เฉพาะแต่ผู้ฟัง เรายังพบว่ามีศิลปินกว่า 2 ล้านคนเข้ามาเผยแพร่งานของตัวเองผ่านแพลตฟอร์มของเรา เพื่ออยากคอนเน็คกับคนทั่วโลกด้วย” คุณมุกพิมกล่าว
อีกเหตุผลสำคัญก็คือการเติบโตของ “เศรษฐกิจดิจิทัล” ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มาแรงมาก ซึ่งหลาย ๆ คนคงได้ทราบกันไปแล้วกับการเปิดเผยรายงานเรื่อง “e-Conomy SEA 2019” ภายใต้ความร่วมมือกันของ Google, Tamesek และ Bain & Company ที่ระบุว่า เศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วจนมีมูลค่าแตะ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐเป็นครั้งแรกในปี 2019
ซึ่งตัวเลขนี้สะท้อนว่า ผู้บริโภคในภูมิภาคนี้มีความคุ้นเคยกับการใช้จ่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และรายงานชิ้นนี้คาดการณ์ด้วยว่ามูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเติบโตแตะ 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2025 เลยทีเดียว
ทั้งหมดนี้คือจังหวะเวลาที่ Google น่าจะมองว่าเหมาะสมแล้วที่ YouTube Music จะเข้ามาร่วมวงด้วย
YouTube Music คืออะไร และความ Premium ในราคา 129 บาทให้อะไรบ้าง
YouTube Music คือแอปพลิเคชันสตรีมมิ่งเพลงที่แยกออกมาจากแอปหลักอย่าง YouTube (เข้าไปดาวน์โหลดได้ใน App Store หรือ Google Play Store) โดยใน YouTube Music นี้จะให้บริการเฉพาะเนื้อหาในหมวดหมู่เพลงเท่านั้น รวมทั้งมิวสิควิดีโอ, เพลง Cover, Remix, Live Performance ของศิลปิน (ส่วนคอนเทนต์ประเภทเสียงอื่น ๆ เช่น พ็อดแคสต์บทสัมภาษณ์ ฯลฯ ที่ปัจจุบันมีหลายค่ายนิยมทำและนำไปเผยแพร่ใน YouTube จะไม่ถูกนำมารวมไว้ใน YouTube Music แต่อย่างใด)
โดยฟีเจอร์หลัก ๆ ที่ผู้ใช้งานจะได้รับจาก YouTube Music ไม่ว่าจะจ่ายเงินหรือไม่จ่ายเงินก็คือการเข้ามาฟังเพลง, ดูคอนเทนต์จากศิลปินในรูปแบบต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา หรือจะใช้ YouTube Music มีปฏิสัมพันธ์กับศิลปินที่ตนเองชอบ รวมถึงเสิร์ชหาเพลงจากเนื้อร้องก็ได้เช่นกัน
นอกจากนั้น ยังพบว่ามีการแนะนำเพลงได้ตามโลเคชันของผู้ใช้งาน เช่น เวลากลางวัน อาจแนะนำเพลงประเภท Easy Listening แต่ถ้าเป็นตอนเย็น หากระบบของ Google ทราบพฤติกรรมของผู้ใช้งานรายนั้นว่าชอบไปออกกำลังกาย YouTube Music ก็จะแนะนำเพลงที่มีจังหวะเร็ว ๆ เพื่อให้การออกกำลังกายสนุกขึ้นได้เช่นกัน
อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และตัดสินใจจ่ายเงิน (subscription) 129 บาทต่อเดือนให้กับแอปพลิเคชัน YouTube Music (ถ้าเป็น iOS ต้องจ่าย 169 บาทต่อเดือน) ก็จะได้เปลี่ยนสถานะเป็น YouTube Music Premium โดยสิ่งที่จะได้รับเพิ่มก็คือ
- ดาวน์โหลดเพลงมาฟังแบบออฟไลน์ได้
- ขณะฟังเพลง สามารถสลับหน้าจอไปใช้งานแอปพลิเคชันอื่น ๆ ได้อย่างอิสระ หรือจะล็อกหน้าจอก็ยังสามารถฟังเพลงได้อย่างต่อเนื่อง
- ไม่มีโฆษณาคั่น
แต่หากตัดใจยอมจ่าย 159 บาทต่อเดือน (iOS เริ่มต้นที่ 209 บาทต่อเดือน) คราวนี้จะได้สถานะเป็นระดับท็อป นั่นคือ YouTube Premium และสามารถดาวน์โหลดคอนเทนต์ทั้งบนแอปหลักอย่าง YouTube และแอปรอง YouTube Music มาฟังแบบออฟไลน์ได้, ล็อกหน้าจอขณะฟังได้ และไม่มีโฆษณาคั่น กันไปเลย
เอาใจครอบครัว เปิดตัว Family Plan ด้วย
ส่วนคนที่อยากได้แบบ Family Plan ก็มีเช่นกัน โดยราคา Subscription ของ YouTube Music Premium สำหรับระบบแอนดรอยด์อยู่ที่ 199 บาทต่อเดือน (รองรับได้สูงสุด 5 แอคเคาน์) ส่วน iOS อยู่ที่ 259 บาทต่อเดือน
ส่วนราคา Family Plan ของ YouTube Premium ระบบแอนดรอยด์อยู่ที่ 239 บาทต่อเดือน ส่วน iOS อยู่ที่ 309 บาทต่อเดือน
งานนี้ YouTube ประเทศไทยไม่ยอมเปิดเผยตัวเลขว่าคาดหวังว่าจะมีผู้สมัครใช้บริการ Subscription ของทางค่ายมากน้อยแค่ไหน ส่วนผู้ที่ลงโฆษณาบนแพลตฟอร์ม และกังวลว่าโฆษณาจะไม่ผ่านสายตาผู้บริโภคเหมือนเคยนั้น คุณมุกพิม มองว่า การมีทางเลือกให้ผู้บริโภคจ่ายเงินเพื่อแลกกับการไม่ต้องชมโฆษณาจะไม่กระทบต่อวงการโฆษณาแน่นอน เพราะในหลายประเทศที่เปิดตัว YouTube Premium ไปก่อนหน้า ก็ไม่มีผลกระทบใด ๆ ตามมาเช่นกัน อีกทั้งสัดส่วนของผู้ที่จ่ายเงิน Subscription นี้ก็ยังไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับผู้ที่รับชมคอนเทนต์แบบมีโฆษณาคั่น ดังนั้นนักโฆษณา ยังไม่ต้องเป็นห่วงค่ะ