หากนักการตลาดและแบรนด์ต้องการเป็น “ผู้เปลี่ยนเกม” (Game Changers) เจาะกำลังซื้อกลุ่มรายได้สูงที่ไม่ได้รับผลกระทบกับภาวะเศรษฐกิจ ก็ต้องตามให้ทันเทรนด์ความหรูหราที่ได้กลายเป็น Truly Luxury หรือความหรูหราที่แท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่สิ่งของภายนอก แต่สะท้อนมาจากไลฟ์สไตล์ของแต่ละบุคคล เรียกได้ว่าเป็น “วิถีชีวิตที่หรูหราแบบใหม่”
“อิปซอสส์” บริษัทวิจัยระดับโลกได้จัดทำรายงานผลสำรวจ “วิถีชีวิตกลุ่มคนมั่งคั่งในเอเชีย” (Affluent Asia) เป็นการศึกษากลุ่มคนมั่งคั่งขนาดใหญ่และวิจัยอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี นับตั้งแต่ปี 1997 ถึงปัจจุบัน วิเคราะห์พฤติกรรมของกลุ่มคนมีฐานะในหลากหลายมุม ไม่ว่าจะเป็นการใช้สื่อ การใช้จ่าย การท่องเที่ยว รวมถึงความสนใจต่อสินค้าลักชัวรี่ และความสนใจส่วนตัว
การสำรวจล่าสุดปี 2019 ทุกภูมิภาคทั่วโลก 11 ตลาด ในกลุ่ม “ฐานะดี” อายุ 25-64 ปี หากเปรียบเทียบอายุเฉลี่ย กลุ่มรายได้สูงชาวไทยมีอายุเฉลี่ยต่ำสุดที่ 39 ปี เอเชีย 41 ปี, ยุโรป 47 ปี สหรัฐ 45 ปี
จากสถิติพบว่าในเอเชียแปซิฟิกมีจำนวนคนมั่งคั่ง 18% ของประชากรทั้งหมด หรือมีจำนวน 20.64 ล้านคน รายได้ต่อปีรวม 679,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนประเทศไทยมีจำนวน 1.8 ล้านคน รายได้ต่อปีรวม 42,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ชาวเอเชียกลุ่มฐานะดีมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 1.6 แสนบาทต่อเดือน ขณะที่กลุ่มฐานะดีชาวไทยมีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเอเชีย โดยเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ 1.4 แสนบาท นิยามของกลุ่มคนฐานะดี ในผลสำรวจแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ รายได้สูง (Affluent) และมั่งคั่ง (Ultra Affluent) สำหรับประเทศไทย กลุ่มรายได้สูง เฉลี่ย 75,000 บาทต่อเดือน ส่วนกลุ่มมั่งคั่ง เฉลี่ย 275,000 บาทต่อเดือน
“หญิงไทย” รายได้สูงมีจำนวนมากกว่าผู้ชาย
การสำรวจพบว่า “ผู้หญิงไทย” กลุ่มรายได้สูง มีสัดส่วน 58% และกลุ่มมั่งคั่ง 52% สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ และมีสัดส่วนมากกว่า “ผู้ชายไทย” ในกลุ่มฐานะดี เช่นเดียวกันกับกลุ่มมิลเลนเนียล “ผู้หญิงไทย” มีสัดส่วนมากกว่าผู้ชายไทย โดยกลุ่มรายได้สูง อายุเฉลี่ย 39 ปี สัดส่วน 58% และกลุ่มมั่งคั่ง อายุเฉลี่ย 30 ปี สัดส่วนผู้หญิงถึง 62%
คุณอิษณาติ วุฒิธนากุล ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรลูกค้า บริษัท อิปซอสส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำวิจัยตลาดและสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภค อธิบายว่าเกือบทุกประเทศทั่วโลกประชากรผู้หญิงมีจำนวนมากกว่าผู้ชายอยู่แล้ว ผู้หญิงยังเป็นกลุ่มที่ทำงานในออฟฟิศมากกว่าผู้ชาย อีกทั้งได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารระดับสูงเป็นผู้นำองค์กรมากขึ้น ทำให้แนวโน้มผู้หญิงที่มีรายได้สูงสัดส่วนจึงมากกว่าผู้ชาย รวมทั้งในประเทศไทย
อีกตัวเลขที่น่าสนใจคือกลุ่มมิลเลนเนียลฐานะดีชาวไทย ที่มีความมั่งคั่ง หรือ Ultra Affluent ผู้หญิงมีสัดส่วนถึง 62% อายุเฉลี่ย 30 ปี สะท้อนถึงชีวิตการทำงานของคนมิลเลนเนียลที่ประสบความสำเร็จเร็วขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจสตาร์ทอัป ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งในเอเชียและไทย
“คนรวย”พร้อมจ่ายแพงสินค้ารักษ์โลก
พฤติกรรมการช้อปปิ้งของกลุ่มคนที่มีรายได้สูง ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา เอเชียและไทย มีการใช้จ่ายไปกับ จิวเวลรี่ราว 3 แสนบาท, เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ต่างๆ 1.5 แสนบาท, นาฬิกาหรู 60,000 บาท โดยคนรวยไทย จ่ายเงินไปกับนาฬิกาหรู 46% สูงกว่าชาวเอเชียที่ 35% ส่วนกระเป๋าแบรนด์เนมและเครื่องหนังค่าเฉลี่ยใกล้กันที่กว่า 30%
กลุ่มมั่งคั่งชาวเอเชีย 53% พร้อมจ่ายเงินมากกว่าสำหรับสินค้าหรือบริการที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม และอีก 47% ยินดีซื้อหรืออุดหนุนสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ เป็นที่น่าสนใจว่ากลุ่มคนมีฐานะชาวไทย 63% ยอมจ่ายมากกว่าสำหรับสินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 53% พร้อมอุดหนุนสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ ซึ่งไม่ได้ติดยึดกับแบรนด์เนมหรูต่างประเทศเท่านั้น ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่ากลุ่มคนมั่งคั่งชาวเอเชีย
เห็นได้ว่ากระแสการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยการ “งด” ให้ถุงพลาสติกของผู้ประกอบการค้าปลีกที่จะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2563 ไม่มีผู้ต่อต้าน และยินดีทำตามทุกกลุ่ม
รายได้สูงชาวไทยนิยมท่องเที่ยวเชิงแพทย์-ศัลยกรรม
ด้านไลฟ์สไตล์ท่องเที่ยวของกลุ่มคนมีฐานะชาวเอเชีย มีการเดินทางไปต่างประเทศอย่างน้อย 4 ครั้งต่อปี โดยกว่า 33% ของกลุ่มคนรวยในไทย และ 22% ของคนในเอเชียแปซิฟิกเลือกที่จะไปประเทศญี่ปุ่น มาเป็นอันดับแรก 19% ตามด้วยฮ่องกง 14%
รูปแบบการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมสูงในกลุ่มคนมั่งคั่งในประเทศไทยคือ การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ หรือเพื่อสุขภาพ รวมทั้งการท่องเที่ยวเพื่อศัลยกรรม ซึ่งมีค่าเฉลี่ยมากกว่าภูมิภาคถึง 1 เท่าตัว จะเห็นได้ว่าคนไทยเปิดรับการทำศัลยกรรมเพื่อความงามมากขึ้น และเริ่มทำตั้งแต่อายุยังน้อย
คนมั่งคั่งเอเชีย-ไทยติดสื่อโซเชียล
พฤติกรรมการเสพสื่อที่กลุ่มมั่งคั่งในเอเชียชื่นชอบ เรียกได้ว่าครอบคลุมแทบทุกแพลตฟอร์ม แต่มีการใช้เวลากับ เว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นต่างๆ สูงสุด ตามมาด้วย ทีวี หนังสือพิมพ์ และแมกกาซีน ส่วนกลุ่มคนมีรายได้สูงชาวไทย จะใช้เวลากับ แอปและเว็บไซต์ มากกว่าค่าเฉลี่ยของเอเชีย โดยชอบทั้ง 2 แพลตฟอร์มทั้งสื่อรูปแบบดั้งเดิมและสื่อใหม่ดิจิทัล
คนมั่งคั่งในเอเชียแปซิฟิก 44% และคนมีรายได้สูงชาวไทย 50% ต่างมีความนิยมในการเสพสื่อทีวี และนิตยสารต่างประเทศเหมือนๆกัน
ส่วนสื่อโซเชียล นับได้ว่าเป็นสื่อที่แทบจะถือเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของกลุ่มคนมั่งคั่งเอเชียและไทย โดยกลุ่มคนมั่งคั่งชาวเอเชีย นิยมใช้ Facebook 69% รองมาเป็น YouTube 63% Instagram 42% และ LinkedIn 21% ส่วนคนรวยชาวไทย นิยมใช้ Facebook 94%, YouTube 90%, Instagram 61% และ LinkedIn 18%
กลุ่มคนมีฐานะในประเทศไทยใช้เวลากับโซเชียลมีเดียต่างๆ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มคนมั่งคั่งในเอเชีย คนไทยใช้เวลากับแพลตฟอร์มเหล่านี้มากกว่า 500 นาที หรือ 8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ค่าเฉลี่ยของเอเชียอยู่ที่ 6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น
จากวิถีชีวิตหรูของชาวเอเชียและไทย สะท้อนพฤติกรรมการซื้อสินค้า ท่องเที่ยวและเสพสื่อ ที่นักการตลาดและแบรนด์ต่างๆ สามารถใช้เป็นช่องทางในการเข้าถึงกลุ่มคนเหล่านี้ ที่มีพฤติกรรม Technology Savvy ชีวิตติดมือถืออย่างหนัก เป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตของ “ดิจิทัล เพย์เมนต์” ในภูมิภาคเอเชีย และยังเชื่อมั่นในสินค้าที่โฆษณาผ่านสื่อต่างๆ ที่จะช่วยสร้างความมั่นใจในการใช้แบรนด์ที่มีคนทั่วไปรู้จัก