ปี 2562 เป็นอีกปีที่ “หนังไทย” ยังอยู่ในอาการซบเซา แม้มีจำนวน 45 เรื่องต่อปีไม่ลดลง รายได้กลับสวนทาง ติดลบ 14% เมื่อเทียบปีก่อนหน้า แต่ GDH เจ้าตลาดหนังไทยสาย Feel Good ยังทำผลงานได้ดีกับการสร้างสถิติกวาด 3 อันดับแรกหนังทำเงินสูงสุด ย้ำหนังไทยวันนี้มีสูตรเดียวต้อง “ทำหนังที่คนอยากดู”
สรุปอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ปี 2562 ทำรายได้รวม 4,700 ล้านบาท เติบโต 3% รายได้กว่า 80% มาจากหนังต่างประเทศ เพราะปีก่อนหนังไทยทำรายได้ไปเพียง 711 ล้านบาทเท่านั้น
จำนวนหนังไทย 45 เรื่อง ที่ออกฉายโรงในปี 2562 มีหนังทำเงินเกิน 50 ล้านบาท 4 เรื่อง, รายได้ 10-50 ล้าน 13 เรื่อง, รายได้ 1-10 ล้านบาท 11 เรื่อง และต่ำกว่า 1 ล้านบาท 17 เรื่อง เมื่อคิดเป็นรายได้เฉลี่ยต่อเรื่องอยู่ที่ 15 ล้านบาท ลดลงจากปี 2561 อยู่ที่ 18-19 ล้านบาท ถือเป็นตัวเลขเฉลี่ย “ขาดทุน”
ด้วยต้นทุนสร้างหนังไทยต่อเรื่องราว 20-25 ล้านบาท งบโปรโมตเจาะตลาดแมสต้องมีอีก 20 ล้านบาท แน่นอนว่ากว่า 40 เรื่อง มีหลายเรื่องเข้าโรงและออกไปอย่างเงียบๆ หนังไม่ได้ถูกทำตลาดและโปรโมตให้รู้จัก สะท้อนจากตัวเลขค่าเฉลี่ยรายได้หนังต่ำกว่า 1 ล้านบาทมีจำนวนมากที่สุด
GDH สร้างสถิติโกยรายได้ 3 อันดับแรก
แม้ปี 2562 จะไม่ใช่ปีที่ดีของหนังไทย แต่ค่ายหนัง GDH ยังไปได้ดีในปีที่ผ่านมา จากหนัง 3 เรื่องที่ออกฉายโรง ทำรายได้ครอง 3 อันดับแรกหนังไทยทำเงินสูงสุด 1. ตุ๊ดซี่ส์ & เดอะเฟค รายได้ 141 ล้านบาท 2. Friend Zone … ระวังสิ้นสุดทางเพื่อน รายได้ 134 ล้านบาท และ 3. How to ทิ้ง … ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ รายได้ 57 ล้านบาท
คุณจินา โอสถศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด เล่าว่าหลังจากเปิด GDH ในปี 2559 (ก่อนหน้านี้คือ GTH) ปกติจะทำหนัง 2 เรื่องต่อปี แต่ปีที่ผ่านมามีหนังออกฉายโรง 3 เรื่อง และต้องถือว่าเป็นปีที่ดีของ GDH ที่หนังทุกเรื่องทำรายได้ตามเป้าหมาย รวมรายได้หนัง 3 เรื่องอยู่ที่ 332 ล้านบาท แต่หากเป็นรายได้ทั้งปีที่รวมส่วนอื่นๆ ซีรีส์ อยู่ที่ 471 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% ทำกำไรราว 100 ล้านบาท
“ปี 2562 ถือว่าโชคดี มีหนังทำรายได้เกิน 100 ล้านบาท 2 เรื่อง ปกติจะทำได้ปีละเรื่อง เพราะธรรมชาติของหนังไม่สามารถบอกได้ว่าจะทำรายได้เท่าไหร่ แม้ตั้งใจทำอย่างดี ก็อาจไม่เป็นไปตามที่คาดไว้”
หนังไทยโจทย์ยาก สูตรชนะ “ทำหนังที่คนอยากดู”
ประสบการณ์ทำหนังไทยกว่า 17-18 ปีนับตั้งแต่ GTH สิ่งที่เห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนของอุตสาหกรรมนี้ คือ อายุของหนังสั้นลง เดิมการทำรายได้ของหนังในโรงภาพยนตร์จะมี “ก๊อกหนึ่ง ก๊อกสอง” ยืนระยะอยู่ในโรงในได้ 6 สัปดาห์ แต่ปัจจุบันหลังโปรโมตหนัง สัปดาห์แรก ดึงคนออกมาดูได้มากที่สุด จากนั้นสัปดาห์ที่สอง ผู้ชมจะลดลงอย่างมาก หากหนังไม่โดน อายุของหนังก็ใกล้ออกจากโรง โดยเฉลี่ยก็ไม่เกิน 4 สัปดาห์ เมื่อ “อายุหนังสั้นลง” โอกาสการทำเงินก็สั้นลงด้วย
ยุคนี้หนังไทยต้องแข่งกับหนังต่างประเทศที่มีจำนวนมาก อีกทั้งยังมีคอนเทนต์ฟรี จากสื่อออนไลน์มาดึงความสนใจผู้บริโภค ทำให้คนเปลี่ยนใจไม่ไปโรงหนัง ที่สำคัญราคาตั๋วหนัง 200 บาท บวกค่าใช้จ่ายเดินทาง รับประทานอาหาร ถือว่าไม่น้อย การตัดสินใจดูหนังแต่ละเรื่องคำนวณแล้วต้องคุ้มค่าที่จะดู
แต่ยุคนี้มี “ข้อดี” เช่นกัน จากจำนวน “โรงหนัง” ที่ขยายสาขาไปทั่วประเทศ ทำให้คนไทยเข้าถึงการดูหนังได้ในวงกว้างและคนไทยก็ยังชอบดูหนังไทย หนังต่างประเทศที่ทำรายได้สูงในปี 2562 อย่าง Avengers Endgame วันแรกโกยเงินไปถึง 50 ล้านบาท ระยะเวลา 3 วัน ทำรายได้ 100 ล้านบาท มาจากหนังโดน โรงเยอะ ราคาตั๋วหนังแพง จึงทำรายได้ดีกว่าในอดีต
เทียบกับหนังเรื่อง “พี่มาก…พระโขนง” ในอดีตที่ทำรายได้รวม 1,000 ล้านบาท วันแรกทำได้ถึง 20 ล้านบาท แต่ช่วงปี 2556 จำนวนโรงหนังและราคาตั๋วต่างจากปัจจุบัน
หากย้อนความสำเร็จของ GTH และ GDH ในอุตสาหกรรมหนังไทย ต้องบอกว่าไม่มี “หน้าหนัง” ที่กำหนดได้ว่าเป็นสูตรสำเร็จ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมก็บอกไม่ได้ว่าแบบไหนทำแล้วสำเร็จ วันนี้หน้าหนัง มีแค่ 2 ประเภท คือ “หนังที่คนอยากดู” และ “ไม่อยากดู” หากต้องการอยู่รอดในอุตสาหกรรมนี้ ก็ต้องทำหนังที่ “คนอยากดู” ให้ได้เท่านั้น
ปัจจุบันหนังต่างประเทศ มีความได้เปรียบเรื่องทุนสร้าง หนังฟอร์มยักษ์ หนังภาคต่อ แบบที่หนังไทยไม่สามารถทุ่มทุนแข่งได้ หนังเทศจึงเป็นหนังที่คนอยากดู เพราะไม่อยากตกขบวน
กวาดฐานใหญ่-โปรโมตต้องแรง!
ในยุคดิจิทัล มีคอนเทนท์ไทยหลากหลายให้ดูฟรี ค่ายหนังก็ต้องทำคอนเทนต์แข่งกับของฟรีให้ได้ เพราะการดึงผู้บริโภคออกจากบ้านมาดูหนังที่มีค่าใช้จ่ายสูง การจ่ายเงินจึงต้องคุ้มค่า โดยเฉพาะปีนี้ที่เศรษฐกิจและกำลังซื้อไม่น่าจะดี คนทำคอนเทนต์จึงต้องพยายามให้มากกว่าเดิม
ปกติกลุ่มหลักที่ดูหนังคือ อายุ 15-30 ปี เป็นกลุ่มวัยรุ่น คนทำงาน หนังส่วนใหญ่ที่ทำออกมาจึงมักจับกลุ่มนี้ก่อน แต่หากหนังสามารถดึงคนดู นอกจากกลุ่มหลัก คือ กลุ่มครอบครัว คนสูงอายุ ออกมาดูหนังได้ ก็จะทำเงินได้มากขึ้น เช่น เรื่อง พี่มาก…พระโขนง ที่มีเนื้อหาร่วมสมัย ดึงคนออกมาดูได้ทุกกลุ่ม จึงทำรายได้สร้างสถิติหนังไทย 1,000 ล้านบาท
สิ่งแรกของคนทำหนังไทย ต้องเริ่มจากความตั้งใจทำงานก่อน เพราะคนดูออกว่า งานที่ตั้งใจทำแต่ไม่สำเร็จ อาจจะไม่ถูกจริตคน แต่ยังรู้สึกดีกับหนังและจะให้โอกาสครั้งต่อไป ต่างกับงานที่ไม่ตั้งใจทำ ผู้ชมก็ดูออกและไม่อดทนรอ พร้อมบอกต่อคนอื่นทันที
ดังนั้นสิ่งสำคัญในการทำงานของ GDH คือ คอนเทนต์ต้องดี ไม่ค่อยทำอะไรซ้ำๆ เดิม เพราะสิ่งที่สำเร็จในอดีตใช้ไม่ได้กับปัจจุบัน จึงไม่เห็น GDH ทำหนังหรือซีรีส์ภาคต่อมากนัก เพราะผู้ชมต้องการเสพสิ่งแปลกใหม่ตลอดเวลา ถือเป็นความท้าทายของคนทำคอนเทนต์ ถ้าอยากชนะ ก็ต้องพัฒนาจากงานเดิม เพื่อเดินต่อไปข้างหน้า
อีกสิ่งสำคัญของการทำหนังไทยในยุคนี้ คือ Marketing & Communication ต้องทำให้กระจายวงกว้าง เพราะโรงหนังขยายไปทั่วประเทศแล้ว นั่นเท่ากับหนังไทยมีโอกาสเข้าถึงผู้ชมมากขึ้น วันนี้หากหนัง “ไม่ดี ไม่โดน” จะถูกบอกต่อจากผู้ชมกลุ่มแรกที่เข้าไปดูอย่างรวดเร็ว เรียกว่าไลน์บอกเพื่อนตั้งแต่นั่งอยู่ในโรง GDH จึงโฟกัสที่การทำตลาดและสื่อสารคอนเทนต์ ต่นเดือน ม.ค.นี้ ได้ตั้งบริษัทย่อย คือ “น้ำดีไม้งาม” ทำเรื่อง MarCom ให้กับ GDH บริษัทในเครือ และกลุ่มจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่
เดียว วิชชพัชร์ โกจิ๋ว กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำดีไม้งาม จำกัด จากผู้กำกับแฟนฉัน มารับหน้าที่เป็นผู้บริหารด้าน Marketing & Communication มองว่างานโปรโมตคอนเทนต์ มีความสำคัญกับหนังไทยอย่างมาก ในยุคคอนเทนต์ล้น ผู้คนเสพสื่อหลายช่องทางในยุคดิจิทัล แม้แต่ละปี GDH ทำหนังจำนวนไม่เยอะ 2-3 เรื่อง แต่สเกลการโปรโมตใช้เงินเยอะระดับ 20 ล้านบาทต่อเรื่อง การวางกลยุทธ์ตลาดและสื่อสารจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องครอบคลุมทุกสื่อ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายวงกว้าง ดึงออกมาดูหนังให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะสัปดาห์แรกที่แทบจะเป็นรายได้ 60-65% ของหนังไทย
กลยุทธ์การโปรโมตยุคนี้ต้องขนมาหมดทั้งสื่อแมส ออนไลน์ Influencer KOL สื่อโซเชียลของนักแสดงก็ต้องช่วยกันโปรโมต เรียกว่าใช้ทุกช่องทาง เมื่อหนังเข้าฉายวันแรกทีมงานต้องวิเคราะห์ว่า แต่ละรอบมียอดผู้ชมเท่าไหร่ เพื่อนำมาปรับกลยุทธ์การสื่อสาร แก้เกมยิงสื่อโฆษณากระตุ้นให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เพราะอย่างที่รู้อายุหนังไทยอยู่ในโรงแต่ 4 สัปดาห์ การโปรโมตจึงต้องแม่นยำ เพื่อโอกาสสร้างรายได้
นอกจากบริษัทน้ำดีไม้งาม จะทำงานให้กับ GDH แล้ว จะเข้าไปทำงานโปรโมตคอนเทนต์ให้บริษัทในเครือ รวมทั้งกลุ่มจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ด้วย ทั้งงานละครเวทีรัชดาลัย, คอนเสิร์ต พี่เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ และการทำงานให้พันธมิตร Line TV โปรโมต “ออริจินัล คอนเทนต์” ของ GDH
GDH ลุยดิจิทัลแพลตฟอร์ม-ต่างประเทศ
อีกแผนธุรกิจผลิตคอนเทนต์ของ GDH ที่จะได้เห็นในปีนี้ คือ การขยายสู่ดิจิทัล แพลตฟอร์ม ปัจจุบัน ตลาด OTT (Over The Top) ที่เข้ามาในประเทศไทยทุกราย เป็นพันธมิตรนำคอนเทนต์ หนังและซีรีส์ ไปเผยแพร่ ไม่ว่าจะเป็น Line TV, HooQ (AIS Play) , WeTV , Vui รวมทั้ง Netflix ปีนี้มีรายใหม่ iQiYi จากจีน
คุณจินา บอกว่าปีนี้ GDH มีโปรเจกต์สำคัญ คือ ซีรีส์ Bad Genius (ฉลาดเกมส์โกงเดอะซีรีส์) จำนวน 12 ตอน ที่จะออกอากาศในเดือน ส.ค.นี้ ทางช่อง ONE คู่ขนาน (Simulcast) กับ Tencent Video ประเทศจีน ซึ่งมีฐานผู้ชมกว่า 500 ล้านคน หลังจากนั้นสามารถดูย้อนหลังได้ที่ WeTV ในประเทศไทยหลังออนแอร์ 1-2 ชั่วโมง ถือเป็นความร่วมมือแรกในการทำตลาดคอนเทนต์ซีรีส์ เจาะตลาดจีนร่วมกับ Tencent ประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ และทำให้จีนรู้จัก GDH มากขึ้น
สำหรับปีนี้ GDH วางแผนสร้างหนัง 2 เรื่อง และ ซีรีส์ Bad Genius ส่วนปี 2564 อยากทำหนังให้ได้ 4 เรื่อง ในจำนวนนี้จะมี 1 เรื่องเป็นโปรเจกต์ร่วมทุนกับเอเชีย เพื่อทำให้หนังไทยออกไปปักธงในต่างประเทศ และเพื่อทำให้อุตสาหกรรมหนังไทยและซีรีส์ มีความหลากหลาย เป็นตัวเลือกให้คนดูหนังมากขึ้น
วันนี้หน้าที่และอาชีพของคนทำหนัง คือการทำคอนเทนต์ที่ดี ทำให้ประสบความสำเร็จในประเทศ เพื่อโอกาสต่อยอดหนังไทยไปได้ไกลขึ้นในตลาดต่างประเทศ ที่ยังมีโอกาสอีกมหาศาล
เปิดสูตร “นาดาว” ปั้นศิลปิน “คิวแน่น”
อีกบริษัทในเครือ GDH ที่มีผลงานโดดเด่นในปี 2562 ต้องยกให้ “นาดาว บางกอก” จากจุดเริ่มต้นปี 2552 โปรเจกต์ปั้นศิลปินหน้าใหม่ ขยายสู่การลงทุนคอนเทนต์ทุกรูปแบบ
ย้ง ทรงยศ สุขมากอนันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทนาดาว บางกอก จำกัด เล่าว่าหลังนาดาว เปิดมา 10 ปี เริ่มต้นจากการหานักแสดงหน้าใหม่เข้าสู่วงการ ประเดิมเริ่มแรกปี 2556 กับซีรีส์ “ฮอร์โมน” ทางช่องทีวีดาวเทียม ช่อง ONE มาถึงวันนี้ นาดาว ไม่มีกรอบในการทำงาน ทำทุกอย่างในอุตสาหกรรมคอนเทนต์
จากเส้นทางดูแลศิลปิน (Artist Management) มาสู่ “โปรดักชั่น” ทำให้เรียนรู้ว่าเป็นสิ่งที่สนับสนุนกัน เพราะจุดเริ่มต้นปั้นศิลปิน น้องๆ หน้าใหม่ ยังไม่เป็นที่รู้จัก แต่เมื่อมีโปรเจกต์ ที่ต้องทำโปรดักชั่น จาก GDH และจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จึงกลายเป็นเวที ให้น้องๆ หน้าใหม่ มีพื้นที่ทำงาน สร้างชื่อเสียงให้ตัวเอง
หลังจากโปรเจกต์แรก “ฮอร์โมน” ประสบความสำเร็จ ทำให้ศิลปินจาก “นาดาว” เป็นที่รู้จักไปด้วย เมื่อศิลปินทำงานใหม่ๆ ในฝั่งคอนเทนต์ มีชื่อเสียง ก็ส่งผลดีกับงานโปรดักชั่นใหม่ๆ ของ นาดาว ที่จะได้ศิลปินที่มีชื่อเสียงมาทำงาน อย่าง ละคร “เลือดข้นคนจาง” ในปี 2561 คือการทำงานด้านโปรดักชั่น ใช้นักแสดงของนาดาว ที่ได้รับการตอบรับดี หรือ ซีรีส์ ออริจินัล คอนเทนต์ ผลิตให้ Line TV ได้กำหนดตั้งแต่ต้นว่าต้องให้นักแสดงของ นาดาว
“การลงทุนทำโปรดักชั่นเอง ถือเป็นเรื่องท้าทาย ช่วงทำ ฮอร์โมนฯ เกือบจะปิดบริษัทนาดาวแล้ว หากซีรีส์ ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ยังโชคดีที่สำเร็จและทำให้ศิลปินนาดาว แก๊งฮอร์โมนฯ ให้เป็นที่รู้จัก เช่นเดียวกับ เลือดข้นคนจาง ที่ต้องทุ่มทุนสร้างและก็โชคดีที่สำเร็จอีกเช่นกัน จึงต่อยอดผลิตคอนเทนต์มาได้ต่อเนื่อง ปี 2562 ทำละคร รักฉุดใจนายฉุกเฉิน ผลตอบรับออกมาดีเช่นกัน”
ปัจจุบันศิลปินสังกัด นาดาว 38 คน มีชื่อเสียง เป็นนักแสดงที่แข็งแรง มีงานละครกับช่องทีวีดิจิทัล GMM 25 ช่อง 3 รวมทั้งงานละคร ซีรีส์ หนังกับผู้จัดนอกค่ายนาดาว มีงานพรีเซ็นเตอร์สินค้า ที่ให้ นาดาว เป็นผู้ผลิตคอนเทนต์และโปรโมตร่วมกับบริษัทในเครือ เรียวว่าปัจจุบันน้องนักแสดงทุกคน “คิวแน่น” มาก ทำให้ปีนี้ นาดาว จะเปิดรับคัดเลือกศิลปิน นักแสดงหน้าใหม่ เข้าสังกัดเพิ่ม ในโครงการ Nadao Academy เพื่อทำงานในโปรเจกต์ใหม่ๆ ของนาดาว
ปี 2563 จะมีซีรีส์ ออริจินัล คอนเทนต์กับ Line TV อีก 1 เรื่อง โปรเจกต์หนัง ครั้งแรก 1 เรื่องในปีนี้ กำกับการแสดงและโปรดิวเซอร์ โดย ปิง เกรียงไกร วชิรธรรมพร รวมทั้งการเปิดค่ายเพลง “นาดาว มิวสิค”
หลังจากได้ประเดิมทำเพลง “รักติดไซเรน” ศิลปิน ไอซ์ พาริส และ แพรวา ณิชาภัทร มาแล้วในปีที่ผ่านมา ค่ายเพลงถือเป็นเวทีพัฒนาความสามารถของศิลปินนาดาว นอกจากงานแสดง โดยมี “เบล สุพล” มาเป็นผู้บริหารค่ายเพลง ศิลปิน ที่จะมีผลงานในปีนี้ คือ เจเจ กฤษณภูมิ, ไอซ์ พาริส, กัปตัน, แพรวา และบิวกิ้น
หากดูตัวเลขรายได้ของ นาดาว ในปี 2562 มีรายได้ 370 ล้านบาท เติบโต 37% ปีนี้อยากเติบโตได้เท่าปีก่อน ในฝั่งคอนเทนต์ทุกด้าน รวมทั้งการทำค่ายเพลง การเปิดพื้นที่คอนเทนต์ใหม่ๆ ให้นักแสดงได้เพิ่มฝีมือ จะช่วยให้ นักแสดง มีชื่อเสียง ยืนระยะได้ยาว และ นาดาว มีรายได้จากงานโปรดักชั่นมากขึ้น เป็นสูตรพัฒนาศิลปิน ที่ win ทุกฝ่าย