ก่อนหน้านี้เราอาจเคยได้ยินข่าวคราวการปรับลดวันทำงานของบริษัทยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Microsoft Japan หรือ Perpetual Guardian บริษัทด้านกฎหมายของนิวซีแลนด์ที่ออกมาประกาศปรับวันทำงานของพนักงานบางกลุ่มลงเหลือแค่ 4 วันต่อสัปดาห์ พร้อมผลลัพธ์ด้านประสิทธิภาพในการทำงานที่เพิ่มขึ้น
นั่นอาจเป็นแค่การเปลี่ยนแปลงในระดับบริษัท ทว่าโลกในยุค 2020 ต้องการการเปลี่ยนแปลงที่มากกว่านั้น และเราก็ได้พบว่า นายกรัฐมนตรีของฟินแลนด์อย่าง Sanna Marin กำลังเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงรอบใหม่ได้อย่างน่าสนใจ กับการออกมาประกาศเมื่อวานนี้ว่าจะลดชั่วโมงทำงานลงเหลือแค่ 6 ชั่วโมงต่อวัน แถมทำงานแค่ 4 วันต่อสัปดาห์ โดยเธอให้เหตุผลว่า การลดชั่วโมงทำงานลงนี้ เพราะมนุษย์ควรได้ใช้เวลาร่วมกับครอบครัว ดูแลคนรัก หรือทำงานอดิเรกที่พวกเขาสนใจ มากกว่าที่เป็นอยู่
แน่นอนว่าการออกมาประกาศของ Sanna Marin สร้างความฮือฮาให้กับคนทั่วโลก เพราะต้องบอกว่า โลกทุนนิยมคุ้นเคยกับการทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มาเกือบ 100 ปีแล้ว โดยผู้ที่เริ่มต้นแนวคิดนี้ก็คือ Henry Ford จากบริษัท Ford Motor ที่เริ่มบังคับใช้กฎดังกล่าวอย่างเป็นทางการ กับแรงงานในโรงงานมาตั้งแต่ปี 1926 (จริง ๆ แล้วต้องบอกว่า การประกาศของ Ford ถือว่ามีคุณูปการต่อแรงงานในยุคนั้นพอสมควร เนื่องจากแรงงานในยุคนั้นถูกบังคับให้มีชั่วโมงทำงานมากถึง 10 – 16 ชั่วโมงต่อวันเลยทีเดียว และถึงแม้ว่าผู้ใช้แรงงานจะมีการร้องขอให้ภาครัฐช่วยเหลือด้วยการออกกฎหมายควบคุมนายจ้าง แต่ก็ไม่สำเร็จมากนัก จนกระทั่ง Henry Ford ออกมาบอกว่าจะลดชั่วโมงทำงานลงครึ่งหนึ่ง และเพิ่มค่าแรงให้อีกเท่าตัว ทำให้พนักงานในโรงงานของ Ford มีกำลังใจ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลสำเร็จดังกล่าวทำให้แนวคิดนี้ถูกนำมาปรับใช้อย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา)
ผ่านไป 100 ปี โลกการทำงานแบบ 8 ชั่วโมงต่อวันให้ผลเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่า สภาพแวดล้อมในการทำงานเมื่อ 100 ปีที่แล้วกับตอนนี้แตกต่างกัน สิ่งที่เคยสร้างแรงบันดาลใจให้คนงานเมื่อ 100 ปีก่อนจึงอาจใช้ไม่ได้กับยุคนี้อีกต่อไป อีกทั้งการนั่งทำงานในออฟฟิศ 8 ชั่วโมงนั้น มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอ สหรัฐอเมริกาพบว่า พนักงานจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง ๆ ราว 2 ชั่วโมง 53 นาทีเท่านั้น และเฉลี่ยแล้วพนักงานหนึ่งคนมีโอกาสถูกขัดจังหวะโดยพนักงานคนอื่นทุก ๆ 3 นาที และพวกเขาต้องใช้เวลาเฉลี่ย 23 นาทีในการกลับมามีสมาธิกับงานเดิมของตัวเองอีกครั้งด้วย
นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบว่า ถ้าพนักงานเกิดเบื่อขึ้นมา ก็มีโอกาสที่จะหากิจกรรม เช่น อ่านข่าว เล่นโซเชียลมีเดีย ซุบซิบนินทา หรือไม่ก็นั่งหางานใหม่ได้เช่นกัน
ขณะที่การทำงานแค่วันละ 6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์นั้น มีงานวิจัยจากสวีเดนที่สำรวจในกลุ่มแพทย์และพยาบาล พบว่าแพทย์และพยาบาลที่ทำงานแค่ 6 ชั่วโมงนั้นมีประสิทธิภาพมากกว่า มีอัตราการลาหยุดน้อยกว่า มีสุขภาพดีกว่า และที่สำคัญ มีความสุขมากกว่าคนที่ต้องทำงานเต็ม 8 ชั่วโมงต่อวันถึง 20% เลยทีเดียว
เมื่อโลกกำลังจะมีเงื่อนไขในการทำงานแบบใหม่จากการเข้ามาของ 5G, AI, Robot และระบบ Automation ไม่แน่ว่าแนวคิดการลดวันทำงานของ Sanna Marin ก็อาจเป็นตัวจุดประกายในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขึ้นมาได้อีกครั้ง เหมือนที่ Ford เคยทำสำเร็จมาแล้วเมื่อ 100 ปีก่อนก็เป็นได้