HomeFinancialบทสรุป‘กรุงศรี’ เศรษฐกิจไทยยังไม่วิกฤติ! ปีหน้าแค่ “ขาลง” แต่มีความหวังอยู่ 2 เรื่อง

บทสรุป‘กรุงศรี’ เศรษฐกิจไทยยังไม่วิกฤติ! ปีหน้าแค่ “ขาลง” แต่มีความหวังอยู่ 2 เรื่อง

แชร์ :

วัฏจักรการเติบโตทางเศรษฐกิจที่นักเศรษฐศาสตร์นิยามไว้มี 4 ขั้น  คือ 1.ฟื้นตัว 2.ขยายตัว 3.ชะลอตัว 4.ถดถอย หากเปรียบเศรษฐกิจไทยในปี 2562 คงเป็นภาพยามเย็นพระอาทิตย์ใกล้ตกดิน สะท้อนภาพเศรษฐกิจไทยที่ดูสลัวๆ อยู่ในขั้น “ชะลอตัว” แต่ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจทั้งโลกก็ไม่ได้เติบโตเป็น “เส้นตรง” เศรษฐกิจมี “ขึ้น-ลง” อยู่ตลอดเวลา เช่นกันเมื่อ “มืดได้ก็สว่างได้”

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

“วิจัยกรุงศรี” วิเคราะห์บทสรุปเศรษฐกิจไทย ปี 2562 และทิศทางปี 2563 กับคำจำกัดความที่ชัดเจนของเศรษฐกิจไทยว่าอยู่ในช่วง “ขาลง” ผ่านมุมมองของ ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ไว้ดังนี้

หั่นจีดีพี ปี2562 เหลือโต 2.4%

เริ่มที่บทสรุปภาวะเศรษฐกิจปี 2562 สุดท้ายแล้ว “จีดีพี” น่าจะเติบโตแค่ 2.4% ลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ขยายตัว 2.9% เพราะตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปีนี้ ที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญ ยังไม่สามารถกระตุ้นการเติบโตได้มากไปกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเอกชน การลงทุนภาครัฐ ที่สำคัญ “ส่งออก” ปีนี้น่าจะ ติดลบ 2.5%  หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเศรษฐกิจไทย อยู่ในภาวะ “ชะลอตัว” ชัดเจน

สาเหตุมาจากปัจจัยภายนอกประเทศ ทั้งสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ที่กระทบคู่ค้าตลาดส่งออกทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย, การถูกสหรัฐตัดสิทธิประโยชน์ GSP สินค้าไทย, ภาวะเศรษฐกิจจีนชะลอตัวส่งผลต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย  จากปัจจัยภายนอกดังกล่าวได้ส่งผลมาถึงเศรษฐกิจในประเทศ สัญญาณการลงทุนและกำลังซื้อลดลงต่อเนื่อง

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ

เศรษฐกิจปี 2563 “ขาลง” แต่ยังไม่วิกฤติ

ส่วนทิศทางเศรษฐกิจปี 2563 ยังอยู่ในอาการ “ซึม” ต่อเนื่อง  “วิจัยกรุงศรี” คาดการณ์จีดีพี เติบโต 2.5% ลดลงจากการประเมินช่วงต้นปีนี้ที่ 3.5%

มองว่าส่งออกปี 2563 จะกลับมาเติบโต 1.5%  จากปัจจัยนอกประเทศเริ่มดีขึ้น เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว เพราะประเทศยักษ์ใหญ่ ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เริ่มเห็นสัญญาณการมีเสถียรภาพมากขึ้น ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ เริ่มอัดฉีดเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ การส่งออกที่กลับมากระเตื้องในปีหน้าจะเป็นปัจจัยบวกช่วยประคองเศรษฐกิจไทย

ขณะที่เงินบาทยัง “แข็งค่า” แต่ไม่มาก ปีหน้าคาดการณ์ไว้ที่ 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จากปี 2562 อยู่ที่ 30.45 บาทต่อเหรียญสหรัฐ  แข็งค่าขึ้น 7%

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 อยู่ในช่วง “ขาลง” สิ่งที่ต้องจับตาดู คือเรื่อง Sentiment  หากยังคงลดลงไปเรื่อยๆ  นั่นเท่ากับผู้ประกอบการและนักลงทุนเริ่มชะลอการลงทุน ซึ่งจะส่งผลมาที่กำลังซื้อและการจ้างงานลดลง

แม้จะเป็นเศรษฐกิจ “ขาลง” หรือ “ชะลอตัว” แต่ก็ต้องย้ำว่ายังไม่ถึงขั้น “วิกฤติ” เพราะยังไม่เห็นสัญญาณเหมือนกับปี 2540 ที่มีการนำเงินไปลงทุนและหมุนเงินผิดวิธี จนเกิดฟองสบู่ กลายเป็นวิกฤติต้มยำกุ้ง

วัฏจักรเศรษฐกิจขาลง เป็นสิ่งที่รู้ตัวว่ากำลังเดินลง จึงมีความระมัดระวังและเตรียมรับมือล่วงหน้าได้  ต่างจากวิกฤติเศรษฐกิจ เพราะเป็นสถานการณ์ที่ไม่รู้ตัวว่ากำลังเดินตกท่อ เพราะไม่ทันได้ระวังตัว

จับตาเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจ “ถดถอย”

แม้เศรษฐกิจไทยยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ  แต่ก็อยู่ในขั้น “ชะลอตัว” จากแบบจำลองทางเศรษฐกิจคาดการณ์ “ความน่าจะเป็นของภาวะเศรษฐกิจถดถอย” ไตรมาส 3 ปีนี้ สัดส่วนอยู่ที่ 27%  สูงขึ้นกว่าไตรมาส 2 ซึ่งอยู่ที่ 18%

หากจะดูว่าเมื่อไหร่จะเข้าสู่ภาวะ “ถดถอย” ก็ต้องดูจากแบบจำลองในอดีต ซึ่งก็พบว่าหากความน่าจะเป็นของภาวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้นไปแตะ 40%  จากนั้นจะใช้เวลาอีก 2-3 ไตรมาส เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย

“วันนี้ประเทศไทยยังไม่ใช่เศรษฐกิจถดถอยก็จริง แต่ความน่าจะเป็นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  นั่นหมายถึงความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยก็มากขึ้น เพราะอยู่ในภาวะเศรษฐกิจเปราะบาง เครื่องยนต์กระตุ้นเศรษฐกิจเริ่มน้อยลง”

การลงทุน-บริโภคยัง “ชะลอตัว”

ด้าน “การลงทุน” ปี 2563  ยังได้รับผลกระทบจากการส่งออกติดลบในปีนี้  เพราะเมื่อส่งออกลดลง ทำให้ภาคการลงทุนลดการผลิตตามไปด้วย ปี 2562 หลายอุตสาหกรรมลดกำลังการผลิตลง เมื่อยังใช้การผลิตไม่เต็ม ปี 2563 จึงไม่จำเป็นต้องลงทุนใหม่ แม้การส่งออกจะเริ่มฟื้นตัวก็ตาม ปัจจุบันกำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 60% การจะลงทุนใหม่กำลังการผลิตต้องขึ้นไปแตะ 70-80% ก่อน  และคงต้องใช้เวลาทั้งปี 2563 เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้เต็มก่อนที่จะมีการลงทุนใหม่

ส่วน “การบริโภค” ยังมีทิศทางชะลอตัวเช่นกัน  สะท้อนจากภาคการผลิตในโรงงาน ที่เป็นการจ้างพนักงานรายวันและชั่วคราว ช่วง 9 เดือนแรกปี 2561 การจ้างงานโต 9%  แต่ช่วงเดียวกันปีนี้การจ้างงาน “ทรงตัว”  เป็นสถานการณ์ต่อเนื่องจาก การผลิตและการลงทุนลดลง ทำให้การจ้างงานลดลง  ส่งผลต่อเนื่องให้ “รายได้” และ “การบริโภค” ลดลงตามไปด้วย  ซึ่งการบริโภคเป็นสัดส่วน 50% ของจีดีพี เศรษฐกิจไทยจึงขยายตัวต่ำ

 

 เศรษฐกิจไทยยังมีความหวัง “2 เรื่อง”

ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว คำถามคือ “ยังมีความหวังกับเรื่องอะไรได้บ้าง”  วิจัยกรุงศรีมองว่ายังมีอีก 2 เรื่อง ที่เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ได้

1.นโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ที่ยังมีช่องว่างให้สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทยต่อจีดีพีอยู่ที่ 42% ยังถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ  จึงมีโอกาสที่จะใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เมื่อเศรษฐกิจฟื้น ก็เก็บภาษีมาใช้คืนหนี้ได้

นโยบายทางการเงิน คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในไตรมาสแรกปี 2563 ซึ่งปัจจุบันอยู่อยู่ที่ 1.25%  หากปรับลดก็จะเป็นดอกเบี้ยระดับต่ำที่สุดที่เคยมีมา การลดดอกเบี้ยจะช่วยประคองเศรษฐกิจให้ดีขึ้น

นโยบายการคลัง น่าจะเห็นมาตรการกระตุ้นออกมาเพิ่มอีก ที่ผ่านมานโยบายการคลังเน้น “บรรเทา” ช่วยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบก่อน  ส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจจะทำในกลุ่มที่ยังมีกำลังจับจ่าย เพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้จ่ายให้กลุ่มคนชั้นกลาง ลูกจ้างประจำ ที่ยังไม่ถูกลดการทำงานเหมือนลูกจ้างชั่วคราว  นโยบายกระตุ้นหากแจกเงิน 100 บาท ก็ต้องการให้จับจ่ายมากกว่า 100 บาท  เช่น ที่รัฐดำเนินการไปแล้วในโครงการ “ชิม ช้อป ใช้”

2.ท่องเที่ยว ยังมีแนวโน้มเติบโตจากนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของไทย พบว่าช่วง 2 เดือนนี้นักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับมาอย่างชัดเจนและไทยยังเป็นจุดหมายหลัก

ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนถือพาสปอร์ตราว 10% ของจำนวนประชากร  คาดว่าในปี 2569 หรืออีก 7 ปี จะเพิ่มขึ้นเป็น 30% หรือจาก 180 ล้านคน เพิ่มเป็น 300 ล้านคน  โดยมีนักท่องเที่ยวจีนมาไทยเป็น 6% ของจำนวนคนที่ถือพาสปอร์ต  ดังนั้นจาก 10 ล้านคนในปีนี้ จะเป็น 18 ล้านคน มาจากการขยายตัวของคนชั้นกลาง เมืองอันดับรอง เป็นกลุ่มที่เดินทางท่องเที่ยวครั้งแรก มีประเทศไทยเป็น “จุดหมาย” อันดับหนึ่ง อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจึงยังมีโอกาสเติบโตจากนักท่องเที่ยวจีน นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้ประโยชน์ระยะสั้นจากเหตุการณ์ประท้วงในฮ่องกง

ปัจจัยเสี่ยงปี 2563

ในมุมของ “ความเสี่ยง” ปี 2563  ที่มาจาก “ต่างประเทศ” คือ ความไม่แน่นอนของสงครามการค้า ,จับตาสหรัฐฯ ตัดสิทธิประโยชน์ GSP สินค้าไทย และข้อตกลง FTA ระหว่าง อียูและเวียดนาม ส่วนปัจจัยเสี่ยง “ในประเทศ” มาจากด้านนโยบาย,ปัญหาโอเวอร์ซัพพลายตลาดที่อยู่อาศัย และความเสี่ยงจากภัยแล้ง

อีกความท้าทาย เป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงจากโครงสร้างการผลิต  ปัจจุบันไทยยังอยู่บนสายพานการผลิตเดิม เช่น รถยนต์ เครื่องจักร แต่โลกยุคใหม่เปลี่ยนสายพานการผลิตเป็นกลุ่มเทคโนโลยี, สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์, อุปกรณ์ IoT  ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องหาทางก้าวสู่สายพานการผลิตใหม่ เพราะหากเข้าไปมีส่วนแบ่งได้ ก็จะเป็นการ Take off  อุตสาหกรรมส่งออกอีกครั้ง แต่หากไม่สามารถเข้าสู่การผลิตใหม่ได้ก็เข้าสู่ภาวะ Landing

การเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจ “ขาลง” ในปี 2563 ปกติ วัฏจักรขาลงจะใช้เวลา 2-3 ปี  แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยมักฟื้นตัวเร็ว และวันนี้เศรษฐกิจโลกก็เริ่มฟื้นแล้ว เชื่อว่าอาจเห็นเศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งในปี 2564


แชร์ :

You may also like