HomeBrand Move !!อาชีพเสริมสู่ธุรกิจร้อยล้าน..เปิดธุรกิจ ‘บุญนำพา’ บริการเดลิเวอรี่ ‘บุญ’ ถึงหน้า ‘บ้าน’

อาชีพเสริมสู่ธุรกิจร้อยล้าน..เปิดธุรกิจ ‘บุญนำพา’ บริการเดลิเวอรี่ ‘บุญ’ ถึงหน้า ‘บ้าน’

แชร์ :

คุณสรสิช เนตรนิล ผู้ก่อตั้งบริษัท บุญนำพา จำกัด

ตัวเลข 1.3 แสนล้านบาท คือมูลค่าการใช้จ่ายเพื่อทำบุญการกุศุลทุกรูปแบบของคนไทยในปี 2560  ที่ “ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์” (EIC) รายงานไว้  โดย 96% ของครัวเรือนไทย มีรายจ่ายในส่วนนี้ หรือเฉลี่ยราว 6,200 บาทต่อครัวเรือนต่อปี สะท้อนให้เห็นพฤติกรรม “คนไทยสายบุญ”  ซึ่งถือเป็นความเชื่อของชาวพุทธที่ส่งต่อกันมายาวนาน และสร้างโอกาสให้ธุรกิจที่เข้ามาตอบสนองอินไซต์นี้ได้ตรงจุด

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ในยุคปัจจุบันผู้คนใช้ชีวิตเร่งรีบ รูปแบบการทำบุญเสริมสิริมงคลยังคงมีอยู่  แต่พิธีการหลายขั้นตอน กลายเป็น pain point การจัดงานบุญ ที่คนทั่วไปไม่รู้จะเริ่มต้นจัดงานอย่างไร ทั้งการเตรียมอาหาร อุปกรณ์ ที่ยากสุดการนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ มาประกอบพิธี

ในจุดนี้คนที่มองเป็น “โอกาส” แก้โจทย์และตอบสนองอินไซต์ “สายบุญ” ได้ ก็สามารถปั้นธุรกิจใหม่สร้างรายได้หลัก “ร้อยล้าน” เช่นเดียวกับ คุณสรสิช เนตรนิล ผู้ก่อตั้งบริษัท บุญนำพา จำกัด ธุรกิจรับจัดงานบุญทุกรูปแบบ ที่เริ่มต้นเพียง 2 คน คือเขาและภรรยา ต้องการหารายได้เสริมวันเสาร์-อาทิตย์  จึงเข้ามาจับโอกาสจากจัดงานทำบุญบ้าน ทำบุญบริษัท ทำบุญวันเกิด ที่หลายคนไม่มีเวลาเตรียมงานและเห็นว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก และต้องบอกว่าตลาดไปได้ดีเกินคาด!

จนปัจจุบันสามารถต่อขยายธุรกิจมาสู่ ชุดสังฆทาน, บริการจัดอาหารงานเลี้ยง (Catering), ไก่ทอดสไตล์เกาหลี มิสเตอร์ชอน (Mr.Chon Fried Chicken), อาหารแช่แข็งพร้อมรับประทาน (Frozen Food), ทัวร์ไหว้พระ เส้นทางในและต่างประเทศ และล่าสุดกับ บุญนำพาอะคาเดมี่ (Academy) ที่เปิดสอนการบริหารจัดการงานครัว ซึ่งทั้งหมดนี้ คุณสรสิช ได้ต่อยอดนำ “Big Data” ที่ได้จากการจัดเก็บฐานข้อมูลพระสงฆ์และลูกค้าตลอด 7 ปี มาใช้ในการบริหารจัดระบบหลังบ้านทั้งหมด

อุดช่องว่างคนไทย “ไม่มีเวลา” จัดงานบุญ

ย้อนกลับไปเมื่อ ปี 2557 ธุรกิจ “บุญนำพา” เริ่มต้นขึ้นหลังจากที่คุณสรสิช มีโอกาสไปร่วมงานบุญบ้านเพื่อน และได้ยินเสียงบ่นถึงความวุ่นวายในการจัดเตรียมงาน ทำให้จุดประกายความคิดรับจัดงานบุญขึ้นมา และเห็นว่าธุรกิจนี้มีความเป็นไปได้ จากความต้องการในฝั่ง “ผู้บริโภค” ที่ยังมีดีมานด์อยู่มาก จากความเชื่อเรื่องการทำบุญเสริมสิริมงคลและพฤติกรรมคนไทยสายบุญ

จึงเริ่มศึกษาโอกาสจาก “ตลาดอสังหาริมทรัพย์” พบว่า แต่ละปีในกรุงเทพฯและปริมณฑลมีปริมาณที่อยู่อาศัยสร้างใหม่เพิ่มขึ้นหลัก “แสนหลัง” ทั้งในแนวราบและแนวสูง ขณะเดียวกันยังมีโอกาสจาก “บริษัทเปิดใหม่” ที่จะเกิดขึ้นอีกจำนวนไม่น้อยเช่นกัน เป็นกลุ่มที่มีโอกาสจัดงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่และงานทำบุญบริษัท  เมื่อเห็นโอกาสในตลาด จึงเรียนรู้การจัดเตรียมพิธีงานบุญที่ถูกต้องจาก “พระสงฆ์” ก่อนจะเริ่มรับจัดงาน

 

คนไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ พอซื้อบ้านใหม่หรือเปิดบริษัทใหม่ ก็จะต้องจัดงานทำบุญอย่างน้อย 1 ครั้ง”

แต่ด้วยไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ที่เปลี่ยนไป เลิกงานก็ตรงกลับบ้าน ขณะที่การจัดงานบุญ มีหลายสิ่งที่ต้องเตรียม ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ ใช้เวลานานกว่า 1 สัปดาห์ จึงกลายเป็นความไม่สะดวกและยุ่งยากของหลายคน บุญนำพา จึงเข้ามาช่วยตอบโจทย์ในส่วนนี้

จากเดือนแรกที่มีลูกค้าติดต่อเข้ามาเพียง 1 ราย เริ่มขยับเป็น 30 งานต่อเดือน ภายในระยะเวลาเพียง 6 เดือน จากที่มองธุรกิจนี้เป็นเพียงช่องทางหา “รายได้เสริม” แต่เมื่อมีปริมาณงานเข้ามามากขึ้น จนกระทั่งสามารถสร้างรายได้ทดแทนงานประจำ คุณสรสิชกับภรรยาจึงตัดสินใจ เข้ามาลุยธุรกิจนี้อย่างเต็มตัวในอีก 1 ปีต่อมา

แม้ว่า “ไอเดีย” ธุรกิจจะน่าสนใจ อีกทั้ง “ช่องทางธุรกิจ” ที่มีทำให้เติบโตไปได้ แต่คุณสรสิช ยอมรับว่า การทำธุรกิจในช่วงแรกต้องพบเจอกับอุปสรรคอยู่ไม่น้อย การเข้าไปดูแลเรื่องพิธีให้กับลูกค้าเพียงอย่างเดียว ทำให้เจอปัญหาจาก Subcontract ที่ไม่สามารถควบคุมคุณภาพอาหารและวัตถุดิบได้ จนส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของแบรนด์ หรือแม้กระทั่งการ “นิมนต์พระสงฆ์” ในแต่ละครั้ง ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งเป็นช่วงปลายปีถึงต้นปีที่คนนิยมจัดงานบุญกันมากแล้ว ต้องบอกว่า พระสงฆ์มีจำนวนไม่พอกับความต้องการของผู้จัดงานบุญเลยทีเดียว เป็นอีกเรื่องสำคัญที่ต้องบริหารจัดการให้ได้

“งานบุญเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อของลูกค้าที่อยากให้งานสำเร็จ  ไม่มีปัญหาติดขัด เป็นสิ่งที่บุญนำพา ต้องบริหารทุกขั้นตอนงานบุญให้ราบรื่น เป็นงานที่ต้องใช้ประสบการณ์และไม่ใช่เรื่องง่ายๆ”

การหา “พนักงาน” ที่เข้าใจเรื่องงานบุญ ก็มีความยากแล้ว ด้วยลักษณะของ “งานบุญ” ต้องเกี่ยวข้องกับวัด พระสงฆ์ รวมถึงความเชื่อ และพิธีกรรมทางศาสนา จึงถือเป็นงานยากที่ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถเข้ามาทำงานได้

“ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถนั่งสวดมนต์ หรืออยู่ใกล้พระได้ คนที่ไม่ชอบสวดมนต์ ก็จะทำงานนี้ไม่ได้ พนักงานของบุญนำพาจึงต้องผ่านการฝึกฝน ตั้งแต่การสวดมนต์ เกริ่นนำพิธีการ เรียนรู้การสนทนากับพระสงฆ์ และการพูดคุยกับลูกค้า”

สร้าง Big Data จากฐานลูกค้า-พระสงฆ์

ในการจัดงานให้กับลูกค้า หลังจากทีมงาน “บุญนำพา” ได้รับการคอนเฟิร์ม “วันและสถานที่จัดงาน” จากลูกค้าผ่านทางโทรศัพท์เรียบร้อยแล้ว ทีมงานชุดแรกจะถูกส่งเข้าไปสำรวจสถานที่จัดงานของลูกค้า และก่อนถึงวันงานหนึ่งวัน จะมีทีมงานชุดที่สองเข้าไปจัดเตรียมงานล่วงหน้า จนเมื่อถึงวันงาน จะมีทีมงาน 4-5 คน แบ่งหน้าที่ออกเป็น 3 ทีม ได้แก่ ทีมพิธีทางศาสนา ทีมดูแลอาหาร และทีมอำนวยความสะดวกภายในงาน คอยดูแลภาพรวมของการจัดงานแทนเจ้าภาพในทุกขั้นตอน

ข้อดีของบริการอำนวยความสะดวก คือ ลูกค้า “ไม่ต้องเสียเวลา” จัดเตรียมงานเอง ตั้งแต่เดินทางไปนิมนต์พระ, ขอยืมอุปกรณ์วัด, เตรียมสังฆทาน ตลอดจนการจัดเตรียมภัตตาหารถวายพระ หรือแม้แต่รอรับแขกที่มาร่วมงาน เป็นค่าใช้จ่ายที่แลกกับความสะดวก เริ่มต้นที่ 18,000 บาท สำหรับแพ็กเกจงานจัดเลี้ยงพระอย่างเดียวแต่ถ้าหากลูกค้าต้องการจัดเลี้ยงแขกที่มาร่วมงานด้วย จะบวกราคาเพิ่มเฉลี่ย 200 บาทต่อคน

ปัจจุบัน บุญนำพา มีฐานลูกค้าอยู่มือนับ 10,000 ราย ลูกค้าหลักเป็น “กลุ่มบริษัท” สัดส่วน 60-70% ที่เหลือเป็น “ลูกค้าทั่วไป” ที่ปัจจุบันได้จับมือกับอสังหาริมทรัพย์ 3-4 ราย ที่ต้องการมอบบริการจัดงานทำบุญบ้านให้เป็น privilege กับลูกบ้าน

“คนไทยกว่า 90% ต้องการทำบุญอยู่แล้ว ในจำนวนนี้มีทั้งจัดเตรียมงานเองและใช้บริการรับจัดงาน จากการเก็บสถิติลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการราว 200-300 รายต่อเดือน พบว่าลูกค้าที่ใช้บริการส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้ออสังหาริมทรัพย์ราคาใน 3 ล้านบาทขึ้นไปและพร้อมจ่ายให้กับการจัดงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่”

เมื่อลูกค้าติดต่อเข้ามาใช้บริการ บุญนำพา จะเก็บ “ข้อมูลลูกค้า” ตั้งแต่ข้อมูลทั่วไป ชื่อ เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ อีเมล วันเวลา สถานที่จัดงาน ตลอดจนเมนูอาหารที่ลูกค้าเลือก ขณะเดียวกันจัดเก็บข้อมูลในฝั่งของ “วัด” ทั้งรายชื่อวัด ตำแหน่งที่ตั้งของวัด จำนวนพระสงฆ์ ซึ่งปัจจุบันมีข้อมูลครอบคลุมกว่า 100 วัด ถูกจัดเก็บไว้ในระบบคลาวน์

การสร้างระบบคลาวน์ของตัวเอง เป็นการต่อยอดจากความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานด้านการตลาดและเทคโนโลยีของคุณสรสิช เข้ามาช่วยวางแผนงานอย่างเป็นระบบ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าแต่ละกลุ่มผ่านการทำ CRM ทำให้บุญนำพา “รู้จักลูกค้า” แต่ละกลุ่มเป็นอย่างดี และสามารถทำการตลาดได้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น นอกจากการใช้กลยุทธ์การตลาดออนไลน์ ผ่านบล็อก เว็บไซต์ และแฟนเพจเฟซบุ๊ก ที่ช่วยสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคในช่วงแรก

“ผมก็เหมือนคนนำบุญมาให้ถึงบ้าน การให้บริการลูกค้าจะต้องเก็บรายละเอียดทั้งหมด ลูกค้าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เพื่อช่วยให้เรารักษาความสัมพันธ์ที่ดีและสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ทำให้ในปีแรกธุรกิจเติบโตขึ้นถึง 100% และยังขยับขึ้นไปเรื่อยๆ”

สร้าง Network เชื่อมโยงธุรกิจเข้าด้วยกัน

คุณสรสิช บอกว่า ในอนาคตซิสเต็มของบุญนำพา จะกลายเป็น Network ที่สำคัญในการเชื่อมโยงธุรกิจทั้งหมดของบุญนำพาเข้าด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ระบบ “ครัวกลาง” ที่พัฒนาระบบการบริหารจัดการงานครัว เพื่อเข้ามาช่วยลดระยะเวลาในการคำนวณต้นทุน และทำให้การสั่งซื้อวัตถุดิบอาหารสำหรับการจัดงานในแต่ละวันแม่นยำมากขึ้น จนสามารถลดการสต็อกของสด และการสูญเสียวัตถุดิบโดยไม่จำเป็นได้ ในบริการจัดอาหารงานเลี้ยง (Catering) ในชื่อ “หงส์ เคเทอริ่ง” ที่มีเมนูอาหารให้เลือกกว่า 120 เมนู

ปัจจุบันมีพ่อครัวแม่ครัว 25 คน สามารถทำอาหารรองรับการจัดงานเฉลี่ย 20 งานต่อวัน หรือราว 2,000 คน จากการเก็บสถิติลูกค้ามาใช้ในระบบครัวกลาง ทำให้พ่อครัวแม่ครัวไม่ต้องเสียเวลาในการคำนวณการสั่งซื้อวัตถุดิบเอง อีกทั้งยังควบคุมคุณภาพและสร้างบริการด้านอาหารที่เป็นมาตรฐานได้ เพราะระบบจะคำนวณสูตรในการปรุงอาหารให้ด้วย ทำให้อาหารที่ออกมาจากครัวกลางเป็นมาตรฐานเดียวกัน

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก Mr.Chon Thailand

ต่อยอด “ซอส” จากครัวกลางเป็นเมนูไก่ทอดเกาหลี “Mr.Chon”

ในการปรุงอาหารของครัวกลาง จะมี “ซอสกลาง” ที่ใช้สำหรับการปรุงอาหารในหลายเมนู ซอสกลางนี้ถูกพัฒนามาเป็นซอสสำหรับ “ไก่ทอดสไตล์เกาหลี Mr.Chon” ที่มีให้เลือกถึง 7 ซอส ได้แก่ เขียวหวาน, มัสมั่น, สไปซี่, ฮันนี่, บาบีคิว, ฮันนี่ กาลิก และไข่เค็ม ซึ่งปัจจุบันไก่ทอดเกาหลี Mr.Chon ทำการตลาดผ่านการออกบูธตามงานอีเวนท์ต่างๆ และยังเปิดเป็นแฟรนไชส์ให้กับผู้สนใจลงทุนธุรกิจ โดยมีสาขาทดลองอยู่ที่ บิ๊กซีหทัยราษฎร์ สุวินทวงศ์ และจามจุรีสแควร์

“ตลาดไก่ทอด มีมูลค่านับแสนล้านบาท แม้จะมีคู่แข่งในตลาดจำนวนมาก แต่ผู้บริโภคยังต้องการตัวเลือก ในเมื่อมีซอสที่ใช้ปรุงอาหารจาก Catering อยู่แล้ว ตรงนี้จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สามารถเติบโตขึ้นไปได้” คุณสรสิช กล่าว

จากเมนูในครัวแปลงร่างเป็น “อาหารแช่แข็ง” 

การเก็บสถิติ “เมนูอาหารที่ลูกค้าชื่นชอบ” ของบุญนำพา ยังต่อยอดมาสู่ธุรกิจ “อาหารแช่แข็ง” (Frozen Food) ที่คัดเลือกมีเมนูที่ลูกค้ามักสั่งเป็นประจำ มาพัฒนาเป็นอาหารแช่แข็งพร้อมรับประทาน มากกว่า 10 เมนู อาทิ แกงเขียวหวาน, มัสมั่น, คั่วกลิ้ง และเมนูสปาเก็ตตี้คาโบนาร่า และโบโลเนส

เบื้องต้นเน้นทำตลาดในกลุ่มลูกค้าประจำ หรือลูกค้าเก่าที่เคยใช้บริการจัดงานบุญ เพื่อทางเลือกและอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่ต้องการสั่งอาหารทานที่บ้าน ใช้สำหรับจัดงาน รวมถึงกลุ่มธุรกิจคาเฟ่ ที่ต้องการมีเมนูอาหารเสิร์ฟให้กับลูกค้า โดยคุณสรสิช มองว่า ธุรกิจอาหารแช่แข็งเป็นอีกหนึ่งขาที่มีการเติบโต ซึ่งหากมีกระแสตอบรับที่ดีจากลูกค้า อาจแตกเป็นซับแบรนด์ได้ในอนาคต

ดูแลลูกค้าดี จนขอให้ “จัดทัวร์ทำบุญ” เสริมดวง

ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา บุญนำพา สะสมความสัมพันธ์ที่ดี จนได้รับความวางใจจากลูกค้าให้ “จัดทัวร์ไหว้พระ” ตามสถานที่ชื่อดังต่างๆ ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง มาเก๊า ฝรั่งเศส แม้ว่าจะไม่ได้เปิดเป็นธุรกิจทัวร์อย่างเต็มรูปแบบ แต่มีความต้องการจากลูกค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

คนไทยมีความเชื่อเรื่องการไปไหว้พระขอพรต่างๆ เช่น ธุรกิจ การงาน การเงิน ความรัก ซึ่งแต่ละคนก็จะต้องการเสริมดวงในเรื่องที่แตกต่างกัน ทัวร์ที่บุญนำพาจัดขึ้นให้กับลูกค้า จึงแตกต่างจากทัวร์ไหว้พระทำบุญทั่วไป เพราะจะอิงกับความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก

เปิด “อะคาเดมี” ส่งต่อองค์ความรู้ธุรกิจอาหาร

ปัจจุบัน บุญนำพา มีพนักงานมากกว่า 80 คน ด้วยธุรกิจในมือที่มีหลากหลายมากขึ้น ทำให้บุญนำพา ไม่ใช่เพียงผู้ให้บริการรับจัดงานบุญทุกรูปแบบ แต่กลายเป็น “เซอร์วิสไลฟ์สไตล์” ที่พร้อมจะส่งมอบองค์ความรู้การบริหารจัดการงานครัวทั้งหมด ภายใต้ “บุญนำพา อะคาเดมี” ที่จะเปิดสอนการคำนวณต้นทุนวัตถุดิบ ระบบการบริหารจัดการร้าน ตลอดจนสอนทำอาหารให้กับผู้สนใจทำธุรกิจอาหาร

และในอนาคตจะต่อยอดนำข้อมูลในระบบคลาวด์ มาให้บริการกับผู้ที่สนใจนำ “ข้อมูลสำเร็จรูป” ไปใช้ในธุรกิจอีกด้วย ซึ่งจะมีทั้งส่วนที่เปิดให้ใช้งานฟรี และอาจจะเก็บเงินเพิ่มในบางเซอร์วิส

ตั้งเป้าอีก 3 ปีเข้าตลาดหลักทรัพย์

สำหรับแผนการขยายธุรกิจในช่วง 3 ปีต่อจากนี้ คุณสรสิช ต้องกาารนำธุรกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยระหว่างนี้ได้เตรียมความพร้อมด้วยการลงทุนขยายธุรกิจ ทั้งในส่วนของโรงงาน สำนักงาน เพื่อรองรับการขยายธุรกิจไปสู่ตลาดภูมิภาค ในหัวเมืองต่างจังหวัด เช่น ขอนแก่น เชียงใหม่ รวมถึงการขยายไปสู่ตลาด CLMV กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม

“ตอนนี้เรากำลังศึกษาตลาดในระดับภูมิภาค เพราะแต่ละภาคจะมีประเพณีงานบุญไม่เหมือนกัน อย่างเช่น ภาคเหนือ มีเรื่องของการสะเดาะเคราะห์ ทำสะตวง เป็นต้น เราจึงต้องศึกษาให้ถ่องแท้ นอกจากนี้ยังต้องศึกษาการเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์ บริษัท ตลอดจนไลฟ์สไตล์ของคนในพื้นที่”

แม้จะมีคู่แข่งเข้ามาในตลาดมากขึ้น แต่คุณสรสิช มองว่า สิ่งที่ทำให้ธุรกิจจัดงานบุญอยู่รอดได้ ไม่ใช่การมองผลตอบแทนเรื่องกำไรเป็นหลัก แต่เป็นการทำหน้าที่เป็นผู้จัดงานให้ดีที่สุด เพราะการถูกบอกต่อในทางที่ดี จะส่งผลดีต่อการทำธุรกิจในระยะยาว


แชร์ :

You may also like