HomeDigital12 เทรนด์ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทย บน​ Landscape ที่เปลี่ยนไป ในปี 2020

12 เทรนด์ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทย บน​ Landscape ที่เปลี่ยนไป ในปี 2020

แชร์ :

การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ตามข้อมูลของ ETDA ที่สำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศในปี 2561 พบว่ามีมูลค่ากว่า 3.15 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ที่มีมูลค่า 2.76 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้นกว่า 14% โดยคาดการณ์แนวโน้มตลาดยังคงเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากหลายๆ ปัจจัยที่เข้ามาขับเคลื่อนการเติบโต โดยเฉพาะพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยน​ และความสามารถในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้มากขึ้น ส่งผลให้ทั้งจำนวนผู้ซื้อและผู้ขายในธุรกิจอีคอมเมิร์ซของไทยเติบโตเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน   

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โดยพบว่าในทุกเซ็กเตอร์ธุรกิจทั้ง B2B (Business to Business), B2C (Business to Consumer) และ B2G (Business to Government) ต่างเติบโตอย่างถ้วนหน้า โดยเฉพาะกลุ่ม B2C ที่การเติบโตในกลุ่มนี้ของประเทศไทย สูงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 1.6 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ยังพบว่ากลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตในฟากของอีคอมเมิร์ซสูงที่สุด ได้แก่ กลุ่มห้างสรรพสินค้า ที่มีมูลค่ากว่า 3.5 แสนล้านบาท ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท และกลุ่มเครื่องสำอางและความงาม มูลค่ากว่า 1.5 แสนล้านบาท

การเติบโตอย่างสูงในธุรกิจนี้​ นำมาซึ่งโอกาสใหม่ๆ ​สำหรับผู้ที่มองเห็นและสามารถปรับตัวให้สอดคล้องไปกับ Landscape ​ที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างรวดเร็ว โดย คุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ CEO and Founder Tarad Dot Com Group สรุปไว้ในงานสัมมนา “E-commerce Trends 2020” โดยธนาคารกรุงเทพ กล่าวถึงเทรนด์ที่น่าสนใจในปีนี้ สำหรับตลาดอีคอมเมิร์ซประเทศไทย จะเกิดความเปลี่ยนแปลงหลักๆ 12 เรื่อง ต่อไปนี้  ​

คุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ในงาน E-Commerce Trend 2020 โดยธนาคารกรุงเทพ Credit : Twitter Bangkok Bank SME

1. ปีที่เริ่มทำรายได้ของกลุ่ม JSL Marketplace

JSL คือ BIG 3 ในกลุ่มอีคอมเมิร์ซ มาร์เก็ตเพลส ได้แก่ JD Central, Shopee และ Lazada ที่หลังจากเอาใจผู้บริโภคด้วยการทุ่มเงินเพื่อแจกโปรโมชั่น ส่วนลด รวมทั้งการให้บริการต่างๆ ในฝั่งผู้ขายโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อการสร้างสเกลของแพลตฟอร์มได้อย่างรวดเร็วและทำให้ลูกค้าติด จนกระทั่งทั้งผู้ซื้อและผู้ขายเริ่มคุ้นเคยและเปลี่ยนพฤติกรรมมาซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้นแล้ว​ หลังจากนี้จะเข้าสู่ช่วงเวลาที่แพลตฟอร์มต่างๆ เหล่านี้จะเริ่มนำโมเดลสำหรับการหารายได้เข้ามาใช้ สิ่งต่างๆ ที่เคยบริการให้แบบฟรีๆ ก็จะค่อยๆ เริ่มคิดเงิน หรือเพิ่มค่าบริการต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ขายทั้งหลายที่อยู่บนแพลตฟอร์ม ถ้ายังต้องการรักษาฐานลูกค้าที่อยู่ในแพลตฟอร์มเอาไว้ ก็จำเป็นต้องจ่ายค่าบริการเพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้เช่นเดิม ทำให้พ่อค้าแม่ค้าที่อยู่บนมาร์เก็ตเพลสเหล่านี้จะเริ่มมีต้นทุนเพิ่มมากขึ้น

2. สงคราม E-Wallet แข่งกันดึงเงินลงกระเป๋า

เป็นอีกหนึ่งสงครามที่ดุเดือด สำหรับสนามกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Wallet โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย พบ Transaction ของการโอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 473 ล้านรายการ รวมเป็นเงินกว่า 6.7 หมื่นล้านบาท โดยผู้ประกอบการในตลาดนี้ ทั้งกลุ่ม Bank และ Non-bank ต่างพยายามทำให้แอปหรือแพลตฟอร์มของตัวเองกลายเป็น Super App หรือ Everday App ที่ทำหน้าที่ได้มากกว่าแค่การจ่ายเงิน หรือทำธุรกรรมทางการเงิน แต่เป็นแอพที่ทุกคนเข้ามาใช้งานได้ทุกวัน แต่ละรายจึงพยายามหาพาร์ทเนอร์เพื่อเพิ่มความสามารถในการใช้งานบนแพลตฟอร์มของตัวเอง เพราะ คนสุดท้ายที่ชนะในเกมนี้ นอกจากจำนวนเงินที่จะเติมเข้ามาในกระเป๋าแล้ว ยังหมายถึงจำนวนข้อมูลมหาศาลที่เกิดขึ้นจากการใช้จ่ายของลูกค้า ก็จะหลั่งไหลมากองอยู่ที่แพลตฟอร์มของตัวเองด้วยเช่นกัน

3. สงครามบริษัทส่งสินค้า (E-Logistic) 

เป็นอีกสงครามที่คาดว่าจะปะทุหนักในปีนี้ จากผู้ประกอบการในตลาดทั้งของไทยและบริษัทต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่หรือเล็ก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการมาร์เก็ตเพลสแพลตฟอร์ม ที่ต่างพยายามลงทุนเรื่อง E-Logistics เพื่อเสริมความแข็งแรงด้านโครงสร้างพื้นฐานและเป็นอีกหนึ่งแต้มต่อในการทำธุรกิจ​

4. บริการเก็บ แพ็ค ส่ง (fulfillment) จะเติบโต

การขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ นอกจากทำให้ธุรกิจขนส่งเติบโตแล้ว ยังทำให้ธุรกิจต่อเนื่องอย่างการเก็บ การแพ็ค เพื่อเตรียมส่งเติบโตไปด้วย เพราะการเติบโตของจำนวนออเดอร์ที่มากขึ้น หากผู้ขายต้องจัดการเรื่องเหล่านี้เอง ทำให้เสียเวลาค่อนข้างมาก จึงเกิดเป็นโอกาสในการช่วยบริหารจัดการธุรกิจด้าน​ Fulfillment ขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เพราะต้นทุนในการให้บริการไม่แพง รวมทั้งยังประหยัดพื้นที่ในการสต๊อกสินค้า สำหรับผู้ค้ารายย่อยที่มีพื้นที่จำกัด รวมทั้งไม่จำเป็นต้องจ้างแรงงานประจำเพิ่มเติม ทำให้ช่วยคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ดีมากขึ้นด้วย โดยมาร์เก็ตเพลสใหญ่ๆ เริ่มเปิดบริการลักษณะนี้ สำหรับร้านค้าบนแพลตฟอร์มของตัวเองแล้ว ซึ่ง Fulfillment เป็นหนึ่งกุญแจสำคัญที่ทำให้อีคอมเมิร์ซที่เริ่มมีออเดอร์มากขึ้นแล้วโตได้เร็วขึ้น

5. แบรนด์กระโดดเข้าสู่ออนไลน์อย่างต่อเนื่อง

เมื่อช่องทางออนไลน์เริ่มเปิดกว้าง รวมทั้งมาร์เก็ตเพลสต่างๆ เริ่มสร้างมอลล์ของตัวเองขึ้นมา เพื่อเปิดโอกาสให้บรรดาแบรนด์​สามารถเข้ามาเปิดร้านขายของ​ให้กับผู้บริโภคได้เองโดยตรง โดยไม่ต้องพึ่งดีลเลอร์หรือตัวแทนแบบที่ผ่านมา เพราะมาร์จิ้นที่ดีมากกว่าการขายผ่านตัวกลาง จึงสามารถนำส่วนต่างมาทำตลาด ทำโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลูกค้าได้มากขึ้น

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลกระทบไปยังผู้ที่เคยเป็นตัวกลางจะเริ่มลำบาก เพราะแบรนด์เลือกที่จะขายเอง นอกจากกำไรที่ดีขึ้นแล้วยังได้ข้อมูลผู้บริโภคกลับมาด้วย ซึ่งรูปแบบการขายผ่านตัวกลางแบบที่ผ่านมาแบรนด์ไม่เคยได้สิ่งเหล่านี้มาก่อน ในปีนี้จะเห้นแนวโน้มที่มาร์เก็ตเพลสต่างๆ เริ่มนำพื้นที่ไปเสนอให้กับแบรนด์ต่างๆ เพื่อมาทำตลาดเองโดยตรงเพิ่มมากขึ้น และเป็นสัญญาณอันตรายสำหรับธุรกิจที่เคยเป็นตัวกลางต่างๆ ​เพราะอาจเกิดปัญหา Sub-Channel Conflic เมื่อแบรนด์​ที่เคยเป็นลูกค้า เคยส่งสินค้าให้ตัวแทน กลายมาเป็นคนขายของแข่งกับตัวแทนต่างๆ เหล่านี้เสียเอง ซึ่งจากนี้ไปคาดว่าสถานการณ์เหล่านี้จะรุนแรงมากขึ้น และจะเริ่มเห็นบางแบรนด์ทำสินค้าเอ็กคลูซีฟเฉพาะที่ต้องซื้อตรงกับแบรนด์เท่านั้น ไม่สามารถหาซื้อจากตัวแทนรายใดๆ หรือจากช่องทางอื่นได้ ​ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเริ่มตัดตอนพ่อค้าคนกลางออกไปจากระบบ

6. การข้ามประเทศ (Cross Border) เติบโตอย่างก้าวกระโดด

แม้อีคอมเมิร์ซจะกลายเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดไปต่างประเทศได้สะดวกขึ้น แต่อีกฟากหนึ่งก็เปิดโอกาสให้สินค้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะจีนเข้ามาตีตลาดในประเทศได้มากขึ้นด้วย เพราะมีศักยภาพในการทำต้นทุนให้ต่ำและขายได้ในราคาถูก

ซึ่งตัวเลขการเติบโตของสินค้าที่วางขายจาก 3 มาร์เก็ตเพลสหลักๆ ของไทย พบว่าจำนวนสินค้าของผู้ประกอบการไทยปี 2019 เติบโตจาก 15 ล้านชิ้น เป็น 39 ล้านชิ้น ขณะที่สินค้าของผู้ประกอบการต่างประเทศ มีการเติบโตจาก 60 ล้านชิ้น เป็น 135 ล้านชิ้น รวมทั้งเมื่อประเมินความสามารถในการขาย พบว่า สินค้า 39 ล้านชิ้น มาจากผู้ประกอบการไทยกว่าล้านคน ขณะที่สินค้าจีนที่มีสูงถึง 135 ล้านชิ้น แต่มาจากผู้ประกอบการราวๆ 8 หมื่นกว่าคนเท่านั้น สะท้อนว่า สินค้าจากจีนไม่ได้เข้ามาทีละเล็ก ทีละน้อย แต่ไหลทะลักเข้ามาเป็นกองทัพ รวมท้ังราคาขายต่อชิ้นที่เมื่อหารเฉลี่ยออกมาแล้วพบว่า ขายถูกกว่าไทยเป็นเท่าตัว ซึ่งในอนาคตเป็นไปได้ว่าหลายๆ หมวดสินค้าจากจีนจะเข้ามาทดแทนสินค้าไทย

ขณะที่มาร์เก็ตเพลสก็ต้องพยายามดึงลูกค้าไว้ที่แพลตฟอร์มตัวเอง ด้วยการหาสินค้าที่หลากหลายทั้งจากไทยและต่างประเทศเพื่อสร้างจุดขายให้กับแพลตฟอร์มของตัวเอง ทำให้จะยิ่งมีสินค้าต่างประเทศไหลเพิ่มเข้ามาจำนวนมาก​ เป็นอีกหนึ่งสัญญาณอันตรายที่ไม่อาจมองข้ามไปได้เช่นเดียวกัน

ส่วนสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการขยายตลาดไปต่างประเทศ จำเป็นต้องไปจดลิขสิทธิ์แบรนด์ โลโก้ เครื่องหมายการค้า หรือตราสัญลักษณ์ต่างๆ ให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องของการแอบอ้างลิขสิทธิ์ทางการค้าและนำมาซึ่งปัญหาในการทำธุรกิจในอนาคตได้

7.​ Social Commerce โตทะลุ พร้อมโฆษณาทาง Social Ads

ช่องทางหลักที่ผู้ประกอบการคนไทยใช้ในการขายของยังคงเป็นโซเชียลคอมเมิร์ซ ซึ่งมีมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท ขณะที่การขายผ่านมาร์เก็ตเพลสอยู่ที่ราวๆ กว่าแสนล้านบาท แต่ในอนาคตมาร์เก็ตเพลสจะเริ่มดึงสินค้าบางกลุ่มเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มของตัวเองได้มากขึ้น ซึ่งทางโซเชียลคอมเมิร์ซก็เริ่มปรับตัวมากขึ้น เช่น การเปิดฟีเจอร์อีคอมเมิร์ซอย่างเต็มรูปแบบ การเพิ่มบริการ เพิ่มเครื่องมือที่เอื้อให้สามารถขายของได้สะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะแบรนด์ใหม่ๆ ที่ยังไม่มีฐานลูกค้าของตัวเอง ก็สามารถเข้าไป​สร้างลูกค้าจากห้องต่างๆ บนโซเชียลมีเดียได้ รวมทั้งจะเริ่มเห็นอาชีพใหม่ที่เรียกว่า “นักยิงแอด” เกิดขึ้น โดยเน้นการยิงโฆษณาบนโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มเป็นหลัก

8. Live & Conversational Commerce การค้าแบบไลฟ์สด +แชท

พฤติกรรมผู้บริโภคปัจจุบันที่ชอบดูไลฟ์ และชอบแชทมากขึ้น ทำให้มองเห็นเทรนด์ของคนที่ชอบ “Live ขายของ” เติบโตอย่างมาก และเห็นพัฒนาการของแพลตฟอร์มที่มีเซอร์วิสมาช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถ Live ขายของได้สะดวกขึ้น และพิสูจน์ได้ว่าการ Live เป็นวิธีการขายที่ดี เพราะเป็นการสื่อสาร​โต้ตอบ รวมท้ังโน้มน้าวการซื้อของลูกค้าได้ ต่างจาก​การขายบนเว็บไซต์ที่เป็นการสื่อสารทางเดียว และไม่สามารถรู้ฟีดแบ็คลูกค้าได้

ขณะเดียวกันหลายแพลตฟอร์มก็เริ่มหันมาทำเครื่องมือในการไลฟ์ขายของเช่นกัน เพื่อแข่งขันกับการไลฟ์ผ่านโซเชียลมีเดีย แต่การไลฟ์ในโซเชียลมีเดียจะได้เปรียบมากกว่า เพราะสามารถเข้าถึงผู้ติดตามได้ทันที โดยเฉพาะเพจที่มีคนติดตามจำนวนมาก แต่หากไปไลฟ์บนแพลตฟอร์มอื่นๆ ซึ่งบางครั้งไม่มีคนตาม ทำให้ยอดคนที่จะเข้ามาดู หรือมีโอกาสได้ลูกค้าก็จะน้อยลงด้วยเช่นกัน ทำให้อาจต้องมีต้นทุนในการทำตลาดเพื่อดึงคนเข้ามาดูเพิ่มเติมขึ้นมาอีก

สำหรับเทคนิคในการ Live ให้ได้ผล เช่น

– ต้องมีคาแรคเตอร์ชัดเจน เพื่อให้โดดเด่น และคนจดจำ
– วางแผนล่วงหน้า มีสคริป มีธีม มีการเรียงลำดับเรื่องราว
– มีเวลาในการออกอากาศที่ชัดเจน เพื่อให้คนรอติดตาม โดยช่วงเวลาที่ดีในการ Live คือ 20.00 -22.00 น.  เพราะคนเข้ามาอยู่ในโซเชียลมาก แต่ขึ้นอยู่กับทาร์เก็ตว่าเป็นใครด้วย
– เนื้อหาในการไลฟ์ต้องน่าสนใจ
– มีการอธิบายรายละเอียดสินค้า วางสินค้าไว้ให้เห็นได้ในฉาก
– การทักทายผู้ชม หรือตอบคำถามที่คนดูถาม เพื่อสร้าง Engagement กับผู้ชม
– มีโปรโมชั่นในการดึงดูดให้รีบตัดสินใจซื้อ หรือให้ช่วยแชร์
– กระตุ้นให้คนรู้สึกว่าถึงไม่ได้ใช้เอง ก็สามารถฝากซื้อให้คนอื่นได้

9. ข้อมูล E-Commerce นำไปสู่ธุรกิจอื่นๆ อีกมากมาย

เพราะเมื่อเราทำอีคอมเมิร์ซ เราจะได้ข้อมูลจำนวนมาก ทั้งข้อมูลคนซื้อ ข้อมูลคนขาย พฤติกรรมต่างๆ ของลูกค้า ซึ่งแน่นอนว่าการทำธุรกิจในยุคนี้ คนที่มีข้อมูลอยู่ในมือจำนวนมากย่อมมีความได้เปรียบ และสามารถต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ในอนาคตได้

10. ยุครุ่งโรจน์ของ E-Commerce เฉพาะทาง (Vertical E-Commerce)

อีกหนึ่งโอกาสในสมรภูมิอีคอมเมิร์ซที่กำลังแข่งกันดุเดือด โดยที่ไม่ต้องไปชนกับบรรดามาร์เก็ตเพลสยักษ์ใหญ่ที่มีเงินทุ่มตลาดเป็นหมื่นล้าน คือ การเลือกมาทำอีคอมเมิร์ซแบบเฉพาะทาง หรือ Verticle E-Commrece เช่น การเลือกโฟกัสในสินค้าเซ็กเม้นต์เดียวไปเลย เพราะการจับตลาดเฉพาะจะทำให้เราเข้าใจและเชี่ยวชาญในตลาดนั้นๆ ได้ดี และโดดเด่นขึ้นมาได้ กลายเป็นแหล่งรวมคนเก่งที่ถนัดเรื่องเดียวกันไว้ด้วยกัน ทำให้เป็นที่รู้จักและมีโอกาสที่จะเติบโตได้ในตลาดแนวดิ่ง

นอกจากนี้ จะเริ่มเห็นโมเดลอีคอมเมิร์ซรูปแบบใหม่ๆ ​จากจีน เข้ามาในไทยมากขึ้น เช่น รูปแบบ Group Buying ที่สร้างรายได้จากการแชร์ เมื่อคนที่เห็นแชร์แล้วซื้อ หรือเกิดการแชร์ต่อไปเรื่อยๆ แบรนด์ก็จะให้คอมมิชชั่นจากยอดขายที่ได้จากการแชร์เหล่านี้กลับมาให้คนที่แชร์ ทำให้เริ่มมีคนมาทดลองซื้อผ่านช่องทางเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น

11. Omni channel ทุกช่องทางประสานเข้าด้วยกัน

การผสมผสานทุกแพลตฟอร์มที่มีอยู่ทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ ให้เชื่อมต่อกัน และสามารถสั่งซื้อได้จากทุกช่องทาง รวมทั้งยกระดับการให้บริการ หรือการจัดส่งสินค้าอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ประสิทธิภาพโดยรวมดีขึ้น ​พยายามมองทุกช่องทางที่มีให้เป็นช่องทางเดียวกัน แต่รองรับกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกันได้

12. กฎหมายด้านดิจิทัลที่มาครบชุด

ปี 2020 นี้ กฏหมายที่เกี่ยวกับดิจิทัลทั้ง 6 ฉบับ คาดว่าจะมีการประกาศใช้อย่างครบชุด ทำให้ E-Commerce Ecosystem จะเริ่มมีการควบคุมอย่างเป็นระบบระเบียบมากขึ้น ​หรือมีแนวทางในการจัดเก็บภาษีต่างๆ รัดกุมมากขึ้น ซึ่งกฏหมายทั้ง 6 ฉบับ ประกอบไปด้วย

– พ.ร.บ. ภาษีอีเพย์เมนต์

– พ.ร.บ. ภาษี E-Business (On Process)

– พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกิรรมทางอิเล็กทรอนกิส์

– พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

– พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

– พ.ร.บ. ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like