HomeSponsoredภาคต่อ ‘TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำ’ พาอาสารุ่นใหม่บุกเขาใหญ่ เรียนรู้ต้นตอปัญหา น้ำท่วม-ฝนแล้ง

ภาคต่อ ‘TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำ’ พาอาสารุ่นใหม่บุกเขาใหญ่ เรียนรู้ต้นตอปัญหา น้ำท่วม-ฝนแล้ง

แชร์ :

ปีนี้สถานการณ์ภัยแล้งหนักกว่าที่คาดไว้ สาเหตุมาจากปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงพื้นที่เกษตรกรรมทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ประสบปัญหาอย่างหนักเพราะไม่มีน้ำทำการเกษตร ผลคือต้นข้าวที่กำลังออกรวง ยืนตายทั้งนา

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

และข่าวร้ายคือภัยแล้งยังจะลากยาวไปถึงปี 2563 เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนน้อยมากอาจไม่พอให้เกษตรกรใช้ในการปลูกพืชผลในปีหน้า  แต่ในขณะเดียวกันฤดูฝนปีนี้กลับเกิดสถานการณ์น้ำท่วม วิกฤติหนักในรอบ 17 ปีที่ จ.อุบล

“น้ำท่วม-ฝนแล้ง” จึงกลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากในเมืองไทยมาช้านานและแก้ไม่ตกเสียที  แต่ถ้าถามผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำหลาย ๆ คน เราจะได้คำตอบว่า เมืองไทยขาดการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่กลุ่มธุรกิจ TCP ลุกขึ้นมาจัดกิจกรรม ‘TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำ 2 เขาใหญ่’  เพื่อจุดประกายให้คนรุ่นใหม่ได้มีใจรักสิ่งแวดล้อมและหันมาเรียนรู้ปัญหาเรื่องทรัพยากรน้ำและวิธีการบริหารจัดน้ำที่ทุกคนสามารถนำกลับไปปรับใช้ในพื้นที่ของตัวเองได้

ทำไมต้อง “พยาบาลลุ่มน้ำ”

กิจกรรม ‘TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำ’ จัดครั้งแรกเมื่อกลางปีที่ผ่านมาซึ่งได้รับการตอบรับจากอาสาสมัครที่ไปร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก โดยกิจกรรมนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากโครงการ ‘TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย’ โครงการดูแลลุ่มน้ำทั่วประเทศไทยในระยะยาวของกลุ่มธุรกิจ TCP  ผู้ผลิตเครื่องดื่มชั้นนำของไทยและของโลก เช่น กระทิงแดง (เรดบูล) เรดดี้ สปอนเซอร์ แมนซั่ม และเพียวริคุ รวมทั้งแบรนด์ขนมขบเคี้ยวซันสแนค  โดยต่อยอดมาจาก ‘กระทิงแดง สปิริต’ โครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ความยั่งยืนผ่านกิจกรรมอาสาสมัครมายาวนาน โดยหมุนเวียนนำเสนอประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจให้อาสาสมัครได้เรียนรู้ด้วยกัน

สำหรับกิจกรรม ‘TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำ ครั้งที่ 2 เขาใหญ่ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 – 3 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา  โดยพาอาสาสมัครที่มีใจรักสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศกว่า 100 ชีวิตเดินทางไปทำความเข้าใจต้นน้ำและการจัดการน้ำตามธรรมชาติกันที่ศึกษาเส้นทางธรรมชาติน้ำตกผากล้วยไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เพื่อให้อาสาสมัครได้เห็นความสัมพันธ์ของป่าและน้ำ

รวมทั้งไปเรียนรู้วิธีการจัดการน้ำและการจัดการที่ดินที่ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา-เขาใหญ่ กับ พรรณราย พหลโยธิน และ โรจนี ลีลากุล เจ้าของพื้นที่ที่ร่วมกันพัฒนาที่ดินกว่า 50 ไร่ ให้พึ่งพาตัวเองได้ในด้านการจัดการน้ำ โดยมีวิทยากรพิเศษคือ อาจารย์ยักษ์-ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลกและผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ที่มาให้ความรู้ในเรื่องการออกแบบพื้นที่แก่อาสาสมัครและอธิบายการนำหลักกสิกรรมธรรมชาติมาใช้ในการดูแลดินและน้ำ  และดาราหนุ่มหัวใจรักสิ่งแวดล้อมอย่าง อเล็กซ์ เรนเดลล์ มาร่วมเรียนรู้ ร่วมทำกิจกรรม และส่งต่อแรงบันดาลใจดีๆ ในการดูแลสิ่งแวดล้อมให้กับอาสาสมัครในฐานะ TCP Spirit Ambassador เป็นปีที่ 2 แล้ว

นอกจากนี้เหล่าอาสาสมัครยังได้เรียนรู้การแก้ปัญหาเรื่องน้ำผ่านกิจกรรมการเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ ‘ศาสตร์’ของรัชกาลที่ 9  รวมถึงการปลูกพืชต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาดินและสร้างรายได้

‘ป่าต้นน้ำ’ คือ ‘ต้นทางชีวิต’

ก่อนที่จะเข้าไปพยาบาลลุ่มน้ำ ฉัตรปรีชา ชฎากุล หัวหน้าสถานีวิจัยลุ่มน้ำมูล รับหน้าที่สร้างความเข้าใจความหมายของคำว่า ‘ต้นน้ำ’ –  ‘ลุ่มน้ำ’ และความสำคัญของ’ป่าต้นน้ำ’ ให้แก่เหล่าอาสาสมัครเสียก่อน

เริ่มจาก ‘ต้นน้ำ’ ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่สูงที่สุดและเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำลำธารทั้งหลาย ‘ต้นน้ำ’ มักเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำบนพื้นที่สูงอย่างภูเขา เช่นป่าลุ่มน้ำลำตะคองที่น้ำไหลลงมาจากเขาฟ้าผ่าในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

ส่วนคำว่า ‘ลุ่มน้ำ’ คือพื้นที่รับน้ำฝนทั้งหมดที่อยู่เหนือจุดไหลออกของน้ำ มีลักษณะเหมือนแอ่งกระทะ โดยมีขอบกระทะเป็นสันปันน้ำ ลุ่มน้ำมีองค์ประกอบ ดังนี้ ทรัพยากรกายภาพ เช่น ดิน ที่ดิน หิน แร่ธาตุ , ทรัพยากรชีวภาพ เช่น ป่าไม้ สัตว์ ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงระบบนิเวศต่างๆ, ทรัพยากรที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ที่อยู่อาศัย ชุมชน พื้นที่เกษตรกรรม การใช้ที่ดินประเภทต่างๆ วัฒนธรรม ประเพณี ทรัพยากรเหล่านี้อยู่รวมกันอย่างกลมกลืนเป็นลุ่มน้ำ ดังนั้นการพยาบาลลุ่มน้ำจึงมุ่งจัดการที่ดินและการใช้ที่ดินของคนในลุ่มน้ำนั้นๆ

ด้วย ‘น้ำ’ เป็นทรัพยากรสำคัญของคน สัตว์ และสรรพสิ่งในธรรมชาติ โดยเฉพาะมนุษย์ที่ใช้น้ำในแทบทุกกิจกรรมในชีวิต หลายคนใช้ แต่น้อยคนที่รักษา จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ และนำมาซึ่งปัญหาภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายทั้งเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

ขณะนี้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยกำลังมีปัญหาใหญ่ เพราะพื้นที่ป่าต้นน้ำที่คอยดูดซับน้ำบนภูเขาถูกทำลาย สูญเสียพื้นที่ต้นน้ำให้กับการเกษตรจนกลายเป็นเขาหัวโล้น คนที่อยู่กลางน้ำและปลายน้ำจึงได้รับผลกระทบต่อกันเป็นทอดๆ จึงเป็นเหตุผลให้เราต้องขึ้นมารู้จักกับ ‘ลุ่มน้ำ’ และเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาร่วมกัน

จากนั้นพาอาสาสมัครไปเดินสำรวจป่าลุ่มน้ำลำตะคองกันที่เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกผากล้วยไม้ ที่ไหลมาจากป่าต้นน้ำบนเขาฟ้าผ่าในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งเปรียบเสมือนจุดกำเนิดของแม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงชาวนครราชสีมา และป่าแห่งนี้ยังเปรียบเสมือนเขื่อนเก็บน้ำธรรมชาติที่ช่วยป้องกันน้ำท่วมและน้ำแล้งได้เป็นอย่างดี

แต่เนื่องจากบริเวณพื้นที่กลางน้ำและปลายน้ำมีความต้องการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ทำการเกษตร และทำธุรกิจ จึงมีการสูบน้ำบาดาลมาใช้ในปริมาณมาก จนทำให้เกิดปัญหาการจัดการน้ำและขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้ง

การเดินทางมาที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในครั้งนี้จึงเป็นการพาอาสาสมัครมาสัมผัสกับสายน้ำ ได้เห็นความยิ่งใหญ่และความสวยงามของธรรมชาติ เพื่อที่จะได้เข้าใจลุ่มน้ำ รู้จักการอนุรักษ์น้ำอย่างถูกวิธี และสร้างจิตสำนึกในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ให้คงอยู่ไปถึงคนรุ่นหลัง

เรียนรู้‘โคก หนอง นา โมเดล’

โคก หนอง นา โมเดล หรือ ‘หลุมขนมครก’ เป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ของรัชกาลที่ 9 ซึ่งเปรียบการขุดโคก หนอง นา เหมือน 1 ถาดขนมครก ถ้าถาดเรียบก็จะเก็บน้ำไว้ไม่ได้ การขุดหลุมขนมครกบนพื้นที่จะทำให้น้ำขังในดินได้นานขึ้น น้ำฝนที่ตกลงมาอย่างหนักหน่วงจะไม่ไหลบ่าจนเกิดน้ำท่วมเหมือนปัจจุบัน

ในพื้นที่เขาหัวโล้นก็ใช้ได้ เพียงขุดหนองไว้เก็บน้ำ ปลูกพืชเป็นหน้าขั้นบันไดให้รากอุ้มน้ำในดิน ถ้าทำนาขั้นบันไดบนไหลเขาได้ยิ่งดี เพราะจะช่วยให้น้ำฝนที่ตกลงมาอยู่ในพื้นที่ดินของเราได้นานขึ้น ที่สำคัญต้องปลูกแฝกบริเวณสันดินเพื่อช่วยให้ยึดเกาะหน้าดินได้ดี นอกจากหลุมขนมครกจะช่วยป้องกันน้ำท่วมได้แล้ว ยังช่วยจัดเก็บน้ำไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปีด้วยนะ

‘กักดิน เก็บน้ำ ปลูกแฝก’

บริเวณหนึ่งของศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา-เขาใหญ่ซึ่งติดกับลำน้ำลำตะคอง  เวลาน้ำหลากจะชะล้างหน้าดินลงไปอยู่ในลำน้ำเสียหมด ส่งผลให้ลำนำตื้นเขิน  การมีเขื่อนแทนที่จะกักเก็บน้ำกลายเป็นกักเก็บดิน วิทยาการแนะว่าทุกพื้นที่ติดริมน้ำหรือพื้นที่ลุ่มน้ำ ควรมีระบบอนุรักษ์ดิน เพื่อเก็บตะกอนดินดี ไว้เป็นฮิวมัสและปุ๋ยธรรมชาติให้พื้นที่ของตัวเอง  จึงเกิดการ ‘กักดิน เก็บน้ำ ปลูกแฝก’ เพื่อแก้ปัญหาชะล้างพังทลายของหน้าดินริมลำธาร

กักดิน ด้วยการปรับหน้าดินลาดชันให้เป็นนาขั้นบันได เก็บน้ำ ด้วยการขุดคลองไส้ไก่ดักตะกอนดีเก็บไว้ในหนองน้ำ ปลูกแฝก เพื่ออาศัยประโยชน์จากรากแฝกให้ช่วยยึดหน้าดินและลดการชะล้างพังทลาย แฝกควรปลูกเป็นแถวเดี่ยวขวางความลาดชันของพื้นที่ แนวแถวของแฝกจะเป็นเสมือนรั้วช่วยชะลอความเร็วของน้ำไหลบ่าหน้าดิน วิธีการนี้ใช้ได้กับทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นริมตลิ่ง ริมลำธาร หรือแม้แต่พื้นที่เขาหัวโล้น

ปลูกพืชเพิ่มรายได้

บนพื้นที่ 50 ไร่ของศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา-เขาใหญ่ จะเต็มไปด้วยกองทัพต้นกล้วย เนื่องจากที่ดินผืนนี้เป็นดินสีน้ำตาลแห้งกรัง กักเก็บน้ำในดินได้ไม่ดี ทางศูนย์จึงเริ่มต้นปลูกกล้วยเป็นพืชเบิกนำ ลำต้นของกล้วยเก็บน้ำและความชุ่มชื้นได้เป็นอย่างดี การปลูกกล้วยจึงเหมาะมากสำหรับใช้ปรับคุณภาพดินบนภูเขาหัวโล้น

นอกจากนี้กล้วยยังเป็นพืชที่กักเก็บความชุ่มชื่นในดินเอาไว้เพื่อให้พืชข้างเคียงได้เจริญเติบโต อีกทั้งทุกส่วนของต้นกล้วยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ใบใช้นำไปห่อขนมก็ดี หยวกกล้วยก็ใช้แกง ผลกล้วยใช้ทำอาหาร ปลีกล้วยใช้จิ้มน้ำพริก ฯลฯ

นอกจากนี้ภายในศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา-เขาใหญ่มี ‘นาข้าวอินทรีย์’ ที่ได้รับการขนานนามว่า ‘คันนาทองคำ’  เพราะบริเวณหัวคันนาปลูกทั้งพืชทานได้และพืชใช้ประโยชน์ได้ แต่ไปขัดกับความเชื่อของชาวบ้านที่มักจะไม่ปลูกไม้ใหญ่บนคันนา เพราะเงาของต้นไม้จะทาบทับลงบนนาข้าว เป็นผลให้ข้าวเจริญเติบโตไม่ดี แต่วิทยากรแนะวิธีแก้ง่าย ๆ  เพียงวางคันนาไปตามแนวพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก เพียงเท่านี้เงาต้นไม้ก็จะไม่ทอดบนนาข้าว ผลพลอยได้คือหัวคันนาทองคำสามารถปลูกพืชต่าง ๆ ไว้กิน ไว้ใช้ ตลอดทั้งปี ถ้ามีเหลือกินยังแจกจ่ายเพื่อนบ้านหรือนำไปขายสร้างรายได้ได้อีก

น้ำเสียแก้ง่ายใช้ “สปาน้ำ”บำบัด

ปัจจุบันการใช้สารเคมีเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเกษตรกร เพราะเป็นอันตรายทั้งต่อดินและสุขภาพของคน  ถึงแม้ว่าที่ดินของเราจะปลูกพืชปลอดสาร แต่ขณะเดียวกันที่ดินของเพื่อนบ้านที่ติดกันยังใช้สารเคมีอยู่ จึงทำให้บ่อรับน้ำของเรามีสารเคมีปนเปื้อนไปด้วย

ทางศูนย์เรียนรู้ได้สอนให้ใช้วิธีธรรมชาติ ได้ประโยชน์และประหยัด ของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาดัดแปลงให้เข้าใจง่ายด้วยการทำ ‘สปาน้ำเสีย’ หรือขุดบ่อบำบัด 3 บ่อ

เริ่มจาก นอนพัก เป็นการขุดหนองรับน้ำให้น้ำเสียไหลเข้ามานอนพัก รอน้ำเสียนอนเต็มอิ่มจนน้ำตกตะกอนใสขึ้น แล้วปล่อยไหลไปยัง ‘บ่ออาบแดด’  ซึ่งเกิดจากการขุดคลองไส้ไก่ให้คดเคี้ยว ลึกบ้าง ตื้นบ้าง เพื่อให้น้ำอยู่ในระบบบำบัดน้ำเสียได้นานที่สุด นอนอาบแดดให้แผดเผา เพื่อช่วยฆ่าเชื้อโรค ส่วนบริเวณคลองไส้ไก่แนะให้ปลูกพืชน้ำอย่างกก ธูปฤาษี พุทธรักษา เพื่อใช้รากดูดสารพิษ

กินอากาศ เป็นบ่อสุดท้าย ใช้เป็นพื้นที่พักน้ำสะอาดหลังจากการบำบัดมาสองบ่อ อาจกั้นฝายและคันดินเป็นจุด ทำเป็นน้ำตกและเติมอากาศ เพื่อให้แน่ใจว่าน้ำจะปลอดภัยไร้สารพิษ ให้โยนระเบิดจุลินทรีย์เท่าลูกเปตองลงไปด้วยเพื่อปรับน้ำให้มีคุณภาพดี

ระยะเวลา 3 วัน 2 คืน ของกิจกรรม “TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำ 2 เขาใหญ่” คงช่วยให้เหล่าอาสาสมัคร 100 คนได้เรียนรู้ความสำคัญของ ‘ป่าต้นน้ำ’ และนำหลักกสิกรรมธรรมชาติมาใช้ในการดูแลดินและน้ำ สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปสานต่อบริหารจัดการน้ำในที่ดินของตัวเอง หรือส่งผ่านความรู้ไปยังชุมชนต่าง ๆ เพื่อช่วยกันพยาบาลลุ่มน้ำธรรมชาติให้กลับมาสมบูรณ์ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของกิจกรรมนี้เพื่อส่งต่อภารกิจดูแลป่าต้นน้ำสู่คนรุ่นใหม่

 


แชร์ :

You may also like