HomeDigitalฟัง “หมอคิด” แนะสตาร์ทอัพไทย ปรับตัวอย่างไรในวันที่นักลงทุนทั่วโลกเริ่มรัดเข็มขัด

ฟัง “หมอคิด” แนะสตาร์ทอัพไทย ปรับตัวอย่างไรในวันที่นักลงทุนทั่วโลกเริ่มรัดเข็มขัด

แชร์ :

หลังจากเปิดศักราชใหม่ 2020 มาได้ไม่กี่วัน ข่าวคราวในวงการสตาร์ทอัพระดับโลกที่น่าจับตาอาจเป็นเรื่องของการ “เลย์ออฟพนักงาน” ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โดยหนึ่งในสตาร์ทอัพชื่อดังที่มีข่าวการเลย์ออฟก็คือ Cafe X เจ้าของธุรกิจแขนกลชงกาแฟอันโด่งดังในซานฟรานซิสโกที่ครั้งหนึ่งเคยระดมทุนไปได้ถึง 14.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่อีกหนึ่งรายเป็นสตาร์ทอัพด้านหุ่นยนต์ทำพิซซ่า Zume ที่ประกาศเลย์ออฟพนักงานมากถึง 80% (ประมาณ 400 คน) รวมถึงไม่ต่อสัญญาเช่าออฟฟิศในซีแอทเทิลด้วย

การเลย์ออฟพนักงานยังเกิดขึ้นกับสตาร์ทอัพในประเทศอินเดียเช่นกัน โดยบริษัทที่ยื่นซองขาวให้พนักงานมีตั้งแต่ OYO สตาร์ทอัพด้านโรงแรมที่พัก (เลย์ออฟพนักงาน 2,400 คน และบอกว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้าก็จะมีการเลย์ออฟคนเพิ่มอีกประมาณ 1,200 คน) รวมถึง Ola และ Quikr ที่ไม่ได้มีการเปิดเผยตัวเลข แต่ยอมรับว่าอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างองค์กร นอกจากนั้นก็มีค่าย Paytm ที่ประกาศเลย์ออฟพนักงาน 500 คนเช่นกัน

เมื่อถามว่าสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร มีการวิเคราะห์ที่น่าสนใจจากเว็บไซต์ชื่อดังอย่าง Techcrunch ว่า สถานการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะ เม็ดเงินจากนักลงทุนไหลเข้ากระเป๋าสตางค์ของสตาร์ทอัพ “ยาก” มากขึ้น ทำให้สตาร์ทอัพจำนวนไม่น้อยอยู่ในภาวะเงินตึงมือ หรือบางรายก็ไม่มีเงินมากพอจะหล่อเลี้ยงพนักงานทั้งองค์กรได้เหมือนในอดีตอีกต่อไป (OYO และ Zume เป็นตัวอย่างที่ดี โดยทั้งสองค่ายนี้มี SoftBank ให้การสนับสนุน แต่ปัจจุบัน เงินจาก SoftBank ไม่ได้ไหลมาโดยง่ายเหมือนในอดีตอีกแล้ว) การเลย์ออฟจึงถูกหยิบขึ้นมาใช้เพื่อให้องค์กรยังสามารถเดินหน้าไปต่อได้

Café X

หมดยุคเผาเงินเพื่อเป็น “ยูนิคอร์น”

หันมาที่ประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นภูมิภาคที่นักลงทุนให้ความสนใจ เนื่องจากมีอัตราการเติบโตด้านการใช้อินเทอร์เน็ตสูงมากเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก

การเติบโตดังกล่าวยังส่งผลให้มีเงินจากนักลงทุนไหลเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากถึง 24,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2019 (อ้างอิงจากรายงาน e-conomy SEA 2019 ซึ่งจัดทำโดย Google, Tamesek และ Bain & Company)

อย่างไรก็ดี ปัญหาที่พบก็คือ เงินจากนักลงทุนไม่ได้ไหลเข้ามาที่ประเทศไทยมากนัก เห็นได้จากรายงานฉบับนี้ที่ชี้ว่า เงินลงทุน 24,000 ล้านเหรียญสหรัฐนั้นไหลไปที่ 11 สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นขึ้นไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหลัก ยกตัวอย่างที่เรารู้จักกันดี เช่น GoJek, Lazada, Razer, SEA, Grab, Tokopedia, Traveloka, Ovo, Bukalapak เป็นต้น นอกจากนั้น หากย้อนไปในปี 2018 ข้อมูลจาก Techsauce Startup Report 2018 ก็เคยระบุเอาไว้ว่า มูลค่าการลงทุนในสตาร์ทอัพไทยปีดังกล่าวมีมูลค่าเพียง 61 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น

ในฐานะผู้คร่ำหวอดคนหนึ่งในวงการสตาร์ทอัพ นายแพทย์ศุภชัย ปาจริยานนท์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กร หรือ RISE ให้ทัศนะว่า การเติบโตของสตาร์ทอัพในประเทศไทยต่อจากนี้ อาจต้องใช้แนวทางที่แตกต่างออกไปจากสตาร์ทอัพในประเทศเพื่อนบ้าน หรือแม้แต่สตาร์ทอัพในภูมิภาคอื่น ๆ แล้ว เหตุเพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ในประเทศไทยยังคงเป็น CVC (Corporate Venture Capital) เป็นหลัก ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว CVC เหล่านี้มีเงิน แต่หากจะลงทุนในธุรกิจใด ๆ ก็มักเป็นการลงทุนที่มีมูลค่าสูง เมื่อมูลค่าการลงทุนสูง กลายเป็นว่าไม่เป็นผลดีต่อสตาร์ทอัพ เพราะจะทำให้สตาร์ทอัพเสียหุ้นเยอะ

นายแพทย์ศุภชัย ปาจริยานนท์

“เมื่อ Ecosystem ในไทยเป็นเช่นนี้ ในมุมของผม สตาร์ทอัพไทยต้องช่วยตัวเองมากขึ้น และต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้พร้อมที่จะทำงานกับองค์กรขนาดใหญ่ เพราะผมเชื่อว่า การทำงานร่วมกับคอร์ปเปอเรทจะทำให้สตาร์ทอัพมีรายได้ และเมื่อมีรายได้ เขาก็ยังมีโอกาสได้โตต่อ”

โดยนายแพทย์ศุภชัยเผยว่า สิ่งที่สตาร์ทอัพต้องทราบเพื่อให้สามารถเข้าใจองค์กรขนาดใหญ่ได้ดีขึ้นก็คือ องค์กรขนาดใหญ่มองหานวัตกรรมที่สามารถลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ให้กับองค์กรนั่นเอง

“สำหรับผม สาเหตุที่สตาร์ทอัพตาย เพราะไม่มีลูกค้า เมื่อไม่มีลูกค้าก็ไม่มีรายได้ ตรงกันข้ามกับองค์กรขนาดใหญ่ที่เขามีลูกค้า แต่ขาดนวัตกรรม ดังนั้น ถ้าสองกลุ่มนี้สามารถจับมือกันได้ หรือมีการเซ็นสัญญาให้องค์กรขนาดใหญ่มาเป็นลูกค้าของสตาร์ทอัพ ก็จะทำให้สตาร์ทอัพมีเงินมากขึ้น และจะยิ่งดีไปกว่านั้น หากองค์กรขนาดใหญ่นำเทคโนโลยีของสตาร์ทอัพไปขายต่อให้กับลูกค้าของเขาได้”

“สัญญาณเชิงบวกเหล่านี้จะมีผลเมื่อสตาร์ทอัพไประดมทุนต่อข้างนอก นักลงทุนก็จะเห็นว่า สตาร์ทอัพรายนี้มีรายได้นะ ไม่ได้เผาเงินอย่างเดียว โอกาสระดมทุนสำเร็จก็จะมีเพิ่มมากขึ้น”

นายแพทย์ศุภชัยกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า “สตาร์ทอัพในยุคนี้ต้องสามารถทำกำไรได้ ไม่ใช่เผาเงินไปเรื่อย ๆ แล้วฝันว่าจะเป็นยูนิคอร์น มันหมดยุคแล้วครับ ซึ่งที่ผ่านมา เราก็จะเห็นสตาร์ทอัพน้ำดียังเติบโตได้อยู่ และจะเติบโตมากขึ้น รวมถึงมีโอกาสเป็นยูนิคอร์นได้เหมือนเดิม เพียงแต่ต้องเข้าใจว่า เส้นทาง หรือโอกาสมันอาจจะไม่เหมือนเดิมแล้วเท่านั้นเอง”

Source

Source

Source

Source

Source


แชร์ :

You may also like