ธุรกิจสื่อดั้งเดิมยังคงต้องปรับตัวอย่างหนักในยุคดิจิทัล ดิสรัปชั่น โดยเฉพาะ “นิตยสาร” ที่เริ่มทยอย “ปิดตัว” ให้เห็นมากขึ้นตลอดช่วง 5 ปีนี้ ที่เม็ดเงินโฆษณาอยู่ในช่วง “ขาลง” มาถึงปัจจุบันก็ยังร่วงหนัก สิ้นปี 2562 ถึงคิวเครืออมรินทร์ ประกาศยุตินิตยสารอายุ 36 ปี “สุดสัปดาห์” ฉบับสุดท้ายเดือน ธ.ค.นี้ ปรับตัวไปต่อในแพลตฟอร์มออนไลน์เต็มรูปแบบ
เครืออมรินทร์ ถือเป็นผู้นำสื่อนิตยสารไลฟ์สไตล์ ครอบคลุมทั้งกลุ่มเนื้อหาบ้านและการตกแต่ง, แฟชั่น, สุขภาพ เริ่มต้นในปี 2519 ฉบับแรก “บ้านและสวน” เคยมีหัวแมกกาซีนทั้งไทยและหัวนอกรวมกันมากสุด 13 ฉบับ ปัจจุบันเหลือ 8 ฉบับ ได้แก่ นิตยสารบ้านและสวน, room, แพรว, แพรว Wedding, ชีวจิต, National Geographic ฉบับภาษาไทย, Amarin Baby & Kids และสุดสัปดาห์
แต่สิ้นปีนี้ เครืออมรินทร์ตัดสินใจ “ยุติ” นิตยสาร “สุดสัปดาห์” แนวบิวตี้ แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ อายุ 36 ปี โดยวางแผงฉบับสุดท้ายเดือน ธ.ค.2562 ในฉบับนี้ บรรณาธิการบริหาร ได้เขียนถึงผู้อ่านว่า “สุดสัปดาห์เวอร์ชั่นนิตยสาร” คือฉบับสุดท้าย หลังจากตลอดช่วงกว่า 30 ปี ได้ผลิตนิตยสารมากว่า 800 ปก
หลังจากนี้แบรนด์ “สุดสัปดาห์” ยังไปต่อในแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งเว็บไซต์ sudsapda.com ,เฟซบุ๊ก : สุดสัปดาห์แฟนคลับ ,ไอจีและทวิตเตอร์ @sudsapda ,ยูทูบ sudsapda tv ยังคงนำเสนอบทสัมภาษณ์ศิลปินดารา ไอดอล เซเลบริตี้ รวมทั้งโปรเจกต์ “สุดสัปดาห์ คนหล่อทำดี” ผลิตรายการ I Love Sudsapda และรายการอื่นๆ ทางยูทูบ และยังคงอัพเดทเรื่องราวบิวตี้และแฟชั่นผ่านทุกช่องทางออนไลน์
สำหรับนิตยสารสุดสัปดาห์ เริ่มวางแผงฉบับแรก วันที่ 16 ก.พ.2526 ในชื่อ “แพรวสุดสัปดาห์” เป็นรายปักษ์ วางแผงทุก 15 วัน เริ่มใช้ชื่อ “สุดสัปดาห์” ครั้งแรกฉบับที่ 153 วางแผงวันที่ 16 มิ.ย.2532 รายปักษ์เช่นเดิม จากนั้นปรับเป็นนิตยสาร “รายเดือน” ฉบับที่ 832 เดือน ต.ค.2560 และเดินทางมาถึงฉบับที่ 858 เป็นฉบับสุดท้ายในเดือน ธ.ค.2562 โดยรวบรวมปกนิตยสาร “สุดสัปดาห์” ทุกฉบับตลอด 36 ปี ไว้ภายในเล่มสุดท้ายนี้เพื่อให้ผู้อ่านเก็บไว้เป็นที่ระลึก
ขณะที่นิตยสาร Amarin Baby & Kids แนวแม่และเด็ก อายุ 16 ปี ราย 2 เดือน จากเดิมรายเดือน กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับรูปแบบการพิมพ์ฉบับเล่มใหม่
“อมรินทร์” สู้ศึก “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น” พลิกกำไร
กว่า 5 ปีที่ผ่านมา บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ได้ปรับธุรกิจสื่อ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงในยุค “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น” โดยวางบิสสิเนส โมเดล ภายใต้กลยุทธ์ Omni Media และ Omni Channel ด้วย 5 แพลตฟอร์มหลัก
- On Print นิตยสาร, หนังสือเล่มและโรงพิมพ์
- Online แพลตฟอร์มดิจิทัลของทุกสื่อในเครือ และการผลิตสื่อดิจิทัลทุกชนิด ปัจจุบันมีผู้ใช้ 13 ล้าน UIP ต่อเดือน หรือ 24% ของประชากรไทย
- On Ground การจัดงานแฟร์ บ้านและสวนแฟร์, Amarin Baby & Kids Fair, Sudsapda Shopping Market, Explorers Fair และอีเวนต์ มีผู้เข้าร่วมอีเวนต์ 6 ล้านคนต่อปี
- On Air ทีวีดิจิทัล “อมรินทร์ทีวี” เดือนพ.ย.2562 เรตติ้งอันดับ 7 เข้าถึงครัวเรือนไทย 95%
- On Shop ร้านนายอินทร์,ออนไลน์ สโตร์ และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ Amvata
หลังจากเผชิญภาวะ “ขาดทุน” มาตั้งแต่ปี 2557 จากการลงทุนสูงในธุรกิจทีวีดิจิทัล ทำให้ต้องปรับโครงสร้างองค์กรดึงทุนใหญ่ “ไทยเบฟ” เข้ามาร่วมถือหุ้น 47% ช่วงปลายปี 2559 ปัจจุบันถือหุ้น 60% เพื่อเสริมแหล่งเงินทุน การปรับตัวภายใต้ บิสสิเนส โมเดล ใหม่ 5 แพลตฟอร์ม เริ่มเห็นแนวโน้มเติบโต สะท้อนจากรายได้และการกลับมาทำกำไรอีกครั้ง ย้อนดูผลประกอบการเครืออมรินทร์
- ปี 2557 รายได้ 1,913 ล้านบาท ขาดทุน 87 ล้านบาท
- ปี 2558 รายได้ 2,003 ล้านบาท ขาดทุน 417 ล้านบาท
- ปี 2559 รายได้ 1,945 ล้านบาท ขาดทุน 628 ล้านบาท
- ปี 2560 รายได้ 2,237 ล้านบาท ขาดทุน 163 ล้านบาท
- ปี 2561 รายได้ 3,526 ล้านบาท กำไร 172 ล้านบาท
- ปี 2562 (9 เดือน) รายได้ 2,214 ล้านบาท กำไร 38 ล้านบาท
แต่ก็ต้องยอมรับมาแม้ธุรกิจอื่นๆ ยังไปต่อได้ แต่รายได้ไตรมาส 3 ปี 2562 กลุ่มนิตยสารและงานรับจ้างพิมพ์ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมโฆษณาชะลอตัวในปีนี้ ส่งผลให้รายได้รวม “ลดลง” เมื่อเทียบกับปีก่อน สิ้นปีนี้จึงเห็นการปรับตัวของเครืออมรินทร์ในธุรกิจนิตยสารอีกครั้ง กับการลาแผงของนิตยสาร “สุดสัปดาห์” เพื่อมุ่งหน้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์เต็มตัว
โฆษณานิตยสาร “ร่วงหนัก” 10 ปีเม็ดเงินวูบ 4,000 ล้าน
ช่วงหลายปีที่ผ่านมาธุรกิจสื่อดั้งเดิม (Traditional Media) เผชิญกับพายุ “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น” มาตลอด พฤติกรรมผู้บริโภคที่หันไปเสพสื่อออนไลน์มากขึ้น แน่นอนว่าเสพสื่อเก่าลดลง สื่อที่ได้รับผลกระทบก่อนคือ “สื่อสิ่งพิมพ์” ทั้งหนังสือพิมพ์และนิตยสาร จากจำนวนผู้อ่านลดลง คนรุ่นใหม่ไม่ได้อ่านสื่อสิ่งพิมพ์ “ฉบับเล่ม” แต่อ่านจากแพลตฟอร์มออนไลน์ เมื่อผู้อ่านลดลง เม็ดเงินโฆษณาแหล่งรายได้หลักของสื่อสิ่งพิมพ์ก็ลดตาม
ย้อนหลังไปปี 2553 เม็ดเงินโฆษณานิตยสารมีมูลค่าราว 5,000 ล้านบาท ตลาดเริ่มถดถอยอย่างเห็นได้ชัดนับตั้งแต่ปี 2557 ติดลบหนักระดับ 20-30% ทุกปี ล่าสุดปี 2561 มูลค่าอยู่ที่ 1,300 ล้านบาท ติดลบ 34% ปี 2562 สมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) คาดมูลค่าโฆษณาจะเหลือเพียง 975 ล้านบาท ติดลบ 25% นั่นเท่ากับว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเม็ดเงินโฆษณานิตยสารหายไปกว่า 4,000 ล้านบาท และอาการถดถอยยังคงมีต่อไป
ข้อมูลจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย รายงานสถานการณ์สื่อนิตยสาร ในปี 2553 มีหัวนิตยสารในตลาด 232 ฉบับ เพิ่มขึ้นถึง 20% แต่กว่า 29% ของนิตยสารเหล่านี้ได้ปิดกิจการภายใน 5 ปี ในปี 2554 หัวนิตยสารในตลาดเหลือ 183 ฉบับ จากนั้นในปี 2560 มีนิตยสารปิดตัวถึง 54 ฉบับ จากทั้งหมด 129 ฉบับ ปี 2561 ยังคงมีนิตยสารทยอยปิดตัวมาอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน
สถานการณ์ถดถอยของสื่อสิ่งพิมพ์ไม่ใช่เพียงผู้อ่านและเม็ดเงินโฆษณาลดลง แต่ช่องทางการจำหน่ายก็หดหายไปด้วยเช่นกัน ทั้งเชนร้านหนังสือ ที่ไม่ขยายสาขาเพิ่ม ที่สำคัญ “ร้านหนังสืออิสระและแผงหนังสือ” ลดจำนวนลงอย่างมาก โดยเฉพาะในต่างจังหวัด เนื่องจากมีต้นทุนขนส่งสูง จำนวนคนซื้อลดลง และรุ่นลูกไม่ทำธุรกิจนี้ต่อจากพ่อแม่ สถานการณ์ของสื่อสิ่งพิมพ์หลังจากนี้จึงยัง “เหนื่อย” ต่อไป