เรียกได้ว่าเป็นข่าวดีของปัญหาขยะในท้องทะเลไม่น้อย เมื่อมีรายงานว่าญี่ปุ่นสามารถผลิต “ถุงพลาสติกจากอ้อยและข้าวโพด” ซึ่งสามารถย่อยสลายได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลได้สำเร็จแล้ว
โดยถุงพลาสติกดังกล่าวเป็นผลงานของบริษัท ฟุคุสุเกะ โคเกียว (Fukusuke Kogyo) ผู้ผลิตถุงพลาสติกที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ภายใต้ความร่วมมือกับนักวิจัยของมหาวิทยาลัยกุนมะ (Gunma University) ในการนำอ้อยและข้าวโพดมาใช้ในการผลิตถุง ความพิเศษของถุงชนิดนี้ก็คือ หากมันถูกพัดลงสู่ท้องทะเล แบคทีเรียในทะเลจะสามารถช่วยย่อยสลายถุงดังกล่าวได้ถึง 90% ภายใน 180 วัน อีกทั้งยังสามารถรับน้ำหนักได้สูงสุดถึง 8 กิโลกรัมอีกด้วย (ถุงพลาสติกขนาดมาตรฐาน)
ทางบริษัทเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างยื่นขอใบรับรองจากทางหน่วยงานในประเทศเบลเยี่ยมว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้ในทะเล และหากได้รับการอนุมัติก็จะกลายเป็นถุงพลาสติกรายแรกของโลกที่ได้รับการรับรองดังกล่าว
ทางบริษัทมีแผนจะเริ่มวางขายถุงพลาสติกดังกล่าวในเดือนกรกฏาคมนี้ อย่างไรก็ดี ในด้านราคา พบว่ามีราคาสูงกว่าถุงพลาสติกแบบที่ใช้กันอยู่ทั่วไปประมาณ 7 – 10 เท่า ซึ่งอาจทำให้ร้านค้าปลีกต้องพิจารณาโอกาสในการใช้งาน เช่น อาจต้องเพิ่มถุงดังกล่าวเป็นถุงทางเลือกสำหรับลูกค้า และต้องจ่ายเงินเพิ่มเองก็เป็นได้