HomeBrand Move !!จากปมยื่นซองช้า 9 นาที CP พลิก “ชนะ” กลับสู่สนามประมูล “อู่ตะเภา” 2.9 แสนล้าน ได้อย่างไร!

จากปมยื่นซองช้า 9 นาที CP พลิก “ชนะ” กลับสู่สนามประมูล “อู่ตะเภา” 2.9 แสนล้าน ได้อย่างไร!

แชร์ :

ศึกประมูลชิงโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกมูลค่า 2.9 แสนล้าน ของกองทัพเรือ เรียกว่าเป็นสถานการณ์ “พลิกผัน” ของหนึ่งในผู้เข้าร่วมประมูลรายสำคัญ CP ตลอดเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา จาก “ผู้แพ้” ในยกแรกกับข้อกังขา “ปัญหาจราจร” ยื่นซองช้าไป 9 นาที ท้ายสุดพลิกกลับมา “ชนะ” เข้าสู่สนามการประมูลอีกครั้ง! มีที่มาอย่างไร?

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

มาดู “ไทม์ไลน์” โครงการประมูลพัฒนาเมืองการบินและสนามบินอู่ตะเภา มูลค่า 2.9 แสนล้านบาท ของกองทัพเรือ เพื่อคัดเลือกเอกชนเข้ารับสัมปทานพัฒนาโครงการระยะเวลา 50 ปี กันก่อน

วันที่ 21  มี.ค. 2562  กองทัพเรือเจ้าของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เปิดให้เอกชน ยื่นซองข้อเสนอร่วมประมูลพัฒนาโครงการมูลค่า 2.9 แสนล้านบาท ที่กองบัญชาการกองทัพเรือ  กำหนดเวลายื่นซองระหว่าง 9.00-15.00 น. โดยมีเอกชนยื่นซอง 3 ราย ได้แก่

1.CP หรือ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในนามกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัทธนโฮลดิ้งจำกัดและพันธมิตร

2.กลุ่ม BTS จับมือ บางกอกแอร์เวย์ส ในนามกลุ่มกิจการร่วมค่า BBS

3.กลุ่มแกรนด์ แอสเสท ในนามกลุ่มแกรนด์ คอนซอร์เทียม

credit photo CP E-News

– วันยื่นซอง กลุ่ม CP ต้องการยื่นเอกสาร 11 กล่อง โดยมาถึงสถานที่ยื่นซองรายแรกลงทะเบียน เวลา 12.21 น. โดยยื่นข้อเสนอซองไม่ปิดผนึกก่อน และ 13.52 น. ได้ยื่นซองข้อเสนออีก 8 กล่อง เมื่อครบเวลา 15.00 น. ยังขาดอีก 2 กล่อง คือ  กล่องที่ 6 (ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ) และกล่องที่ 9 (ซองที่ 3 ข้อเสนอด้านราคา) โดยทั้ง 2 ซองมายื่นในเวลา 15.09 น. หรือยื่นช้ากว่าเวลาที่เปิดรับซองไป 9  นาที  สาเหตุจากการจราจรติดขัด คณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (คณะกรรมการฯ) จึงไม่รับพิจารณาเอกสาร 2 ซองที่มายื่นล่าช้า

–  ส่วนกลุ่ม BTS มาถึงเวลา 12.59 น. ยื่นเอกสารเวลา 14.21 น.  และกลุ่มแกรนด์ แอสเสท มาถึงเวลา 13.19 น. ยื่นเอกสารเวลา 14.10 น.

– 1 พ.ค. 2562  กลุ่ม CP ใช้สิทธิยื่นฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) ให้เพิกถอนมติคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่ไม่รับข้อเสนอกล่องที่ 6 และ กล่องที่ 9 ที่ยื่นช้าไป 9 นาที และขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา

– 21 ส.ค. 2562 ศาลปกครองชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง หรือ CP แพ้ยกแรก เพราะเห็นว่ามติคณะกรรมการคัดเลือกฯ ทำถูกต้องแล้ว

– 12 ก.ย. 2562 กลุ่ม CP ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

– 10 ม.ค. 2563 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษา “กลับคำ” พิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ “เพิกถอน” มติคณะกรรมการฯ ที่ไม่รับซองประมูลบางส่วนของกลุ่ม CP  ซึ่งก็คือให้กลุ่ม CP ชนะในคดีนี้

Credit Photo : www.admincourt.go.th

สาระสำคัญการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ที่พิพากษาให้ CP ชนะคดีนี้

1. ประเด็นที่พิจารณา คือ คณะกรรมการฯ ไม่รับซองข้อเสนอ กล่องที่ 6 (ข้อเสนอทางเทคนิคและแผนธุรกิจ) และซองข้อเสนอกล่องที่ 9 (ราคา) ของกลุ่ม CP เนื่องจากมายื่นซองช้ากว่าเวลาที่กำหนดไป 9 นาที

–  ข้อเท็จจริงในคดีนี้ คือ กลุ่ม CP ได้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอแล้วโดยการลงทะเบียนในเวลาที่กำหนด (ลงทะเบียน 12.20 น.) และไม่ใช่ปัญหาว่ากลุ่ม CP ได้ยื่นข้อเสนอเมื่อพ้นกำหนดเวลาปิดรับซองข้อเสนอ เพราะขณะที่กลุ่ม CP ลงทะเบียน ได้นำกล่องไม่ปิดผนึก (กล่องศูนย์) 1 กล่อง มาด้วย และทยอยนำเอกสารซองข้อเสนอฉบับจริง 8 กล่อง พร้อมฉบับสำเนา มายื่นข้อเสนอแล้วก่อนเวลา 15.00 น. หลังจากนั้นมีกระบวนการเข้ายื่นและตรวจรับข้อเสนอผู้ยื่นประมูลที่ละราย

2. ประเด็นการยื่นข้อเสนอกล่องที่ 6 และ 9 ของกลุ่ม CP  มีการขนผ่านจุดลงทะเบียนหลังเวลา 15.00 น. หรือ ช้ากว่ากำหนดไป 9 นาที ทำให้คณะกรรมการฯ ไม่รับซองข้อเสนอนั้น

– ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่ากระบวนการ ยื่นข้อเสนอครั้งนี้กำหนดไว้ในวันที่ 21 มี.ค.2562 เวลา 9.00-15.00 น. เริ่มจากการลงทะเบียนแสดงตนของผู้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอประมูล จากนั้นเป็นขั้นตอน ยื่นข้อเสนอ และตรวจรับซองข้อเสนอทีละราย กระบวนการนี้เริ่มเวลา 15.00 น. จบ 18.00 น. ซึ่งมีการยื่นและรับซองของ “ทุกราย”

–  ตามเอกสารกำหนดให้ลง “เวลาที่มายื่น/ลงทะเบียน” เป็นเวลาสำคัญ โดยกำหนดเวลาตามที่ระบุไว้ในเอกสารการคัดเลือกก็ต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับกระบวนการยื่นข้อเสนอตามที่เกิดขึ้นจริง เช่น  กรณี กำหนดเวลาเปิดซองที่ 1 คุณสมบัติทั่วไป  กำหนดไว้วันที่ 21 มี.ค.2562 เวลา 16.00 น. แต่ข้อเท็จจริงพบว่าได้เลือกกำหนดเปิดซองที่ 1 ออกไป เพราะมีเอกสารจำนวนมากที่ต้องตรวจสอบ

– จากข้อนี้เห็นได้ว่า แม้มีข้อกำหนดตามเอกสาร และกำหนดเวลาดำเนินการต่างๆ ไว้แล้ว แต่ไม่สอดคล้องกับกระบวนการยื่นและรับข้อเสนอตามที่ปฏิบัติจริง

– สำหรับเอกสารข้อเสนอกล่องที่ 6 ของกลุ่ม CP เป็นส่วนหนึ่งของเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 จำนวน 4 กล่อง  ส่วนเอกสารข้อเสนอกล่องที่ 9 เป็นเอกสารข้อเสนอซองที่ 3 ซึ่งเอกสารทั้ง 2 กล่อง (กล่องที่ 6 และ 9 ที่มาช้า 9 นาที) เป็นเอกสารส่วนหนึ่งของเอกสารซองข้อเสนอฉบับจริง จำนวน 10 กล่อง (ไม่รวมซองศูนย์) และเป็นเอกสารที่ได้กำหนดลำดับเลขของกล่องไว้แล้วล่วงหน้าชัดเจน คือ กล่องหมายเลข คือ 1/10,2/10,3/10,4/10,5/10,7/10,8/10 และ 10/10   โดยเอกสารทุกกล่อง ยกเว้น กล่องที่ 6 และ 9 ได้ขนมาถึงก่อนเวลา 15.00 น. ต่อมามีการตรวจรับซองข้อเสนอของแต่ละราย และเก็บไว้ที่ห้อง Navy Club

– อีกสาระสำคัญคือ ข้อเสนอซองที่ 2 ด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ และซองที่ 3 ข้อเสนอราคา ที่คณะกรรมการฯ ปฏิเสธไม่รับพิจารณา (เอกสาร 2 กล่องที่กลุ่ม CP ส่งช้า 9 นาที) “ไม่ใช่”เอกสารที่มีข้อกำหนดให้เปิดซองในวันและเวลาที่ยื่นซอง (21 มี.ค.2562) ทำให้ไม่มีน้ำหนักที่จะทำให้คณะกรรมการฯ  สงสัยว่า สาเหตุที่กลุ่ม CP ยื่นเอกสารกล่องที่ 6 และ 9  มาถึงจุดลงทะเบียนหลัง 15.00 น. เกิดจากกลุ่ม CP ได้ล่วงรู้ข้อเสนอของรายอื่น หรือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่ม CP หรือเอาเปรียบรายอื่น

3. สาระสำคัญในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด

–  พิจารณาว่ากระบวนการยื่นข้อเสนอ อยู่ที่ “การแสดงตนเป็นผู้ยื่นข้อเสนอ”  และหลังจากนั้น จะเป็นการนำข้อเสนอทั้งหมดยื่นและส่งมอบให้คณะกรรมการฯฝ่ายรัฐ นำข้อเสนอของแต่ละรายไปพิจารณาในเวลาต่อไป โดยการเปิดซองข้อเสนอแต่ละซองของแต่ละรายพร้อมกันวันเวลาเดียวกัน ที่จะกำหนดและแจ้งให้ทราบต่อไปอีกครั้ง

– ดังนั้นเอกสารข้อเสนอของกลุ่ม CP กล่องที่ 6 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจที่มีจำนวน 4 กล่อง และกล่องที่ 9 ซึ่งเป็นซองที่ 3 ข้อเสนอราคา ซึ่งได้ขนผ่านจุดลงทะเบียน เวลา 15.09 นาที  จึง “ไม่อาจถือได้ว่าเป็นข้อบกพร่องหรือปฏิบัติไม่ถูกต้อง” ถึงขนาดมีผลกระทบต่อการดำเนินโครงการร่วมลงทุนครั้งนี้

4. คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด

– พิจารณาเห็นว่าการที่คณะกรรมการฯ มีมติ “ไม่รับซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ เอกสารกล่องที่ 6 และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านราคา เอกสารกล่องที่ 9” ของกลุ่ม CP  ด้วยเหตุผลว่าเป็นเอกสารข้อเสนอที่มาถึงจุดลงทะเบียนหลัง 15.00 น. เป็นการกระทำที่ “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

– ศาลปกครองสูงสุดพิพากษา “กลับคำ”พิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้เพิกถอนมติคณะกรรมการฯ ซึ่งก็คือ ให้กลุ่ม CP ชนะในคดีนี้

5. กลุ่ม CP กลับสู่สนามการประมูลอู่ตะเภาอีกครั้ง 

– การชนะคดีที่ศาลปกครองสูงสุด ทำให้กลุ่ม CP กลับคืนสู่สนามแข่งขันประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกมูลค่า 2.9 แสนล้านบาท อายุสัญญาสัมปทาน 50 ปีอีกครั้ง

– การต่อสู้ถึงศาลปกครองสูงสุดของกลุ่ม CP ทำให้สยบข้อกังขาได้ว่าตั้งใจประมูลโครงการระดับ 2.9 แสนล้านบาทจริงหรือไม่ จากการระบุถึงปัญหาจราจรติดขัดทำให้การขนส่งกล่องเอกสารเจ้าปัญหาล่าช้าไป 9 นาที

– ก่อนหน้านี้เครือ CP เป็นผู้ชนะประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ –อู่ตะเภา) มาแล้ว หากชนะประมูลโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินอีกโครงการ ถือเป็นการลงทุนที่ครบวงจรมากขึ้นของทั้ง 2 บิ๊กโปรเจกต์


แชร์ :

You may also like