ยอมรับว่าเรื่องของสเกล หรือจำนวนสาขาที่ยังน้อยอยู่เป็นจุดอ่อนของตัวเอง สำหรับ กูร์เมต์ มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ตของกลุ่มเดอะมอลล์ กรุ๊ป ที่ปัจจุบันมีจำนวนสาขาโดยรวมยังไม่ถึง 20 สาขา และส่วนใหญ่จะอยู่ใน Property ของตัวเองเป็นหลัก แต่ทิศทางจากนี้กูร์เมต์ มาร์เก็ต จะพยายามขยายการลงทุนในรูปแบบ Standalone หรือการขยายสาขาที่อยู่นอกเครือเพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโตให้กับธุรกิจ รวมทั้งสามารถขยับเข้าไปใกล้กับผู้บริโภคได้มากกว่าแค่การต้องรอให้ผู้บริโภคเดินเข้ามาหาเองภายในศูนย์ของเครือเท่านั้น
คุณชัยรัตน์ เพชรดากูล ผู้อำนวยการใหญ่บริหารสินค้าซูเปอร์มาร์เก็ต บริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ป จำกัด อัพเดทจำนวนสาขาของกูร์เมต์ มาร์เก็ต ในปัจจุบัน ที่สาขาส่วนใหญ่ราว 10 แห่ง ยังคงอยู่กับศูนย์ต่างๆ ในเครือเดอะมอลล์ ขณะที่มีสาขาที่เป็น Standalone ตั้งอยู่นอกเครือจำนวน 7 แห่ง แบ่งเป็นฟอร์แมตกูร์เมต์ มาร์เก็ต 4 แห่ง กูร์เมต์ ไทย 2 แห่ง และกูร์เมต์ ทูโก 1 แห่ง โดยจนถึงสิ้นปีนี้จะเปิดเพิ่มอีก 2 สาขา คือ กูร์เมต์ มาร์เก็ต ดีไซน์วิลเลจ พุทธมณฑลสาย 2 และกูร์เมต์ มาร์เก็ต พีเพิลพาร์ค อ่อนนุช หลังเพิ่งเปิดให้บริการ กูร์เมต์ ไทย เป็น Pilot Store แห่งแรกที่โครงการไอแอมไชน่าทาวน์ เมื่อกลางเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา
“ปีนี้กูร์เมต์ มาร์เก็ต ได้ขยายสาขาใหม่ ในรูปแบบ Standalone 3 แห่ง ภายใต้งบลงทุนรวม 140 ล้านบาท ทำให้สิ้นปีนี้กูร์เมต์ มาร์เก็ต จะมีสาขารวม 19 สาขา ขณะที่ในปีต่อๆ ไป จะขยายสาขาในแต่ละปีประมาณ 5 แห่ง ภายใต้งบลงทุนต่อปีที่ราว 300-400 ล้านบาท โดยเน้นการขยายที่อยู่นอกเครือมากขึ้น เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก โดยเฉพาะในเขต CBD ไม่ว่าจะเป็นตึกออฟฟิศ โรงพยาบาล หรือตามโครงการที่พักอาศัยที่มีกำลังซื้อที่ดี และมองหาสินค้าที่มีคุณภาพและรองรับไลฟ์ไสตล์ของผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุม ภายใต้ Store Format ที่แตกต่างกันไปทั้ง 3 รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นกูร์เมต์ มาร์เก็ต,กูร์เมต์ ไทย และกูร์เมต์ ทูโก เพื่อให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างไปตามแต่ละโลเกชั่น”
ทั้งนี้ การลงทุนของกูร์เมต์ในปีต่อๆ ไป จะให้ความสำคัญกับโมเดล Standalone หรือการออกไปโตนอกเครือมากขึ้น แม้ว่าในปัจจุบันสาขาส่วนใหญ่จะยังคงอยู่ในศูนย์ของกลุ่มเดอะมอลล์ แต่นับจากปีหน้าเป็นต้นไป จะเน้นขยายสาขาที่อยู่นอกเครือมากขึ้น ทำให้ไม่ต้องรอการลงทุนสร้างศูนย์ใหม่ จึงสามารถเติบโตได้ในสปีดที่เร็วขึ้น รวมทั้งเพิ่มการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ประกอบกับการบริหารงานที่ค่อนข้างอิสระและยืดหยุ่นไปตามโลเกชั่น รวมทั้งการคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ในแต่ละสาขาที่จะทำได้ดีมากขึ้น ทำให้ Performance โดยรวมแข็งแกร่งขึ้น โดยเฉพาะตัวเลขกำไรต่อสาขาที่น่าจะทำได้ดีขึ้นเช่นเดียวกัน
นอกจากการเพิ่มสาขาใหม่ๆ ในรูปแบบ Standalone แล้ว ยังปรับโมเดลธุรกิจให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการช้อปปิ้งแบบ Cross Channel และ Cross Format ทำให้กูร์เมต์ มาร์เก็ตต้องสามารถอำนวยความสะดวกผู้บริโภค ให้สามารถรองรับการช้อปปิ้งออนไลน์ได้ โดยปัจจุบันให้บริการผ่านแอปพลิเคชั่นแฮปปี้เฟรช และอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบอีคอมเมิร์ซของตัวเอง เพื่อสามารถนำ Data จาก Customer Journey ที่เกิดขึ้น ไปศึกษาและวิเคราะห์สำหรับการ Offer สินค้าหรือบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้แบบ Personalize ในอนาคต
รวมทั้งการเพิ่มจุด Click & Collect สำหรับลูกค้าที่สั่งซื้อออนไลน์แต่ต้องการมารับสินค้าที่สาขาด้วยตัวเอง ที่ปัจจุบันมีอยู่รวม 6 จุด และเตรียมเพิ่มจุดบริการใหม่บริเวณสาขาลาดพร้าวอีกหนึ่งจุด เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง
เมื่อแบรนด์แข็งแรง ก็พร้อมไปโตนอกบ้าน
สำหรับกูร์เมต์ มาร์เก็ต เป็นแบรนด์ซูเปอร์มาร์เก็ตที่เติบโตและพัฒนามากว่า 10 ปี จนกลายเป็นแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภคทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และยังเป็นแบรนด์รีเทลแบรนด์เดียวในเครือเดอะมอลล์กรุ๊ป ที่แข็งแรงจนสามารถแยกออกมาลงทุนอย่างเป็นอิสระนอกเครือได้ แม้ว่าการแยกตัวออกมาคร้ังแรก ด้วยการเริ่มสาขาแรกที่เควิลเลจจะไม่ประสบความสำเร็จจนปัจจุบันต้องปิดสาขาดังกล่าวไป แต่ก็ได้เรียนรู้จนทำให้สาขาแบบ Standalone ที่ขยายเพิ่มเติมต่อมาประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
จุดแข็งแกร่งของกูร์เมต์ มาร์เก็ต คือ การมีสินค้าคุณภาพที่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นของสดต่างๆ และสร้างยอดขายเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี ทำให้สัดส่วนสินค้าในกูร์เมต์ มาร์เก็ตเป็นกลุ่มของสดถึง 40% โดยเฉพาะผัก, ผลไม้ และของทะเล ที่การันตีความสดและคัดสรรอย่างดีที่สุดจากทั่วทุกภาคของประเทศไทยและทั่วทุกมุมโลก และเป็นกลุ่ม Dry Grocery 60% ขณะที่ซูเปอร์ในไฮเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปจะมีสินค้าของสดอยู่ราวๆ 20% และหากแยกดูประเภทสินค้าส่วนใหญ่จะพบว่า 80% จะเป็นสินค้าในกลุ่มอาหารทั้งของสด และของแห้ง ส่วนอีก 20% จะเป็นของใช้ทั่วๆ ไป
“ปัจจุบันกูร์เมต์ มาร์เก็ต เป็น BU ที่ทำรายได้สูงสุดให้กับเครือเดอะมอลล์ ซึ่งหากรวมทั้ง Division Food & Supermarket จะทำยอดขายได้มากกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยมาจากแบรนด์กูร์เมต์ มาร์เก็ตประมาณ 12,000 ล้านบาท และในปีนี้ยังทำรายได้มากกว่า Division อื่นๆ จากปีก่อนหน้ากลุ่ม Beauty & Fahion จะเป็นกลุ่มที่ทำรายได้ให้เครือมากที่สุด แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ส่งผลให้กำลังซื้อที่มีต่อสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ ลดลง ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ชะลอตัว ส่งผลให้สัดส่วนจากกลุ่มกูร์เมต์เติบโตเพิ่มขึ้น และจากการเร่งขยายธุรกิจผ่านโมเดล Standalone จึงเชื่อว่าหลังจากนี้ จะทำให้กูร์เมต์ มาร์เก็ตเพิ่มสปีดในการเติบโตได้มากยิ่งขึ้นเช่นกัน”
ประสบการณ์ที่ดี ยังเป็น Key Factor
อย่างไรก็ตาม แม้จะบริหารซูเปอร์มาร์เก็ตแต่ก็ไม่สามารถละเลยการมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าเช่นกัน ทำให้การจัดเลย์เอ้าท์ของกูร์เมต์ นอกจากมีซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อรองรับการเข้าไปซื้อสินค้าต่างๆ ยังมีโซนกูร์เมต์ อีท ที่จะมีบริการเชฟเซอร์วิสอย่าง You Hunt We Cook หรือบริการปรุงอาหารโดยเชฟมืออาชีพ โดยลูกค้าจะได้เลือกสรรวัตถุดิบที่ต้องการด้วยตนเอง แล้วสามารถนำมาให้เชฟปรุงเป็นเมนูจานพิเศษได้อย่างสะดวกสบาย
รวมถึงบริการ Dine-In ที่ช่วยสร้างประสบการณ์รูปแบบใหม่ในการรับประทานอาหาร และที่สำคัญคือเรื่องของการบริการที่มีความใส่ใจลูกค้า พนักงานของกูร์เมต์ มาร์เก็ต จะสามารถแนะนำสินค้า และให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าอย่างจริงใจ ซึ่งทั้งหมดถือว่าเป็นจุดแข็งของ กูร์เมต์ มาร์เก็ต ที่ทำให้สามารถครองใจผู้บริโภคมากกว่า 10 ปี ขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตในเครือเดอะมอลล์ ยังคงเหลือแบรนด์โฮมเฟรชมาร์ท อีก 2 สาขา คือ ท่าพระ และรามคำแหง ซึ่งคาดว่าหลังทำการรีโนเวทศูนย์ทั้งสองแห่งใหม่ ภายในปี 2021 ซูเปอร์มาร์เก็ตในเดอะมอลล์ทุกสาขาจะใช้แบรนด์กูร์เมต์ มาร์เก็ตทั้งหมด
“แม้การมาซูเปอร์มาร์เก็ตจะเน้นมาเพื่อซื้อของเป็นหลัก แต่การเพิ่มประสบการณ์ที่ดีเพื่อให้ลูกค้ามาใช้บริการได้บ่อยขึ้น รวมทั้งใช้เวลาในแต่ละครั้งนานมากขึ้นก็เป็นโจทย์สำคัญของคนทำซูเปอร์มาร์เก็ต โดยปัจจุบันลูกค้ามากูร์เมต์ราว 2.5 ครั้งต่อเดือน ถ้าไม่ทานอาหารจะใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง แต่ถ้าทานอาหารด้วยจะอยู่ไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมง ขณะที่การเพิ่มประสบการณ์ต่างๆ ภายในซูเปอร์ฯ จะช่วยให้ลูกค้าซื้อสินค้าได้เพิ่มมากขึ้น เพราะปัจจุบันลูกค้าเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรม ไปจากเดิม ทั้งการมาแต่ละครั้งที่จะซื้อสินค้าไม่มาก ต่างจากก่อนหน้าที่มาแต่ละครั้งจะซื้อส้นค้าเข้าบ้านเพื่อตุนไว้ใช้ทั้งเดือน แต่ปัจจุบันลูกค้าเลือกที่จะมาบ่อยขึ้นและลดปริมาณการซื้อแต่ละครั้งลง เพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์รวมทั้งรูปแบบในการอยู่อาศัยของครอบครัวรุ่นใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม โดยมีการซื้อต่อครั้งต่างกันไปตามฟอร์แมต โดยกรูเมต์ มาร์เก็ต ซื้อเฉลี่ย 570 -580 บาทต่อครั้ง กรูเมต์ ทูโก อยู่ที่กว่า 200 บาท ส่วนกรูเมต์ ไทย ที่เน้นขายสินค้าสำหรับนักท่องเที่ยว ทำให้มีการซื้อสูงแต่ละครั้งเป็นหลักพันบาท ”
สำหรับรายได้กูร์เมต์ มาร์เก็ตในปีนี้ คาดว่าจะทำรายได้ทรงตัวที่ 12,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้าที่ทำรายได้ 11,800 ล้านบาท เนื่องจาก มีการปิดรีโนเวทของสาขาใหญ่อย่างเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน ที่ทำให้รายได้ราว 1.5% ของกรูเมต์ มาร์เก็ต หายไป รวมท้ังภาพรวมเศรษฐกิจ ภาวะความเชื่อมั่นและกำลังซื้อ รวมทั้งผลกระทบจากการชะลอตัวของนักท่องเที่ยว
แต่ในปีหน้าคาดว่าธุรกิจจะกลับมาเติบโตได้ 7-8% ทั้งการกลับมาเปิดให้บริการของสาขาใหญ่อย่างเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน รวมทั้งการเปิดสาขาใหม่ในปีหน้าประมาณ 5 แห่ง ขณะที่การโตจาก Same Store Growth คาดว่าจะอยู่ที่ราว 2-3%โดยกลุ่มสินค้าที่ได้รับความนิยม ได้แก่ เครื่องดื่ม (Beverage), ของใช้ส่วนตัว (Personal Care) และสินค้ากลุ่มอุปโภคในครัวเรือน ส่วนสาขาที่ทำยอดขายสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ พารากอน เดอะมอลล์ บางแค และเดอะมอลล์บางกะปิ
ทั้งนี้ กูร์เมต์ มาร์เก็ต ยังถือว่ามีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เพราะขนาดธุรกิจที่ยังคิดเป็น 2-3% ของตลาดรีเทลที่มีมูลค้ากว่า 1 ล้านล้านบาท (ไม่รวมตลาดสด) โดยแบ่งเป็น MT 60% และ TT 40% รวมทั้งจำนวนสาขาที่ยังมีไม่มากทำให้ยังคงมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก โดยเฉพาะโมเดลการออกมาเติบโตนอกเครือ ทำให้เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงโลเกชั่นใหม่ๆ รวมทั้งการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นโอกาสใหม่ๆ ให้ธุรกิจเติบโตได้เพิ่มมากขึ้น