หากเอ่ยถึง TikTok แอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียสัญชาติจีนในปัจจุบันคงต้องบอกว่ากลายเป็นแพลตฟอร์มยอดฮิตสำหรับคน Generation ใหม่ที่มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
โดยข้อมูลที่บริษัทเปิดเผยออกมาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2019 พบว่า TikTok มี Active User Monthly หรือคนที่เข้ามาเล่นเป็นประจำทุกเดือนทะลุ 1,500 ล้านคน ส่วน Active User Daily ก็มากไม่แพ้กันที่ 700 ล้านคน แถมใน 10 ประเทศที่ใช้งาน TikTok มากที่สุดในโลกยังเป็นประเทศมหาอำนาจรวมอยู่ด้วย ได้แก่ อินเดีย สหรัฐอเมริกา ตุรกี รัสเซีย เม็กซิโก บราซิล ปากีสถาน ซาอุดิอาระเบีย ฝรั่งเศส และเยอรมนี
เมื่อถามต่อไปว่าใครคือคนที่อยู่เบื้องหลังการก่อตั้ง TikTok เราอาจต้องเอ่ยชื่อ ByteDance สตาร์ทอัพสัญชาติจีนซึ่งมีผู้กุมบังเหียนอย่าง Zhang Yiming มหาเศรษฐีวัย 35 ปี เจ้าของทรัพย์สินมูลค่านับหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และถูกจัดอันดับเป็นคนที่ร่ำรวยที่สุดลำดับที่ 13 ของประเทศ
Zhang Yiming คนที่ Kai-Fu Lee ยกย่อง
Zhang เป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ได้รับการยกย่องจาก Kai-Fu Lee นักเทคโนโลยีระดับโลกว่า เขาคือผู้ประกอบการตัวจริง เพราะใช้เวลาเพียง 7 ปี ByteDance บริษัทที่เขาสร้างขึ้นก็เติบโตอย่างรวดเร็ว อีกทั้ง ByteDance ยังสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่เจาะเข้าไปในตลาดวัยรุ่นได้อย่างที่บริษัทเทคโนโลยีดัง ๆ อย่าง Google, Facebook และ Tencent ไม่สามารถเจาะได้อีกด้วย
อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุผลบางอย่าง ByteDance เลือกที่จะทำการตลาด TikTok เป็น 2 เวอร์ชั่น ได้แก่ แอป TikTok ให้บริการในระดับโลก ส่วนในจีนแผ่นดินใหญ่ ให้บริการภายใต้ชื่อ Douyin ทำให้ทั้งสองแอปต้องแยกการให้บริการกันอย่างเด็ดขาด นั่นคือต่อให้มีแอคเคาน์ TikTok ก็ไม่สามารถมาล็อกอินเข้า Douyin ในจีนแผ่นดินใหญ่ได้
นอกจาก TikTok ปัจจุบัน ByteDance ของ Zhang Yiming มีแอปพลิเคชันตัวหลักที่สร้างรายได้ทั้งสิ้นอีก 3 แอปได้แก่ แอปอ่านข่าว Jinri Toutiao, FlipChat และ Duoshan ซึ่งในการเปิดเผยตัวเลขรายได้เมื่อกลางปี 2019 ที่ผ่านมาพบว่า ByteDance ของ Zhang Yiming สามารถทำรายได้ไปกว่า 50,000 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 113% เลยทีเดียว
ผลจากการเติบโตดังกล่าว ทำให้ส่วนแบ่งตลาดของ ByteDance ในอุตสาหกรรมโฆษณาดิจิทัลเมืองจีนได้ก้าวแซงหน้า Baidu ไปแล้วเรียบร้อย โดยขึ้นมาอยู่อันดับสองของตารางกับส่วนแบ่ง 23% หรือคิดเป็นมูลค่า 50,000 ล้านหยวน (ส่วนเบอร์หนึ่งยังคงเป็น Tencent)
ผู้ก่อตั้งที่อาจไม่ถนัดด้านการเล่าเรื่อง
จากความสำเร็จของ ByteDance ทั้งในเมืองจีนและระดับโลก น่าสนใจว่า Zhang Yiming กลับเป็นบุคคลที่ไม่ค่อยยอมปรากฏตัวกับสื่อมากเท่าไรนัก เมื่อเทียบกับผู้ก่อตั้งในตำนานคนอื่น ๆ อย่าง Jack Ma หรือ Steve Jobs
สิ่งที่รับรู้ได้เกี่ยวกับอดีตของเขาคนนี้ก็คือ Zhang Yiming เกิดในครอบครัวข้าราชการ ในมณฑลฝูเจี้ยน ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน และเขาสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยหนานไค (Nankai University) เมื่อปี 2005 ในสาขา Software Engineering
เป็นพนักงานที่ “รับผิดชอบ – กระตือรือร้น”
ในส่วนของการทำงาน เขาเข้าทำงานใน Kuxun สตาร์ทอัพด้านการจองที่พักออนไลน์ในตำแหน่งวิศวกร และเป็นพนักงานคนแรกของบริษัทด้วย (ที่เหลือเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง) แต่หลังจากนั้นเพียงปีเดียว Zhang ก็กลายเป็นหัวหน้าทีมที่ต้องดูแลพนักงาน 40 – 50 คน
โดยจุดเด่นของเขาก็คือ Zhang มักเป็นคนแรก ๆ ที่กระตือรือร้นลงไปแก้ไขหากซอฟต์แวร์ของบริษัทเกิดขัดข้องขึ้นมา แม้ว่าคนอื่น ๆ ในทีมจะบอกว่าไม่ใช่หน้าที่ของเขาแล้วก็ตาม แต่เขามองว่า ความรับผิดชอบ ความอยากแก้ไขสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้น จะเป็นตัวนำเขาไปสู่โอกาสใหม่ ๆ รวมถึงสร้างประสบการณ์ให้กับตัวเขาเองด้วย
นอกจากทักษะด้านการดูแลทีมงานเทคโนโลยีหลังบ้านแล้ว ในปี 2007 เขายังได้ติดตามผู้อำนวยการฝ่ายขายออกไปพบปะกับลูกค้าภายนอกบริษัทด้วย ซึ่ง Zhang บอกว่า เป็นการสอนให้เขารู้จักแยกแยะพนักงานขายว่าคนไหนคือพนักงานขายที่ดีได้เลยทีเดียว
เป็นเจ้าของต้องเข้าใจผู้ใช้บริการ
จากการสั่งสมประสบการณ์นานหลายปี สุดท้ายแล้วมันก็นำ Zhang ไปสู่การก่อตั้งบริษัท ByteDance ในที่สุด แถมการมี TikTok ยังทำให้ Zhang ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่างเต็มตัว หลังจากที่ก่อนหน้านี้สื่อหลายสำนักให้ความเห็นว่า เขาไม่ค่อยอยากมีตัวตนบนโลกดิจิทัลมากนัก
โดยทางทีมบริหารมีการกำหนดให้ผู้บริหารของบริษัทต้องเข้าไปสร้างคลิปวิดีโอสั้นของตัวเอง รวมถึงต้องได้ยอด Like กลับมาตามที่กำหนดด้วย ซึ่ง Zhang ก็สามารถทำได้ พร้อมเหตุผลที่น่าสนใจ นั่นคือการบอกว่า เขาควรจะเข้าไปศึกษาประสบการณ์การใช้โปรดักท์ด้วยตัวเอง เพื่อจะได้ทำความเข้าใจผู้ใช้งานเวลาเข้ามาเล่น TikTok หรือ Douyin ได้ดียิ่งขึ้น
การเติบโตของ TikTok ยังทำให้การระดมทุนรอบล่าสุดของ ByteDance ผ่านฉลุยกับยอดเงิน 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และทำให้มูลค่าของบริษัทแม่อย่าง ByteDance พุ่งทะยานขึ้นแตะ 75,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย VC ที่ควักเงินในรอบนี้มีทั้ง General Atlantic, SoftBank, KKR & Co และ Primavera Capital Group
แต่ไม่จบเพียงแค่นั้น เพราะ ByteDance ยืนยันแล้วว่ามีแผนจะเปิดตัวสมาร์ทโฟนของตัวเอง โดยคาดว่าจะได้เห็นโฉมหน้ากันในช่วงสิ้นปี 2019 นี้ด้วย ซึ่งความพิเศษของสมาร์ทโฟนที่เปิดเผยออกมาคือ จะมีอินเทอร์เฟสพิเศษที่ทำให้เปิดเข้าแอปพลิเคชันของ TikTok ได้อย่างสะดวกมาก ๆ เลยนั่นเอง
เส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
แต่น่าเสียดายที่เส้นทางของ ByteDance ของ Zhang Yiming ไม่ได้สดใสตลอดไป เนื่องจากตอนนี้บริษัทลูกอย่าง TikTok กำลังเจอขวากหนามครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกากับประเด็นเรื่อง Data Privacy เมื่อหน่วยงานด้านการตรวจสอบของสหรัฐอเมริกามีการอ้างว่า TikTok นั้นกำลังลักลอบส่งข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานกลับไปที่จีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้ทางคณะกรรมการด้านการลงทุนจากต่างชาติ หรือ The Committee on Foreign Investment in the United States (CFIUS) มีการเชิญ Alex Zhu ซีอีโอของ TikTok เข้าพบอย่างเป็นทางการในสัปดาห์หน้าด้วย
ไม่เฉพาะประเด็นเรื่องข้อมูลส่วนตัวที่ทำให้หน่วยงานในสหรัฐอเมริกาตั้งคำถาม แต่ยังมีเรื่องของการเซนเซอร์คอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสมบางอย่างออกจากแพลตฟอร์มด้วย หลังมีเหตุการณ์ว่า ผู้ใช้งาน TikTok วัย 17 ปีคนหนึ่งในรัฐนิวเจอร์ซีอ้างว่า เธอถูกแบนออกจากระบบหลังจากที่เธอโพสต์วิดีโอเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์ของรัฐบาลจีนบนแพลตฟอร์มดังกล่าว ด้าน TikTok มีการชี้แจงแต่เพียงว่า ผู้ใช้งานรายนั้นถูกแบนเพราะการโพสต์ก่อนหน้าซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการก่อการร้ายต่างหาก
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ Alex Zhu ให้สัมภาษณ์เอาไว้ก็คือการปฏิเสธว่า บริษัทแม่อย่าง ByteDance ไม่มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งานในสหรัฐอเมริกาแต่อย่างใด และเซิร์ฟเวอร์ที่เก็บข้อมูลของผู้ใช้ทั่วโลกนั้นก็อยู่ในรัฐเวอร์จิเนีย ส่วนตัวแบ็กอัพก็อยู่ในสิงคโปร์ และเขายังบอกด้วยว่า สำหรับความกังวลว่า TikTok จะเซนเซอร์คอนเทนต์บางอย่างเพื่อเอาใจรัฐบาลจีนนั้นก็ขอให้วางใจได้ เพราะไม่เคยเกิดขึ้น หรือถ้าหากมันเกิดขึ้นจริง เขาก็จะลาออกจากบริษัทเพื่อแสดงจุดยืน ส่วน Zhang นั้นไม่มีรายงานว่าเขาแสดงความคิดเห็นอย่างไรต่อเหตุการณ์ดังกล่าว
สำหรับ Zhang นี่อาจไม่ใช่ความท้าทายเดียวที่เขาต้องเผชิญ เพราะเขาเองตระหนักดีว่ายังมีงานอีกมากมายที่ต้องทำให้สำเร็จหากต้องการก้าวขึ้นไปเป็นแพลตฟอร์มระดับโลก โดยเขาได้ยกตัวอย่าง Google ว่าสามารถกลายเป็นบริษัทที่ทำงานได้แบบไร้พรมแดน และเขาก็หวังว่าบริษัทของเขาจะเป็นได้เช่นนั้นบ้างในสักวันหนึ่ง
“ผู้ประกอบการจีนต้องพัฒนาศักยภาพของตัวเองให้มากขึ้น – ดีขึ้นกว่านี้หากต้องการจะก้าวไปแข่งขันในระดับโลก” Zhang กล่าวทิ้งท้าย