HomeBrand Move !!เครือข่ายร้านค้าปลีก ค้าส่งไทย 24,500 แห่ง งดแจกถุงพลาสติก ดีเดย์ 1 ม.ค. 63 พร้อมเสนอ 9 มาตรการขับเคลื่อนเป็นรูปธรรม

เครือข่ายร้านค้าปลีก ค้าส่งไทย 24,500 แห่ง งดแจกถุงพลาสติก ดีเดย์ 1 ม.ค. 63 พร้อมเสนอ 9 มาตรการขับเคลื่อนเป็นรูปธรรม

แชร์ :

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ผนึกร้านค้าสมาชิกและเครือข่ายกว่า 75 ร้านค้า 24,500 ช่องทางจำหน่าย ยกระดับจาก “ลด” การแจกถุงพลาสติกมาเป็น “งด” ให้ถุงพลาสติก​ กับแคมเปญ Everyday Say No to Plastic Bags ดีเดย์ 1 มกราคม 2563 โดยคาดหวังว่าจะลดถุงพลาสติกได้ถึง 9,000 ล้านใบต่อปี หรือราว 20% ของถุงพลาสติกหูหิ้วที่ใช้กันอยู่ในประเทศไทย 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ทั้งนี้ จากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระบุว่า ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วในประเทศไทยมีมากถึง 45,000 ล้านใบต่อปี แบ่งที่มาของถุงพลาสติกหูหิ้วได้จาก 3 แห่งด้วยกันคือ 40% มาจากตลาดสดเทศบาล เอกชน และแผงลอย จำนวน 18,000 ล้านใบต่อปี 30% มาจากร้านขายของชำ จำนวน 13,500 ล้านใบต่อปี และอีก 30% มาจาก ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ จำนวน 13,500 ล้านใบต่อปี

นอกจากนี้ยังพบอีกว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ยคนละ 8 ใบต่อวัน ทำให้เกิดเป็นขยะพลาสติกมากถึง 80 ล้านใบต่อวัน

นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ตลอดปี 2562 ที่ผ่านมาสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้ผนึกกำลังกับห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และภาคีเครือข่ายสมาคมผู้ค้าปลีกไทยกว่า 40 แห่งทั่วประเทศ ร่วมประกาศเจตนารมณ์ด้วยการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ งดให้บริการถุงพลาสติกทุกวันที่ 4 ของเดือน กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อร่วมกันลดปริมาณขยะถุงพลาสติกที่เป็นปัญหาสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนและสิ่งมีชีวิตทั่วโลก

จาก “ลดให้ ลดรับ” สู่ “งดให้ งดรับ” ถุงพลาสติก

นับแต่เริ่มกิจกรรมตั้งแต่ วันที่ 4 ธันวาคม 2561 จนถึง วันที่ 31 สิงหาคม 2562 ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อและเครือข่ายสมาคมผู้ค้าปลีกไทยกว่า 40 แห่งทั่วประเทศ ได้รณรงค์งดให้ถุงพลาสติก ด้วยการจัดกิจกรรมมากมายและหลากหลายวิธี นับตั้งแต่ไม่รับถุงพลาสติกได้คะแนนสะสมมูลค่า 1-3 บาท หรือบริจาคเป็นเงินเข้าองค์กรการกุศลต่างๆ ซึ่งสามารถช่วยลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วไปแล้วกว่า 2,000 ล้านใบ หรือประมาณ 5,755 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 400 ล้านบาท หรือราว​ 4.6%

และจากการรณรงค์แคมเปญ “ลดให้ ลดรับ” เบื้องต้นสมาคมผู้ค้าปลีกไทย พบว่า สามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วลงได้กว่า 2,000 ล้านใบ หรือราว​ 4.6% เท่านั้น

สมาคมผู้ค้าปลีกไทยจึงมองเห็นว่า หากยกระดับแคมเปญมาสู่การ “งดให้ งดรับ” ถุงพลาสติกหูหิ้วทุกวัน มาใช้ในปี 2563 อย่างจริงจังกับห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อและร้านค้าในเครือข่ายสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ทางสมาคมฯ คาดว่าจะสามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วได้มากถึง 9,000 ล้านใบต่อปี หรือคิดเป็น​ 20% ของขยะถุงพลาสติกทั้งหมด

ต่อยอดแคมเปญ Everyday Say No to Plastic Bags

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้เชิญห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อและร้านค้าในภาคีเครือข่ายสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เข้าหารือโดยมีฉันทามติอย่างเป็นเอกฉันท์ สนับสนุน แคมเปญ “Everyday Say No to Plastic Bags” งดให้ถุงพลาสติกหูหิ้ว นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้ขยายความความร่วมมือโดยประสานงานกับร้านค้าปลีกค้าส่งทั่วประเทศ จากจำนวนร้านค้าภาคีในเครือข่ายสมาคม 42 ร้านค้า เพิ่มเป็น 75 ร้านค้า เพื่อให้เกิดพลังในการผลักดัน แคมเปญ “Everyday Say No to Plastic Bags” ให้สัมฤทธิ์ผลตามที่คาดหมาย

ซึ่งถ้าห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีก ร้านค้าส่ง และร้านสะดวกซื้อ ที่เข้าร่วมโครงการ SAY NO TO PLASTICS BAGS กว่า 75 ร้านค้า ที่มีช่องทางจำหน่ายกว่า 24,500 ช่องทาง ยืนยันที่จะงดให้ถุงพลาสติกหูหิ้วอย่างจริงจัง แคมเปญ “Everyday Say No to Plastic Bags” ก็จะบรรลุเป้าหมายและสามารถสร้างพฤติกรรมและทัศนคติต่อผู้บริโภคในการร่วม ลด ละ เลิก ขยะพลาสติก ได้เร็วกว่า Roadmap ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กำหนดว่าถุงพลาสติกจะหมดไปในปี พ.ศ. 2571

9 มาตราการ ขับเคลื่อน Everyday Say No to Plastic Bags

ทั้งนี้ ทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้เสนอ 9 มาตราการแก่ภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการลดปริมาณการใช้พลาสติกหูหิ้วในประเทศไทยอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย

1. ภาครัฐต้องเร่งประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ประชาชนรับทราบและร่วมด้วยช่วยกันงดรับถุงพลาสติกหูหิ้วอย่างทั่วถึง จากข้อมูลการวิจัย ผู้บริโภคในกรุงเทพและปริมณฑล รับทราบถึงการประชาสัมพันธ์ ที่กำหนดให้ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าในภาคีเครือข่ายสมาคมผู้ค้าปลีกไทย งดให้ถุงพลาสติกหูหิ้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป แต่ประชาชนในต่างจังหวัดมีสัดส่วนการรับทราบถึงการประชาสัมพันธ์ดังกล่าวน้อยมาก

2. ภาครัฐควรศึกษาเส้นทางการจับจ่ายของลูกค้า Customer Journey อย่างเข้าใจและเข้าถึง ทั้งนี้ การประชาสัมพันธ์ที่เกิดผลสูงสุด จะต้องให้ผู้บริโภคตระหนักรู้ตั้งแต่อยู่บ้าน ที่ทำงาน หรือจุดเริ่มต้นของเส้นทางการจับจ่าย ซึ่งการประชาสัมพันธ์ ณ จุดขาย เป็นเพียงการแก้ที่ปลายเหตุเท่านั้น

3. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าในภาคีเครือข่ายสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ที่เข้าร่วมแคมเปญ EVERYDAY SAY NO TO PLASTICS BAGS มีสัดส่วนเพียง 1 ใน 5 ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วในประเทศไทยมีมากถึง 45,000 ล้านใบต่อปี ภาครัฐต้องเร่งประชาสัมพันธ์จัดกิจกรรมเชิญชวนให้ภาคส่วนอื่นๆ เข้าร่วมแคมเปญ EVERYDAY SAY NO TO PLASTICS BAGS นับตั้งแต่ ร้านค้าปลีกอื่นๆ ตลาดสดเทศบาล เอกชน แผงลอย และร้านขายของชำ ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นผู้ใช้ปริมาณถุงพลาสติกหูหิ้ว อีก 4 ใน 5 ของปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วทั้งประเทศ

4. ภาครัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอและชัดเจน ในการทำโครงการรณรงค์ ลด ละ เลิก การใช้ถุงพลาสติก หูหิ้ว และกำหนดโลโก้ งดให้ถุงพลาสติกหูหิ้วเป็นสากลและมาตรฐาน เพื่อที่ร้านค้าต่างๆ จะได้นำไปเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักรู้แก่ผู้บริโภค (ดังตัวอย่าง ฉลากเบอร์ 5 ลดการใช้พลังงาน)

5. ภาครัฐควรจัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมการ ลดใช้ งดใช้ถุงพลาสติกเป็นกาลเฉพาะ เพื่อให้ห้างร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ นำเงินที่ผู้บริโภคบริจาคจากการต้องใช้ถุงพลาสติกในกรณีจำเป็น

6. สมาคมฯ มีความเห็นว่า การลดขยะถุงพลาสติกหูหิ้ว ไม่ควรเป็นเรื่องของความสมัครใจ แต่ควรเป็นเรื่องการใช้กฎระเบียบบังคับ เพราะสมาชิกสมาคมฯ ได้ดำเนินการเรื่องนี้มาเป็นระยะเวลามากกว่า 5 ปี โดยเป็นภาคสมัครใจและให้ผลประโยชน์ตอบแทนในรูปแบบต่างๆ แต่ก็ยังได้ผลน้อยมาก

7. สมาคมฯ มีความเห็นว่า การจะแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกให้ได้ผล ภาครัฐต้องออกเป็นประกาศ กฎกระทรวง ออกมาให้มีผลบังคับใช้กับผู้บริโภคทุกคนทั่วทั้งประเทศ

8. การประเมินผลสัมฤทธิ์ของแคมเปญ “Everyday Say No to Plastic Bags” ควรจะให้การดำเนินแคมเปญผ่านไปแล้ว 6 เดือน ทั้งนี้ช่วงระยะ 6 เดือนแรก เป็นช่วงที่ร้านค้าและผู้บริโภคจะต้องปรับตัว และปรับพฤติกรรมให้เตรียมพร้อมในการจับจ่ายแต่ละครั้งด้วยการเตรียมถุงผ้าหรือถุงพลาสติกอื่นๆ ก่อนที่จะเดินเข้าร้าน

9. ภาครัฐต้องประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆตลอดช่วง 6 เดือนแรก เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นของโครงการ

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้บริโภคจะเข้าใจและตระหนักรู้ถึงวิกฤติของขยะพลาสติกที่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม และเตรียมความพร้อมมาจับจ่าย และ รับทราบว่า ร้านค้าจะงดให้ถุงพลาสติกหูหิ้วนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป ในระยะแรกของโครงการ อาจจะก่อให้เกิดความไม่สะดวกในการจับจ่าย ท้ายที่สุดนี้ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ซึ่งเป็นตัวแทน ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีก ร้านค้าส่ง และร้านสะดวกซื้อ ที่เข้าร่วมโครงการ EVERYDAY SAY NO TO PLASTICS BAGS หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เราจะเป็นแบบอย่างในการรณรงค์ลดขยะพลาสติก และส่งผลให้ ร้านค้า ตลาดสด และ ส่วนงานอื่นๆ ที่เหลือ เข้าร่วมดำเนินกิจกรรมพร้อมๆ กัน และเป็นพลังร่วมกันทั้งประเทศ

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like