HomeReal Estate & Condoส่อง 6 เทรนด์อสังหาฯ มาแรง ปี 2563 จับกำลังซื้อ Real Demand

ส่อง 6 เทรนด์อสังหาฯ มาแรง ปี 2563 จับกำลังซื้อ Real Demand

แชร์ :

สรุปธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ปี 2562 เป็นอีกปีที่เจอ “โจทย์ยาก” หลายปัจจัยลบเข้ามากระทบพร้อมกัน เรื่องใหญ่จากมาตรการ LTV แบงก์ชาติ คุมสินเชื่อบ้านหลังที่ 2  ฉุดกำลังซื้อเพื่อลงทุนตลาดไทย  ส่วนตลาดต่างประเทศเจอเงินบาทแข็งค่าทำตลาดซบเซาไปเช่นกัน  แต่สิ่งที่กระทบหนักมาจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว  หนี้ครัวเรือนไทยทรงตัวในระดับสูง กำลังซื้อจึงยังไม่กลับมา เมื่อเจอหลายปัญหาเข้ามาพร้อมกัน ตลาดที่อยู่อาศัยปี 2562 จึงเรียกว่าเป็น “ขาลง” ที่แท้จริง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ปี 2563  ก็ยังไม่เห็นสัญญาณบวก และคงต้องรอลุ้นมาตรการกระตุ้นของภาครัฐต่อไป  และต้องถือเป็น “ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงสำคัญ” อีกปีของวงการอสังหาฯ ที่ต้องหันมาให้ความสนใจกับไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัย เพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาดจากกลุ่ม Real Demand  และก้าวข้ามความท้าทายปี 2563 ไปให้ได้

คุณสุวรรณี มหณรงค์ชัย รองกรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนากลยุทธ์และบริหารสินทรัพย์ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด  วิเคราะห์ปัจจัยหลังธุรกิจอสังหาฯ ที่จะเข้ามามีบทบาทในตลาดที่อยู่อาศัย ปี 2563  ที่มองว่าเป็น “โอกาส” ให้ไปต่อได้  ซึ่งมี 6 เทรนด์มาแรงและมีความน่าสนใจ ดังนี้

1. เทคโนโลยีเชื่อมต่อการอยู่อาศัย      

แนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัย นับจากนี้ไปจะผสมผสานเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้ซื้อ การเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้านให้รวมอยู่ในสมาร์ทโฟนจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่จะเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าถึงกันอย่างแพร่หลาย จะเห็นได้ว่าองค์การขนาดใหญ่เริ่มตื่นตัวและทำการทรานส์ฟอร์มองค์กรไปสู่ดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพซอฟต์แวร์รองรับ AI และ IoT ซึ่งภาคอสังหาฯ เองก็เริ่มเปิดโครงการนำร่องที่มีการเชื่อมต่ออุปกรณ์สามาร์ทโฮมเข้ากับ AI และ IoT  เช่น ระบบสั่งการด้วยเสียงบน Google Assistant ผู้ช่วยอัจฉริยะประจำบ้าน ตลอดจนการนำเทคโนโลยีมาเสริมประสิทธิภาพด้านการดูแลบริหารจัดการอาคารในลักษณะของศูนย์ควบคุมแบบเรียลไทม์ 24 ชั่วโมง

2. โครงการที่อยู่อาศัยกลุ่มเรียลดีมานด์ยังโตได้

หากดูจากปี 2562 โครงการแนวราบเริ่มมีบทบาทเพราะเป็นโครงการที่ตอบโจทย์เรียลดีมานด์ แต่ในปี 2563 คาดว่าตลาดแนวสูงอย่างคอนโดมิเนียม จะเป็นโครงการที่ตอบโจทย์การอยู่อาศัยที่แท้จริง ที่ยังได้รับความนิยม จากแรงส่งการขยายเปิดให้บริการส่วนต่อขยายหลายเส้นทาง ทั้งสายสีเขียว และสายสีน้ำเงิน และในปี 2563 ก็จะมีสายสีทอง รวมถึงสายสีชมพูและสายสีเหลืองที่มีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2564 ทำให้ทำเลตามแนวรถไฟฟ้าเหล่านี้ถูกจับจองด้วยโครงการคอนโดมิเนียมในระดับราคาต่ำกว่า 100,000 บาทต่อตารางเมตร หรือต่ำกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนรวมกัน 70% ของโครงการใหม่ทั้งหมด พบว่าส่วนใหญ่ถูกพัฒนาบนพื้นที่กรุงเทพชั้นนอก ได้แก่ สุขุมวิทรอบนอก แจ้งวัฒนะ มีนบุรี รามอินทรา และพื้นที่รัชดา-ลาวพร้าว

3. มิกซ์ยูสบุกตลาด

ปัจจุบันอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบผสมผสาน (มิกซ์ยูส) ที่ประกอบไปด้วยสำนักงาน ศูนย์การค้า โรงแรม และที่อยู่อาศัย ซึ่งเหมาะกับเมืองหลวงที่มีที่ดินในเขตใจกลางเมืองที่จำกัดอย่างกรุงเทพฯ  โดยจากการสำรวจของพลัสฯ พบว่า โครงการส่วนใหญ่จะทยอยเปิดให้บริการระหว่างปี 2561-2569 เมื่อโครงการสร้างเสร็จเปิดให้บริการจะเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ในเรื่องคุณภาพชีวิตคนที่ทำงานในกรุงเทพฯ เนื่องจากมิกซ์ยูส มีจุดเด่นเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกที่โครงการได้จัดไว้ให้บริการ และการเดินทางที่สะดวก เพราะทำเลติดถนนหลักและเส้นทางรถไฟฟ้า

4. การร่วมมือกันของแบรนด์ต่างๆ

กลยุทธ์การร่วมมือข้ามแบรนด์นี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเป็น Joint Venture ในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น แต่จะมีการดึงแบรนด์ด้านไลฟ์สไตล์ต่างๆ เข้ามาเปิดบริการร่วมกัน เช่น โครงการคอนโดมิเนียมที่มีการร่วมมือกับค่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าสำหรับให้ลูกบ้านในโครงการเช่าใช้ร่วมกัน หรือการร่วมกับร้านสะดวกซื้อที่เข้ามาให้บริการแบบเดลิเวอรี่ให้กับลูกค้าในโครงการ เป็นต้น จะมีให้เห็นมากขึ้นในปี 2563

5. เทรนด์อสังหาฯสีเขียว โครงการใส่ใจสิ่งแวดล้อม 

การเปลี่ยนแปลงสำคัญในปี 2563 ในประเด็นด้านการใส่ใจสิ่งแวดล้อม ด้วยการงดแจกถุงพลาสติกสำหรับห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ สร้างการรับรู้และการปรับตัวของผู้ซื้อครั้งใหญ่ ในภาคอสังหาริมทรัพย์เองก็เริ่มมีการเปลี่ยนไปสู่การตั้งเป้าหมายในการเป็นโครงการสีเขียวมากขึ้น ทั้งการใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วิธีการก่อสร้างที่เกิดเศษวัสดุให้น้อยที่สุด รวมถึงการนำเศษวัสดุจากการก่อสร้างกลับไปรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงการบริหารจัดการสิ่งของเหลือใช้สำหรับจำกัดของเสียในโครงการที่อยู่อาศัยอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหลายโครงการเริ่มนำนวัตกรรมการแปรรูปของเสียในโครงการให้เป็นปุ๋ย และบางโครงการก็ออกแบบพื้นที่ส่วนกลางให้เป็นแปลงปลูกผักออร์แกนิกส์ซึ่งสามารถนำปุ๋ยชีวภาพที่ผลิตขึ้นมาใช้ในแปลงผักส่วนกลางของโครงการ

6. Leasehold จะเริ่มมีบทบาทมากขึ้น

เป็นที่รู้กันว่า “ที่ดิน” สำหรับพัฒนาโครงการมีจำกัดโดยเฉพาะทำเลกลางเมือง ประกอบกับเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ที่นิยมอยู่แบบเป็นโสดมากขึ้น และโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เริ่มทำให้คนไทยเปิดใจรับโครงการแบบ Leasehold มากขึ้นกว่าเดิม เพราะเป็นโครงการที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ที่ไม่ต้องการมีทายาท ทำให้ผู้ซื้อเข้าถึงโครงการคอนโดมิเนียมที่ต้องการในราคาถูกว่าโครงการแบบ Freehold อีกทั้งโครงการแบบ Leasehold ส่วนใหญ่ยังตั้งอยู่ในทำเลใจกลางเมือง อีกทั้ง Leasehold ยังตอบโจทย์การเข้ามาซื้อของชาวต่างชาติในโครงการบ้านเดี่ยวที่แก้ปัญหาเรื่องการไม่สามารถถือครองที่ดินของต่างชาติได้อีกด้วย

หากต้องการเป็น “ผู้รอด” ในตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2563 ที่ยังต้องฝ่าฟันกับปัจจัยลบหลายด้าน ผู้ประกอบการเองต้องปรับตัว ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้ซื้อให้ตรงกับดีมานด์ที่ยังมีอยู่ในตลาด!


แชร์ :

You may also like