ต้องถือเป็นอีกหนึ่ง”เมกะ โปรเจกต์”ในพอร์ตโฟลิโอของ AWC ที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องบน “ทำเลทอง” ริมแม่น้ำเจ้าพระยา กับโครงการ “เอเชียทีค” รวมที่ดิน 100 ไร่ ได้ฤกษ์เดินหน้าเฟส 2 สร้างแลนด์มาร์คใหม่ “อาคารสูงสุด” ในประเทศไทย ปั้นจุดหมาย “ไอคอน”ใหม่ ดึงนักท่องเที่ยวทั่วโลก
หลังเปิด “เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์” สถานที่ท่องเที่ยวและช้อปปิ้งกว่า 1,500 ร้านค้า เฟสแรกบนพื้นที่ 40 ไร่ ในปี 2555 “แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น” ในเครือทีซีซี กรุ๊ป ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เดินหน้าเฟส 2 บนที่ดินอีก 20 ไร่
คุณวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เล่าความคืบหน้าการพัฒนาโครงการเอเชียทีค เฟส 2 ที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกซึ่งอยู่ด้านซ้ายของเอเชียทีคปัจจุบัน จะพัฒนาเป็นพื้นที่ “รีเทล” 1 แสนตารางเมตร ออกแบบเป็นอาคารโลว์ไรส์ เริ่มก่อสร้างปี 2563 ใช้เวลา 3 ปี โดยเป็นพื้นที่รีเทลทั้งหมด
ไฮไลต์ของพื้นที่รีเทลใหม่ จะมีร้าน Starbucks ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจะย้ายชิงช้าสวรรค์ ที่อยู่ด้านขวาบริเวณลานจอดรถปัจจุบันมาไว้ด้านซ้ายแทน ขณะที่ด้านหน้าฝั่งริมถนน จะทำเป็นพิพิธภัณฑ์ทางประวัติศาสตร์ เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ นอกจากนี้ช่วงไตรมาส 2 ปีหน้า จะเริ่มให้บริการร้านอาหารบนเรือ “สิริมหรรณพ” ที่จะจอดเทียบท่าอยู่ด้านหน้าเอเชียทีค
สร้างแลนด์มาร์คใหม่อาคารสูงสุดในไทย
การพัฒนาเฟส 2 ในส่วนที่ 2 เรียกว่า “เมกะ โปรเจกต์” บริเวณด้านขวาของโครงการเอเชียทีคปัจจุบัน หรือพื้นที่ลานจอดรถ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการออกแบบโครงการที่วางคอนเซปต์เป็น “จุดหมายปลายทางแหล่งท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์ระดับโลก” ออกแบบโดย บริษัทออกแบบชั้นนำของไทย A49 และ Urban Architectures และ Adrian Smith + Gordon Gill Architecture (AS+GG) บริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมระดับนานาชาติ จากสหรัฐ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบอาคารสูง (Supertall Building) ระดับโลก
ในพื้นที่เมกะ โปรเจกต์นี้ เพิ่งเซ็นสัญญากับบริษัทออกแบบ AS+GG เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2562 การพัฒนาพื้นที่ส่วนนี้มีองค์ประกอบสำคัญคือ อาคารสูง (Supertall Building) วางตำแหน่งเป็นอาคารสูงสุดในประเทศไทย พื้นที่ประกอบด้วย โรงแรมแมริออท 800 ห้อง ,โรงแรมระดับ 6 ดาวอีก 1 โรงแรม, Branded Residence, พื้นที่รีเทลและคอมเมอร์เชียล คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี
การพัฒนาเฟส 2 เอเชียทีค ด้วยการออกแบบอาคารสูง เพื่อสร้าง “แลนด์มาร์ค”ใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทำเลทองของกรุงเทพฯ ตั้งใจสร้างให้เป็น Iconic ระดับโลก เป็นจุดชมวิวของกรุงเทพฯ ที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกต้องแวะมาเยี่ยมเยือน เป็นอีก World Destination ที่สนับสนุนการท่องเที่ยวของประเทศไทย และรองรับ โกลบอล ดีมานด์
“สถาปัตยกรรมอาคารสูงในหลายเมือง ใช้เป็นจุดขายสร้างแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก ด้วยทำเลทองริมแม่น้ำเจ้าพระยาของเอเชียทีค จะเป็นอีกอาคารระฟ้า เป็น ไอคอนิก แลนด์มาร์ค View Point ให้กับกรุงเทพฯ”
เอเชียทีค เฟสแรก เปิดตัวด้วยรูปแบบไลฟ์สไตล์รีเทล สถานที่ท่องเที่ยวและช้อปปิ้ง ให้บริการ เวลา 17.00-23.00 น. ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการวันละ 50,000 คน หลังจากเฟส 2 แล้วเสร็จ จะรองรับบริการตลอดวัน ซึ่งจะมีผู้เข้ามาใช้บริการรวมทั้งนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น
โดยทั้ง 2 เฟสซึ่งเป็นที่ดินติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาพื้นที่ 60 ไร่ รวมมูลค่าการพัฒนาทั้ง 2 เฟส เบื้องต้นอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีที่ดินฝั่งริมถนนตรงข้ามกับเอเชียทีคอีก 40 ไร่ ที่สามารถพัฒนาได้ต่อเนื่อง รวมที่ดินเอเชียทีคทั้งหมด 100 ไร่ ที่พร้อมพัฒนาเป็น “เดสทิเนชั่น” ช้อปปิ้งและท่องเที่ยวระดับโลก
รู้จัก AS+GG ผู้ออกแบบ Supertall Building ทั่วโลก
ปัจจุบันอาคารสูงอันดับ 1 ในประเทศไทย คือ แมกโนเลียส์ วอเตอร์ฟรอนท์ เรสซิเดนซ์ (ไอคอนสยาม) สูง 317.95 เมตร 70 ชั้น อันดับ 2 คือ คิงเพาเวอร์ มหานคร สูง 314.2 เมตร 78 ชั้น
ไฮไลต์เอเชียทีค เฟส 2 คือ อาคารสูงระฟ้า AWC Tower ซึ่งยังไม่สรุปว่าจะใช้ชื่อนี้หรือไม่ แต่จะเป็นอาคารสูงที่สุดในประเทศไทย โดยยังไม่มีรายละเอียดจำนวนชั้น เพราะต้องดูตัวเลขมงคล ก่อน ซึ่งบริษัทออกแบบอาคารที่ AWC เลือกมาเป็นที่ปรึกษา คือ Adrian Smith + Gordon Gill Architecture (AS+GG) ทำงานร่วมกับ A49 และ Urban Architects
สำหรับ AS+GG ก่อตั้งในปี 2006 โดย เอเดรียน สมิธ เป็นสถาปนิกชื่อดังระดับโลกชาวอเมริกัน ผู้ออกแบบอาคารสถานที่สำคัญหลายแห่ง รวมถึงอาคารที่สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก อาทิ ตึกที่สูงที่สุดในโลก Burj Khalifa ในนครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, Kingdom Tower ในเมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง, Zifeng Tower ในหนานจิง, Jin Mao Tower ในเซี่ยงไฮ้ และ Wuhan Greenland Center ในอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งกำลังจะขึ้นแท่นเป็นอาคารที่สูงที่สุดอันดับ 4 ของโลกเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ
งานออกแบบสถาปัตยกรรมของ “เอเดรียน” มีจุดเด่นอยู่ที่การบูรณาการตัวอาคารให้เข้ากับบริบทในพื้นที่ต่างๆ ด้วยการใช้รูปแบบและองค์ประกอบของท้องถิ่นหรือชุมชนพื้นเมือง ควบคู่กับระบบและเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย งานดีไซน์ผสมผสานกับสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ ทั้งที่ตั้ง ภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม และสังคม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม