หากยังจำกันได้ เมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา หนึ่งในตลาดที่ร้อนแรงตั้งแต่ต้นปีก็คือบริการ Delivery มาในปี 2020 ดูเหมือนว่าความร้อนแรงดังกล่าวก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กับการออกมาประกาศเปิดตัวบริการ “Mart Service” ของ LINE MAN สำหรับให้บริการสั่งซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตแบรนด์ดังพร้อมจัดส่งให้ถึงบ้านที่เกิดจากการจับมือกับสตาร์ทอัพด้านซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์สัญชาติอินโดนีเซียอย่าง Happy Fresh
การเข้าถึง Mart Service นั้น สามารถทำได้ผ่านแอปพลิเคชัน LINE MAN โดยเป็นปุ่มคำสั่งอยู่ที่ด้านบนของแอป เมื่อคลิกเข้าไปภายในจะพบกับแบรนด์ซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Tesco, BigC, Wine Connection, Singha Store, Harrison Butcher ฯลฯ หรือแม้กระทั่งร้านขายสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงก็มีปรากฏใน Mart Service ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี สินค้าจากตลาดสดทั่วไปนั้น พบว่าไม่ปรากฏอยู่ในบริการในช่วงเปิดตัวนี้แต่อย่างใด
เจาะกลุ่มคนที่ต้องบริหารเวลา
สำหรับกลุ่มเป้าหมายของ Mart Service ตามการเปิดเผยของคุณวรานันท์ ช่วงฉ่ำ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาธุรกิจและการตลาด LINE MAN พบว่า แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ นั่นคือ
- กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่แยกตัวออกมาใช้ชีวิตด้วยตัวเอง
- กลุ่มคุณแม่รุ่นใหม่ที่ต้องดูแลครอบครัวและลูก ๆ
- กลุ่มร้านค้าขนาดเล็กที่เจ้าของร้านอาจไม่สะดวกจะออกไปหาซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคด้วยตัวเอง ในกรณีที่ต้องสั่งซื้อสินค้ามาเสริมภายในร้าน
ซึ่งทั้งหมดนี้ อาจวิเคราะห์ได้ว่าเป็นกลุ่มที่ต้องการตัวช่วยในการบริหารจัดการเวลา ด้วยเหตุนี้ จะเห็นได้ว่าสินค้าที่สามารถจัดซื้อได้จากแพลตฟอร์มนั้น มีตั้งแต่อาหารสดอย่าง ผักผลไม้, เนื้อสัตว์, นม, ไข่, เครื่องดื่ม ไปจนถึงอาหารแห้ง และสินค้าอุปโภคบริโภคภายในบ้าน เช่น น้ำยาทำความสะอาด ผงซักฟอก ฯลฯ กันเลยทีเดียว
สั่งผ่าน LINE MAN แต่รับสินค้าได้จาก Happy Fresh
ส่วนขั้นตอนการคัดเลือกสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตและนำไปจัดส่งให้ถึงมือผู้รับนั้น น่าสนใจว่าไม่ได้ใช้บริการของ LINE MAN แต่อย่างใด หากแต่เป็นบริการจากพาร์ทเนอร์อย่าง Happy Fresh ทั้งหมด และจัดส่งด้วยรถมอเตอร์ไซค์ทั้งหมด
โดยก่อนหน้านี้ ทาง LINE MAN ได้มีการทดลองเปิดให้บริการ Mart Service มาแล้วประมาณ 3 สัปดาห์ (เริ่มช่วงปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา) พบว่า ขนาด Basket size ที่ผู้ใช้สั่งซื้อแต่ละครั้งนั้นเฉลี่ยประมาณ 600 บาท ซึ่งถือว่าสูงกว่าขนาด Basket size ของบริการ Food Delivery ที่ค่าเฉลี่ยอาจอยู่ราว 300 – 400 บาทพอสมควร
สำหรับสินค้าที่ผู้สั่งซื้อให้ความสนใจมากที่สุดในช่วง Soft Launch นั้น คุณวรานันท์เผยว่า 3 อันดับแรกคือ
- กลุ่มเครื่องดื่ม (ทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่ใช่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์)
- แพมเพิร์ส
- ขนมขบเคี้ยว
Mart Service ไม่ใช่ On-Demand
จุดที่ Mart Service แตกต่างจากบริการอื่น ๆ ของ LINE MAN (สั่งซื้ออาหาร, เรียกรถแท็กซี่, ส่งพัสดุ, สั่งของสะดวกเร็ว และแมสเซ็นเจอร์) ก็คือ Mart Service เป็นบริการที่ต้องกำหนดเวลารับสินค้าล่วงหน้า ขณะที่บริการอีก 5 ตัวของ LINE MAN นั้นเป็นบริการแบบ On-Demand ทั้งสิ้น ซึ่งเมื่อถามว่าจะทำให้ผู้บริโภคสับสนหรือไม่ คุณวรานันท์มองว่า ไม่น่าจะทำให้เกิดความสับสน เพราะการที่สามารถกำหนดเวลารับสินค้าได้นั้น สอดคล้องกับพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย อีกทั้งการซื้อสินค้าในกลุ่มนี้ มักเป็นการซื้อที่ต้องวางแผนล่วงหน้า ไม่ใช่การซื้อแบบปัจจุบันทันด่วน
ซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ ตลาดที่ยังมีโอกาสโต
จากการเปิดเผยของคุณวรานันท์ พบว่า การสั่งสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตผ่านออนไลน์ในไทยมีสัดส่วนเพียง 2 – 3% ของตลาดซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งหมด อย่างไรก็ดี เนื่องจากในปีที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคครั้งใหญ่กับการหันมาสั่งซื้ออาหาร-สินค้าผ่านแอปพลิเคชันกันมากขึ้น จึงมองว่าการเปิดตัว Mart Service ในเวลานี้น่าจะเป็นโอกาสที่เหมาะสม
โดยปัจจุบัน LINE MAN มีผู้ใช้งาน 3 ล้านราย และบริการที่สร้างรายได้ให้มากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ สั่งซื้ออาหาร เรียกรถแท็กซี่ และแมสเซนเจอร์