อำลา ปี 2019 กับการเปลี่ยนแปลง “อุตสาหกรรมสื่อ” ในยุคดิจิทัล ดิสรัปชั่น ที่ยังคงกระหน่ำซัด “สื่อเก่า” ให้ต้องเร่งปรับตัวก่อนเผชิญชะตากรรมปิดฉากธุรกิจ เหมือนที่เกิดขึ้นกับ “สื่อสิ่งพิมพ์และทีวีดิจิทัล” แต่ต้องถือเป็นปีทองต่อไปของสื่อออนไลน์ โซเชียล มีเดีย และเครื่องมือการตลาดมาแรง “อินฟลูเอนเซอร์” ที่ทรงพลังมากขึ้น
BrandBuffet สรุป 10 เรื่องที่เป็นปรากฏการณ์สำคัญของอุตสาหกรรมสื่อในปี 2019 ที่ยังเป็นปีเศร้าของสื่อเก่า ปีทองสื่อออนไลน์ และการดิ้นร้นปรับตัวของทีวีดิจิทัล
1. จบแบบเจ็บๆ กับ 7 ช่องทีวีดิจิทัล
ปี 2019 เป็นปีที่ผู้ประกอบการ “ทีวีดิจิทัล” ยอมรับความจริงว่าไปต่อไม่ไหว! เมื่อ คสช.ออกคำสั่ง มาตรา 44 ให้คืนช่องก่อนสิ้นสุดใบอนุญาต 15 ปี (2557-2572) มี “7 ช่อง” ขอคืนไลเซนส์หลังผ่านไป 6 ปี แลกกับเงินชดเชย ที่ กสทช.จ่ายให้ทั้ง 7 ช่องรวม 2,933 ล้านบาท แต่หากนับความเสียหายจากการลงทุนทีวีดิจิทัล ที่ต้องปิดฉากธุรกิจ 9 ช่อง (รวม 2 ช่อง ไทยทีวีและโลก้า) ผู้ประกอบการลงทุนไปแล้วกว่า 10,000 ล้านบาท ทั้ง 9 ช่องที่ออกจากตลาด คือ “ขาดทุน” ทั้งหมด
ไม่เพียง “เจ้าของ” ทีวีดิจิทัลที่บาดเจ็บ แต่ “คนสื่อ” ก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน ตลอด 5 ปี ทีวีดิจิทัล มีการ “เลิกจ้าง” มาต่อเนื่อง กสทช. สรุปตัวเลขตั้งแต่ปี 2558-2562 และการปิดตัวของ 9 ช่องทีวีดิจิทัล มีพนักงานประจำของทีวีดิจิทัลและพนักงานบริษัทรับจ้างผลิต ผู้ผลิตรายการอิสระ ธุรกิจตัดต่อ ผู้ผลิตโฆษณา ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้าง จำนวน 3,472 คน ผลกระทบทางอ้อมกับครอบครัวคนที่ถูกเลิกจ้างอีก 11,458 คน รวมผู้ที่ได้รับผลกระทบจากทีวีดิจิทัล 14,930 คน
หากย้อนดูสถานการณ์ “ทีวีดิจิทัล” ปี 2557 จนนำไปสู่การคืนช่องในปี 2562 ก็ต้องยอมรับว่าจำนวน 24 ช่องที่เปิดประมูล “มากเกินไป” เพราะผ่านมา 6 ปี เม็ดเงินโฆษณาทีวี ไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่มีแนวโน้มลดลง และไหลไปอยู่ที่สื่อออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือส่วนหนึ่งของผลกระทบจาก “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น” ที่สื่อดั้งเดิม รวมทั้งทีวีดิจิทัลอีก 15 ช่องที่เหลืออยู่กำลังเผชิญในขณะนี้ และหลายช่องยังคงบาดเจ็บต่อไป จนมีเสียงเรียกร้องขอโอกาสคืนช่องอีกรอบ!
2. “อริยะ พนมยงค์” กับความหวังฟื้น ช่อง 3
การเปลี่ยนแปลงระดับ “ผู้บริหาร” ที่เรียกว่าสะเทือนวงการทีวีดิจิทัล ในปี 2562 ต้องยกให้การย้ายจากค่ายเทคโนโลยี LINE ประเทศไทย มานั่งตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการ (President) “บีอีซี เวิลด์” ของ คุณบี๋ อริยะ พนมยงค์ ที่ตระกูลมาลีนนท์ยอมเปิดทางและให้อำนาจบริหารเต็มที่ กับภารกิจพลิกฟื้น ช่อง 3 ที่ต้องเผชิญกับภาวะขาดทุนครั้งแรกในปี 2562 กว่า 330 ล้านบาท
เมื่อเริ่มทำงานในเดือน เม.ย. ก็ต้องเจอโจทย์ใหญ่กับการตัดสินใจคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 2 ช่อง คือ ช่อง 3 แฟมิลี่ และ ช่อง 3 SD เพื่อรับเงินชดเชย 820 ล้านบาท และลดภาระขาดทุน
ภายใต้การนำทัพของคุณอริยะ ได้วางกลยุทธ์ 6 เสาหลัก (strategic pillars) 1.TV Plus สื่อออฟไลน์และออนไลน์ต้องเดินไปคู่กัน 2.Distribution นำเสนอ Content & Entertainment Platform ร่วมกับทุกพันธมิตร 3. ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) นำมาสร้างรายได้จากการขายลิขสิทธิ์ 4. Artist กลุ่มดารานักแสดงกว่า 200-300 คน ต่อยอดสร้างธุรกิจใหม่ๆ 5.Content ปรับโฉมละคร ข่าว และวาไรตี้ และ 6.Technology พัฒนา “ดิจิทัล แฟลตฟอร์ม”ของตัวเองและการทำงานร่วมกับพันธมิตร ทั้งหมดคือแผนงานที่จะฟื้นธุรกิจ ช่อง 3 ของตระกูลมาลีนนท์ ให้กลับมาทำกำไรอีกครั้ง!
3. “ทีวีช้อปปิ้ง”เกลื่อนหน้าจอ
กลยุทธ์หนีตาย “ทีวีดิจิทัล” ตลอดช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา ทำให้เกิดปรากฏการณ์ ปล่อยพื้นที่ เวลาออกอากาศให้กับรายการ “ทีวีช้อปปิ้ง” เพื่อหารายได้และลดต้นทุนผลิตรายการไปพร้อมกัน เรียกว่า “ทุกช่อง” ต้องมีรายการนี้โผล่มาให้เห็นตลอดวัน ไม่ใช่หลังเที่ยงคืนเหมือนยุคทีวีแอนะล็อก เดิมเป็นรูปแบบให้ผู้ประกอบการ “โฮมช้อปปิ้ง” เช่าเวลา แต่หลังจาก “อาร์เอส” ปั้นธุรกิจขายสินค้าหรือ MPC ผ่าน ช่อง 8 ได้สำเร็จ ทำให้ธุรกิจมีกำไร กลายเป็นบิสสิเนส โมเดล ให้ทีวีดิจิทัล ช่องอื่นๆ ทำตาม
ปัจจุบัน ทีวีดิจิทัล หลายช่องแตกบริษัทขยายตัวสู่ธุรกิจโฮมช้อปปิ้งกันเต็มตัว ไม่ว่าจะเป็น เวิร์คพอยท์ทีวี, โมโน, อมรินทร์ทีวี, เนชั่นทีวี ใช้พื้นที่สื่อทีวี ที่เข้าถึงคนไทยทั่วประเทศ โดยเฉพาะอายุ 35 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นผู้ชมหลักที่ดูทีวี หากทีวีดิจิทัลมีเรตติ้งดี มีฐานผู้ชมจำนวนมาก ก็มีโอกาสสร้างรายได้มากกว่าปล่อยเช่าเวลาให้กับธุรกิจโฮมช้อปปิ้ง
ตัวเลขของธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้ง ช่วง 5 ปีนี้ ต้องบอกว่าเติบโตมาต่อเนื่อง ปี 2558 มีมูลค่า 8,444 ล้านบาท เติบโต 17.5% ปี 2559 มูลค่า 9,840 ล้านบาท เติบโต 14.2% ปี 2560 มูลค่า 11,670 ล้านบาท เติบโต 15.7% ปี 2561 มูลค่า 13,820 ล้านบาท เติบโต 15.5% ส่วนปี 2562 น่าจะอยู่ที่ 14,334 ล้านบาท เติบโต 11% นี่จึงเป็นอีกแหล่งรายได้ใหม่ของทีวีดิจิทัล ที่ต่างก็เข้ามาแย่งชิง
4. ศึกชิงเรตติ้งทีวี “นีลเส็น” ยังได้ไปต่อ
หลังมีความพยายามของ สมาคมวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ (ประเทศไทย) หรือ MRDA ที่มีสมาชิกเป็นมีเดีย เอเยนซี และทีวีดิจิทัล เพื่อจัดทำระบบวัดเรตติ้งทีวีใหม่ โดยต้องการวัดตัวเลขผู้ชมทั้งหน้าจอทีวีและช่องทางออนไลน์ จากปัจจุบันผู้วัดเรตติ้งทีวี ในประเทศไทยมากว่า 30 ปี คือ “นีลเส็น”
ปี 2562 ต้องถือว่ามีความคืบหน้าสำคัญ เมื่อคำสั่ง คสช. มาตรา 44 ฉบับเดียวกับที่เปิดทางให้ทีวีดิจิทัลคืนช่อง ได้กำหนดให้สนับสนุนงบประมาณจัดทำเรตติ้งทีวีดิจิทัลใหม่ไว้ด้วย กสทช.จึงให้วงเงินเบื้องต้นไว้ 431 ล้านบาท และให้องค์กรกลางที่มีทีวีดิจิทัลเป็นสมาชิก (มีรายเดียว คือ สมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล มายื่นของบ) เพื่อคัดเลือกบริษัทจัดทำเรตติ้งใหม่
แต่ยังไม่ทันคัดเลือก เรื่องก็ต้องมาสะดุด เมื่อ ช่อง 7 ยื่นฟ้อง กสทช. ที่ศาลปกครองกลาง เรื่องการออกประกาศหลักเกณฑ์ให้เงินสนับสนุนจัดทำเรตติ้งทีวีดิจิทัล โดยกำหนดเงื่อนไของค์กลางที่จะมารับเงิน จัดทำเรตติ้ง “กีดกั้น” รายอื่น ทำให้ กสทช. ต้องออกประกาศยกเลิกหลักเกณฑ์เดิม และออกหลักเกณฑ์ใหม่ ให้เปิดโอกาสให้องค์กรกลาง ทุกราย ที่ต้องการรับเงินมาเสนอตัวเพื่อรับคัดเลือกภายใน 1 ปี
นั่นเท่ากับว่ายังไม่มีการจัดทำเรตติ้งใหม่ และ นีลเส็น ยังคงเป็นผู้จัดทำเรตติ้งทีวีต่อไป ซึ่งเมื่อครบกำหนดเวลาก็ยังไม่ชัดเจนว่า จะคัดเลือกองค์กรกลางมารับเงินจัดทำเรตติ้งได้หรือไม่ เพราะสมาชิกทีวีดิจิทัลเองก็ยังแบ่งเป็น 2 ขั้ว คือกลุ่มที่สนับสนุน นีลเส็น และกลุ่มที่สนับสนุน MRDA และหากไม่สามารถคัดเลือกองค์กรกลางมารับเงินได้ภายใน 1 ปี (ก.ย.2563) กสทช. ก็จะส่งเงินก้อนนี้คืนรัฐทันที และ นีลเส็น ก็ยังเป็นผู้จัดทำเรตติ้งทีวีในประเทศไทย “รายเดียว” ต่อไป
5. “รีรัน”มาราธอน “บุพเพสันนิวาส” ครองแชมป์
ปรากฎการณ์ส่งท้ายปี 2562 “ทีวีดิจิทัล” ต่างพร้อมใจกันงัดกลยุทธ์ “รีรัน” ช่วงซูเปอร์ ไพรม์ไทม์ 2 ทุ่ม ออกมาใช้กันหลายช่อง ช่อง 7 ส่งละครฮิต “สารวัตรใหญ่” ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค.2562 ถึง 3 ม.ค.2563 “ช่องวัน” จัดชุดใหญ่ 4 เรื่อง หัวใจศิลา, เรือนไหมมัจจุราช, ภาตุฆาต, สงครามนักปั้น และหนี้เสน่หา ตั้งแต่ วันที่ 23 ธ.ค.2562 ถึง 5 ม.ค.2563 เช่นเดียวกับ พีพีทีวี ส่งละคร “กลับไปสู่วันฝัน” รีรันมาราธอน ตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค.2562 ถึง 10 ม.ค.2563
ส่วน โมโน 29 จัดหนักกว่าทุกปี ยอมรื้อผังรายการทั้งสถานี ส่งโปรแกรม “หนังดัง-ซีรีส์ฮิต” 100 เรื่องลงจอ ฉายทั้งวัน ตั้งแต่เวลา 7.30-01.00 น. แบบ “ไม่มีสปอตโฆษณาคั่น” ยาว 10 วัน เริ่ม 23 ธ.ค.2562 ถึง 1 ม.ค.2563 งานนี้ยอมทิ้งเงินโฆษณาเพื่อแลกกับเรตติ้งอันดับ 2 เมื่อจบปี
ช่อง 3 ขอย้ำความสำเร็จของละครพีเรียด “บุพเพสันนิวาส” อีกครั้งกับการรีรัน รอบที่ 3 แบบ Non Stop ในช่วงซูเปอร์ไพรม์ไทม์ละคร 2 ทุ่ม 16 วันรวด จันทร์-ศุกร์ เวลา 20.20 – 22.35 น. และเสาร์-อาทิตย์ เวลา 20.15-22.30 น. เริ่มวันที่ 25 ธ.ค.2562 ถึง 9 ม.ค.2563 แม้จะเป็นรอบที่ 3 แต่แฟนละคร “ออเจ้าและพี่หมื่น” ยังเหนียวแน่น เพราะกวาดเรตติ้งสูงสุดเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน ตัวเลขอยู่ที่ 3-4 เรียกว่าสูงกว่าละครฉายครั้งแรกของช่อง 3 เองด้วยซ้ำ
6. “อาร์เอส” เนื้อหอม จับมือพันธมิตร-บิ๊กธุรกิจถือหุ้น
ถือเป็นผู้พลิกเกมธุรกิจสื่อ “ขาลง” ให้มาอยู่ในฝั่งทำ “กำไร” เมื่อ “เฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” ณ อาร์เอส เปลี่ยนธุรกิจสื่อมาสู่ธุรกิจพาณิชย์หลายช่องทาง หรือ Multi-platform Commerce (MPC) ขายสินค้ากลุ่มสุขภาพและความงามผ่านช่องทางสื่อของอาร์เอส ทั้งทีวีดิจิทัล วิทยุ และช่องทางขายตรง ทำให้ตัวเลขขาดทุนในปี 2559 กลับมาทำกำไรตั้งแต่เป็น 2560 เป็นต้นมา
ปี 2562 เป็นปีที่ อาร์เอส เดินหน้าจับมือพันธมิตรขยายช่องทางขายสินค้า ในกลุ่มทีวีดิจิทัลด้วยกัน คือ “ไทยรัฐทีวีและเวิร์คพอยท์” ทำรายการทีวีช้อปปิ้ง ขายสินค้ากลุ่มเฮลท์แอนด์บิวตี้ ของใช้ในครัวเรือน จิวเวลรี่
นอกจากเสริมพันธมิตรทีวีดิจิทัลแล้ว ปี 2562 อาร์เอส สร้างสีสันด้วยการดึงกลุ่มทุนใหญ่เข้ามาถือหุ้น เริ่มด้วย กลุ่ม BTS ถือหุ้น 6.06% เพื่อต่อจิ๊กซอว์ช่องทางใหม่ๆ ผ่านธุรกิจของกลุ่มบีทีเอส ทั้งสื่อนอกบ้าน, ระบบเพย์เมนต์ แรบบิท และโลจิสติกส์ เคอรี่ ปิดท้ายปี 2562 กับการเข้ามาถือหุ้นอีกครั้งของ “คิงเพาเวอร์” ตระกูลศรีวัฒนประภา สัดส่วน 9.87% ซึ่งเมื่อปี เดือน ต.ค.2558 คิงเพาเวอร์ เคยเข้ามาถือหุ้นอาร์เอสแล้วครั้งหนึ่ง จากนั้นขายออกในเวลา 2 เดือน ครั้งนี้จึงต้องรอดูว่าจะมีความร่วมมือระยะยาวหรือไม่
- ขายของเก่ง! RS กวาดเรียบทีวีดิจิทัล จับมือ Workpoint เปิด Wellness Shop ปั้นยอด 1,000 ล้าน
- อาร์เอส ดึงกลุ่ม ‘บีทีเอส’ ถือหุ้น ต่อยอดธุรกิจแนวราบ อีก 3 ปี ขึ้นแท่นบริษัทหมื่นล้าน
7. โฆษณาออนไลน์ “พระเอก” ตัวจริง
ท่ามกลางสื่อเก่า “ขาลง” ทำให้เม็ดเงินโฆษณาถดถอยมาต่อเนื่อง ขณะที่ “สื่อออนไลน์” กลายมาเป็นพระเอก กวาดเม็ดเงินโฆษณาจากทุกสื่อ ปี 2562 เม็ดเงินทะลุ 20,000 ล้านบาท เติบโต 17% ปี 2563 ยังไปต่อ มีเดียเอเยนซี คาดการณ์ไว้ที่ 24,000 ล้านบาท
ย้อนกลับไปปี 2553 ที่เริ่มเก็บตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาสื่อออนไลน์ หรือสื่อดิจิทัล มูลค่าอยู่ที่ 2,783 ล้านบาท สัดส่วน 2.4% ของอุตสาหกรรมโฆษณาเท่านั้น มาปี 2562 ขยับไปที่ 22.6% เป็นอันดับสองรองจากทีวี และยังมีแนวโน้มขยับขึ้นอีก สวนทางสื่อดั้งเดิมที่ยังคงลดลง
8. โซเชียล มีเดีย-วิดีโอ สตรีมมิ่ง ยึดเวลาคนไทย
ข้อมูล We Are Social และ Hootsuite เผยผลสำรวจ “Global Digital 2019” ในประเทศไทยผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 69 ล้านคน หรือเกือบทั้งหมดของประชากรไทย โดยมีผู้ใช้โซเชียลมีเดีย 51 ล้านคน หรือสัดส่วน 74% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต
ปัจจุบัน “โซเชียลมีเดีย” ได้กลายเป็นสื่อหลักเข้าถึงประชากรไทยจำนวนมาก เฟซบุ๊ก มีผู้ใช้กว่า 50 ล้านราย, ไลน์ 47.8 ล้านราย, Messenger 41 ล้านราย, ยูทูบ 40 ล้านราย, อินสตาแกรม 13 ล้านราย, ทวิตเตอร์ 11 ล้านราย
คนไทย ใช้เวลากับสื่อออนไลน์กว่า 9 ชั่วโมงต่อวัน หมดไปกับโซเชียล 3 ชั่วโมง 11 นาทีต่อวัน คนไทยมี บัญชีโซเชียลมีเดีย 10.5 บัญชีต่อคน สูงติดอันดับ 5 ของโลก และใช้เวลาดู วิดีโอ สตรีมมิ่ง 3 ชั่วโมง 44 นาทีต่อวัน แพลตฟอร์มของหลายค่ายมีผู้ชมรวม 40 ล้านราย เช่น ไลน์ทีวี, Mello ของช่อง 3, Bugaboo TV ของช่อง 7, VIU, We TV, Netflix ขณะที่ใช้เวลาดูทีวีลดลงเหลือ 3-4 ชั่วโมงต่อวัน
9. ปีทองของ Influencer
เมื่อประชากรไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เกือบ 100% ทำให้ “การตลาดออนไลน์” เป็นหนึ่งใน “เครื่องมือ” สำคัญเข้าถึงผู้คนในยุคนี้ ที่มีพฤติกรรมเลือกเสพสื่อเองและไม่เชื่อโฆษณาอีกต่อไป และเลือกที่จะเชื่อผู้คนที่อยู่ในโลกออนไลน์ ต้องถือเป็น “ปีทอง” ของ Influencer นอกจาก “คนดัง” ที่มีคนติดตามหลักล้าน ปี 2019 อินฟลูเอนเซอร์ ระดับ “แม็คโคร และ นาโน อินฟลูเอนเซอร์” มีผู้ติดตามหลักพันถึงหมื่นราย ที่กลายเป็นเครื่องมือการตลาดยอดฮิต แจ้งเกิดคนทั่วไป ที่มีไลฟ์สไตล์น่าสนใจ ให้กลายเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นมิตรและเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย
การเติบโตของเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ ส่วนหนึ่งมาจาก Influencer Marketing ที่เรียกว่าทุกอุตสาหกรรมต่างหันมาใช้เงินกับเครื่องมือนี้มากขึ้น การตลาดอินฟลูเอนเซอร์ ทั่วโลกถือว่าเติบโตสูงเช่นกัน จากการสำรวจพบว่า 63% ของแบรนด์วางแผนเพิ่มการใช้งบการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ โดยทุกการใช้จ่าย 1 ดอลลาร์บนการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ ธุรกิจได้มูลค่าสื่อกลับมา 5.20 ดอลลาร์ คาดการณ์ว่าในปี 2020 การตลาดอินฟลูเอนเซอร์ทั่วโลกจะมีมูลค่าราว 10,000 ล้านดอลลาร์
10. ปีเศร้า “สิ่งพิมพ์” ลาแผง
ยังเป็นปีเศร้าของสื่อสิ่งพิมพ์ ทั้ง หนังสือพิมพ์และนิตยสาร ที่ยังไม่เห็นจุดสิ้นสุดของภาวะถดถอย ปี 2562 ถึงคิวยักษ์ใหญ่สื่อสิ่งพิมพ์ ประกาศปิดตัว “ฉบับเล่ม” สิ้นเดือน มี.ค.ค่ายบางกอกโพสต์ “ปิด” หนังสือพิมพ์ 2 ฉบับ คือ “โพสต์ทูเดย์” หนังสือพิมพ์ธุรกิจรายวันอายุ 16 ปี และฟรีก็อปปี้ M2F อายุ 7 ปี เลิกจ้างพนักงานราว 200 คน หลังจากนั้นทั้ง 2 หัวเดินหน้าสู่สื่อดิจิทัลเต็มตัว ยังไม่ทันจบปี บางกอกโพสต์ ต้องประกาศขายทรัพย์สินโรงพิมพ์บางนาและอาคารสำนักงานคลองเตย คาดได้เงินราว 1,600 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้หนี้จากปัญหาขาดทุนสะสมมาหลายปี
เช่นเดียวกับ สื่อใหญ่ค่ายเนชั่น ปิดฉาก 48 ปี หนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษ The Nation พิมพ์ฉบับสุดท้ายวันที่ 28 มิ.ย.2562 จากนั้นเปลี่ยนสู่ช่องทางออนไลน์ เว็บไซต์ nationthailand.com
- สื่อสิ่งพิมพ์ไปอีกหนึ่ง! The Nation เตรียมโบกมือลาแผง 28 มิถุนายนนี้
- ปิดหนังสือพิมพ์ไปแล้ว 2 ไม่พอ! ‘บางกอกโพสต์’ ขายโรงพิมพ์บางนา-สำนักงานคลองเตย ‘จ่ายหนี้’
เดย์ โพเอทส์ ยุติพิมพ์ Hamburger นิตยสารแจกฟรีทุกวันพุธ ฉบับสุดท้าย วันที่ 13-19 มี.ค.2562 ส่วนฟรีก็อปปี้แนวไลฟ์สไตล์ rabbit today เป็นอีกรายที่ปิดตัวฉบับเล่มไปอย่างเงียบๆ สิ้นเดือน พ.ย.2562 หลังเปิดตัวในเดือน มิ.ย.2561 แจกฟรีจันทร์-ศุกร์ บนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส หลังจากนั้นเดือน ก.ค.2562 ปรับเป็นรายสัปดาห์ แจกทุกวันพฤหัสบดี ด้วยยอดพิมพ์ 300,000 ฉบับ กระทั่งปิดฉบับเล่ม แต่ยังไปต่อในโลกออนไลน์
ฟาก นิตยสาร เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ทยอยปิดฉบับเล่มมาต่อเนื่อง ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปี 2562 ถึงคิวรายใหญ่ “อมรินทร์ พริ้นติ้ง” ที่มีนิตยสาร 8 ฉบับ โดยประกาศปิดตัว 2 ฉบับพร้อมกัน คือ สุดสัปดาห์ อายุ 36 ปี ฉบับสุดท้ายเดือน ธ.ค. และ Amarin Baby & Kids อายุ 16 ปี นิตยสารราย 2 เดือน ฉบับสุดท้ายเดือน ต.ค.-พ.ย. โดยทั้ง 2 หัว ปรับตัวสู่สื่อออนไลน์และกิจกรรมเต็มรูปแบบ
ส่งท้ายปี 2562 กับสื่อสิ่งพิมพ์ในเครือมติชน ถึงคิวบอกลาของ “นิตยสารเส้นทางเศรษฐี” ที่ได้เดินมาถึง “ปลายทาง” ของธุรกิจกระดาษสิ่งพิมพ์แล้ว โดยฉบับวันที่ 1 ม.ค. 2563 จะตีพิมพ์เป็นฉบับสุดท้าย นับเป็นปีที่ 25 ของนิตยสารเส้นทางเศรษฐี ที่นำเสนอเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างแรงบันดาลใจ ให้กับผู้ประกอบการทั้งหลาย จากนี้เนื้อหาทั้งหมดได้เปลี่ยนสู่ทางแพลตฟอร์มออนไลน์เต็มรูปแบบ ทั้งเว็บไซต์ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ เพจเฟซบุ๊ก SentangSedtee.matichon และ อินสตาแกรม sentangsedtee ที่ได้ทำคอนเทนท์ออนไลน์มาแล้วอย่างจริงจังมาตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันเพจเฟซบุ๊ก “เส้นทางเศรษฐี” มีผู้ติดตามกว่า 5 แสนราย
ปี 2562 ถือเป็นคิวของสื่อสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่หลายที่ต้องบอกลา “กระดาษ” ปรับตัวสู่โลกออนไลน์ เพราะหากไปดูตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ย้อนหลัง 5 ปี ต้องบอกว่ายังเป็น 2 สื่อที่ “ร่วงหนัก” ระดับ 20-30% ต่อปี และปี 2563 ก็ยังเป็นทิศทางนี้ จึงเป็นสื่อดั้งเดิมที่ยังต้องดิ้นเพื่อหาทางรอดต่อไป!
Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand