เพราะทุกวันนี้โลกถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี “คน” และ “ธุรกิจ” จึงต้องปรับตัวและหมุนตามให้ทัน มิฉะนั้นแล้วจะต้องถูกดีดออกจากโลกใบนี้อย่างแน่นอน KTC หรือ บัตรกรุงไทยฯ เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว ถูกท้าทายอย่างหนักหน่วงในปัจจุบัน
ปี 2563 ไม่ง่ายเหมือนที่ผ่านมา และ ยากกว่าที่เคย
ระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC อธิบายว่า สถานการณ์เศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศของปีหน้ายังไม่สามารถประเมินอะไรได้เลย และยังเชื่อว่าสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกายังไม่จบ ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเนื่องอีกปี รวมไปถึงประเทศไทย
แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะดูเป็นเชิงลบ แต่ KTC กลับพลิกมุมในการดำเนินธุรกิจ ในปี 2563 อย่างรัดกุมมากขึ้น และเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ด้วยความแท้จริง (Authenticity) เพราะการได้ลูกค้าสินเชื่อไม่มีคุณภาพเข้ามา จะส่งผลกระทบต่อกิจการได้ ดังนั้นจึงเข้มงวดในการอนุมัติบัตรและการให้สินเชื่อมากขึ้น พร้อมกับการหาช่องทางการเติบโตใหม่ๆ จึงตั้งเป้าหมายเป็นแพลตฟอร์มด้านการเงินที่อยู่คู่กับผู้บริโภคคนไทย ด้วยการเป็น แพลตฟอร์มการเงิน และ แฟลตฟอร์มสินเชื่อรายย่อย ที่มุ่งเน้น 3 จุดแข็งหลักคือ ปลอดภัย รวดเร็ว และสร้างประสบการณ์ที่ดี เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับสมาชิกและคนไทย รองรับการขยายธุรกิจใหม่เข้าไปในธุรกิจสินเชื่อรายย่อยแบบมีหลักประกันและธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพิ่มเติมจากธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลที่มีอยู่ ซึ่งจะทำให้เคทีซีสามารถนำเสนอสินเชื่อให้กับผู้บริโภคได้หลากหลายและครบวงจร
“เห็นความไม่แน่นนอนในปีหน้าค่อนข้างเยอะ และประเมินอะไรมากไม่ได้ เชื่อมั่นว่าธุรกิจทั้งบัตรเครดิตที่เราเป็นผู้นำ จะเติบโตไม่ต่ำกว่าอุตสาหกรรมแน่นอน เราจะบรรลุตามเป้าหมายได้ แต่อาจจะไม่ง่ายเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ขณะที่ธุรกิจสินเชื่อบุคคล (บัตรกดเงินสด) มี Player มีการแข่งขันมาเยอะมากทั้ง Bank และ Non-Bank ที่เดิมเติบโตปกติ 15-18% สบายๆ ก็ไม่ง่ายอีกต่อไป”
แต่ถึงอย่างไร KTC ก็เตรียมพร้อมโอกาสการเติบโตในช่องทางใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น นาโนไฟแนนซ์ พิโกไฟแนนซ์ และโดยฉพาะ สินเชื่อพี่เบิ้ม สินเชื่อทะเบียนรถยนต์ และ สินเชื่อเงินสด ที่เพิ่งคลอดออกมาได้ไม่นานนัก และคาดว่าจะช่วงสร้าง New S-Curve ใหม่ให้กับ KTC ในเร็วๆนี้
วิเคราะห์ดาต้า มัดใจผู้ใช้บัตรเครดิต
พิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร – ธุรกิจบัตรเครดิต เสริมว่า “ถึงแม้ว่าในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัว แต่ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเคทีซีสามารถเติบโตได้ถึง 10% หรือประมาณ 150,000 ล้านบาท และคาดว่าสิ้นปี 2019 จะสามารถรักษาสัดส่วนการเติบโตของยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตโดยรวม ได้ที่ประมาณ 10% ซึ่งหล่นลงมาจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 15%
สำหรับปี 2020 แนวคิดการทำตลาดบัตรเครดิตเคทีซีที่กำหนดไว้คือ “Everyone, everyday, and everywhere” ด้วยเป้าหมายที่ต้องการให้บัตรเคทีซีเป็นบัตรที่สมาชิกเลือกใช้ทุกวันและทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นการจับจ่ายผ่านช่องทางออนไลน์หรือการใช้จ่ายที่ร้านค้าในประเทศหรือต่างประเทศก็ตาม โดยนอกจากการมุ่งเน้นความคุ้มค่าผ่านคะแนน KTC FOREVER แล้ว เคทีซีจะให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ที่ดีกับสมาชิก ทั้งสร้างความมั่นใจ ความสะดวกและความปลอดภัยในการใช้บัตร รวมถึงการสร้างความพึงพอใจให้กับสมาชิก โดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลในการเรียนรู้พฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าแต่ละราย เพื่อนำเสนอสิ่งที่สมาชิกบัตรชื่นชอบ รวมทั้งจะใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยควบคู่ไปกับความรู้และประสบการณ์ของทีมการตลาดเพื่อสรรสร้างสิ่งที่แตกต่าง ทั้งนี้ เคทีซีจะยังคงให้ความสำคัญกับการขยายเครือข่ายพันธมิตรร้านค้าให้ครอบคลุมไลฟ์สไตล์ของสมาชิกมากที่สุด อีกทั้งจะมีการเพิ่มประสิทธิภาพของช่องทางการสื่อสารมากขึ้น เพื่อให้สมาชิกบัตรได้รับทราบข้อมูลที่ตรงใจ มีประโยชน์ และไม่พลาดโปรโมชั่นดีๆ จากเคทีซี”
ขณะที่ธุรกิจสินเชื่อบุคคล จะมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกค้า แนะนำการใช้วงเงินอย่างมีวัตถุประสงค์แสดงถึงการวางแผนเพื่อความก้าวหน้าในชีวิต และวินัยทางการเงินที่ดี โดยตั้งเป้าเพิ่มปริมาณลูกค้าและพันธมิตรในกลุ่มสินเชื่อเพื่อการศึกษาให้มากขึ้น ผ่านกิจกรรมสัมมนาให้ความรู้ (Financial Literacy) และบทความที่เป็นประโยชน์ในรูปแบบของสื่อที่เข้าใจง่าย รวมทั้งต่อยอดการจัดกิจกรรมเวิร์คช้อปแบ่งปันความรู้เพื่อประกอบอาชีพพร้อมให้คำแนะนำด้านการลงทุนเพื่อนำไปสร้างรายได้ในอนาคต
ถูกคน ถูกโปรดักซ์ ถูกเวลา
กลยุทธ์การขยายฐานสมาชิกในปี 2020 ผู้บริหาร KTC อธิบายว่า น่าจะเป็นความท้าทายและสร้างโอกาสที่ดีให้กับเคทีซี ด้วยผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่มีความหลากหลายและครบวงจรมากขึ้น จะทำให้เราสามารถนำเสนอทางเลือกของผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้ารายย่อยได้อย่างครอบคลุม เพื่อนำเสนอสินค้าได้ถูกต้องกับความต้องการของลูกค้า
โดยตั้งเป้าหมายสมาชิกบัตรเครดิตใหม่ 350,000 ใบ และบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” 210,000 ใบ รวมทั้งกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุด “สินเชื่อเคทีซีพี่เบิ้ม” ซึ่งประกอบด้วย สินเชื่อทะเบียนรถยนต์ สินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์และสินเชื่อเงินสด สำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักของเคทีซีจะยังเป็นพนักงานที่มีรายได้ประจำตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป โดยจะมุ่งเน้นช่องทางการรับสมัครผ่านทางออนไลน์มากขึ้น และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับสมาชิกทุกรายที่สนใจสมัครผลิตภัณฑ์เคทีซี ส่วนช่องทางหลักในการสรรหาสมาชิกสินเชื่อผ่านธนาคารกรุงไทย และผู้แนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินเคทีซีอิสระ (Outsource Sales) จะเน้นการเพิ่มจำนวนและศักยภาพตัวแทนขายให้สูงขึ้น ซึ่งเคทีซีให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรทางการขายที่มีคุณภาพมาโดยตลอด เพื่อให้มั่นใจได้ว่านอกเหนือจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์ได้อย่างถูกต้องชัดเจนแล้ว จะช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับสมาชิกต่อไป”
“สำหรับกลยุทธ์การขยายพันธมิตรร้านค้าในปี 2020 จะมุ่งนำเสนอบริการรับชำระที่เหมาะสมและตอบโจทย์ความต้องการของร้านค้าในกลุ่มธุรกิจต่างๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีในการใช้บริการ และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับบริษัท โดยจะให้ความสำคัญกับตลาดการผ่อนชำระ “KTC FLEXI” ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงการขยายฐาน ปิยศักดิ์ เตชะเสน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส – ช่องทางจัดจำหน่ายและธุรกิจร้านค้า อธิบาย
ยึดหลัก Agile ทำงานคล่องตัว ตอบโจทย์ทุกรูปแบบ
เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายขององค์กร “พนักงาน” เป็นกลไกสำคัญซึ่งต้องปรับตัวให้เข้ากับวิถีการทำงานในรูปแบบใหม่ เพื่อทันต่อการแข่งขันและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า KTC ปรับตัวครั้งใหญ่สู่การเป็น “องค์กรคล่องตัว” (Agile Organism) หรือองค์กรที่มีชีวิต เพื่อให้สามารถบริหารจัดการธุรกิจให้ตรงและเท่าทันกับความต้องการและความคาดหวังของลูกค้า เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนแนวคิดการทำงานแบบเดิมๆ ที่เหมือนเครื่องจักร ไปสู่การทำงานแบบใหม่ที่มีโครงสร้างองค์กรชัดเจน ยืดหยุ่นและพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว
ผ่าน 5 องค์ประกอบหลักคือ กลยุทธ์ (Strategy) สร้างโอกาสและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในการสร้างมูลค่าให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม โดยเฉพาะสมาชิกเคทีซีและสังคมไทย โครงสร้าง (Structure) กำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของบุคลากรให้ชัดเจน สนับสนุนให้บุคลากรในทีมดูแลงานและแก้ปัญหาได้เอง สร้างผลงานที่ดี กระบวนการ (Process) คิดวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นในการทำงาน สร้างวงจรแห่งการเรียนรู้และสนับสนุนให้เกิดการตัดสินใจ ลดความเสี่ยงและสร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้น คน (People) ยึดโยงคนที่มีความสามารถโดดเด่นเข้าด้วยกัน ส่งเสริมให้บุคลากรเกิดความรู้สึกมีส่วนร่วมเป็นเจ้าขององค์กร ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้มีประสิทธิภาพ เทคโนโลยี (Technology) เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานที่ต้องผนวกเข้ากับทุกมิติขององค์กร