จากเด็กสาวที่ลุกขึ้นมาประท้วงหน้ารัฐสภาสวีเดนเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนเมื่อปี 2018 จนสามารถเรียกความสนใจจากสื่อได้มากมาย เพียงหนึ่งปี การขับเคลื่อนของเธอได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กนักเรียนกว่าแสนคนใน 1,600 เมืองจาก 125 ประเทศทั่วโลกลุกขึ้นมาแสดงจุดยืนในเรื่องเดียวกันได้ภายใต้แฮชแท็ก #FridaysforFuture และทำให้ชื่อของเธอได้รับยกย่องให้เป็นบุคคลแห่งปี 2019 จากนิตยสาร Times ในที่สุด
เรากำลังกล่าวถึง Greta Thunberg เด็กสาววัย 16 ปีที่โลกการตลาดนิยามว่าเธอเป็นตัวแทนที่ชัดเจนมากของคน Generation Z (คนที่เกิดระหว่างปี 1994 – 2008) โดยข้อมูลจากงาน Marketing Day 2019 เผยว่า เอกลักษณ์ของชาว Gen Z ที่พบได้ทั่วไปหลัก ๆ มี 4 ข้อ นั่นคือเป็นกลุ่มคนที่มี Footprint อยู่บนโลกดิจิทัลมาตั้งแต่เกิด (เนื่องจากพ่อแม่ซึ่งเป็นคน Gen X เป็นคนที่คุ้นเคยกับการเล่นโซเชียลมีเดีย และมักจะโพสต์รูปลูกตัวเองลงบนแพลตฟอร์มเหล่านั้นเป็นประจำ), มีความมั่นใจในตัวเองสูง, เป็นกลุ่มคนที่คุ้นเคยและใช้งานดิจิทัลในชีวิตประจำวัน และเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับการลงมือทำ มากกว่าการแค่สร้าง Inspiration
เอกลักษณ์ข้อแรกของ Gen Z เห็นได้จากประวัติของ Greta ที่เราสามารถย้อนกลับไปศึกษาได้ตั้งแต่เธอเกิด รวมถึงเรื่องเล่าของชีวิตในวัยเยาว์ การตัดสินใจเลิกรับประทานเนื้อสัตว์ และเลิกเดินทางด้วยเครื่องบิน ฯลฯ เหล่านี้ล้วนมีการบันทึกเอาไว้ให้สามารถตามรอยได้บนสื่ออินเทอร์เน็ตทั้งสิ้น
ขณะที่อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของคน Gen Z ก็คือความมั่นใจในตัวเอง ในจุดนี้ คุณดั่งใจถวิล อนันตชัย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทจ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ให้คำอธิบายเพิ่มเติมว่า ในยุคที่ชาว Gen Z เกิดขึ้นมานั้น ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นดิจิทัลหมดแล้ว พวกเขาจึงสามารถทำการงานต่าง ๆ ด้วยตนเองได้มากขึ้นอย่างที่คน Generation อื่น ไม่สามารถทำได้เมื่ออายุเท่ากัน และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมพวกเขาจึงมีความมั่นใจในตัวเองมากกว่าคนเจเนอเรชันก่อน ๆ และความมั่นใจนี้ก็ปรากฏชัดอยู่ในตัวตนของ Greta Thunberg ด้วยเช่นกัน เห็นได้จากการลุกขึ้นมาแสดงจุดยืนในเรื่องภาวะโลกร้อนทั้งในระดับประเทศและระดับโลกบนเวทีต่าง ๆ
ดิจิทัลคือส่วนหนึ่งของชีวิต
อย่างไรก็ดี ในปีที่ผ่านมา สวีเดน ประเทศบ้านเกิดของ Greta เจอกับฤดูร้อนที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา และเธอได้ลุกขึ้นมาขอแรงสนับสนุนจากเพื่อน ๆ ในชั้นเรียนให้ออกมาประท้วงด้วยกัน ซึ่งผลก็คือเพื่อน ๆ ปฏิเสธ แต่ Greta ก็ไม่ยอมแพ้ และได้นำเอกลักษณ์อีกข้อของชาว Gen Z ก็คือการเป็น Tech Innate หรือมีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีอยู่ในสายเลือดมาปรับใช้แทน
เห็นได้จากที่ Greta Thunberg ใช้โซเชียลมีเดียอย่าง Instagram หรือ Twitter เพื่อนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน ซึ่งการใช้ช่องทางดังกล่าวได้เตะตาผู้คนเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ Ingmar Rentzhog นักธุรกิจชาวสวีเดนชื่อดัง (แต่ในตอนหลัง Greta ตัดความสัมพันธ์กับนักธุรกิจรายนี้ไปเนื่องจากพบว่าเขาได้นำชื่อเธอไประดมทุนให้กับบริษัทของตนเอง) และแมสเซจของเธอยังโดนใจ Sasja Beslik หัวหน้าฝ่าย Sustainable Finance จากธนาคาร Nordea ที่มีผู้ติดตามบน Twitter กว่า 2 แสนคน ที่เขาได้ช่วยเธอรีทวีตข้อความเหล่านั้นด้วย
Greta เคยให้สัมภาษณ์กับ Wired ไว้ว่า ถึงแม้เธอจะมีผู้ติดตามนับล้านคนทั่วโลก แต่กับเพื่อน ๆ ในโรงเรียนแล้ว เธออาจไม่ได้พูดคุยกับพวกเขามากนัก
“ถ้าไม่มีโซเชียลมีเดีย ไม่แน่ว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เราทำไปนั้น อาจไม่เห็นผลสำเร็จเหมือนเช่นทุกวันนี้ แต่เพราะมีโซเชียลมีเดีย เราถึงสามารถเชื่อมต่อกับคนทั่วโลกได้”
Greta ได้รับความสนใจจากสื่อท้องถิ่นของสวีเดนมากขึ้น และนั่นทำให้เธอได้รับเชิญให้เข้าร่วมในเวที หรืองานประชุมสำคัญต่าง ๆ ของโลกในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเป็นการพูดบนเวที TEDxStockholm ที่สามารถกระตุ้นให้เด็ก ๆ จากประเทศต่าง ๆ ลุกขึ้นมาแสดงพลังเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนโดยใช้แฮชแท็ก #FridaysForFuture หรือการขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในเวทีของสหประชาชาติ ที่ทำให้ผู้นำประเทศหลายคนหน้าชากับการทวงถามถึงการจัดการกับปัญหาโลกร้อนที่เธอมองว่า พวกเขาไม่เอาจริงเอาจังมากพอ
ชื่อของ Greta ได้รับความสนใจจากทั่วโลกอย่างแท้จริงในงาน Climate Action Summit 2019 เมื่อเธอกล่าวในงานว่า เป็นอีกหนึ่งเวทีที่เต็มไปด้วยผู้ใหญ่ที่ขโมยความฝันของเด็กอย่างพวกเธอไป แต่กลับฝากความหวังเอาไว้กับคนรุ่นเธอ ทั้งนี้ การปรากฏตัวของเธอบนเวทีดังกล่าวได้กลายเป็นที่โจษจันบนโลกอินเทอร์เน็ตอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา
Greta กับการเมือง
น่าสนใจว่าเส้นทางของเธอไม่ได้มีแต่ผู้สนับสนุนเสมอไป และหนึ่งในคู่ปรับของเธอก็คือประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐอเมริกา ที่มักมีประเด็นให้สื่อได้จับจ้องกันอย่างต่อเนื่อง เช่น การที่ Greta เปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับตัวเองบนแอคเคาน์ Twitter เป็น “A teenager working on her anger management problem. Currently chilling and watching a good old fashioned movie with a friend.” เพื่อล้อเลียนคำกล่าวของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่มีต่อเธอว่า “Greta must work on her Anger Management problem, then go to a good old fashioned movie with a friend! Chill Greta, Chill!”
โดยสื่อตะวันตกมองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการ Bully หรือการกลั่นแกล้งกันประเภทหนึ่ง ส่งผลให้ Melania Trump สตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกาที่เคยมีแคมเปญต่อต้านการ Bully ด้วยแฮชแท็ก #BeBest ก็พลอยถูกเพ่งเล็งไปด้วยเช่นกัน โดยสื่อตะวันตกมองว่า แคมเปญต่อต้านการ Bully ของ Melania นั้นเป็นแคมเปญแห่งการสร้างภาพ เนื่องจากประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นคู่ชีวิตก็ไม่ได้ให้ความสำคัญแต่อย่างใด เห็นได้จากการที่เขายังทวีตถึง Greta ด้วยถ้อยคำในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง
Gen Z กับความเชื่อในการลงมือทำ
“คน Gen Z จะไม่พูดว่าตัวเขาเจ๋งอย่างไร เขาไม่ได้เรียกร้องเพื่อตัวเขาเอง แต่เรียกร้องเพื่อให้เกิดการกระทำ นี่คือตัวตนที่ชัดเจนของ Gen Z” คุณดั่งใจถวิลกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับเอกลักษณ์ข้อสุดท้ายของ Gen Z อย่างการเชื่อในการลงมือทำ ซึ่งคุณดั่งใจถวิลให้ความเห็นเพิ่มเติมในจุดนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า
“สิ่งที่ Greta ทำไม่ใช่เพราะอยากดัง แต่เขาทำเพราะเชื่อในความเป็นพลเมืองโลก เขาแค่ทวงสิทธิว่า แล้วเขาจะอยู่อย่างไร ถ้าโลกและอากาศแย่ขนาดนี้ ดังนั้นเขาทำเพื่อคอมมูนิตี้ ซึ่งเราจะไม่ค่อยเห็นในคน Generation ก่อนหน้านี้”
ด้านศาสตราจารย์ Rebecca Raby นักวิจัยด้านเด็กแห่งมหาวิทยาลัย Brock University ในแคนาดา เผยว่า สิ่งที่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนจากกรณีของ Greta Thunberg ไม่ใช่การที่เด็กออกมาเรียกร้อง หากแต่เป็นผู้ใหญ่ที่เริ่มหันมารับฟังเสียงเด็ก และให้โอกาสพวกเขาในการรณรงค์สิ่งที่สำคัญต่อการใช้ชีวิตในอนาคต
อย่างไรก็ดี Greta เคยให้สัมภาษณ์กับ Wired ว่า เธอไม่คิดว่าตัวเองเป็นคนดังหรือไอคอนให้คนอื่นได้เดินตามมากนัก (Wired รายงานว่า เธอนิ่งไปนานหลายนาทีจากคำถามดังกล่าว) แต่จากบทความของ Wired ผู้เขียนได้รายงานว่า ในขณะที่เธอนั่งสัมภาษณ์ Greta นั้น มีผู้คนจากหลากหลายที่มาเข้ามาขอจับมือ บ้างก็ขอเซลฟี่กับ Greta อย่างต่อเนื่อง ราว 50 – 70 คนเลยทีเดียว
สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากสำนักงานบริหารการทะเบียน กรมการปกครองระบุว่า เมื่อปี 2018 เรามีชาว Gen Z อยู่ 12.78 ล้านคน ซึ่งก็ถือเป็นจำนวนที่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับคน Generation อื่น ๆ แต่ถ้ามองในแง่ของการลงมือทำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ไม่แน่ว่า ตัวเลข 12 ล้านคนก็อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างที่คน Generation อื่น ๆ ไม่คาดคิดได้เช่นกัน ข้อจำกัดของสังคมไทยจึงอาจอยู่ที่ว่าผู้ใหญ่ในวันนี้จะเห็นด้วยว่าการเรียกร้องนั้น มีขึ้นเพราะมันสำคัญต่อการใช้ชีวิตในอนาคตของชาว Gen Z หรือไม่นั่นเอง