หากย้อนไปเมื่อต้นปี 2019 เป็นต้นมา หนึ่งในธุรกิจที่เข้ามาเปลี่ยนภาพของสังคมไทย โดยเฉพาะสังคมเมืองให้พลิกไปอย่างชนิดหน้ามือเป็นหลังมือก็คือบริการ Ride-Hailing และ Food Delivery ที่กลายเป็นสมรภูมิการแข่งขันของแบรนด์ต่างชาติอย่างดุเดือด ไม่ว่าจะเป็น Grab จากสิงคโปร์ หรือ GET บริษัทลูกของ GOJEK จากอินโดนีเซียที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และอีกมากมายหลากหลายแบรนด์ที่ให้บริการอยู่ในตลาดไทยมาก่อนหน้านี้แล้วอย่าง LINE MAN และ Food Panda
สิ่งที่ตามมาจากการแข่งขันของบริการ Food Delivery เหล่านี้ก็คืองานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นที่สะท้อนภาพของสังคมยุคใหม่ เช่น เรื่องของ Lazy Economy หรือสังคมแห่งคนขี้เกียจที่จัดทำโดยวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กับปรากฏการณ์คนรุ่นใหม่เสียดายเวลา และพร้อมจะจ่ายเงินแลกกับการมอบงานบางอย่างให้เป็นหน้าที่ของคนอื่นเพื่อที่ตนเองจะได้ทำงานที่สำคัญจริง ๆ
ขณะที่งานวิจัยจากต่างชาติอย่าง e-Conomy SEA 2019 ของ Google ร่วมกับ Temasek และ Bain & Company ก็ให้ภาพทางด้านเศรษฐกิจที่ชัดเจน โดยชี้ว่า ธุรกิจ Ride-Hailing ซึ่งประกอบด้วย 2 บริการหลัก ๆ อย่าง Food Delivery และการขนส่ง (Transportation) นั้น กำลังเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคนี้เลยทีเดียว กับมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ (ในปี 2019) และมีแนวโน้มจะแตะ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2025
หนึ่งในเหตุผลที่ Ride-Hailing มีส่วนในการสร้างการเติบโตของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมาจาก ตัวเลขจำนวนผู้ใช้งาน (Active Users) ที่ในปี 2015 เคยมีอยู่ราว 8 ล้านคน มาในปี 2019 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 40 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มที่รวดเร็วมาก อีกทั้งบรรดาแพลตฟอร์มยังมีการขยายตัวไปสู่บริการทางการเงิน – ประกันภัย ฯลฯ เพิ่มเติมในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งคาดการณ์ว่าจะนำไปสู่รายได้ที่มากขึ้น
แต่การเปลี่ยนแปลงจากการเข้ามาของ Ride-Hailing ยังไม่จบเพียงแค่นั้น เห็นได้จากประเทศไทยเองที่มีการขยับตัวในหลาย ๆ ด้าน เพื่อเปิดที่ว่างให้ Ride-Hailing ได้มีตัวตนอย่างเป็นทางการ และนั่นทำให้ทีมงาน Brandbuffet ขอรวบรวมความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นมาฝากกัน ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น ไปติดตามกันเลยค่ะ
1. จำนวนร้านอาหารและคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ
ทุกวันนี้ เป็นที่ยอมรับว่าบริการ Food Delivery ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ Ride-Hailing กลายเป็นช่องทางสำคัญในการเข้าถึงผู้บริโภคที่ธุรกิจร้านอาหารต้องใส่ใจ นั่นจึงทำให้เกิดภาพของร้านอาหาร ไม่ว่าแบรนด์เล็กแบรนด์ใหญ่ หรือแม้กระทั่งร้านระดับมิชลินสตาร์ขึ้นไปปรากฏตัวอยู่บนแพลตฟอร์มกันอุตลุด ซึ่งหากเทียบกับในยุคเริ่มต้น อาจไม่มีภาพเหล่านี้ปรากฏให้เห็นมากนัก
โดยการเปิดเผยของคุณวงศ์ทิพพา วิเศษเกษม ผู้อำนวยการฝ่ายแพลตฟอร์มโอเปอเรชั่น GET เผยว่า ปัจจุบัน มีร้านอาหารอยู่บนระบบแล้ว 20,000 แห่ง ขณะที่ด้านของฝั่งคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็เติบโตไม่แพ้กัน โดยตัวเลขของผู้ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างบนแพลตฟอร์มของ GET นั้นอยู่ที่ 40,000 คน จากที่เมื่อกลางปีปีตัวเลขนี้อยู่ที่ราว 30,000 คน
ส่วนในฝั่งของ Grab นั้น พบว่ามีพาร์ทเนอร์ร่วมขับบนแพลตฟอร์มแล้วมากกว่า 150,000 ราย ส่วนร้านอาหารก็มีอยู่ในหลายหมื่นร้านแล้วเช่นกัน ขณะที่ LINE MAN นั้นข้อมูลล่าสุดที่มีการเปิดเผยออกมาพบว่ามีร้านอาหารอยู่บนแพลตฟอร์มแล้วมากกว่า 100,000 ร้าน จากการพาร์ทเนอร์กับทาง Wongnai และมีพนักงานในการจัดส่งแล้วกว่า 50,000 รายจากการพาร์ทเนอร์กับ Lalamove นั่นเอง
2. เกิดภาพของคนขับไปอยู่ใกล้ ๆ ร้านอาหารเจ้าดังก่อนเวลาสั่งอาหาร
ร้านไหนดังหรือไม่ดังบนแพลตฟอร์ม Food Delivery อาจไม่ต้องอาศัยกระแสประชาสัมพันธ์ให้เปลืองเงิน แต่เราอาจสังเกตได้จากช่วงเวลาของมื้ออาหาร ไม่ว่าจะเช้า กลางวัน เย็น ที่มักมีผู้ขับมอเตอร์ไซค์สวมเสื้อหลากสีพร้อมกล่องบรรจุอาหารจอดรออยู่ใกล้ ๆ ร้านเหล่านั้น
ภาพเหล่านี้เกิดจากการใช้ Data ของแพลตฟอร์ม Ride-Hailing ที่มักมีการบอกใบ้ให้กับพาร์ทเนอร์ร่วมขับของตนเอง ว่าบริเวณใดจะมีโอกาสที่คำสั่งซื้อเกิดขึ้นสูง เพื่อที่ว่าพาร์ทเนอร์ร่วมขับเหล่านั้นจะได้สามารถกดรับคำสั่งซื้อและส่งอาหารให้ถึงมือผู้รับได้อย่างรวดเร็วนั่นเอง ซึ่งจากการใช้ Data ดังกล่าว ล่าสุดข้อมูลจาก GET ระบุว่า สามารถจัดส่งอาหารให้ถึงมือผู้รับได้เฉลี่ย 28 นาทีต่อหนึ่งออเดอร์เลยทีเดียว
3. เกิดรูปแบบการส่งอาหารในแนวดิ่ง
แน่นอนว่าบริการ Food Delivery ที่ให้บริการผ่านผู้ขับมอเตอร์ไซค์มีความคล่องตัวสูง อย่างไรก็ดี ความคล่องตัวนี้ยังอาจไม่ครอบคลุมได้ทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น การสั่งอาหารของพนักงานในออฟฟิศ ที่อาจสั่งอาหารภายในอาคารเดียวกัน แต่คนละชั้น นั่นจึงเกิดบริการอีกหนึ่งรูปแบบ ด้วยการให้บริการแบบเดินเท้าแทน โดยบริการที่เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างแล้วก็คือ GrabFood (Walk) ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นบริการซื้อ-ส่งอาหารระยะใกล้ในรัศมี 1 กิโลเมตร โดยเริ่มทดลองให้บริการในพื้นที่ที่มีการเรียกใช้งานสูง
ขณะที่ทางค่าย GET ก็มีการทดสอบบริการในลักษณะเดียวกัน โดยใช้ชื่อว่า GET Runner กับการจัดส่งอาหารในรัศมี 1 กิโลเมตร ซึ่งทาง GET ระบุว่าก็สามารถส่งอาหารได้เฉลี่ย 19 นาทีเลยทีเดียว (ปัจจุบันเปิดทดสอบในย่านใจกลางเมืองเช่นกัน)
แต่ไม่ว่าจะมาจากแพลตฟอร์มใด บริการการส่งอาหารในแนวดิ่งนี้ก็สามารถเข้ามาตอบโจทย์พื้นที่ย่านตึกสูงที่คนขับมอเตอร์ไซต์อาจทำได้ไม่สะดวกเท่าได้ดีทีเดียว
4. ร้านอาหารเปิดแผนกรับออเดอร์จาก Food Delivery เป็นการเฉพาะ
ในปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าชานมไข่มุกคือเครื่องดื่มที่กลับมาได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวาง และมีแบรนด์ดังมากมายเข้ามาเปิดตัวในไทยอย่างต่อเนื่อง แต่การแข่งขันบนโลกค้าปลีกที่รุนแรงทำให้มีหลายเจ้าเลือกที่จะมาเติบโตบนแพลตฟอร์ม Food Delivery แทน เห็นได้จากข้อมูลในอดีตของค่าย GET ที่เปิดเผยว่า ชานมไข่มุกสามารถทำยอดขายบน GET Food ได้ถึง 3 แสนแก้ว ขณะที่ Grab ก็ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า ชานมไข่มุกคือเมนูยอดฮิตของแพลตฟอร์มเช่นกัน
แต่ไม่เฉพาะชานมไข่มุก เพราะอาหารในกลุ่มกาแฟ, ขนมปังปิ้ง, โจ๊ก, ส้มตำ, ยำต่าง ๆ, อาหารไทย, ไก่ทอด หรือแม้แต่อาหารน้องใหม่มาแรงอย่าง หมูปลาร้า ก็ขึ้นมาเป็นอาหารท็อปฮิตติดชาร์ตอยู่บนแพลตฟอร์ม Food Delivery กันอย่างคึกคัก
ปรากฏการณ์เหล่านี้จึงแสดงให้เห็นว่ามีร้านอาหารจำนวนไม่น้อยที่เริ่มปรับตัวเข้าหาแพลตฟอร์มดิจิทัล และมองว่าเป็นช่องทางสร้างรายได้ที่แน่นอนช่องทางหนึ่ง อีกทั้งยังส่งผลให้ร้านอาหาร Local บางแห่งเริ่มมีการเปิดแผนกรองรับ Food delivery เป็นการเฉพาะ เพื่อให้ทางร้านยังสามารถตอบโจทย์การให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง (เช่น ร้านเจ๊โอวข้าวต้มเป็ด ในพื้นที่สามย่านเป็นต้น)
5. ต่อยอดสู่ครัวกลาง และการพัฒนาแพกเกจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ในยุคเริ่มแรกของ Food Delivery ที่มาจากแพลตฟอร์ม Ride-Hailing เราอาจได้เห็นการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบที่ไม่ระบุโลโก้ของแบรนด์เป็นส่วนมาก แต่ในเวลาต่อมา หลาย ๆ ค่ายเริ่มมองเห็นโอกาส และพัฒนาแพกเกจจิ้งของตนเองเพื่อให้ร้านค้าได้ใช้บรรจุอาหาร เห็นได้จากการเปิดตัว Grab Kitchen ในพื้นที่ตลาดสามย่าน ที่เราพบว่ามีการใช้ถุงพลาสติกของ GrabFood เองในการจัดส่งอาหารให้กับลูกค้า
ขณะที่ในส่วนของ GET เราพบว่ามีการนำถุงพลาสติกไปให้ร้านอาหารที่เป็นพาร์ทเนอร์ใช้ในการจัดส่งอาหารเช่นกัน ซึ่่งภาพเหล่านี้ยังต่อยอดไปสู่การพัฒนา Packaging รักษ์โลกด้วย โดยทางคุณธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย เผยว่า การมี Grab Kitchen ขึ้นเป็นครัวกลางในย่านใจกลางเมืองทำให้การปรับใช้ Packaging รักษ์โลกทำได้สะดวกมากขึ้น
6. หมดยุคผู้ช่วยธุรกิจ Local สู่การแข่งขันที่แท้จริง
อย่างไรก็ดี หากสังเกตุแอปพลิเคชันในกลุ่ม Ride-Hailing ในระยะหลังนี้ จะพบว่า เริ่มมีบางอย่างที่แตกต่างไปจากเมื่อตอนต้นปี 2019 พอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการจัดส่งอาหารที่เริ่มคิดค่าจัดส่งตามจริงกับร้านอาหารที่ไม่ใช่พาร์ทเนอร์ของทางแพลตฟอร์ม (ร้านอาหารที่เป็นพาร์ทเนอร์กับทางแพลตฟอร์มจะถูกหักเปอร์เซ็นต์จากราคาอาหารสูงกว่าร้านที่ไม่ได้เป็นพาร์ทเนอร์)
ปรากฏการณ์นี้ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาของวงการสตาร์ทอัพในระดับโลก ที่เคยมาพร้อมค่านิยมว่า การเผาเงินเพื่อชิงความเป็นหนึ่งในตลาดคือสิ่งที่นักลงทุนพร้อมจะยอมแลกเพื่อหวังกำไรสูงสุดหลังจากธุรกิจนี้เข้าตลาดหลักทรัพย์ (IPO) และหนึ่งใน VC ที่เชื่อมั่นในแนวทางดังกล่าวก็อาจเป็น SoftBank ของมาซาโยชิ ซัน ที่ตัดสินใจลงทุนทั้งใน Uber, Grab, GOJEK ซึ่งนั่นทำให้เกิดภาพของการจัดโปรโมชันเพื่อทุ่มตลาดอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรกของ 2019 ของแพลตฟอร์ม Ride-Hailing ในไทย
แต่การ IPO ของ Uber ในช่วงกลางปีที่ผ่านมาน่าจะเป็นตัวทริกเกอร์ที่ทำให้ SoftBank เปลี่ยนใจแบบ 360 องศา หลังพบว่างบการเงินของ Uber นั้นมีการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ส่วนสตาร์ทอัพ Ride-Hailing ที่ยังไม่ IPO นั้นก็เกรงว่าจะได้ปาดเหงื่อกันมากกว่า เพราะคงไม่มีนักลงทุนคนไหนยอมรับได้กับการเกิดขึ้นของ Uber2, Uber3 เป็นแน่ นั่นจึงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้านที่เกิดขึ้นตามมาในช่วงครึ่งปีหลัง เพื่อให้ธุรกิจ Ride-Hailing สามารถอยู่รอดได้จริงในโลกทุนนิยม
7. การเปิดตัวกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์
โชคดีที่เศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีการเติบโตที่สดใส และทำให้ค่ายอย่าง GET และ Grab ที่ยังให้บริการอยู่ในภูมิภาคนี้สามารถหารายได้จากช่องทางอื่น ๆ เพิ่มเติม (ตรงข้ามกับ Uber ที่ตัดสินใจถอนตัวออกไปเมื่อหลายปีก่อน)
โดยหนึ่งในเครื่องมือที่ได้รับการคาดหมายก็คือ “กระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์” (e-Wallet) ซึ่งทุกค่ายในตอนนี้ต่างมีกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ของตนเองกันทั้งสิ้น เช่น GrabPay Wallet ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อไม่นานนี้ ซึ่งบริการดังกล่าวไม่เพียงแต่ใช้ชำระค่าโดยสาร, ชำระค่าอาหาร ฯลฯ ในแพลตฟอร์มได้อย่างเดียว ยังมีการจับมือกับร้านค้าภายนอกให้สามารถรับชำระเงินจากวอลเล็ตดังกล่าวได้ด้วย
โดยร้านค้าที่เข้าร่วมในช่วงแรกกับทาง Grab นั้นประกอบด้วยหลายแบรนด์ดัง ไม่ว่าจะเป็น Major Cineplex, After You, KOI The, Kyo Roll En ฯลฯ (มีแคชแบ็กคืนเงินให้ 20% สำหรับการใช้จ่ายในช่องทางดังกล่าว)
ขณะที่ฟากของ GET ก็อยู่ระหว่างการทดสอบบริการวอลเล็ตของตนเองอยู่ และมีแผนจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2020 นี้เช่นกัน เนื่องจากผู้บริหาร GET ก็มองไปในทิศทางเดียวกันว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคในขณะนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว จากเดิมที่เคยมองว่า Cash is King กลายเป็น Cashless is Better ไปแล้วเรียบร้อย การเปิดตัว e-Wallet ในปีหน้าจึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม
8. การขยับไปสู่บริการด้านสินเชื่อ – ประกันภัยเพื่อสร้างรายได้ใหม่
เมื่อมี e-Wallet ก็อาจถือได้ว่าเครื่องมือทางการเงินสำหรับแพลตฟอร์ม Ride-Hailing ได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว ซึ่งจะนำไปสู่โมเดลการสร้างรายได้ของธุรกิจ Ride-Hailing ในยุคต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการสินเชื่อ (ปัจจุบัน Grab มีการให้สินเชื่อกับพาร์ทเนอร์ร่วมขับในแพลตฟอร์มไปแล้ว 3 ชนิด ได้แก่ สินเชื่อสำหรับเช่าซื้อยานยนต์, สินเชื่อสำหรับซื้อโทรศัพท์มือถือ และสินเชื่อเงินสด ผ่านการจับมือกับธนาคารกสิกรไทย) การทำประกันภัย ฯลฯ
ขณะที่ GET เองก็มีแผนจะเปิดให้บริการลักษณะเดียวกันเช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการจับมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ ในฐานะผู้ร่วมลงทุนหลักของแพลตฟอร์มไปสู่บริการสินเชื่อจากฐานข้อมูลที่ทาง GET เก็บรวบรวมไว้
9. ธุรกิจ Ride-Hailing สู่การเป็นพื้นที่โฆษณา
หนึ่งในรายได้ที่เพิ่มขึ้นของแพลตฟอร์ม Ride-Hailing ก็คือรายได้จากการใช้ข้อมูลที่มีช่วยนักการตลาดในการวางแผนโฆษณา ซึ่งในจุดนี้ ทางผู้บริหาร GET อย่างคุณภิญญา นิตยาเกษรวัฒน์ เองยอมรับว่า ข้อมูลที่แพลตฟอร์มมีสามารถช่วยนักการตลาดได้ในหลายด้าน เช่น ทำให้การลงโฆษณามีประสิทธิภาพมากขึ้น แทนที่จะซื้อโฆษณากระจายไปทั่วกรุงเทพฯ ด้วยเงินมหาศาล ก็อาจเลือกเพียงบางพื้นที่ที่ตรงกับความต้องการของโจทย์ได้ ทำให้สามารถประหยัดเงินได้มากขึ้น
ขณะเดียวกัน ตัวแอปพลิเคชันเองก็สามารถปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่โฆษณาให้กับร้านอาหารต่าง ๆ ได้เช่นกัน เห็นได้จากการมีร้านอาหารพาร์ทเนอร์ที่จะได้รับการโปรโมตอย่างต่อเนื่องทั้งบนแพลตฟอร์มของ GET และ Grab หรือการได้รับสิทธิพิเศษด้านการจัดส่งอาหารในราคาที่แตกต่างจากร้านอาหารทั่วไป
10. เราอาจได้เห็นการจับมือกันของ Ride-Hailing กับอีคอมเมิร์ซ
ข้อสุดท้ายเป็นการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2020 จากเวที Priceza E-commerce 2020 ที่คุณธนาวัฒน์ มาลาบุปฝา ซีอีโอบริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด และนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย คาดการณ์ว่า ธุรกิจ Ride-Hailing เหล่านี้จะผันตัวไปให้บริการส่งของจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเพิ่มเติม เพื่อให้การจัดส่งสินค้าทำได้รวดเร็วมากขึ้นกว่าการเป็นแค่ SameDay Delivery
โดยคุณธนาวัฒน์ได้ยกตัวอย่างบริการในลักษณะเดียวกันว่าเกิดขึ้นแล้วในประเทศเพื่อนบ้านของเรา ไม่ว่าจะเป็น Shopee – Lazada ที่มีบริการส่งสินค้าผ่าน Grab หรือ Go Send (บริการส่งของของ GOJEK) ซึ่งหากการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นจริง จะถือเป็นความท้าทายของธุรกิจค้าปลีกไปอีกคำรบ เนื่องจากว่า แบรนด์ที่เคยใช้มุก “ส่งด่วน-ส่งไว” อาจต้องหาจุดแข็งใหม่เพื่อมาแข่งกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซอีกต่อ
ส่วนในมุมของบริการ Ride-Hailing หากเกิดการจับมือกันระหว่างแพลตฟอร์มดิจิทัลขึ้นจริง ก็ย่อมหมายถึงช่องทางการหารายได้ใหม่ ๆ ที่จะตามมาอีกมากมาย เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกอีคอมเมิร์ซในปัจจุบันเป็นจุดเปลี่ยนด้านรายได้ที่สดใสอีกตัวหนึ่งเลยทีเดียว
ทั้งหมดนี้คือความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นจาก Ride-Hailing ซึ่งแน่นอนว่าในปี 2563 เราอาจได้พบความท้าทายอีกมากตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปัญหาเศรษฐกิจที่หลายประเทศเริ่มรัดเข็มขัดกันแล้ว หรือปัญหาของวงการสตาร์ทอัพที่อาจทำให้ Ride-Hailing อาจไม่ใช่ทางออกด้านรายได้ของพาร์ทเนอร์คนขับในยุคต่อไป มากไปกว่านั้นยังมีเรื่องของ Data Privacy ที่เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าข้อมูลของเราบนแพลตฟอร์มดิจิทัลจะไม่ถูกละเมิด หรือถูกนำไปใช้อย่างไม่เหมาะสม แต่ทั้งหมดนี้ หากมองในแง่ดี เราก็เชื่อว่าคนไทยจะยังสามารถมองหาโอกาสได้อีกมากจากบริการ Ride-Hailing ค่ะ