วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เผยผลวิจัย “การตลาดโลกสวย Voice of Green : เพื่อโลก เพื่อเรา” ทำความเข้าใจผู้บริโภคคนไทยในการตระหนักและคำนึงถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อม ทั้งในเชิงทัศนคติและพฤติกรรม และหาแนวทางที่จะช่วยลดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมให้ลดลง
โดยด้านทัศนคติ ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คนไทยมองว่าเป็นปัญหามากที่สุด อันดับ 1 คือ ปัญหาเรื่องพลาสติก เพราะมองว่าย่อยสลายได้ช้า และเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม 2. มลพิษทางอากาศ ทั้งฝุ่นควันและไอเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม 3. ปัญหาขยะ โดยการไม่แยกขยะนำมาซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อม 4. น้ำ การประหยัดรวมทั้งการอนุรักษ์น้ำและบำบัดน้ำเสียอย่างถูกวิธี 5. ไฟฟ้า การประหยัดไฟฟ้า คิดก่อนใช้ และปิดไฟเมื่อไม่ใช้งาน 6. การใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco Product) เป็นหนึ่งทางที่จะช่วยแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้
ส่วนด้านพฤติกรรม สิ่งที่คนไทยมักลงมือทำด้วยตัวเองมากที่สุด เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม คือ 1. การประหยัดไฟฟ้า ด้วยการพยายามปิดไฟในเวลาไม่ใช้งาน 2. ลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติก หรือการนำถุงผ้าไปใช้เวลาไปซื้อของต่างๆ
3. การเลือกใช้ Eco Product เช่น ผลิตภัณฑ์ออแกนิกส์ หรือหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม 4. ช่วยลดปริมาณขยะ ด้วยการนำสิ่งต่างๆ กลับมาใช้ซ้ำหลายๆ รอบ ก่อนจะทิ้งเป็นขยะ 5.การประหยัดน้ำ ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า 6. การประหยัดพลังงาน เช่น เลือกใช้พลังงานสะอาด หรือเดินทางไปด้วยกันเพื่อลดการก่อมลพิษทางอากาศ เป็นต้น
เมื่อเปรียบเทียบทั้งด้านทัศนคติ และพฤติกรรมของคนไทย จะพบได้ว่า เรื่องของพลาสติก เป็นเรื่องที่คนไทยตระหนักและให้ความสำคัญ เป็นอันดับ 1 ส่วนอันดับ 2 เป็นเรื่องมลพิษทางอากาศ 3. เป็นเรื่องการคัดแยกขยะ การใช้ซ้ำและนำกลับมาใช้ใหม่ 4. การประหยัดและอนุรักษ์น้ำ และอันดับสุดท้าย คือ การลดการใช้พลังงานไฟฟ้า
เจาะอินไซต์ คนไทยสายกรีน
จากการวิเคราะห์โดยรวมพบว่า คนไทยส่วนใหญ่มีความตระหนักและใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการลงมือทำ เนื่องด้วยปัจจัยหรือเงื่อนไขบางประการ ที่ทำให้ลงมือทำได้จริงค่อนข้างยาก เช่น ปัจจัยด้านความสะดวก หรือระดับราคาของสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สูงกว่าสินค้าทั่วๆ ไป ทั้งนี้ สามารถแบ่งผู้บริโภคคนไทยสายกรีนได้เป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย
1. สายกรีนตัวแม่ ที่ตั้งใจทำทุกอย่าง และยินดีจ่ายแพงขึ้นเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม สัดส่วน 37.6%
2. สายกรีนตามกระแส มีพฤติกรรมใช้สินค้าอีโค่ตามกระแส แต่ยังขาดทัศนคติที่ต้องการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นในระยะยาว สัดส่วน 20.8%
3. สายสะดวกกรีน กลุ่มที่เข้าใจเรื่องความจำเป็นในการปกป้องสิ่งแวดล้อม แต่ยังมีพฤติกรรมที่เคยชินกับการบริโภคแบบเดิมๆ และไม่กระตือรือร้นในการปรับเปลี่ยน สัดส่วน 15.7%
4. สายโนกรีน กลุ่มที่ยังไม่พร้อมใช้จ่ายเพื่อสิ่งแวดล้อม และยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เพราะมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก สัดส่วน 26.0%
อย่างไรก็ตาม หากจะกล่าวว่า สายโนกรีน เป็นกลุ่มคนที่ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม หรือไม่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมเลยก็ไม่ถูกนัก เพียงแต่ยังมองไม่เห็นความสำคัญในการปรับเปลี่ยน รวมทั้งอาจมีความจำเป็น หรือติดเงื่อนไขบางอย่างทำให้ไม่สามารถให้ความร่วมมือได้ ดังนั้น เป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่ต้องพยายามสร้างการรับรู้ รณรงค์ อำนวยความสะดวก หรือสร้างแรงจูงใจเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนกลุ่มนี้ รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนของผู้บริโภคสายกรีนให้เพิ่มจำนวนได้มากขึ้น
ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ CMMU กล่าวว่า ประเทศไทยมีการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมมาเป็นเวลานาน แต่ไม่เกิดผลในเชิงประจักษ์ เพราะมักรณรงค์กันในช่วงสั้นๆ ตามสถานการณ์ ตามกระแส แต่จากนี้ไปคาดว่า เทรนด์เรื่องการดูแลและใส่ใจสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มที่จะได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น จากนโยบายงดแจกถุงพลาสติกในร้านสะดวกซื้อ และห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศ ที่ได้รับการตอบรับจากประชาชนและผู้ประกอบการอย่างดี เป็นโอกาสให้นักการตลาดใช้กลยุทธ์การตลาดที่สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าว ทั้งการสร้างแรงจูงใจด้วยส่วนลด ของแถม สำหรับผู้ใช้ถุงผ้า หรือการสร้างโอกาสให้แก่ธุรกิจได้มากขึ้นในช่วงที่ผู้บริโภคกำลังตื่นตัวเช่นนี้
ผลวิจัยยังระบุอีกว่า ผู้บริโภคที่อายุมาก โดยเฉพาะกลุ่ม Baby Boomer (อายุ 55-73 ปี) มีแนวโน้มเป็นสายกรีนตัวแม่สูงสุด ตามมาด้วยผู้บริโภคกลุ่ม Gen X (อายุ 39-54 ปี) Gen Y (อายุ 23-38 ปี) และ Gen Z (อายุต่ำกว่า 23 ปี) ตามลำดับ เนื่องจากยิ่งผู้บริโภคที่มีอายุมาก จะยิ่งมีความพร้อมทางด้านรายได้ และมีความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง
ภาคธุรกิจ กำลังสำคัญสร้างสังคมสีเขียว
นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังมองว่าปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหน้าที่ที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันแก้ไข ทั้งผู้บริโภค รัฐบาล โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ที่ถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนและผลักดันให้ผู้บริโภคมีความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการที่หลายบริษัทเริ่มมีแคมเปญเพื่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น การเปลี่ยนมาใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ง่าย การงดแจกถุงพลาสติกในวันปลอดถุงพลาสติกสากล หรือการที่ห้างร้านต่างๆ งดแจกถุงพลาสติกแบบ Single-use ตั้งแต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
แต่ที่ผ่านมา ผู้บริโภคยังกังขาในการดำเนินนโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อมขององค์กรธุรกิจต่าง โดยส่วนใหญ่ถึง 79% มีมุมมองว่า เป็นการทำเพื่อภาพลักษณ์ และผลประโยชน์ทางธุรกิจ, 18% มองว่าเพื่อลดต้นทุนและสร้างกำไรเพิ่มมากขึ้น และอีก 3% มองว่าทำตามข้อกำหนดนโยบายของภาครัฐ
ทั้งนี้ หากภาคธุรกิจขับเคลื่อนนโยบายเหล่านี้อย่างจริงใจ และดำเนินกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ไปอย่างต่อเนื่อง ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็พร้อมที่จะให้ความร่วมือและปรับเปลี่ยน โดย 61% ระบุว่า มีความคิดอยากจะทำเพื่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น, 16% มองว่าจะทำเพิ่มมากขึ้น และยอมจ่ายในราคาที่สูงขึ้น, 13% เริ่มทำจนกลายเป็นนิสัย และอีกราว10% ที่คิดอยากเริ่มทำบ้าง แต่อาจจะยังติดในบางเงื่อนไข เช่น ราคาสินค้า Eco ที่ยังแพงกว่าสินค้าทั่วไป
สำหรับกลยุทธ์ที่จะช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคมีความตระหนักในสิ่งแวดล้อมมากขึ้น คือ ENVI Strategy (เอ็นไว) ประกอบด้วย
1. E: Early เน้นการปลูกฝังจิตสำนึกให้คนรุ่นใหม่ เพื่อกระตุ้นให้กลุ่ม Gen Y และ Gen Z เห็นความสำคัญกับการปลูกฝังเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ผู้บริโภคในกลุ่มนี้
2. N: Now or Never ตระหนักว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องแก้ไขทันที เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติผู้บริโภครวมทั้งให้ความสำคัญกับการสื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ
3. V: Viral สื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดียเพื่อให้ข้อมูลทั่วถึงและแพร่กระจายไปในวงกว้าง
4. I: Innovative การใช้นวัตกรรมในการผลิตเพื่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การใช้วัตถุดิบสำหรับอิเล็กทรอนิกส์ที่มีคุณสมบัติอนุรักษ์มากขึ้น การใช้ระบบดิจิทัลในการผลิต เป็นต้น
4 เทรนด์ธุรกิจโลกสวยมาแรง รับปี 2020
1. สินค้าที่ใช้วัตถุดิบย่อยสลายง่ายและกลับมาใช้ซ้ำ เช่น ธุรกิจสตาร์ทอัพแบรนด์ Moreloop ที่นำเศษผ้าที่เหลือจากการตัดมารวมกัน และนำเศษเหล่านั้นมาตัดเป็นเสื้อผ้าใหม่เพื่อลดขยะ
2. สินค้าหรือบริการที่ใช้พลังงานสะอาด เช่น ธุรกิจศูนย์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และธุรกิจร้าน Refill Store เติมเท่าไหร่จ่ายเท่านั้น เป็นต้น
3. สินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ไบโอ และธุรกิจอาหารที่เปลี่ยนพืชให้มีรสชาติเหมือนเนื้อสัตว์ เป็นต้น
4. สินค้าอีโค่มีดีไซน์ตอบสนองคนรุ่นใหม่ เช่น กระเป๋าผ้าใบดีไซน์สุดติสต์ยี่ห้อ Freitag และแพคเกจจิ้งอาหารกินได้ เป็นต้น
การวิจัยครั้งนี้ ยังได้สำรวจการรับรู้ของผู้บริโภคที่มีต่อองค์กรธุรกิจในการดำเนินนโยบายเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อรับรางวัล Green Brand Love จากทั้ง 8 กลุ่มธุรกิจ จำนวน 10 แบรนด์ โดยเอสซีจีได้คะแนนสูงที่สุด ส่วนแบรนด์อื่นๆ ประกอบด้วย คาเฟ่ อเมซอน, บางจาก, เซเว่น-อีเลฟเว่น, โคคา-โคล่า, โตโยต้า, เอ็มเค, ปตท, ยูนิลีเวอร์ และ สตาร์บัคส์