เก็บตกจาก Singapore Fintech Festival 2019 หรือ SFF x SWITCH งานใหญ่แห่งปีของชาวสตาร์ทอัพ Fintech ณ ประเทศสิงคโปร์ 3 วันเต็มๆ มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 60,000 คน จาก 130 ประเทศ และมีบู๊ทฟินเทคต่างๆกว่า 1,000 บู๊ท
ปีนี้เอง Singapore Fintech Festival จัดมาเป็นปีที่ 4 มีผู้สนับสนุนหลักการจัดงาน คือ ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ภายใต้คอนเซ็ปต์ Re-imaging fintech ที่ไม่ใช่เพียงให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมทางการเงินเท่านั้น แต่ต้อง Fintech หรือ เทคโนโลยีเหล่านั้นต้องสามารถเปลี่ยนแปลงโลก ช่วยเหลือผู้คน และสร้างระบบนิเวศทางการเงินที่สามารถช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้ตามแนวคิด “ยั่งยืน รักษ์โลก และดียิ่งขึ้น” (Sustainability and Green Fintech)
สำหรับเม็ดเงินลงทุนในฟินแทคที่ผ่านมาในประเทศสิงคโปร์จากสถิติพบว่า ปัจจุบันเกือบ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสะท้อนการเติบโตของฟินเทค และ ระบบธุรกรรมการเงินในระบบดิจิตอลทั้งในอาเซียน และ สิงคโปร์ จึงเป็นสัญญาณอันดีของโอกาสและการเติบโตในอนาคต
“ความยั่งยืน” ที่กล่าวถึง หมายถึง การทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์การเงินและการลงทุนต่างๆได้อย่างทั่วถึงและที่สำคัญต้องปลอดภัย ภายในงานปีนี้ ธนาคารกลางสิงค์โปร์ (MAS) และ ธนาคารกลางฝรั่งเศส (BDF) ประกาศความร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเงินใหม่ๆต่าง โดยเฉพาะเรื่องระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ทางด้านการเงิน (cybersecurity) และ ธนาคารกลางฝรั่งเศสจะเปิดสำนักงานต่างประเทศที่ 2 ในสิงคโปร์ในต้นปี 2020 นี้
นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์กำลังจะลงทุนจำนวน 2 พันล้านเหรียญฯสหรัฐ มุ่งเน้นไปยังเรื่องสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สิงคโปร์กลายเป็นแถวหน้าของการสร้างระบบนิเวศทางการเงินสีเขียว (Green Financial System)
เพื่อตอกย้ำ Sustainability and Green Fintech ทุกวันนี้เทคโนโลยีต่างๆใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นจำนวนมากกว่าแต่ก่อน ดังนั้นการลดใช้พลังงานยังถูกพูดถึงมากเช่นกัน โดยเทคโนโลยี Cloud Computing ถูกมองว่าใช้พลังงานมากเป็นอันดับต้นๆ เพราะศูนย์ข้อมูล(Data center) ใช้ไฟฟ้าประมาณ 2% ของการใช้ไฟฟ้าทั่วโลก ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 4 เท่าในช่วงทศวรรษ และศูนย์ข้อมูลในจีน มีการประเมินว่าปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์เกือบ 100 ล้านตันเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการทำเหมืองข้อมูลของ bitcoin นั่นเอง
ภายในงาน สถาบันการเงินจากสเปน BBVA และ Microsoft มีการถกเรื่อง ทำไมความยั่งยืนจะเป็นโอกาสใหญ่ที่สุดของวงการธนาคารใน 2-3 ปีข้างหน้า และ ทำไมเทคโนโลยีจะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะสร้างบริการทางการเงินที่ยั่งยืน
3 ตัวอย่าง Fintech ล้ำๆ
– Mastercard เปิดตัว Mastercard Fintech Express แพลตฟอร์มเชื่อมต่อ Startup สายการเงินต่างๆ เข้ามาเพื่อช่วยพัฒนาและผลักดันให้ระบบหรือบริการนั้นดียิ่งขึ้น โดยในงานเปิดตัวพาร์ตเนอร์เจ้าแรกคือ Rapyd เครือข่ายระบบชำระเงินทั่วโลก
– UOB เปิดตัว U-Solar programme แพลตฟอร์มจัดการพลังงานแสงอาทิตย์ ที่สามารถเชื่อมต่อพาร์ทเนอร์ ธุรกิจ และ ผู้บริโภค ในแถบอาเซียนเข้าไว้ด้วยกัน และ Avatec.AI โซลูชั่นที่นำเอา data analytic มาใช้ เพื่อวิเคราะห์เครดิตลูกค้า
– WeBank ธนาคารดิจิทัล Open Banking แห่งแรกของจีนจากเครือ Tencent เปิดตัว FISCO BCOS คือแพลตฟอร์มบล็อกเชนแบบเปิดที่สร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนความเป็นหุ้นส่วนและกระตุ้นการร่วมมือในบรรดาธุรกิจ
UOB x The FinLab ทรานฟอร์ม SMEs ไทยสำเร็จ สู่ ตลาดโลก
จากการเปิดตัวโครงการ Smart Business Transformation ของ UOB ประเทศไทย ในงาน Singapore Fintech Festival เมื่อปี 2561 ที่ได้ผู้ประกอบการ SMEs ไทยจำนวน 15 รายเข้าร่วมปฏิบัติการ Transformation ให้ทันการแข่งขันของงโลกธุรกิจที่เปลี่ยนไวและล้ำสุดๆ
ตลอดระยะเวลา 3 เดือน SMEs ทั้ง 15 ราย ได้มีโอกาสทบทวนและวิเคราะห์โมเดลธุรกิจของตนเอง เพื่อรู้จุดอ่อนและโอกาสในการพัฒนา รวมถึงได้กำหนดกลยุทธ์ระยะยาวในการปรับองค์กรสู่ดิจิทัล จากนั้นได้ทดลองใช้ digital solution ต่างๆ ที่ทางโครงการได้คัดเลือกและแนะนำที่เหมาะกับธุรกิจ เพื่อจัดการความท้าทายต่างๆ ที่ประสบปัญหาอยู่
หลังจากการเข้าร่วมโครงการพบว่า SMEs ในประเทศไทยระบุว่า กลยุทธ์เพื่อสร้างการเติบโต 2 อันดับแรก คือ การรุกตลาดใหม่ (ร้อยละ54) และการทำการตลาดดิจิทัลเพื่อเพิ่มยอดขาย (ร้อยละ51)
โดย SMEs ได้เล่าว่าโซลูชันที่พวกเขานำไปใช้ ได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจและเพิ่มความผูกพันกับลูกค้า เนื่องจากกระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น มียอดขายที่สูงขึ้นจากการนำเครื่องมือทางการตลาดดิจิทัลไปใช้และยังช่วยลดต้นทุนในการดำเนินการและการทำการตลาดอีกด้วย ที่สำคัญพวกเขายังเห็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องทัศนคติและความคิดที่พร้อมที่จะยอมรับและปรับตัวเองและองค์กรให้ไปสู่ดิจิทัล ซึ่งไม่ใช่แค่ในระดับเจ้าของ ผู้บริหารหรือผู้ที่มีสิทธิ์ตัดสินใจด้านนโยบายเท่านั้น แต่รวมไปถึงพนักงานในองค์กรด้วย ซึ่งนับเป็นสิ่งสำคัญมากเมื่อองค์กรต้องปรับตัว นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังได้แรงบันดาลใจในการรุกตลาดใหม่ด้วยการขยายธุรกิจออกนอกประเทศไทย
ตัวอย่างเช่น
-บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด แบรนด์ผู้ผลิตชุดแข่งนักฟุตบอลทีมชาติไทย หนึ่งใน SMEs ที่เข้าร่วมโครงการได้ทำงานร่วมกับ Boostorder และ Anchanto เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มการขายผ่านช่องทางออนไลน์ที่สามารถเชื่อมลูกค้าไปสู่ร้านค้าปลีก
นายวิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด กล่าวว่า “ในฐานะผู้ค้าส่งและค้าปลีกเครื่องแต่งกายกีฬา เรามุ่งมั่นที่จะทำให้ Warrix เป็นแบรนด์ที่คนใช้และรู้จักทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โครงการ Smart Business Transformation ช่วยให้บริษัทฯ พัฒนาโครงสร้างการบริหารและปรับขยายขนาดธุรกิจ ซึ่งเพียง 3 เดือนหลังจากดำเนินการเราสามารถบรรลุเป้าการเติบโตยอดขายประจำเดือนที่สูงขึ้นถึง 270% และเราคาดว่ายอดขายจะเพิ่มสูงขึ้น 400% ภายในสิ้นปีนี้ และ ตอนนี้เรายังมั่นใจมากขึ้นในแผนการขยายธุรกิจไปสู่ประเทศอื่นๆ ด้วยแพลตฟอร์มการขายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งประเทศแรกที่เราตั้งใจว่าคืออินโดนีเซียซึ่งเราเชื่อว่าจะได้รับประโยชน์จากเครือข่ายที่มั่นคงและแข็งแกร่งของธนาคารยูโอบีในประเทศอินโดนีเซีย”
-เอ ลิทเทิล ลัลลาบาย เจ้าของผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กภายใต้แบรนด์ ‘Nappi’ ใช้วัสดุใยไผ่ด้วยวิธีการเก็บเกี่ยวแบบยั่งยืน เป็นอีกหนึ่งเอสเอ็มอีรุ่นแรกที่เข้าร่วมบ่มเพาะในโครงการ โดย Nappi ได้ทดลองใช้ 3 โซลูชัน ได้แก่ UOB BizSmart, Offeo และ Zaviago มีเป้าหมายในการสร้างความเติบโตของแบรนด์และนำเสนอคุณสมบัติด้านการดูดซับที่ดีเยี่ยมของผลิตภัณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดการแพ้ ผ่านการตลาดออนไลน์ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เณริศา อิศรางกูร ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ เอ ลิทเทิล ลัลลาบาย กล่าวว่า “หนึ่งในความท้าทายสำคัญที่เราประสบอยู่คือการสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่งให้แก่ผลิตภัณฑ์ของเราท่ามกลางตลาดที่มีการแข่งขันสูงขึ้น หลังจากที่เข้าร่วมโครงการ Smart Business Transformation เราได้เรียนรู้ถึงการทำการตลาดออนไลน์ที่ดีขึ้น และนำโซลูชันการตลาดระบบดิจิทัลมาปรับใช้เพื่อสร้างการเติบโตแก่แบรนด์ของเรา ยกตัวอย่างเช่น เราได้ใช้ Offeo สร้างสรรค์วิดีโอเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กบนสื่อโซเชียล ซึ่งทำให้เราเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้มากขึ้นถึง 20% ที่สำคัญไปกว่านั้น ตอนนี้พนักงานในบริษัทมีความพร้อมและเข้าใจว่าทำไมเราต้องปรับตัวและต้องนำเทคโนโลยีและดิจิทัลเข้ามาใช้ในการทำงานถ้าเราต้องการขยายธุรกิจไปยังประเทศต่างๆ เช่นประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่เราเห็นศักยภาพและโอกาสในการทำตลาดให้สินค้าของเรามาโดยตลอด แต่ด้วยความแตกต่างทางภาษาและช่องทางการทำการตลาดออนไลน์ที่เฉพาะตัวของประเทศจีน ทำให้จีน คือตลาดที่เป็นความท้าทายของเรา แต่ด้วยคำแนะนำและเครือข่ายของธนาคาร ยูโอบีและเดอะ ฟินแล็บ ประกอบกับรูปแบบการทำธุรกิจของเราที่พัฒนาขึ้นหลังจากเข้าโครงการ ทำให้ตอนนี้เรามั่นใจมากขึ้นว่าเราจะสามารถเข้าไปทำธุรกิจในตลาดใหม่ได้ดีขึ้น”