ปีเก่ากำลังจะผ่านไป ข่าวเล็กข่าวใหญ่ เกิดขึ้นเต็มไปหมด แต่จะมีข่าวไหนที่สร้างความฮือฮา! ให้กับวงการ “ธุรกิจ” อาจมีจำนวนจำกัด BrandBuffet ตกผลึกและคัดกรองข่าวที่มีประเด็นฮอต เป็นที่จับตาของผู้เล่นในตลาด ผู้บริโภค รวมถึงเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์แนวโน้มปีหน้าวงการค้าขาย การลงทุนในประเทศไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไร
1.Digital TV หายไป 7 ช่อง ที่เหลือใช่ว่าจะรอด!!
ประมูลทีวีดิจิทัลอาจสร้างความฮือฮา! ให้วงการธุรกิจ เพราะประเทศไทยจะได้เปลี่ยนผ่านยุคทีวีอนาล็อก เข้าสู่ยุคดิจิทัลเสียที
แต่ 5 ปีผ่านไป..ไม่สิ! แค่ปีแรกของการประกอบกิจการก็อ่วมซะแล้ว เพราะ “ขาดทุน” กันระนาว ไม่พอ “Digital Disruption” ได้เข้ามาแย่งคนดูไปยังแพลตฟอร์มใหม่ๆ สุดท้ายผู้ประกอบการต้องพากัน “ยื้อ”ขาดทุนกันต่อไป จะ “ยุติ” เลิกกิจการก็ไม่ได้ เพราะกฎหมายปิดช่องไม่ให้ผู้ประกอบการทีวีดิทัลทิ้งใบอนุญาตประกอบกิจการ ขอและหารือกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)ก็แล้วเพื่อหาทางออก แต่กลับมีเพียงมาตรการเล็กๆน้อยๆ ที่ช่วย “ต่อลมหายใจธุรกิจ”
ที่สุดอาญาสิทธิ์ มาตรา 44 ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ประกาศออกมาเป็นการช่วย “ปลดล็อค” สถานการณ์ที่ส่อเค้าลางเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ ได้ทันการณ์
พลันที่ประกาศให้ผู้ประกอบการ “คืนไลเซ่นส์” ได้ ข่าวลือตามมาเพียบว่า “ช่องไหน” จ่อยื่นคืนช่องบ้าง ส่วนช่องที่ตัดสินใจ “ชัวร์” ก็แชร์ประกาศทันทีว่าจะคืนช่อง เช่น วอยซ์ทีวี พร้อมหันเข็มทิศธุรกิจสื่อสู่ “ออนไลน์” เต็มตัว ไม่ง้อจอแก้วอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม 1 วันหลัง กสทช.ประกาศให้คืนช่องได้ สิ้นสุดเข็มนาฬิกาที่ 16.00 น. ช่อง 3 เป็นรายสุดท้าย ที่ขอ “จอดำ” ด้วยคน สรุปมี 7 ช่อง โบกมือบ๊ายบาย..ไม่ไหวจริงๆ
จากทีวีดิจิทัลประเภทธุรกิจ 22 ช่อง เหลือ 15 ช่อง หายใจโล่งโปร่งสบายไหม..คำตอบคือ “ไม่” เหตุผลเพราะเม็ดเงิน “โฆษณาแสนล้านบาท” ที่จ้องตาเป็นมันตั้งแต่ทำแผนธุรกิจเพื่อร่วมประมูล กระทั่งได้ช่องมาบริหาร กลับตาลปัตรหมด เม็ดเงินหดตัวลงต่อเนื่อง ซ้ำร้ายสื่อ “ออนไลน์” มาแบ่งเค้กมากขึ้นเรื่อยๆ
คนแวดวงโฆษณามองเกมจอแก้วแย่งคนดูอย่างไร? คุณภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ(เอ็มไอ)และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มีเดีย อินไซต์ จำกัด ให้ความเห็นว่า 15 ช่องที่เหลือมากไป จำนวนที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 10 ช่อง
เมื่อสถานการณ์มีเดียทีวีออกมาในรูป “Supply” Over “Demand” จอ(ทีวีดิจิทัล)ล้นคนดู ยังไม่นับจออื่นๆ(Screen)อื่นๆ เห็นทีผู้ประกอบการเหนื่อยต่ออีกยกแน่ๆ ยิ่งมองไปถึงการถือใบอนุญาตประกอบกิจการที่เหลืออีก 10 ปี นี่คงต้องถามตัวเอง ใจสู้หรือเปล่า..ไหวไหมบอกมา?? แต่ประเด็นคือ ไม่ไหวจะให้ทำอย่างไร เพราะตอนคืนช่อง คงมองเกมไว้ว่าจะ “พลิกฟื้น” และพลิกกว่าเดิม คือสถานการณ์ไร้แววรุ่งโรจน์ มีแต่รุ่งริ่ง
หลายช่องพยายาม “ปรับโมเดลธุรกิจทีวีดิจิทัล” ใหม่ เพื่อจะอยู่ “รอด” อีกรอบบนศึกจอแก้ว โมโน 29 ไม่อยู่แค่จอเดียว แต่มีโมโนแม็กซ์ สตรีมมิ่งตามคนดูทุกที่ทุกเวลา มี 3BBTV อินเตอร์แอ๊คทีฟทีวี ที่ทำได้ทั้งซื้อขายสินค้า และแสดงความเห็นอย่างง่ายๆกลับไปยังช่อง กลางปี 2563 คงเห็นว่าแพลตฟอร์มนี้คนดูจะ ว้าว! หรือว้าย! แกรมมี่ มีช่องทีวี แต่ผันตัวเองเป็น “Content Provider” ดีกว่า เพราะเป็นจุดแข็งและ Core Business ที่มีมาโดยตลอด ช่อง 3 ต้องเป็นมากกว่าทีวี งานนี้จับตาฝีมือ “คุณบี๋ อริยะ พนมยงค์” นักบริหารผู้มีฝีมือฉกาจฉกรรจ์จะกู้ชีพช่องได้ไหม ในวันที่อาจ “อยู่ผิดที่ผิดเวลา” ช่อง 8 ของ อาร์เอส ทาง “เฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” เปลี่ยนโมเดลธุรกิจสู่ MPC ขายสินค้าเชิงพาณิชย์ไปเรียบร้อย แถมจับมือช่องไทยรัฐทีวี เวิร์คพอยท์ มาขายสินค้าด้วยกันอีก เป็นต้น
ส่วนจะรอดไหม..ท่ามกลางสถานการณ์ที่โฆษณาปีหน้าจ่อ “ติดลบ” เงินหายแล้วหายอีก มีเดียทั้งหลายจะแย่งรายได้กันอย่างไร..ติดตาม!!
2. ยุคนี้ ธุรกิจว่ากันด้วย Speed : SHR – AWC แห่เข้าตลาดฯระดมทุน
อยู่ในธุรกิจเซ็กเตอร์ไหน ชื่อ “สิงห์-ช้าง” “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี-สันติ ภิรมย์ภักดี” “ไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น-บุญรอดบริวเวอรี่” ฯ และอีกหลายชื่อของธุรกิจ 2 ตระกูลต้องถูกโยงหรือจับชนกันทุกทีไป จนมองข้าม “คู่แข่ง” อื่นในเวทีเดียวกัน
ดังนั้น BrandBuffet จึงไม่พลาดจับคู่ชกของ 2 ค่ายธุรกิจนี้ อย่างธุรกิจพักผ่อน โรงแรม รีสอร์ทฯ เมื่อ SHR – AWC แต่งตัวเข้าตลาดทลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เพื่อระดมทุนขยายธุรกิจ
บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR ในเครือของสิงห์ เอสเตท อสังหาริมรัพย์ 1 ใน 5 เสาหลักของบุญรอดฯ มี “สันติ ภิรมย์ภักดี” ครองอาณาจักร เน้นการลงทุนและบริหารงานโรงแรมและรีสอร์ทระดับบนและระดับลักชัวรี่ บนจุดหมายปลายทางแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตระดับโลก มีโรงแรมและรีสอร์ท 39 แห่ง ใน 5 ประเทศ รวมห้องพัก 4,647 ห้อง และยอมขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 1,437.456 ล้านหุ้น ในราคา 5.20 บาท
การระดมทุนครั้งนี้มีมูลค่า 7,475 ล้านบาท เพื่อใช้ขยายกิจการโรงแรมให้เติบโต “เท่าตัว” ทั้งจำนวนโรงแรมแตะ 80 แห่งทั่วโลก มีห้องพักรวม 8,000 ห้อง ภายในปี 2568
อดีต “สิงห์” เน้นขยายธุรกิจด้วยการสร้างเอง(Green Field) แต่ยุคนี้กล่าวกันหนาหู ธุรกิจแข่งด้วย Speed แล้วองค์กรยักษ์ใหญ่ ทุนหน้า ถ้าขยายเร็วเท่าไหร่ ย่อมคว้าโอกาสในการสร้างการเติบโตและความมั่งคั่งได้เหนือ “คู่แข่ง” สิงห์จึงเลือกการโต “ทางลัด” มากขึ้น และธุรกิจโรงแรม กลายเป็นหัวหอกสำคัญในการรุกซื้อกิจการที่มีศักยภาพต่อยอดธุรกิจนั่นเอง
ด้านบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC มี “เจ้าสัวเจริญ-คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี” เป็นเจ้าของ แต่ส่ง “ทายาท” ลำดับที่ 2 “คุณเอ๋ วัลภา ไตรโสรัส” เป็นผู้ดูแล
มีการคะเนว่า..ไทยเจริญคอร์ปอเรชั่นหรือทีซีซี กรุ๊ป มีกรุที่ดินกว่า 6 แสนไร่ทั่วประเทศ เมื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 75% ใน AWC เลยคัดสินทรัพย์ชั้นดี 20โครงการ ทั้งมิกซ์ยูส โรงแรม และค้าปลีก ในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ให้ AWC บริหารจัดการ และเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น โครงการเวิ้งนาครเกษม พื้นที่ 1.62 แสนตารางเมตร โรงแรมเดอะ อิมพีเรียล พัทยา เดอะ อิมพีเรียล ริเวอร์ เฮ้าส์ รีสอร์ท เชียงรายฯ หรือเหนาะๆ มีโรงแรมรวม 8,000 ห้อง อาคารสำนักงาน(Office) และค้าปลีกรวม 6.1 แสน ตร.ม.
ส่วนการเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 8,000 ล้านหุ้น หรือ 25% ของหุ้นทั้งหมด และเคาะราคาที่ 6 บาทต่อหุ้น เพื่อระดมทุน 4.8 หมื่นล้านบาท นั่นไม่เท่าไหร่ เพราะที่ฮืฮอาทั้งวงการคือการคำนวณมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด(Market Cap)ของ AWC คิดจากราคา IPO จะมีมูลค่ารวม 1.92 แสนล้านบาท ทุบสถิติทุกบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ในวันขายหุ้น เจ้าสัวเจริญ-คุณหญิงวรรณา พร้อมทายาทพร้อมใจแต่งชุด “สีเขียว” เอาฤกษ์ ไม่พอ ยังนั่งรถเลขทะเบียนสวยคู่ใจ 6666 เคาะราคา IPO ที่กำชับบล.ให้อยู่ที่ 6 บาทให้ได้ ส่วนราคาหุ้นจะวิ่งไปถึงไหน “วัลภา” บอกสื่อว่า..ดูฤกษ์มาแล้ว (แต่อาจบอกไม่หมดว่าจะดีหรือไม่) หลังการขายหุ้น มี greenshoe option มาช่วยอุ้มไว้ 30 วัน พ้นจากนั้น หุ้นตก! ปีหน้าจะเป็นอย่างไร จับตากันดีๆ เพราะถ้าคาดการณ์ได้ นักลงทุนคงไม่ติดดอยเด้อ!!
อย่างไรก็ตาม ปี 2563 ยังมีอีก Big Move เมื่อ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ CRC จ่อระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่ต้นปี และถือเป็นการสลัดภาพธุรกิจครอบครัวอายุ 70 กว่าปี ของตระกูล “จิราธิวัฒน์” เบอร์ 1 ค้าปลีกของเมืองไทย
3. BIG DEAL of the YEAR
การเจรจาซื้อขายกิจการ หากไม่มีการทำ Due diligence อย่างละเอียดรอบคอบ การโต “ทางลัด” จึงเป็นคำตอบที่ดีในยุคของการแข่งขัน ปลา “เร็ว” กินปลา “ช้า” ปีนี้เลยเห็น Big Deal หลายองค์กร ใหญ่สุดด้านมูลค่าเป็น Deal ระหว่าง บมจ.ไทยพาณิชย์ประกันชีวิตหรือ SCB Life ขายกิจการให้กับ “กลุ่มเอฟดับบลิวดี”(FWD Group) ของมหาเศรษฐีฮ่องกง ด้วยมูลค่า 92,700 ล้านบาท และดีลนี้ถูกขนานนามให้เป็นดีลธุรกิจประกันที่ใหญ่สุดในภูมิภาคอาเซียน
ผลของดีลทำให้ “ส่วนแบ่งทางการตลาด” ในธุรกิจประกันของเอฟดับบลิวดีเพิ่มขึ้นทันที จากลำดับที่ 8 ด้วยมาร์เก็ตแชร์ประมาณ 4.8% ส่วนเอสซีบีไลฟ์ มีส่วนแบ่ง 9.2% เป็นลำดับที่ 5 แต่ที่ดีต่อการเติบโตระยะยาวคือการได้ “ฐานลูกค้า” นับล้านรายมาอยู่ในมือ
มูลค่าไม่มาก แต่ “เขย่า” วงการคาเฟ่ ร้านกาแฟนอกบ้านแน่นอน เมื่อ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) อาศัยบริษัทในเครือ “เฟรเซอร์แอนด์นีฟ”(เอฟแอนด์เอ็น) จับมือ “แม็กซิมส์ กรุ๊ป(ที่ได้สิทธิ์บริหารร้านกาแฟสตาร์บัคส์อยู่แล้ว) ไปร่วมทุนตั้งบริษัทลูกเพื่อซื้อกิจการร้านกาแฟ “สตาร์บัคส์” ในประเทศไทย ที่มีประมาณ 300 สาขา
การรุกคืบธุรกิจอาหาร ร้านกาแฟของไทยเบฟ ไม่ใช่ได้แค่ร้าน แต่จะได้องค์ความรู้หรือ Know how การบริหารจัดการ บริหารแบรนด์จาก Global Brand เหมือนตอนที่ซื้อร้าน “เคเอฟซี” นั่นเอง
ที่สำคัญคงปฏิเสธยาก ว่าการได้ร้านกาแฟแบรนด์ระดับโลกมาอยู่ภายใต้เครือ จะไม่มีการ “ซีนเนอร์ยี” กิจการต้นน้ำ กลางน้ำ คือธุรกิจการเกษตรที่ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” มีไร่กาแฟในประเทศลาวพื้นที่มหาศาล
“สิงห์ ซื้อซานตาเฟ่ สเต๊ก” ปั้นแบรนด์ใหม่ เปิดร้านเองทีละสาขา..ช้า!! ไม่ทันใจ อาจไล่หลัง “คู่แข่ง” ห่างชั้นไปเรื่อยๆ “ปิติ ภิรมย์ภักดี” ขอใช้กลยุทธ์ Mergers and Acquisitions: M&A บ้าง และ “ซานตาเฟ่ สเต๊ก” 117 สาขา มีรายได้โตทุกปี และมี “กำไร” แบรนด์แกร่ง ฐานะการเงินไม่แย่ รวมๆแล้วมีศักยภาพ จึงควักเงิน 1,500 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้น 88% ของซานตาเฟ่ฯ
เดิมที “ดีล” ซื้อกิจการของกลุ่มบุญรอดฯ ไม่ได้มีมากนัก แต่ปัจจุบัน หลังปรับโครงสร้างธุรกิจ การ Speed ซื้อกิจการมีมาเรื่อยๆ และนโยบายของ “ปิติ” ซึ่งดูแลธุรกิจอาหารของบุญรอดฯ ยังมองหากิจการที่มีศักยภาพ แบรนด์ที่แข็งแรง เพื่อซื้อมาเสริมพอร์ตโฟลิโออีก
“สิงห์-ช้าง” คืบคลานเข้าสู่ธุรกิจอาหารมากขึ้นเรื่อยๆ “เจ้าตลาด” ต้องตื่นตัวหาทาง “ป้องกัน” พื้นที่ธุรกิจของตัวเองให้เหนียวแน่น “เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป” เจ้าตลาดสุกี้หรืออาหารหม้อร้อน(Hot pot)หมื่นล้าน จะหากินกับเซ็กเมนต์ “สุกี้” อย่างเดียวย่อมไม่ไหว ยุคนี้อาหารแนวใหม่ๆเข้ามาเป็น “คู่แข่ง” และ “ทางเลือก” ผู้บริโภคมากขึ้น แล้วภาพสุกี้ โอกาสในการรับประทานคือ “ช่วงเวลาแห่งความสุขของครอบครัว” สะท้อน Occasion ในการบริโภคน้อย ไม่นับ Pain point “ราคา” ซึ่งผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยบ่น “แพง” จึงมองหาความ “คุ้มค่า” ใหม่ๆมากขึ้น
เอ็มเคฯ สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้ตัวเอง ยอมควักเงิน 2,000 ล้านบาท ซื้อกิจการร้านอาหาร “แหลมเจริญซีฟู้ด” จากหม้อร้อน รุกอาหารทะเล รับกับสถานการณ์ของสัดส่วนรายได้สุกี้ “ลดลง” อย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าอาหารแนวใหม่ๆ มีการขยายตัวมากขึ้น
อีกหนึ่งตัวจริงเรื่องธุรกิจอาหาร สำหรับ “บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)” ควักงบลงทุน 2,000 ล้านบาท ซื้อร้านไก่ทอดสไตล์เกาหลี “บอนชอน” 40 สาขา จากบริษัท ชิคเก้น ไทม์ จำกัด ประเทศไทย ที่ทำยอดขายและกำไรโตวันโตคืน
ไมเนอร์ แกร่งในธุรกิจอาหารอย่างมาก มีร้าน 2,200 สาขาใน 26 ประเทศทั่วโลก แบรนด์ระดับท็อปของตลาดมีหลากหลาย เช่น สเวนเซ่นส์ เดอะพิซซ่า คัมปะนี เบอร์เกอร์คิง ซิซเล่อร์ เดอะ คอฟฟี่ คลับ เป็นต้น การได้แบรนด์ใหม่เสริมพอร์ตโฟลิโอองค์กร ยิ่งเพิ่มแนวรบล้อมธุรกิจอาหารไม่ให้คู่แข่งเข้ามาตีแตกแย่งส่วนแบ่งตลาดง่ายๆ
Big Deal ยังไม่หมดเพราะปีนี้มีการปิดดีลระหว่าง “TMB-ธนาคารธนชาติ” และ “ธนาคารกรุงเทพ” ทุ่มเงิน 8.1 หมื่นล้านบาท ซื้อธนาคารในอินโดนีเซีย “พีที เพอร์มาตา ทีบีเค” เป็นต้น
4. Person of the Year: บังฮาซัน
ชายชุดแดง สวมหมวกประหนึ่งเชฟ จ้อหน้าจอโซเชียลมีเดีย พร้อมวลี ..ด๊ายแหร่งอ๊ก!! ระหว่างการ Live ขายสินค้าผ่าน Facebook และนั่นทำให้ชื่อของ “บังฮาซัน” หรือ “อนุรักษ์ สรรฤทัย” ผู้วาดลวดลายโชว์ลีลาขายอาหารทะเลตากแห้ง จังหวัดสตูล ดังเป็นพลุแตก และทุบสถิติการขายสินค้า มีผู้ชมทะลุหลักแสน กลายเป็นคนดังข้ามคืน ยอดผู้ติดตามผ่าน Facebook จากหลักแสนต้นๆ ปัจจุบันเกินกว่า 8 แสนไลค์ มีผู้ติดตามกว่า 1 ล้านราย ที่สำคัญ เขาคือผู้สร้างยอดขายให้กับชุมชนไม่ต่ำกว่าคืนละ 1 ล้านบาท รวมรายได้ต่อเดือนหลัก “สิบล้านบาท”
ในด้านการตลาด “บังฮาซัน” ยังกลายเป็นบทเรียนที่นักการตลาดต้องหยิบมาเป็นกรณีศึกษา เพราะยุคที่ธุรกิจหน้าร้านโดนดิสรัป เศรษฐกิจไม่ดี พ่อค้าแม่ขายบางรายอาจบ่นขายไม่ดี จนต้องนั่งตบยุง เพราะคนไม่เข้าร้าน(ซึ่งจริงๆช้อปปิ้งออนไลน์อยู่)
บังฮาซัน สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ช่วยสร้างการเจริญเติบโตให้กับเศรษฐกิจชุมชน และยังเป็นคนที่เกาะทุกกระแสได้อย่างอยู่หมัด ใช้ “สื่อสังคมออนไลน์” เปิดร้านขายสินค้าออนไลน์รับเทรนด์อีคอมเมิร์ซมาแรง!! รวมถึงใช้เป็นช่องทางสื่อสารการตลาดได้อย่างดี และสร้างความบันเทิงให้กับลูกค้า ซึ่งตรงกับเทรนด์ E-Commerce ที่มีต้องมาพร้อมกับ Entertainment ผลพลัพธ์ก็กลายเป็นความโด่งดังของตัวตนบังฮาซัน ที่นอกจากจะขายของได้แล้ว ยังกลายเป็นพรีเซนเตอร์ให้หลายแบรนด์
การนำเสนอโปรดักท์อาหารทะเลตากแห้ง เช่น กุ้ง ปลาหมึกฯ บังฮาซัน บอกคุณสมบัติสินค้าครบถ้วนวันนี้ปลา กุ้ง หมึก ไซส์เล็กหรือใหญ่ ตั้งราคาปรับเปลี่ยนตามคุณภาพสินค้า แสดงความ “จริงใจ” หากลูกค้ากด CF ชำระเงิน พร้อมจัดส่ง การขายสินค้านอกจากคุณภาพ คือ “Supply” อาหารทะเลที่นำมาจำหน่ายในแต่ละวันมีจำนวนจำกัด ด้วยลีลาพ่อค้า ทำให้แฟนคลับมากมายหรือ “Demand” จ่อประมูลและซื้อสินค้าไปครอบครอง
ปัจจุบันแบรนด์ใหญ่ต้องหวาดระวังแบรนด์เล็ก หรือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) รายใดมีศักยภาพ สินค้าดี ทำการตลาดโดนใจกลุ่มเป้าหมาย สามารถแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดได้ไม่ยาก หากสามารถทำการตลาดได้ครบ
5. ปีทองของ Collaboration แบรนด์เดียวเอาไม่อยู่ ชั่วโมงนี้ก็ต้อง X
ในมุมกลยุทธ์การตลาด ไม่ว่าจะท่าธรรมดา หรือท่าพลิกแพลง ในปี 2019 กระบวนท่ายอดฮิตต้องยกให้ “X” การจับคู่ Collaboration หรือ Co-Branding เพื่อสร้างความตื่นเต้นให้ “ผู้บริโภค” คนขี้เบื่อ
กลยุทธ์ X เป็นความร่วมมือทางธุรกิจระหว่
ทำไมต้อง X … มี 3 เรื่องหลักๆ ของความร่วมมือกันในฐานะ Strategic Partner ที่ตอบโจทย์ 1. Brand Image ของทั้ง 2 แบรนด์ที่มาจับคู่ X ช่วยกันให้ดูดีขึ้น ใช้ความเชี่ยวชาญของทั้งคู่ที่
การทำตลาด Collaboration หรือ Co-Branding ก็มีทั้งอุ
ที่ผ่านมาตัวอย่างเคสในต่
หันมาดูตลาดไทย ปี 2019 ต้องถือเป็นยุคแห่ง X ที่แท้จริง เป็นกลยุทธ์ที่ทุกธุรกิจทั้
เห็นมากที่สุดก็ธุรกิจอาหารและ FMCG แบรนด์น้ำแร่ “เพอร์ร่า” ของค่ายสิงห์ คอร์เปอเรชั่น ตอกย้ำการสื่อสารไปกับเรื่
ประกาศขอความเห็นโปรเจกต์ X ผ่านสื่อออนไลน์กันเลยทีเดียว สำหรับ MK Restaurants ว่าลูกค้าอยากเห็น X กับแบรนด์ใด งานนี้ได้ไอเดียมากระฉูด ปล่อยโปรเจกต์ X ออกมารัวๆ เริ่มที่ MK x Milin จากแนวคิด “The First Ever Collaboration Where Food Meets Fashion” ปรากฏการณ์ใหม่
อีกจอมโปรเจกต์ X ก็ต้องยกให้ Bar B Q Plaza ในเครือ “ฟู้ดแพชชั่น” ที่เปิดตัวไปก่อนหน้านี้กับสาย Non Food จับคาแรคเตอร์ “บาร์บีกอน” มาใส่เครื่องใช้ไฟฟ้ากับ Anitech X Bar B Gon ต่อมาก็ Masita x Bar B Gon เปิดตัว “มาชิตะ” สแน็กสาหร่ายรสชาติใหม่ ในปี 2019 กับ Bar B Q Plaza x Pizza Hut เป็นการ Collab แบบเปลี่ยนคู่แข่งมาเป็นคู่ค้
ปี 2019 มีแบรนด์สแน็กและอาหาร X กันเพียบ!! ทั้งเปิดตัวสินค้าใหม่ รสชาติใหม่ จนเป็นปรากฏการณ์หลายราย ทั้ง Pringles x Taokaenoi (เถ้าแก่น้อย), Pretz x แม่ประนอม , Bonchon x After You กับเมนู Chicken Toast
ในธุรกิจอื่นๆ ก็มีให้เห็นเช่นกันทั้ง Mono x GMM จากคู่แข่งหันมาเป็นพันธมิตรคู่
การ Collaboration ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเดียวกันหรื
6. สงครามธนาคารรอบใหม่ปะทุ แห่ออกบัตรรูดปรื๊ด! เที่ยวทั่วโลก
Life is a เจอนั่นเจอนี่..ไม่แค่คนไทยที่เดินทางท่องเที่ยว แต่ประชากรทั่วโลกออกเดินทางกันมากขึ้น เฉพาะประเทศไทยมีการนำเงินไปช้อป ท่องโลกในต่างแดนมากกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี เทรนด์ดังกล่าวกลายเป็น “โอกาส” ของธนาพาณิชย์ ออกบัตร Travel Card ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายให้สามารถกด รูดปรื๊ดเที่ยวได้ไร้ขีดจำกัด
แบงก์ที่โดดสู่สงครามรอบใหม่ Travel Card ได้แก่ TMB All Free, Krungthai Travel Card, SCB Planet บัตรเดบิต JOURNEY ของธนาคารกสิกรไทย โดยสิทธิประโยชน์หรือสิ่งที่แตกต่างกันจะเป็นเรื่องของค่าธรรมเนียมแรกเข้า มีทั้งเสียและไม่เสียค่าใช้จ่าย จำนวน “สกุลเงิน” ที่ใช้จ่ายแลกเปลี่ยนได้ เช่น SCB Planet แลกได้ 13 สกุล Krungthai Travel Card 11 สกุล ระยะเวลาของอายุบัตร ฯ ที่คล้ายกันคือ “ไม่ชาร์จ” ค่าความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยน(FX Charge) เป็นต้น
บัตรดังกล่าวยังเป็นการเจาะกลุ่มเป้าหมายตาม Segmentation มากขึ้น แต่ก็ทำให้ผู้บริโภคมีบัตรเครดิต เดบิตมากมายเต็มกระเป๋า บัตรที่พร้อมจะ “ดึงเงิน” ออกจากกระเป๋าทุกคน บางครั้ง..อิสระทางการเงิน ก็มาพร้อมกับการเป็น “หนี้” ดังนั้น จะใช้จ่ายบัตรไหน ต้องพิจารณาความจำเป็นให้ถ้วนถี่ และใช้จ่ายอย่างชาญฉลาดเป็น เป็น Smart Consumer ด้วย
เจ้าพวกบัตรแลกเงินเหล่านี้ ยังสะท้านภาพ Disruption ในวงการเงินได้เป็นอย่างดี เมื่อร้านแลกเงินทั้งหลายถูกธนาคารเข้ามาแย่งงาน ส่วนธนาคารเองก็ใช้ประโยชน์ของดิจิทัลเข้ามารุกคืบดิ้นหนีตาย หาช่องทางแสวงหารายได้ หลังจากยกเลิกค่าธรรมเนียมจากช่องทาง M-Banking
7. BlackPink ฮีโร่หญิง ผยุงทั้งค่าย YG ฝ่ามรสุม K-Pop
หัวข้อที่บอกว่า BlackPink เกิร์ลกรุ๊ปที่ช่วยกอบกู้สถานการณ์ “วิกฤติ” ให้กับค่ายเอ็นเตอร์เทนเมนต์รายใหญ่ของเกาหลีอ “YG” ผงกหัวขึ้นได้ หลังจากปีนี้เผชิญมรสุมสาหัสมากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา นับแล้วมีรวมๆสิบเรื่องราว “ฉาวโฉ่” เช่น ซึงรี ศิลปิน “อี ซึง-ฮย็อน” หรือรู้จักกันในนาม “ซึงรี” อดีตสมาชิกวง “BIGBANG” แห่งวงการเพลง K-pop ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดเตรียมผู้หญิงไว้บริการทางเพศให้แห่เหล่านักธุรกิจและลูกค้าเศรษฐีของไนต์คลับเบิร์นนิงซัน (Burning Sun) ยางฮยอนซอก ผู้ก่อตั้ง YG Entertainment ถูกกล่าวหาว่าเลี่ยงภาษี ซ้ำร้ายเจอข้อหาเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนร่วมจัดหาผู้หญิงไว้ให้บริการทางเพศแก่นักธุรกิจ ก่อนที่จะพ้นข้อกล่าวหาได้ในที่สุด แต่งานนี้ก็สร้างความเข้าใจผิดและภาพลักษณ์เชิงลบไม่น้อย
นอกจากนี้ ยังมีแชทหลุด คิมฮันบิน สมาชิกวง IKON จะติดต่อซื้อยาเสพติดกับ ฮันซอซี รวมถึงการประกาศลาออกจากทุกตำแหน่งในบริษัทของ ยางฮยอนซอก สถานการณ์และข่าวฉาวทั้งหมดส่งผลกระทบต่อ “ราคาหุ้น” ของ YG ดิ่งเหวถึง 25% เป็นอันทำให้ “ความมั่งคั่ง” หายไปมหาศาล
ทว่า ท่ามกลางวิกฤติ มักจะปรากฏตัว “ฮีโร่” เสมอ และคือ 4 สาว BlackPink เพราะไม่ว่าจะปล่อย Single ออกมา ได้รับผลตอบรับจากแฟนคลับทั่วโลกอย่างดี ขณะที่งานของ 4 สาว มีมากมาย ทั้งไปร่วมงานเทศกาลดนตรีและศิลปะระดับโลก “The Coachella Valley Music and Arts Festival” งานพรีเซ็นเตอร์ โดยเฉพาะในประเทศไทย เรียกว่ารับทรัพย์เป็นกอบเป็นกำ
ยิ่งกว่านั้น BlackPink ยังช่วยทำให้ราคาหุ้นที่ร่วงกราว “กระเตื้อง” ขึ้นมา 5% ซึ่งอาจยังไม่พ้นปากเหว ดีกว่าปล่อยให้ดำดิ่งไปเรื่อยๆ ส่วน YG Entertainment จะกลับมาผงาดเหมือนเดิมหรือไม่ “เวลา” เป็นคำตอบ!! และที่น่าจับตามองต่อก็คือ K-Pop ที่เคยเฟื่องฟู เป็น Soft Power ที่ทำเงินสร้างชื่อให้กับเกาหลีจนกลายเป็นกระแสหลักทั่วเอเชีย และดังไกลทั่วโลก จะยังเติบโตผลิดอกออกผลรักษาเทรนด์ได้เหมือนเดิมหรือไม่ในยุคนี้
8. The Greatest War Is Coming เกมชิง “มหาอำนาจ” สหรัฐ VS จีน
เป็นประเด็นใหญ่ที่โลกต้องจับตา เมื่อ “จีน” จะผงาดเป็น “มหาอำนาจ” ใหม่ของโลก และไม่ได้มาแค่ “เศรษฐกิจ” แต่มาครบทุกด้านทั้งธุรกิจ เทคโนโลยี อำนาจซื้อของผู้บริโภค การเมือง การเงิน ฯ แต่จะยิ่งใหญ่ทั้งทีต้องมีอุปสรรค เพราะ “สหรัฐ” มหาอำนาจเก่าไม่ยอมให้ถูกลูบคมง่ายๆ ภารกิจขวางและต่อสู้กับ “พญามังกร” จึงเกิดขึ้น
กล่าวกันว่าสิ้นสุดสงครามโลก แต่ “สงครามเย็น”(ยะเยือก)ยังอยู่ และ The Greatest War Is Coming เมื่อ “สงครามการค้า”(Trade War) ที่ “สหรัฐ VS จีน” ต้อง “เดิมพัน” ความมั่งคั่ง ความเป็นอยู่ ปากท้องของประชาชน และธุรกิจของ “นายทุน”
ที่ผ่านมา สหรัฐ มีการออกนโยบายตั้งกำแพงภาษีต่อจีนเป็นระลอกๆ ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ เช่น การรีดภาษีสินค้าเกือบ 6,000 รายการ ขึ้นภาษีจาก 10% เป็น 25% กลายเป็นภาระภาษีที่มูลค่าสูงถึงระดับ 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ฯ เหตุเพราะจีนทำการค้า “ไม่เป็นธรรม” ไม่เท่านั้น เพราะรัฐบาลสหรัฐ ยังมีการกล่าวหาจีนฉกฉวยทรัพย์สินทางปัญญา เรียกว่าโจมตีการค้าจีนรอบด้าน
หากเป็นฉากหนังกำลังภายในของจีน นี่คือศึกชิงเจ้ายุทธภพ ส่วนฟากสหรัฐ อาจเป็น Avenger :End game หรือเผด็จศึกจีนซะ แต่ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้กันแบบไหน สงครามการค้าครั้งนี้ สร้างแรงกระเพื่อมต่อเศรษฐกิจทั้งโลก เพราะประเทศที่เป็น “คู่ค้า” ของทั้ง 2 ประเทศโดนหางเลข เช่น สหรัฐ ขู่จะถอนตัวจากข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ(NAFTA) การแทรกแซงการค้า การยกเลิกคำสั่งซื้อ การเลือกข้าง ฯ
ขึ้นชื่อว่าศึกสงคราม ไม่เคยส่งผลดีต่อฝ่ายใด ยิ่งเป็นสงครามการค้าระดับโลกในภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ยิ่งเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ให้ “แย่ลง” แม้ทั้ง 2 ประเทศจะมีการ “เจรจา” ในการประชุมหลายเวทีเพื่อหาทางออก อย่างไรก็ตาม ตราบที่สงครามยังไม่จบ..คงนับศพทหารยังไม่ได้!!
9. ความท้าทายของวงการ Digital คือ Privacy
ความเฟื่องฟูของแพลตฟอร์มสื่อใหม่อาจไม่ใช่เรื่องที่น่าตื่นเต้นอีกต่อไป เพราะทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, YouTube, TikTok ฯลฯ ต่างกำลังเผชิญสถานการณ์เดียวกัน นั่นคือ การถูกหน่วยงานภาครัฐของประเทศต่าง ๆ เชิญตัวไปให้ปากคำ รวมถึงหามาตรการควบคุมแพลตฟอร์มเหล่านี้จากการเก็บข้อมูลผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เหตุจากความกังวลเรื่อง Privacy หนึ่งในตัวอย่างที่ช้ดเจนคือ Google และ YouTube ที่ถูก FTC คิดค่าปรับเป็นเงิน 170 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5,100 ล้านบาท หลังพบหลักฐานว่า บริษัทมีการเก็บข้อมูลส่วนตัวของเด็กโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครอง
ด้าน Facebook เองก็เผชิญสถานการณ์หนักหนาไม่แพ้กัน กับนโยบายเกี่ยวกับการลงโฆษณาในช่วงเลือกตั้งที่ Facebook ระบุว่าจะไม่มีการตรวจสอบโฆษณาที่เผยแพร่โดยนักการเมือง ซึ่งนโยบายนี้ได้ทำให้ผู้ก่อตั้งอย่าง Mark Zuckerberg ถูกตั้งคำถามอย่างดุเดือดถึงความรับผิดชอบของแพลตฟอร์มต่อการลงโฆษณา โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่าง Alexandria Ocasio-Cortez เป็นผู้ตั้งคำถามด้วยตนเอง และพบว่าในเหตุการณ์นั้น มีหลายคำตอบที่เขาไม่สามารถทำให้เกิดความชัดเจนได้
สุดท้ายของแพลตฟอร์มที่กำลังถูกตรวจสอบก็คือ TikTok หลังจากมีข่าวออกมาจากฝั่งสหรัฐอเมริกาว่า คนรุ่นใหม่นิยมเล่น TikTok มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ เกรงว่าจะมีการลักลอบโอนถ่ายข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานเหล่านี้ไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ กับในอีกด้านหนึ่ง ก็มีความกังวลว่า แพลตฟอร์มของ TikTok อาจปิดกั้นการแสดงผลคอนเทนต์ที่ไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลจีน เห็นได้จากแอคเคาน์ของผู้ใช้งาน TikTok รายหนึ่งถูกระงับไปเนื่องจากมีการเผยแพร่เรื่องราวการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมของรัฐบาลจีนต่อชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ ซึ่งแม้ว่าทางแพลตฟอร์มจะมีการชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้คำครหานี้หายไปแต่อย่างใด
สิ่งที่ต้องตามต่อในปี 2020 เป็นไปได้ว่าเราจะได้เห็นการบังคับใช้มาตรการต่างๆ ที่เข้มงวดขึ้นจากแพลตฟอร์มสื่อใหม่เพื่อมาควบคุมดูแลทั้งผู้ผลิตคอนเทนต์และผู้ใช้งาน ซึ่งมาตรการเหล่านี้ ส่วนหนึ่งมีขึ้นเพื่อป้องกันตนเองจากการถูกตรวจสอบจากผู้มีอำนาจของแต่ละประเทศ และแน่นอนว่าจะกระทบ Ecosystem ของบรรดาผู้ผลิตคอนเทนต์ รวมถึงกระทบต่อรายได้ที่จะเข้ามาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น สิ่งที่ครีเอเตอร์ควรทำคือติดตามข้อกำหนดใหม่ๆ ของแพลตฟอร์มที่ใช้งานอยู่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงติดตามความเคลื่อนไหวของแพลตฟอร์ม และการตรวจสอบที่จะตามมาของรัฐบาลประเทศต่างๆ เอาไว้ชนิดชิดติดขอบจอ
10. สงครามสตรีมมิ่ง หน้าจอระอุ
จากก่อนหน้านี้ที่วงการสตรีมมิ่งอาจมีผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Netflix เพียงรายเดียว แต่ในช่วงครึ่งปีหลังที่ผ่านมา เราได้เห็นผู้เล่นรายใหม่ๆ เปิดตัวออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น Apple TV+ ที่มาพร้อมเสียงวิจารณ์ว่า คอนเทนต์มีน้อยเกินไปจนแทบจะไม่น่าสนใจ (แต่ข้อดีก็คือ ค่าบริการรายเดือนต่ำที่สุดในบรรดาผู้เล่นทั้งหมดที่ 4.99 เหรียญสหรัฐ และผู้ใช้สินค้าของทางค่ายได้รับสิทธิดูฟรีนาน 1 ปี) หรือ Disney+ ที่เปิดตัวได้ค่อนข้างฮือฮา แถมยังทำตัวเลขผู้สมัครสมาชิกได้ทะลุ 10 ล้านแอคเคาน์ภายในวันเดียวจนทำให้มูลค่าหุ้นของ Disney พุ่งขึ้นไปถึง 7.35%
แต่เป้าหมายของ Disney+ ก็ยังอีกยาวไกลกับตัวเลข 60 – 90 ล้านแอคเคาน์ภายในปี 2024 ที่สำคัญ ทั้ง Apple TV+ และ Disney+ ยังเป็นการค่อย ๆ ทยอยเปิดตัว ซึ่งกว่าจะครอบคลุมการให้บริการทั่วโลกก็ต้องอาศัยเวลาอีกสักระยะ ในจุดนี้จึงอาจเป็นข้อได้เปรียบของ Netflix กับการมีผู้ใช้บริการอยู่แล้วทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง
ประเด็นที่น่าจับตามองต่อไปก็คือ การแพ้ชนะในสงครามสตรีมมิ่ง อาจไม่ใช่สิ่งที่เราจะได้เห็นกันในช่วงต้นปี 2020 ส่วนหนึ่งมาจากข้อเสนอในช่วงเปิดตัวที่บางเจ้าอนุญาตให้ชมฟรีได้ ซึ่งผู้บริโภคก็อาจขอใช้สิทธิดังกล่าวให้คุ้มเสียก่อนจึงจะค่อยตัดสินใจว่าบริการใดที่พวกเขาจะยอมเสียเงินให้ ดังนั้น สิ่งที่จะเห็นในการแข่งขันกันตลอดปี 2020 จึงเป็นเรื่องของคอนเทนต์ใหม่ๆ ที่แต่ละค่ายจะนำเสนอออกมาเพื่อดึงดูดใจ ไม่ใช่การนำคอนเทนต์เก่ามารีรัน รวมถึงการจับคู่พาร์ทเนอร์ใหม่ๆ เพื่อให้ตัวเองมีคอนเทนต์ที่ครบถ้วนสมบูรณ์เหนือคู่แข่ง หรือเหนือเจ้าตลาด ส่วนใครที่ทำไม่ได้ ปี 2020 ก็อาจเป็นปีที่ต้องยกธงขาวได้เลยทีเดียว
ทั้งหมดนี้ คือเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงระดับ Big Move ในวงการธุรกิจการตลาดในปี 2019 … จบแล้วปีหมูที่ไม่หมู ส่วนปีหนูที่กำลังจะคืบคลานเข้ามา นักการตลาด เจ้าของกิจการ และผู้ที่อยู่ในแวดวงการตลาดทั้งหลาย เตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่กูรูทั้งหลายฟันธงมาแล้วว่า “เหนื่อยหนักแน่”