ในงานมหกรรมงานบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัล “Blockchain Thailand Genesis 2019” นำทีมโดย คุณกานต์นิธิ ทองธนากุล เลขาธิการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และคุณสัญชัย ปอปลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คริปโตมายด์ จำกัด ได้มีการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล พร้อมแชร์ประสบการณ์ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้เพื่อยกระดับในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการนำมาประยุกต์ใช้เข้ากับระบบการเงิน (Fintech) เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในการให้บริการทางการเงิน โดยมีประเด็นสำคัญเรื่องของ ทิศทางบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัลไทย การแนะนำให้คนไอทีอัพสกิลบล็อกเชน และให้ผู้มีอำนาจปลดล็อกบล็อกเชน รวมไปถึงเรื่องที่กลต. จะต้องกำกับดูแลเพิ่มเติม หลังออกพรก. สินทรัพย์ดิจิทัลเมื่อปีที่ผ่านมา และประเด็นแชร์ลูกโซ่ยังเป็นปัญหาสำคัญในขณะนี้
Depa ชี้คนไอทีต้องอัพสกิล “บล็อกเชน”
เริ่มต้นเปิดประเด็นในหัวข้อ “แนวทางการส่งเสริม และพัฒนาบุคลากรด้านบล็อกเชน” โดย ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการสำนักงาน กลุ่มสังคมและกำลังคนดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) กล่าวว่า อีก 3-5 ปีข้างหน้า บล็อกเชนจะเข้ามามีบทบาทในการบังคับใช้สัญญาต่างๆ มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทด้านไอทียักษ์ใหญ่ของโลก ที่ก้าวมาสู่การพัฒนาธุรกิจบล็อกเชนมากขึ้น อีกทั้งอุตสาหกรรมต่างๆ เริ่มนำบล็อกเชนไปประยุกต์ใช้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจบริการสุขภาพ ธุรกิจพลังงาน และธุรกิจการท่องเที่ยว เรียกได้ว่าเป็นช่วงที่บล็อกเชนมีการเติบโตสูงขึ้น (Growth Stage)
ดังนั้นในช่วงนี้จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาบุคลากรให้พร้อม ทั้งกลุ่มนักพัฒนาที่ไม่ต้องทำงานเชิงเทคนิค หรือ Non-Technical Developer ซึ่งเป็นกลุ่มที่เน้นความรู้เชิงธุรกิจ และความเข้าใจในลักษณะการทำธุรกิจบล็อกเชน อีกกลุ่มคือโปรแกรมเมอร์ที่สามารถทำงานในเชิงเทคนิคได้ หรือ Technical Developer เพื่อรองรับการเติบโตของบล็อกเชนในอนาคต
ก.ข.ค. แนะผู้มีอำนาจปลดล็อกกำแพงบล็อกเชน
ด้านของภาครัฐ คุณปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ ได้มาร่วมแชร์ประสบการณ์ในหัวข้อ “GovTech และ Blockchain : อนาคตแห่งโลกนวัตกรรมดิจิทัล” ซึ่งเป็นการนำบล็อกเชนเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการข้อมูลของภาครัฐ (GovTech) ทำให้เกิดความสะดวกและโปร่งใสมากขึ้น อย่างที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันข้อมูลกลายเป็นสิ่งที่มีค่ามหาศาล ยกตัวอย่าง ที่ประเทศสิงคโปร์ ที่รัฐได้นำข้อมูลการจราจรกับเอกชน เพื่อนำไปพัฒนาเป็นโมเดลใหม่ๆ และนำมาแก้ไขปัญหารถติดได้ อย่างไรก็ดี คุณปริญญ์ เชื่อว่า “GovTech“ เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นในประเทศไทย และไม่ใช่เฉพาะเทคโนโลยีบล็อกเชนเท่านั้น แต่หมายรวมถึงทุกเทคโนโลยี ในทุกยุคทุกสมัย ซึ่งอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่ในเมืองไทย คือ การตัดสินใจของผู้มีอำนาจ จึงขอฝากให้ผู้มีอำนาจ ช่วยปลดล็อกกำแพงต่างๆ ดังนี้
ก. กฎหมาย ที่มีความล้าหลังและไม่เอื้อต่อการใช้เทคโนโลยี อย่างในบางอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงสูง ควรมีการจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลแทนการใช้กฎหมายบังคับ
ข. แข่งขัน ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพจำนวนมากที่ขาดศักยภาพในการแข่งขัน เพราะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ขณะที่ธนาคารที่มีสภาพคล่อง ก็ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ การที่ระบบบล็อกเชนได้ก่อให้เกิดการปล่อยกู้แบบ Peer-to-Peer หรือการทำธุรกรรมที่ไม่ผ่านตัวกลางเกิดขึ้น รวมถึงการพิจารณาให้เครดิต โดยไม่ยึดเฉพาะธุรกรรมทางการเงินหรือ Alternative Credit Scoring โดยพิจารณาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์แทน เป็นการเข้ามาสนับสนุนให้สตาร์ทอัพสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น
ค. ความคิด การปลดล็อกความคิดคนในภาครัฐเองถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะต้องมองเห็นประโยชน์ของเทคโนโลยีที่มาช่วยในเรื่องความโปร่งใส (Transparency) และการตรวจสอบย้อนกลับได้ (Traceability) ทั้งนี้หลายหน่วยงานภาครัฐก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวแล้ว เช่น กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ ที่วางแผนบริหารจัดการข้อมูล Big Data ของสินค้าเกษตรร่วมกัน
กลต. เล็งกำกับดูแลเพิ่มเติม
นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่น่าสนใจจาก ดร.นภนวลพรรณ ภวสันต์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงิน สำนักงาน ก.ล.ต. ที่มาพูดในหัวข้อ “สินทรัพย์ดิจิทัล และการกำกับดูแลในประเทศไทย” หลังจากที่พรก. สินทรัพย์ดิจิทัล ออกมาเมื่อปีพ.ศ. 2561 ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่ผู้ลงทุนให้ความสนใจในเรื่องของสินทรัพย์ดิจิทัลมีเพิ่มมากขึ้น ทำให้กลต. ต้องเข้ามากับกำดูแล เพื่อให้นักลงทุนมีความรู้ ความเข้าใจ และออกกฎหมายมาเพื่อรองรับและคุ้มครอง รวมไปถึงเรื่องการปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งในอนาคต กลต. จะขยายการกำกับดูแลจากเดิมที่มี Exchange Broker Dealer และ ICO Portal ไปสู่การกำกับดูแล ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล (Advisor) และผู้จัดการกองทุนสินทรัพย์ดิจิทัล (Fund Manage) อีกด้วย
อย่างไรก็ดี ดร.นภนวลพรรณ ได้ฝากถึงสิ่งสำคัญที่นักลงทุนจะต้องรู้ก่อนการลงทุน 1. ต้องรู้ราคาและรู้ว่าสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นมีความผันผวนสูง 2. สินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงทางด้านระบบไอที 3. ผู้ประกอบการต้องได้รับการอนุญาต จากกลต. ตามที่มีประกาศในเว็บไซต์ พร้อมทั้งกล่าวย้ำว่า ในกรณีที่ผู้ลงทุนลงทุนในต่างประเทศ กลต. ไม่สามารถให้ความคุ้มครองผู้ลงทุนได้
แชร์ลูกโซ่ยังน่าเป็นห่วง
ปิดท้ายที่วงเสวนา “Fireside Chat : ชําแหละกลโกง ที่ทุกคนต้องรู้ก่อนลงทุนคริปโต” โดยมีผู้ร่วมเสวนา พ.ต.ท.ปองพล เอี่ยมวิจารณ์ นักวิชาการด้านอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สํานักงานตํารวจแห่งชาติ, คุณนันทวัจน์ เหลืองอรุณ นักจิตบําบัด นักลงทุนอิสระ เจ้าของเพจ “ลิงรู้เรื่อง” และคุณพีรพัฒน์ หาญคงแก้ว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Blockchain Review ซึ่งผู้เข้าร่วมวงเสวนาทั้ง 3 ท่านต่างมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า แชร์ลูกโซ่ ยังเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยมีการคาดการณ์ว่า ปัจจุบันคดีที่เกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ สร้างมูลค่าความเสียหายนับแสนล้านบาท เนื่องจากในกระบวนการทำคดีมีค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก ทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณเป็นเงินหลายล้านไปจนถึงหลักสิบล้านบาทในการบริหารจัดการคดีเหล่านี้
ส่วนประเด็นเรื่องของเงินดิจิทัล ได้ฝากให้ผู้ที่สนใจลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลใช้ความระมัดระวังและเช็คข้อมูลให้ละเอียดรอบคอบก่อนการลงทุน หลังจากเกิดกรณีการหลอกลวงลงทุนในช่วงปีที่ผ่านมา และมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ในอนาคตอันใกล้นี้จะมีกฎหมายเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่โดยตรง ออกมาบังคับใช้ด้วย